กรณีศึกษา “MR. D.I.Y.” จากร้านฮาร์ดแวร์ในมาเลเซีย สู่อาณาจักร “ร้านสินค้าเบ็ดเตล็ด” ใหญ่แห่งอาเซียน – ลุยเปิด 1,000 สาขาในไทย

  • 852
  •  
  •  
  •  
  •  

MR. D.I.Y.

ถ้ามองตลาดค้าปลีกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย เชนค้าปลีกที่กำลังเป็น Rising Star ขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วในเวลานี้ และเชื่อว่าผู้บริโภคไทยเริ่มคุ้นเคยจากการเห็นหน้าร้าน หรือเคยเข้าไปใช้บริการกันมาบ้างแล้ว หนึ่งในนั้นคือ MR. D.I.Y. เชนค้าปลีกสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมบ้านจากมาเลเซีย (Home Improvement Retailer) มีกว่า 2,000 สาขา ใน 10 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นสาขาในไทยไทย 500 ร้าน ครอบคลุม 70 จังหวัด พร้อมทั้งตั้งเป้าในปี 2565 มี 550 สาขา และภายในปี 2569 มี 1,000 สาขาในไทย

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เชนค้าปลีกจากต่างประเทศ จะเข้ามาบุกตลาดค้าปลีกในไทย ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในตลาดปราบเซียน!

เพราะด้วยโครงสร้างตลาดค้าปลีกในไทยที่มีความซับซ้อน มีทั้งร้านค้าปลีกดั้งเดิม และค้าปลีกสมัยใหม่ที่แยกย่อยออกมาเป็น Segmentation มากมาย กระทั่งทุกวันนี้เป็นยุคของ Platform Era หลอมรวมระหว่าง Physical – Digital Platform เข้าด้วยกัน กลายเป็น Omni-channel

ขณะเดียวกัน Modern Retail มีผู้เล่นท้องถิ่นรายใหญ่ที่แข็งแกร่ง อยู่มานาน และครองความเป็นผู้นำในแต่ละเซ็กเมนต์ ยากที่รายใหม่จะตีตลาดได้ ซึ่งทุกวันนี้บรรดา Local Player ยักษ์ใหญ่ในไทย ก็ขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบอาเซียน

ประกอบกับด้วยความที่ตลาดค้าปลีกเชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ หรือวิถีชีวิต พฤติกรรม เทรนด์ และบริบทของสภาพแวดล้อมของสังคมนั้นๆ เช่น เศรษฐกิจ กำลังซื้อ เพราะฉะนั้นใครที่อยู่ในสนามค้าปลีก ต้องมีความเข้าใจทั้ง Local Insight และ Global Trend ที่สัมพันธ์กับตลาดไทย

นี่จึงทำให้การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกที่เป็น Modern Retail ในไทย จึงถูก dominate ด้วยเชนยักษ์ใหญ่ของไทยที่อยู่ในตลาดมายาวนาน!

แต่อะไรคือกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ MR. D.I.Y. จากมาเลเซีย สามารถรุกขยายอาณาจักรค้าปลีกสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมบ้านอย่างรวดเร็ว ทั้งในไทยที่เข้ามาทำตลาดในปี 2559 สามารถแข่งขันได้ในสมรภูมิที่มีแต่ผู้เล่นแข็งแกร่ง รวมไปถึงประเทศอื่นๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชีย รวมถึงยุโรป มาค้นคำตอบกัน ?!?

