พลิกรูปแบบการชำระเงิน Mastercard เผยเทรนด์แห่งอนาคต นาฬิกา แหวน รถ ใช้จ่ายได้!

  • 301
  •  
  •  
  •  
  •  

คุณเคยจินตนาการถึงรูปแบบการชำระเงินด้วยวิธีอื่น นอกจากการจ่ายเงินสด บัตรเครดิต หรือแม้แต่การผูกบัตรเครดิต บัญชีเงินฝากเข้ากับแอปพลิเคชันหรือไม่ ถ้าจะมีการจ่ายเงินรูปแบบใหม่ๆ ออกมา คุณอยากให้เป็นรูปแบบใด…?

แน่นอนว่าการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการอัพเดทเทรนด์เทคโนโลยีในระยะนี้ ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ของรูปแบบการชำระเงินด้วยวิธีแปลกใหม่ โดยรูปแบบที่ได้ยินบ่อยที่สุดในช่วงนี้คงหนีไม่พ้น “การชำระเงินผ่านนาฬิกาออกกำลังกาย” ถามใจดูเถอะ…ใครจะไปคิด! ว่าวันนึงเราจะไม่ต้องพกกระเป๋าสตางค์ก็ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้ตามปกติ สามารถเดินทาง กิน เที่ยว ซื้อสินค้าได้ โดยไม่ต้องห่วงแตกแบงก์เป็นมูลค่าน้อยๆ ไว้ใช้จ่าย ไม่ต้องพกเหรียญเผื่อใช้จ่ายในย่านชุมชน หรือเพื่อขึ้นรถ ลงเรือ

ในงาน Mastercard Southeast Asia Innovation Forum 2017 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อ 26-28 ก.ย. ทำให้เรามีโอกาสเห็นนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ภายใต้แนวคิดสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ชัดเจนขึ้น เราจึงขอถือโอกาสนี้อัพเดทนวัตกรรมการชำระเงินในอนาคตให้คุณๆ ได้ทราบเลยแล้วกัน…!

IMG_8162

โดย เอ็ด แมคลาลิน ประธานฝ่ายปฏิบัติการและเทคโนโลยี Mastercard ได้เป็นผู้อัพเดทรูปแบบการชำระเงินในอนาคตให้เราฟัง ดังนี้…

ปลอดภัย สะดวกสบาย คือหัวใจ Payment

จากพฤติกรรมการสื่อสารของผู้คนทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงด้วยการใช้เทคโนโลยี ทั้งยังสร้างเทรนด์การใช้จ่ายในรูปแบบใหม่ๆ ผ่านออนไลน์ ทำให้ผู้ให้บริการจำเป็นต้องปรับตัวและรองรับการเปลี่ยนแปลง ภายใต้การคำนึงถึงความปลอดภัยและความสะดวกสบายซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการต้องตอบสนองความต้องการแก่ผู้บริโภค

“ชิป” ไม่จำเป็นต้องอยู่บนบัตรเครดิต!

แม้เราจะคุ้นชินกับภาพบัตรเครดิตที่มีชิปฝังอยู่ แต่อนาคตชิปเหล่านั้นจะไม่ได้ถูกฝังอยู่บนบัตรเท่านั้น เพราะสามารถอยู่บนอุปกณ์ที่ผู้บริโภคสวมใส่ เช่น นาฬิกา แหวน หรือแม้แต่รถยนต์ และอุปกรณ์ IoT ที่อยู่ภายในบ้าน ก็จะสามารถกลายเป็นช่องทางใหม่ๆ ในการใช้จ่ายได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากทุกอุปกรณ์จะมีรหัสประจำชิ้นและเมื่อผ่านขั้นตอนการยืนยันตัวตนแบบไบโอแมทริกซ์ (Biometrics) ก็จะสามารถใช้งานได้ทันที ซึ่งปัจจุบันก็มีวิธีตรวจสอบอัตลักษณ์หลากหลายมากกว่าการใช้รหัสตัวเลขแบบเดิมๆ ทั้งการยืนยันด้วยลายนิ้วมือ ใบหน้า เสียง การถ่ายเซลฟี่ เป็นต้น ถือเป็นการสร้างประสบการณ์การใช้จ่ายแบบไร้รอยต่อแก่ผู้บริโภค (Seamless Payment)

36820330325_2483735217_h

36523648720_e643cff637_k

Ai ช่วยปลดล็อกข้อจำกัด สู่สังคม Cashless

นอกจากการยืนยันตัวตนด้วยวิธีต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนา เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่าง Ai (Artificial intelligence) ก็จะเป็นทางเลือกในอนาคต ซึ่งสามารถต่อยอดสู่การใช้จ่ายไร้เงินสด รวมถึงการรักษาความปลอดภัยจากการเจาะข้อมูลและการจดจำพฤติกรมของผู้บริโภค เพื่อตอบสนองการใช้จ่ายให้ง่ายยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีเหล่านี้ยังเป็นการลดช่องว่างในการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ถือเป็นการพัฒนาระบบการใช้จ่ายสู่ยุคดิจิทัล แตกต่างจากเดิมที่ใช้ตัวเลข 16 หลักบนบัตรเครดิตเพื่อการใช้จ่ายทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม Mastercard ใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อพัฒนาและเชื่อมโยงเทคโนโลยีสู่ระบบการชำระเงิน โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยก็มากถึงหลักพันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งยังแบ่งรูปแบบการพัฒนาร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจและลงทุนกับบริษัทด้านความปลอดภัยที่หลากหลายในกว่า 210 ประเทศทั่วโลก เพื่อให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยข้อมูลและประสบการณ์ในการใช้งานที่พึงพอใจแก่ผู้บริโภค พร้อมรองรับเทรนด์เทคโนโลยีที่จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น เร็วขึ้น ภายใต้ราคาที่ต่ำลงเรื่อยๆ

17CHVO35000_v2.tif

เราอยู่ในยุคที่ใช้นาฬิกา แหวน และรถยนต์ แทนกระเป๋าเงิน!

“ขณะนี้ดีไวซ์ที่สามารถใช้จ่ายผ่าน Mastercard ไม่ได้มีแค่บัตรเครดิต ตอนนี้คุณสามารถใช้จ่ายผ่านนาฬิกาออกกำลังกายอย่าง Fitbit Ionic และ Garmin Vivoactive 3 ได้ด้วย และนอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบแล้ว เช่น แหวนที่ฝังชิปไว้ภายใน และรถยนต์ซึ่งขณะนี้เป็นความร่วมมือกับแบรนด์ GM เพื่อทำให้คุณใช้จ่ายผ่าน Mastercard ได้ทุกที่ทุกเวลา”

สังคม Cashless จำเป็นต้อง…?

การเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสดนั้น ในแต่ละประเทศควรมีการใช้งานดิจิทัลแบงก์กิ้งเฉลี่ย 85-90% จึงจะมีแนวโน้มเข้าสู่ Cashless Society ได้อย่างประสบความสำเร็จ ส่วนในประเทศไทยนั้น ควรเริ่มต้นจากการเชื่อมโยงการใช้งานเข้ากับบริการโทรคมนาคม เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสบการณ์การใช้งานแก่ผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการใช้งาน เช่น เป็นพันธมิตรร่วมกับบริษัทโทรคมนาคม สร้างความมั่นใจในการใช้งาน และกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการใช้งานร่วมกันด้วย.

 

Copyright © MarketingOops.com


  • 301
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน