Leadership ต้องเริ่มที่อะไร ลองฟังมุมมองของ ‘หนุ่ม-ปิยะศักดิ์’ จากเงินติดล้อ ผลักดันจนเป็นองค์กรต้นแบบด้านผู้นำอาเซียน

  • 19.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

“เงินติดล้อ” เมื่อพูดถึงบริษัทนี้ หลายคนคงนึกถึงโฆษณาฮาๆ ที่เล่นเรื่องของการอนุมัติเงินเร็ว มีภาพลักษณ์ของบริษัทปล่อยสินเชื่อที่เข้าใจคนระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าน้อยคนจะทราบว่า บริษัทสินเชื่อแห่งนี้เป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะความเป็นผู้นำด้านธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ จนกระทั่งเหล่านักธุรกิจชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังนำคณะจากสถาบัน ICLIF Leadership and Governance Centre กว่า 30 ชีวิตเดินทางจากประเทศมาเลเซีย เพื่อมาดูงานที่นี่ แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ “เงินติดล้อ” ได้รับเลือกให้ยืนอยู่แถวหน้า ลองมาฟังจากผู้กุมบังเหียนตัวจริง คุณหนุ่ม-ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด

ntl1

ความเป็นองค์กรที่โปร่งใสและได้มาตรฐาน

คุณหนุ่ม เล่าภาพรวมว่า ตลาดสินเชื่อทะเบียนรถในประเทศไทยมีผู้ใช้สินเชื่ออยู่ราว 3-5 ล้านราย และวิธีการทำธุรกิจของเราคือ ลูกค้ามีทรัพย์สิน เช่น มีรถมอเตอร์ไซค์ รถเก๋ง รถกระบะ หรือรถบรรทุก พอเขาผ่อนชำระครบแล้วหรือซื้อเงินสดมา เขาสามารถเอาเล่มทะเบียนรถมาฝากไว้กับเราแล้วก็รับสินเชื่อเงินสดกลับไป

แต่แนวคิดการทำธุรกิจของเราค่อนข้างแตกต่างกับผู้ประกอบการที่เป็นท้องถิ่น ตรงที่คนอื่นอาจจะมองว่าธุรกิจของเขาคือการทำกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ของเรานั้นคือการสร้างโอกาสให้กับลูกค้ามากกว่า และให้บริการลูกค้าให้มากกว่าสิ่งที่เขาคาดหวัง เนื่องจากลูกค้าของเราเป็นกลุ่มรากหญ้า เขาอาจจะไม่ได้คาดหวังในเรื่องของมาตรฐาน เขาอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในฐานะผู้บริโภคที่ขอกู้เงินเขามีสิทธิอะไรบ้าง ดังนั้น สิ่งที่เราทำคือการให้ความรู้แก่เขามากที่สุด

“เราพยายามที่จะให้ความรู้แก่ลูกค้ามากขึ้น ว่าเขาควรที่จะต้องได้ดูสัญญาตอนขอสินเชื่อ ควรจะต้องได้ใบเสร็จ หรือเขามีโอกาสเรียกร้องอะไรได้บ้าง ควรจะเห็นว่ามีดอกเบี้ยเท่าไหร่ มีค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ มีอะไรที่แอบแฝงภายหลังหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้สำคัญกับเรามาก แต่ในขณะที่เจ้าอื่นๆ อาจจะมองว่าถ้าลูกค้าผิดเงื่อนไขคือยึดรถฟันกำไรอย่างเดียว ที่กล่าวมาโดยรวมคือเรื่องของมาตรฐานการบริการและความโปร่งใสที่เรามีให้กับลูกค้า ทำให้เราแตกต่างจากที่อื่นๆ”