MR DIY Store

 

เส้นทางกว่าจะมาเป็น “MR. D.I.Y.” จากร้านขายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ดั้งเดิม สู่อาณาจักรร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดกว่า 2,000 สาขา

MR. D.I.Y.ก่อตั้งโดยสองพี่น้อง Tan Yu Yeh และ Tan Yu Wei ร่วมกันเปิดร้านขายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เล็กๆ ที่ Jalan Tuanku Abdul Rahman กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ใช้ชื่อว่า MR. D.I.Y. ในปี 2548

สาขาแรกเป็นร้านขายฮาร์ดแวร์แบบดั้งเดิมที่เราเห็นกันตามร้านตึกแถว หรืออาคารพาณิชย์ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากร้าน MR. D.I.Y. อย่างทุกวันนี้

แม้จะเป็นร้านฮาร์ดแวร์แบบดั้งเดิม แต่ผลปรากฏว่าได้การตอบรับจากผู้บริโภคชาวมาเลเซียเป็นอย่างดี ทำให้ภายในปีเดียวกันนี้เอง 2 พี่น้องได้ลงทุนขยายเพิ่มอีก 2 สาขา และต่อมากขยายสาขา MR. D.I.Y. อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยยังคงเป็นร้านรูปแบบ Stand Alone เปิดนอกศูนย์การค้า

MR. D.I.Y.
ร้าน MR. D.I.Y. สาขาแรกในมาเลเซีย เป็นร้านขายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์แบบดั้งเดิมที่เปิดตามอาคารพาณิชย์ หรือตึกแถว (Photo Credit: MR. D.I.Y.)

กระทั่งปี 2551 ได้ตัดสินใจเปิด MR. D.I.Y. ในศูนย์การค้าสาขาแรกที่ AEON” (อิออน ช้อปปิ้งมอลล์) หลังจากนั้นจับมือกับอีก 2 พันธมิตรเชนไฮเปอร์มาร์เก็ตคือ “Lotus’s (โลตัส)” (เดิมคือ Tesco หลังจากกลุ่มซีพีซื้อกิจการ Tesco ทั้งในไทยและมาเลเซีย ได้รีแบรนด์เป็น Lotus’s) และไฮเปอร์มาร์เก็ต Giant พร้อมทั้งปรับโฉมร้านให้ทันสมัยขึ้น

เหตุผลที่ MR. D.I.Y. ผนึกกำลังกับธุรกิจศูนย์การค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ต แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีกเหมือนกัน แต่ทาง MR. D.I.Y. ไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่ง แต่คือพันธมิตรธุรกิจที่ช่วยกันเติมเต็มความครบวงจรซึ่งกันและกัน โดย MR.D.I.Y. มีความครบวงจรด้านสินค้าของตกแต่ง ซ่อมแซม และของใช้ต่างๆ ภายในบ้าน ขณะที่เชนไฮเปอร์มาร์เก็ต และศูนย์การค้าตอบโจทย์ด้านสินค้าอุปโภคบริโภค

MR. D.I.Y. Malaysia
ร้าน MR. D.I.Y. ในมาเลเซีย Photo Story: manMalek / Shutterstock.com

นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา “MR. D.I.Y.” รุกขยายสาขาอย่างรวดเร็วในมาเลเซีย และเติบโตอย่างก้าวกระโดด

– 100 สาขาแรกนับตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ ใช้เวลา 9 ปี

– จาก 100 สาขา ทะยานสู่ 250 สาขา ใช้เวลา 3 ปี

– จาก 250 สาขา ทะยานสู่ 500 สาขา ใช้เวลา 2 ปี

– จาก 500 สาขา ทะยานสู่ 600 สาขา ใช้เวลาภายใน 1 ปี

ถึงปัจจุบัน “MR. D.I.Y.มีสินค้าหลากหลาย ตั้งแต่สินค้าตกแต่ง – ซ่อมแซมบ้าน, อุปกรณ์ครัว, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ของใช้ส่วนบุคคล เช่น เครื่องประดับ เครื่องเขียน ไปจนถึงตุ๊กตา ของเล่นต่างๆ ทำให้ร้าน MR. D.I.Y. ถือว่าเป็น Variety Store หรือ “ร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด” ก็ว่าได้ โดยมี 900 สาขาในมาเลเซีย

นอกจากนี้เพื่อสร้างการเติบโตมากขึ้น “MR. D.I.Y. Group” ซึ่งเป็นบริษัทแม่จึงได้ตัดสินใจขยายการลงทุนออกนอกประเทศมาเลเซียตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

หนึ่งในจุดหมายสำคัญคือ “ประเทศไทย” ถือเป็น Strategic Market ที่ปัจจุบันเป็นตลาดเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ MR.D.I.Y. เข้าไปลงทุน

MR. D.I.Y.

