เดี๋ยวนี้ธุรกิจต่างๆ เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยี AI และ Cloud เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะ Generative AI สำหรับการสื่อสารกับผู้บริโภคเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว AI และ Cloud ยังสามารถถูกพัฒนาเพื่อนำไปใช้กับอุตสาหกรรมอย่างอื่นได้อีกด้วย เช่น ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ AI ช่วยให้การสื่อสารทำได้สะดวกมากขึ้น อุตสาหกรรมการเกษตรที่ AI จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์พืชที่เหมาะสมการปลูกจากข้อมูลดินและความต้องการของตลาด
โดยทาง คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า AI และ Cloud จากนี้ไปจะมีบทบาทใน Real Sector มากขึ้น และจะช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจหรือการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น และช่วยเปลี่ยนผ่านภาพของประเทศไทยที่เคยเป็นการรับจาางผลิตในรูปแบบ Made in Thailand ไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ถูกนำไปใช้ในธุรกิจต่างๆ ในรูปแบบ Born in Thailand ผ่าน Startup ที่นำ AI ไปพัฒนาต่อยอดเป็นแอปฯ ต่างๆ
เปิดวิสัยทัศน์ AI for All Thais
จากการมาเยือนประเทศไทยของ นายสัตยา นาเดลลา CEO ของ Microsoft และประกาศพันธสัญญาเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตในยุค AI และ Cloud โดยจะผสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับประเทศไทย รวมถึงยังมีแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน Data Center Region เพื่อขยายการให้บริการคลาวด์จากไมโครซอฟท์ให้กว้างขวางและทั่วถึงยิ่งขึ้น รองรับมาตรฐานของประเทศไทยด้านการจัดเก็บและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างครบถ้วน
ส่งผลให้ Data Center จะกลายเป็นกุญแจสำคัญที่เข้ามาสร้างโอกาสให้คนไทยและประเทศไทยสู่ความสำเร็จบนเวทีโลก จนเกิดเป็นวิสัยทัศน์ “AI for All Thais” ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก
- การสร้างทักษะ AI เพื่อพัฒนาบุคลากรให้เกิดความสามารถทางด้าน AI
- เสริมขีดความสามารถ ให้เกิดการนำAI ไปใช้ในวงกว้าง
- สานต่อความมั่นคง เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างมั่นใจ
เสริมสร้างทักษะด้าน AI 1 ล้านคน
จากข้อมูลของ World Digital Competitiveness Ranking 2023 พบว่า แม้ประเทศไทยจะขยับจากลำดับที่ 40 ขึ้นมาอยู่ที่ลำดับ 35 แต่พบว่า ทักษะการใช้งานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่พื้นบ้านอย่างมาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 33 และอินโดนีเซียอยู่ในลำดับที่ 45 และมีแนวโน้มจะขยับเพิ่มมากขึ้น ทำให้ Microsoft ต้องเร่งพัฒนาทักษะการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับคนไทย
ส่งผลให้ Microsoft เตรียมเปิดตัวโครงการ “AI National Skill Initiative” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนทักษะ AI ที่จำเป็นให้กับคนไทย 1 ล้านคนภายใน 1 ปี โดยเฉพาะการ Prompt ใช้งาน AI และอีกหลากหลายหลักสูตรฝึกอบรมที่จะมีการแปลงให้เป็นหลักสูตรภาษาไทยกว่า 80% ซึ่งออกแบบให้ครอบคลุมผู้ใช้งานทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ใช้งานทั่วไป ผู้บริหาร และนักพัฒนา เพื่อนำศักยภาพของ AI ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน การทำงาน ตลอดจนการสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ด้วยฝีมือคนไทย
โดยจะเน้นไปที่ 3 กลุ่มหลักทั้ง
- กลุ่ม Developer ที่จะนำเทคโนโลยี AI ไปพัฒนาสู่ธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ
- กลุ่ม User ที่สามารถใช้เทคโนโลยี AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- กลุ่ม Under Serve เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ที่ช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ
เสริมขีดความสามารถการใช้งาน AI
นอกจากการพัฒนาทักษะด้าน AI แล้ว Microsoft ยังส่งสริมศักยภาพให้กับคนไทยและองค์กรไทยสามารถประยุกต์การใช้งาน AI เพื่อนำไปใช้งานในวงกว้าง ทั้งระดับบุคคลและองค์กร
- ระดับบุคคล: ซึ่ง Microsoft พร้อมขับเคลื่อนการใช้งาน AI ให้กับผู้ใช้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น บุคคลทั่วไป นักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ ข้าราชการ และอีกมากมาย โดยเปิดให้ผู้ใช้เข้าถึงเครื่องมือและประสิทธิภาพของเครื่องมือและบริการด้าน AI อย่าง Copilot บน Windows และ Edge, Microsoft Designer บนแอปพลิเคชันและผ่านเว็บ
- ระดับองค์กร: พร้อมผลักดันให้ AI กลายเป็นผู้ช่วยที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการดำเนินงานให้กับองค์กรยุคใหม่ และช่วยรับมือความท้าทายต่างๆ ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก ผ่านนวัตกรรมโซลูชันที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และความคล่องตัว เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค
ยกตัวอย่างการใช้งาน AI ในองค์กร เช่น การนำ AI ตรวจสอบสินค้าที่ขายดีที่สุดเพื่อช่วยการวางแผนการขาย หรือการนำ AI มาใช้กับกลุ่มงาน HR เพื่อคนหาผูสมัครงานที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ และสามารถส่งข้อมูลเหล่านั้นไปยังผู้ทำหน้าที่สัมภาษณ์ ช่วยเพิ่มโอกาสการสมัครงานมากขึ้น ซึ่ง Microsoft มองว่า AI ไม่ใช่เรื่องของ IT แต่เป็นเรื่องของการบริหารธุรกิจเป็นหลัก
สานต่อความปลอดภัยเพื่อความมั่นใจ
นอกจากประสิทธิภาพการใช้งานแล้ว Microsoft ยังให้ความสำคัญในเรื่องของระบบ Security เพราะความปลอดภัยคือประเด็นสำคัญอันดับหนึ่งที่ทุกผลิตภัณฑ์ ทุกบริการด้านเทคโนโลยีจะต้องมี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานเกิดความไว้วางใจ และมั่นใจในการใช้งาน AI เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนั้นๆ
โดยเรื่องของความปลอดภัย Microsoft ตั้งอยู่บนแนวคิด 3 ด้าน
- Secure by Design
- Secure by Default
- Secure Operation
ที่สำคัญ Microsoft ยังได้ขยายความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ เสริมทักษะด้านการใช้ AI เพื่อความปลอดภัยไซเบอร์ และแนวทางการใช้งาน AI อย่างถูกต้อง ปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ
ด้วยวิสัยทัศน์ FY 2025 ของ Microsoft ส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรด้าน AI ของไทย แต่หากมองภาพใหญ่จะเห็นว่าการพัฒนาทักษะนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสร้างผลิตผลทางด้านเทคโนโลยีของไทยออกสู่ตลาดโลก (Born in Thailand) เปลี่ยนภาพลักษณ์เดิมที่ทั่วโลกมองประเทศไทยเป็นผู้ผลิต (Made in Thailand) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายการพัฒนาทักษะด้าน AI ให้ถึง 1 ล้านคนที่ถือเป้นความท้าทาย เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือการที่ 1 ล้านคนต้องสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยได้ด้วย