ntl2

ให้ความสำคัญเรื่องคน ทั้งลูกค้าและพนักงาน

สาเหตุที่ทำให้สถาบัน ICLIF ซึ่งเป็นองค์กรต่างประเทศ สนใจในตัวบริษัทและเข้ามาเยี่ยมดูงานที่ เงินติดล้อ นั้น คุณหนุ่ม บอกว่า เพราะเราเป็นบริษัทที่แตกต่าง เราเป็นสถาบันการเงินก็จริง แต่ทั้งแนวคิดและวิธีการทำงาน เรายึด ‘พนักงาน’ และ ‘ลูกค้า’ เป็นหลัก โดยที่ตัวเลขและผลประโยชน์เป็นเรื่องรองลงมา เพราะเราเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญเรื่องคน ซึ่งนั่นทำให้ได้รับรางวัลต่างๆ มากมายทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน ตรงจุดนี้เลยทำให้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับองค์กรจากต่างประเทศถึงแนวคิดในการสร้างบริษัท ที่เน้นเรื่องการทำประโยชน์ให้กับสังคม หรือเรื่องค่านิยมองค์กรที่แตกต่างจากแนวทาง traditional ทั่วไป โดยเป็นการคิดรูปแบบใหม่ ทำให้เขาเกิดความสนใจและอยากจะร่วมแบ่งปันไอเดียและประสบการณ์กับเรา

“อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเรียนว่า หลายๆ อย่างที่เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรของเรา มันอาจจะไม่ใช่ของใหม่แกะกล่อง หรือเกิดจากเราที่เป็นคนคิดคนแรก แต่เป็นการ adapt หรือปรับเปลี่ยนจากตำราเล่มนั้นเล่มนี้ หรือจากแนวคิดการสร้างองค์กรระดับโลกชั้นนำมากมาย แล้วก็ปรับให้มันเข้ากับวัฒนธรรมของเรามากที่สุด เป็นรูปแบบของเราเอง หรือแม้กระทั่งเกิดจากความผิดพลาดของเราในอดีตจนเราแก้ไขและปรับปรุงมันให้ดีขึ้น”

ntl3

องค์กรที่ให้ความสำคัญกับความไว้วางใจ

นอกเหนือจากแนวคิดของการให้ความสำคัญเรื่อง ‘คน’ แล้ว อีกสิ่งที่ เงินติดล้อ ได้แบ่งปันกับสถาบัน ICLIF ก็คือการสร้างความไว้วางใจในองค์กร และการบริหารคนบน ‘ความไว้วางใจ’ ซึ่งถือเป็นค่านิยมองค์กรที่สำคัญของเงินติดล้อ

คุณหนุ่ม กล่าวว่า เราสร้างองค์กรบนความไว้วางใจคน แล้วเราก็แกะออกมาว่าการ ‘ไว้ใจ’ กับ ‘ไม่ไว้ใจ’ มันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เราไว้ใจคนที่มีเป้าหมายเดียวกับเรา เราไว้ใจคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านที่เราไม่เก่ง และสุดท้ายคือเราไว้ใจคนที่มีค่านิยมที่สอดคล้องกับค่านิยมของเรา นั่นคือกลุ่มบุคคลที่เราไว้ใจ แต่กับกลุ่มคนที่ไม่ไว้ใจ เราก็มีวิธีบริหารจัดการ โดยการสร้างกฎระเบียบ สร้างระบบ และสร้างขั้นตอนการปฏิบัติงานต่างๆ เพื่อให้เค้าทำงานไปตามแนวทางที่ควรจะเป็น โดยไม่ฝืนใจ

“แต่เคล็ดลับที่สำคัญของการดูแลคนกลุ่มหลัง คือการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน คือทำยังไงให้เขามีความสุขกับการทำงาน ไม่ให้เขารู้สึกว่าถูกควบคุมอยู่ เพราะว่าไม่มีใครชอบความรู้สึกแบบนั้น”

ntl4

ค่านิยม 7 ประการของเงินติดล้อ

ค่านิยม 7 ประการของชาวเงินติดล้อ น่าสนใจมาก ซึ่งเราขอนำมาแบ่งปันให้ทราบ ดังนี้

  1. Sustainable Impact by Creating Opportunities สร้างสรรค์ แบ่งปันโอกาส สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน
  2. Sense of Ownership with Gratitude รู้สำนึกและมีจิตวิญญาณความเป็นเจ้าของ
  3. Candid Teamwork ร่วมมือร่วมใจและเชื่อใจกัน
  4. Serve with Integrity, Informality, and Authenticity ทำทุกอย่างด้วยความซื่อสัตย์ จริงใจ และเป็นกันเอง
  5. Thirst for Wisdom and Self-Development กระหายการเรียนรู้และไม่หยุดพัฒนาตนเอง
  6. Experiment to Lead Change กล้าทดลองในสิ่งใหม่ พร้อมก้าวไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
  7. Work Smart, Party Hard ทำงานให้เต็มที่ ปาร์ตี้ให้สุด