– ปี 2559 เปิดสาขาแรกในไทยที่ซีคอน บางแค และเปิดสาขาแรกที่บรูไน

– ปี 2560 เปิดสาขาแรกที่อินโดนีเซีย และเปิดครบ 50 สาขาในไทย

– ปี 2561 เปิดสาขาแรกที่ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ขณะเดียวกันเปิดครบ100 สาขาในไทย

– ปี 2562 เปิดสาขาแรกที่กัมพูชา และเปิดครบ 200 สาขาในไทย

– ปี 2563 เปิดสาขาแรกที่อินเดีย และเปิดครบ 250 สาขาในไทย

– ปี 2564 เปิดสาขาแรกที่ยุโรปคือ ตุรกี และเปิดครบ 400 สาขาในไทย รวมทั้งแนะนำโมเดลใหม่ “MR. D.I.Y. Express” สู่ตลาดไทย

– ปี 2565 เปิดสาขาแรกที่สเปน และล่าสุดเปิดครบ 500 สาขาในไทย โดยตั้งเป้าภายในปีนี้ ขยายครบ 550 สาขาในไทย

MR. D.I.Y.

ปัจจุบัน MR. D.I.Y. เปิดสาขาใน 10 ประเทศทั่วโลก รวมแล้วมีกว่า 2,000 สาขา, มีสินค้ามากกว่า 18,000 รายการต่อสาขา, มีฐานลูกค้ากว่า 340 ล้านคน และมีพนักงานกว่า 30,000 คน

ขณะที่ผลประกอบการของ MR. D.I.Y. Groupซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย ปี 2564 มีรายได้ 3,373 ล้านริงกิต หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท และกำไร 432 ล้านริงกิต หรือราว 3,600 ล้านบาท

ส่วนไตรมาส 1/2565 (สิ้นสุด 31 มีนาคม 2565) ทำรายได้ 905.163 ล้านริงกิต หรือประมาณ 7,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งทำรายได้ 870.18 ล้านริงกิต และมีกำไรสุทธิลดลง 19.5% เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น โดยอยู่ที่ 100.501 ล้านริงกิต หรือประมาณ กว่า 871 ล้านบาท จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนทำกำไรได้ 124.79 ล้านริงกิต

จะเห็นได้ว่าจากร้านขายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ขนาดย่อมๆ ในมาเลเซีย สามารถแตกกิ่งก้านเติบใหญ่เป็น “อาณาจักรค้าปลีกสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมบ้าน” หรือจะเรียกว่าเป็น “อาณาจักรร้านค้าปลีกสินค้าเบ็ดเตล็ด” อันดับ 1 ของมาเลเซีย และเป็นหนึ่งในเชนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ 2 พี่น้องผู้ก่อตั้ง MR.D.I.Y. Tan Yu Yeh และ Tan Yu Wei ติดอันดับ Top 10 มหาเศรษฐีของมาเลเซีย ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 2,400 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณกว่า 88 หมื่นล้านบาท

MR. D.I.Y.

 

5 กลยุทธ์ดัน “MR. D.I.Y.” โตเร็ว

กลยุทธ์สำคัญที่ไม่ว่า “MR.D.I.Y.” เข้าไปลงทุนในประเทศไหน จะใช้ 5 กลยุทธ์นี้ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต

1. ราคาสินค้า (Price) ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ภายใต้ Tagline ที่ว่า “Always Low Prices” เพื่อสื่อสารว่าสินค้าของ MR.D.I.Y. ราคาไม่แพง จับต้องได้

2. ความสะดวกสบาย (Convenience) ประกอบด้วย 2 แกนคือ

– ลุยเปิดสาขา ทั้งในศูนย์การค้า, ไฮเปอร์มาร์เก็ต และรูปแบบ Stand Alone เปิดใกล้ย่านที่พักอาศัย ซึ่งการขยายสาขาของ MR. D.I.Y. ใช้โมเดลลงทุนเองทั้งหมด ไม่ได้ขายแฟรนไชส์ เนื่องจากต้องการรักษาคุณภาพสินค้าและบริการให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

– จัด Lay out ร้านให้หาสินค้าได้ง่าย และสะดวก

3. ความหลากหลายของสินค้ามากกว่า 18,000 รายการ ครอบคลุม 10 หมวดหมู่ (Product Variety) ได้แก่ ฮาร์ดแวร์, เครื่องใช้ในครัวเรือน, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อุปกรณ์ประดับยนต์, อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน, เครื่องเขียน และอุปกรณ์กีฬา, ของเล่น, ของขวัญ, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ, เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง

ทั้งราคา ความสะดวกสบายในการเข้าถึงสาขา ความหลากหลายของสินค้า ถือเป็น Value Proposition หลักของ “MR. D.I.Y.” ในทุกประเทศที่นำเสนอให้กับผู้บริโภค และยังมีอีก 2 หัวใจสำคัญที่สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันมากขึ้นคือ การพัฒนา Store Format มากกว่า 1 รูปแบบ และมี Economy of Scale

MR DIY Store

4. สร้าง Store Format หลากหลาย สอดคล้องกับโลเคชั่น ปัจจุบัน MR. D.I.Y. มีร้านหลายขนาดตั้งแต่กว่า 500 ตารางเมตร – กว่า 1,000 ตารางเมตร – กว่า 2,000 ตารางเมตรใน 3 รูปแบบคือ

– รูปแบบเปิดในศูนย์การค้า – ไฮเปอร์มาร์เก็ต

– รูปแบบ Stand Alone เปิดในทำเลใกล้ย่านที่พักอาศัย

– รูปแบบ MR.D.I.Y. Express เป็นขนาดเล็ก เปิดในทำเลย่านธุรกิจ (Business Area) และสถานีบริการน้ำมัน โดยเลือกสินค้าขายดีมาจำหน่าย

5. ความได้เปรียบของ Economy of Scale สร้างอำนาจต่อรองซัพพลายเออร์

หัวใจสำคัญที่ทำให้ MR. D.I.Y. สามารถทำราคาขายได้ถูก เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคทุกคน (Mass Target) และมีสินค้ามากกว่า 18,000 รายการมาจาก การมี “Economy of Scale” เนื่องด้วยขนาดธุรกิจใหญ่ มีหลายสาขา ในหลายประเทศ ทำให้การสั่งสินค้าจากผู้ผลิต หรือซัพพลายเออร์ มี Volume ใหญ่ เพื่อกระจายไปยังทุกสาขาทั่วโลกที่ MR. D.I.Y. เข้าไปปักหมุดลงทุน จึงไม่ได้สั่งสำหรับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

ประกอบกับความพร้อมของระบบหลังบ้าน และนำเทคโนโลยีมาใช้บริการจัดการ Data อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถตรวจเช็คได้ว่าสาขาไหน สินค้าประเภทใดมี Low Inventory จะเข้าไปบริหารจัดการสินค้าอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการสินค้าขาด

เพราะฉะนั้นด้วยขนาดธุรกิจใหญ่ ทำให้ MR. D.I.Y. มีความได้เปรียบด้าน Economy of Scale ที่สามารถสร้างอำนาจการต่อรองกับผู้ผลิต หรือซัพพลายเออร์ได้สูง