คุณหนุ่มเล่าว่า ค่านิยมทั้ง 7 ประการนี้ คิดกันขึ้นมาเองในกลุ่มผู้บริหารและพนักงานร่วมกัน โดยผ่านทั้งการสอบถามและทำเวิร์คชอปหลายรอบมาก เรากลั่นกรองและเขียนกันไปมาหลายเวอร์ชั่น จนในที่สุดก็ออกมาเป็นแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้ให้ทุกคนต้องท่องให้ได้ต้องพูดให้ได้ เพราะทุกๆ ข้อมันต้องเกิดมาจากความเข้าใจและเห็นด้วยกับมัน เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ ค่านิยมที่ปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่ค่านิยมที่ท่องได้ แต่ต้องเห็นเป็นรูปธรรม สะท้อนเป็นวิธีการและนโยบายออกมา

ntl5

‘ค่านิยม’ ช่วยดึงดูดคนที่เหมาะกับองค์กรเข้ามาทำงาน

น่าสนใจว่า ค่านิยม 7 ประการนี้ช่วยในการรับสมัครและคัดเลือกคนเข้าทำงานได้ตรงกับเป้าหมายขององค์กร ทำให้ เงินติดล้อ ได้พนักงานที่ดีมีคุณภาพ และมี DNA ที่เข้ากันกับวัฒนธรรมขององค์กรได้เป็นอย่างดี

คุณหนุ่ม เล่าว่า ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกเลยคือการคัดกรองคน เมื่อเรามีค่านิยมตรงนี้ มันทำให้เรามีจุดยืนที่ชัดเจนมาก มีเป้าหมายที่ชัดเจน นั่นคือการช่วยคน โดยที่ค่านิยม 7 ประการถูกนำมาดัดแปลงมาเป็นคำถามตอนที่เราสัมภาษณ์งานเลย ซึ่งน่าทึ่งมากที่มันสามารถช่วยให้เราคัดคนเข้าและคัดคนออกได้อย่างง่ายดาย

“บางคนที่เราสัมภาษณ์ ทั้งทักษะ ทั้งความเชี่ยวชาญผ่านหมด แต่พอพูดคุยแล้วเขากลับมีค่านิยมที่ไม่ตรงกับ Core Value ของเรา มันเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราแม่นขึ้นในการคัดกรองคนเข้ามาร่วมงาน พอคัดเข้ามาเสร็จเราก็ต้องขยายความว่าความหมายของ 7 ข้อนั้นคืออะไร ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น ทุกสิ่งที่บริษัททำต้องอยู่บนพื้นฐานทั้ง 7 ข้อนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การตัดสินใจของผู้บริหาร หรือแม้แต่การพิจารณาความผิด หากใครทำผิดนอกเหนือไปจากกฎระเบียบที่เราวางกันไว้ อีกสิ่งที่จะใช้พิจารณาด้วยก็คือคุณทำผิดไปจากค่านิยม 7 ประการของเราหรือไม่”

‘ลูกน้อง ลูกน้อง ลูกน้อง’ นิยามความเป็นผู้นำ

นอกจากการเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลแล้ว อีกสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้ เงินติดล้อ ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทแถวหน้าก็คือตัวผู้บริหาร คุณหนุ่ม-ปิยะศักดิ์ นั่นเอง เราเลยลองถามว่า ความเป็นผู้นำ ในความหมายของคุณหนุ่มคืออะไร

ผู้บริหารหนุ่ม ตอบว่า คือการคิดถึงปัญหาของลูกน้องก่อนเป็นลำดับแรก ว่าเราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง มันคือหน้าที่ที่ต้องช่วยเขาแก้ไขปัญหา สิ่งนี้ยังเป็นสิ่งที่คนอื่นยังไม่ค่อยเข้าใจ หลายคนมองว่าลูกน้องเป็นกลไกที่ทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จ แต่จริงๆ ไม่ควรมองแบบนั้นเลย ถ้าเรามองว่าเรามีหน้าที่สนับสนุนคนอื่นแล้ว เมื่อวันที่เขาประสบความสำเร็จก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่รู้สึกยินดีไปด้วย