MR DIY Store

“ความท้าทายด้านเศรษฐกิจส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจ สำหรับ MR. D.I.Y. ความโชคดีของเรา คือ Economy of Scale ทำให้เวลาขายสินค้า หรือสั่งสินค้าจากซัพพลายเออร์ ไม่ใช่มีแค่ตลาดไทยอย่างเดียว แต่สั่งสำหรับทุกสาขาทั่วโลก ทำให้ซัพพลายเออร์อยากทำธุรกิจกับเรา และเราเองในฐานะ Retailer สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ความท้าทายต่างๆ ด้านเศรษฐกิจไม่ได้กระทบกับเรามากนัก

สำหรับมุมลูกค้า โมเดลธุรกิจของ MR. D.I.Y. ค่อนข้างยืดหยุ่น และสถานการณ์เงินเฟ้อ ทำให้ผู้บริโภคอยากประหยัดค่าใช้จ่าย แต่สิ่งที่เขายังต้องการ คือ สินค้ามีคุณภาพ ผู้บริโภคสามารถหาซื้อใน MR. D.I.Y. ในราคาไม่แพง เนื่องจากกลยุทธ์ของเรา คือ Always low prices ทำให้เขาสามารถจับจ่ายได้โดยไม่ได้รู้สึกว่าสิ้นเปลืองเกินไป” คุณแอนดี้ ซิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มิสเตอร์. ดี.ไอ.วาย. (ประเทศไทย) ขยายความเพิ่มเติมถึงความได้เปรียบทางการแข่งขัน และการตอบโจทย์ลูกค้าในยุคภาวะเงินเฟ้อ

MR. D.I.Y. Thailand
คุณแอนดี้ ซิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มิสเตอร์. ดี.ไอ.วาย. (ประเทศไทย)

 

สำรวจตลาดไทย รุกเปิดสาขาใหม่ 1 สาขาภายใน 2 วัน ตั้งเป้า 1,000 สาขาภายในปี 2569  

สำหรับ MR. D.I.Y. ประเทศไทย ดำเนินธุรกิจมากว่า 6 ปีแล้ว นับตั้งแต่เปิดสาขาแรกในไทยที่ซีคอน บางแคในปี 2559 โดยผลประกอบการที่จดทะเบียนภายใต้ “บริษัท มิสเตอร์. ดี.ไอ.วาย. เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด” (ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงการตอบรับของตลาดไทย

– ปี 2560: รายได้รวม 948 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 3.9 ล้านบาท

– ปี 2561: รายได้รวม 1,722 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 57 ล้านบาท

– ปี 2562: รายได้รวม 2,572 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 38 ล้านบาท

– ปี 2563: รายได้รวม 3,411 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 58 ล้านบาท

– ปี 2564: รายได้รวม 4,570 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 58 ล้านบาท

ขณะที่การเปิดสาขาในไทย MR. D.I.Y. ประเทศไทย เร่งสปีดการขยาย เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 100 – 150 สาขาต่อปี และคาดว่าจะเปิดครบ 1,000 สาขาภายในปี 2569

MR. D.I.Y. Thailand
Photo Credit: Sombat Muycheen / Shutterstock.com

สำหรับปี 2565 ตั้งเป้าเปิด 150 สาขา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 เปิด 120 สาขา โดยปัจจุบันเปิดไปแล้ว 90 สาขา ล่าสุดที่โลตัส บางกะปิ ทำให้โดยรวมมี 500 สาขาใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ และภายในสิ้นปีนี้ หลังจากขยายได้ตามแผนที่วางไว้ จะทำให้ MR.D.I.Y. มีสาขาในไทยรวม 550 สาขา ซึ่งเท่ากับว่าปีนี้ MR. D.I.Y. สามารถเปิด 1 สาขาภายใน 2 วัน และคาดว่าจะเข้าถึงลูกค้า 50 ล้านคน

“ปัจจุบันประเทศที่มีสาขามากที่สุดคือประเทศมาเลเซีย เนื่องจากเปิดมานานที่สุด ด้วยจำนวน 900 สาขา ขณะที่ MR. D.I.Y. ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม 51% ในแง่ของการขยายสาขา นับตั้งแต่ปี 2560 และเมื่อเทียบกับ MR. D.I.Y.  ทั่วโลก ตลาดไทยมีอัตราการขยายสาขาอยู่ที่ 25% ถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในด้านการเติบโตขยายสาขาเมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ 10 แห่งทั่วโลก

ปัจจัยที่ทำให้ MR. D.I.Y. ขยายสาขาในไทยได้รวดเร็วมาจาก 2 ปัจจัยคือ 1. เงินทุนที่มั่นคง และ 2. มีทีมงานซัพพอร์ตการหาข้อมูลในการเปิดสาขา โดยสามารถเปิด 1 สาขาภายใน 2 วัน เมื่อจัดตั้งร้านแล้ว ก็เปิดให้บริการกับลูกค้าได้ และมีผลกำไรมากพอ ทำให้เราสามารถขยายสาขาต่อเนื่อง ดังนั้นไทยจึงเป็นตลาดสำคัญของเรา เนื่องจากกำลังซื้อ และจำนวนประชากรที่มากกว่ามาเลเซีย” คุณแอนดี้ ซิน ขยายความเพิ่มเติม

MR DIY Store

 

Basket Size น้อยกว่ารีเทลอื่น แต่ลูกค้ากลับมาใช้บริการถี่

ด้วย Value Proposition 3 ข้อ ทั้งราคา ทำเลที่ตั้งสาขา และความหลากหลายของสินค้า ในเชิง “จิตวิทยาผู้บริโภค” ถือว่ามีพลังดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาเดินดู และข้อปสินค้ารายการต่างๆ ไปมากกว่าที่ตั้งใจไว้

เช่น ตั้งใจมาซื้อของ 1 อย่าง ปรากฏว่าได้ของติดไม้ติดมือกลับไป 3 – 4 ชิ้น หรือบางคนอาจเข้ามาเดินดูเล่นๆ แต่เมื่อเจอราคา และความหลากหลายของสินค้าเข้าไป เป็นอันต้องได้ซื้อสินค้าบางรายการกลับไป ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว Basket Size ของลูกค้าที่มาใช้บริการ MR. D.I.Y. อยู่ที่ 4 – 5 รายการต่อครั้งอย่างสม่ำเสมอ และมียอดใช้จ่าย 220 – 250 บาทต่อบิล

MR DIY Store

“เดินเข้ามาในร้าน MR. D.I.Y. เหมือนกับการมาล่าสมบัติ บางทีลูกค้าอาจต้องการซื้อของ 1 อย่าง แต่กลับออกไปได้มา 4 – 5 อย่าง แม้ว่า Basket size ของเราไม่เท่า Retailer อื่น ๆ แต่ความหลากหลายของสินค้าทำให้มีการกลับมาที่สาขาและเกิดการซื้อบ่อยมากกว่าที่อื่น

นี่เป็นกลยุทธ์ของ MR. D.I.Y. ในการศึกษาความต้องการลูกค้า เพื่อเติมความหลากหลายของสินค้า และนำเสนอในราคาจับต้องได้ เพื่อให้กลับมาซื้อบ่อยๆ”

ส่วนกลุ่มสินค้าขายดีในไทยจากทั้งหมด 10 หมวดหมู่คือ 1. สินค้าเกี่ยวกับบ้าน เช่น สินค้าตกแต่งบ้าน 2. อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และ 3. อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ

“เรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ MR. D.I.Y. เป็นแหล่งช้อปปิ้งแบบครบวงจรที่มอบความสะดวกสบาย พรอมคำมั่นสัญญาในการรับประกันราคาถูกเสมอให้กับลูกค้าของเรา” คุณแอนดี้ ซิน สรุปทิ้งท้าย

MR DIY Store

MR. D.I.Y. Thailand
ทีมผู้บริหาร MR. D.I.Y. ประเทศไทย

 

Source: Macro Ops , Forbes

Source: MR. D.I.Y.


  • 852
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