“คือการเอาความสำเร็จของลูกน้องเป็นที่ตั้ง เรามีหน้าที่สนับสนุนให้คนอื่นเติบโต คนอื่นเก่งขึ้น แล้วความสำเร็จของลูกน้องหรือทีมงานมันจะขึ้นมาหาเราเอง ผมคิดแค่นี้”

เป็นองค์กรที่เปิดกว้าง ไม่เน้นระดับชั้น

อีกสิ่งที่น่าสนใจจากวัฒนธรรมองค์กรของเงินติดล้อก็คือ การเปิดกว้างให้พนักงานได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่โดยไม่จำกัด level และที่สำคัญ ไม่ได้มองความผิดพลาดเป็นเรื่องเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นไม่ได้

คุณหนุ่ม ย้ำว่า การสร้างบรรยากาศให้คนกล้าทำ กล้าคิด มันเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะไม่มีใครเก่งไปหมดทุกเรื่อง แม้แต่พนักงานระดับเล็กๆ ก็อาจจะมีแนวคิดหรือคำแนะนำที่เราต้องรับฟัง ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือการดึงศักยภาพของทุกคนออกมาให้หมด เปิดโอกาสให้เขาแสดงออก ซึ่งถ้าเราเป็นบริษัทที่ยึดติดกับตำแหน่งมากเกินไป ก็จะทำให้แต่ละคนไม่กล้าที่จะแสดงความคิดหรือแสดงทักษะที่ตัวเองมีออกมา แล้วเขาก็จะกลายเป็นของดีที่ไม่มีใครเห็น

“ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ เราจะต้องเปิดกว้าง และให้เขาได้แสดงความสามารถ ได้ทำงาน เปิดโอกาสให้ทำในสิ่งที่เขาคิดว่ามันเหมาะสม เขาอาจจะมีการผิดพลาดบาง แต่ถ้าเราเลือกถูกคนเขาจะแก้ไขจากสิ่งที่ผิดพลาด ให้กลายเป็นสิ่งที่คุ้มค่า แล้วเขาจะภูมิใจที่บริษัทปล่อยให้เขาได้พัฒนาตนเอง เขาจะเติบโตและภูมิใจในตัวเองและรักองค์กรมากขึ้น”

ความกล้า ที่จะผลักดันองค์กรไทยสู่สากล

ท้ายที่สุด สิ่งที่ผู้บริหารหนุ่มคนนี้มองว่าองค์กรไทยจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคได้ ต้องเริ่มจากความกล้า และการให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ หนุ่ม ปิยะศักดิ์ บอกว่า คนไทยมีดีหลายอย่าง แต่สิ่งที่ต้องทำคือความกล้า กล้าโชว์ในศักยภาพที่เรามี บริษัทไทยหลายๆ แห่งยังคิดว่าตัวเองเล็ก หลายคนคิดไปเองว่ามาตรฐานต่างประเทศดีกว่าเรา หรือคิดไปเองว่าเรายังไม่ดีพอ ดังนั้น ต้องกล้าที่จะดึงศักยภาพของตัวเองออกมา และที่สำคัญต้องเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ด้วย

“ผมมีความรู้สึกที่ว่าเด็กที่จบใหม่ส่วนใหญ่จะหางานยาก เพราะทุกที่ก็อยากได้คนที่มีประสบการณ์ แต่ถ้าเราเป็นองค์กรที่กล้าเปิดรับเด็กจบใหม่เลย นั่นจะทำให้เราได้ทรัพยากรที่มีคุณค่ามาก หลายคนมักจะคิดว่าเด็กจบใหม่ไม่ยึดติด ไม่มีความภักดีต่อองค์กร แต่นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้เปิดโอกาสให้เขาก่อนหรือเปล่า ดังนั้น สำหรับเงินติดล้อแล้ว ไม่ว่าเขาจะเป็นพนักงานหรือลูกค้า เราเชื่อว่าการให้ก่อนสำคัญ เพราะการให้ก่อนจะส่งผลดีในระยะยาว”

และทั้งหมดนี้น่าจะพอเป็นคำตอบได้ว่าทำไม เงินติดล้อ บริษัทสัญชาติไทยแท้ ที่ทำเพื่อคนรากหญ้าในสังคมไทย ถึงก้าวขึ้นมาเป็นองค์กรต้นแบบระดับอาเซียนได้

Copyright © MarketingOops.com


  • 19.4K
  •  
  •  
  •  
  •