Sony ปิดโรงงาน ปลดคนลอตใหญ่

  • 47
  •  
  •  
  •  
  •  

สร้างความตื่นตะลึงอยู่ไม่น้อย เมื่อแบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ ยักษ์ใหญ่จากแดนซามูไร “โซนี่” ประกาศปรับลดพนักงานลอตใหญ่ 16,000 คนทั่วโลก โดยแบ่งเป็นปรับลดพนักงานประจำ 5% หรือราว 8,000 คน และเลิกจ้างพนักงานชั่วคราวอีก 8,000 คน

โดยประเมินว่า แผนโละพนักงานครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์

แต่แค่นั้นยังไม่พอ เพราะโซนี่มีแผนจะปิดโรงงานอีก 5-6 แห่ง จากโรงงานผลิตทั้งหมด 57 แห่งทั่วโลก รวมถึงชะลอแผนการลงทุนก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ ออกไปก่อน

“ฟอร์บส” ตั้งข้อสังเกตว่า การขยับของโซนี่ครั้งนี้อาจเป็นแรงกดดันที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมนี้ และอาจทำให้แบรนด์ดังบางรายต้องยอมถอยออกจากตลาดอิเล็กทรอนิกส์ในปีหน้า

ดังจะเห็นได้จากการเดินมาถึงจุดสิ้นสุดของ “ซันโย” แบรนด์เก่าแก่ของญี่ปุ่นที่เพิ่งตกลงขายกิจการให้แก่ “พานาโซนิค” ก็สะท้อนเค้าลางของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปีหน้าได้เป็นอย่างดี

“ยูอุกิ ซากุราอิ” ผู้จัดการกองทุนฟูโกกุ มิวชวล ไลฟ์ มองว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการควบรวมกิจการมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคชาวตะวันตกนิยมจับจ่ายเงินซื้อหาทีวีจอแบน กล้องดิจิทัล และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อย่างเพลิดเพลิน จนกระทั่งในปีที่แล้วที่เริ่มชะลอการจับจ่ายลง แต่แบรนด์อิเล็กทรอนิกส์จากญี่ปุ่นก็ไม่ได้ครอบครองตลาดแต่เพียงผู้เดียวเหมือนที่ผ่านมา เพราะมีแบรนด์ อิเล็กทรอนิกส์จากเกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ขยับขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญ

ดังนั้น การจะรักษาตำแหน่งให้ยืนอยู่แถวหน้าท่ามกลางคู่แข่งจำนวนมากมาย บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นจำเป็นต้องทุ่มเงินมหาศาลในการสร้างโรงงานแห่งใหม่เพื่อผลิตสินค้าชั้นนำที่สามารถวางขายในตลาดระดับพรีเมี่ยมได้นาน 1-2 ปี หรือจนกว่า ผู้ผลิตคู่แข่งจะตามทัน ดังเช่นกรณีของ “ชาร์ป” ผู้ผลิตจอแอลซีดีแถวหน้าที่ทุ่ม เดิมพันครั้งใหญ่ในการคิดค้นเทคโนโลยี ขั้นสูง เพื่อรักษาสถานะแชมป์ในตลาด แอลซีดีให้ได้ต่อไป

นอกเหนือจากการทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในการพัฒนาจอแอลซีดีไฮเทคในญี่ปุ่น ชาร์ปยังยอมควักเงินอีก 4 พันล้านดอลลาร์ในการสร้างโรงงานแห่งใหม่ๆ ในพื้นที่ใกล้ๆ กัน ซึ่ง “ซากุราอิ” ให้ความสนใจว่า ชาร์ปจะทำอย่างไรต่อไปกับแผนการลงทุนของตัวเองในขณะที่ความต้องการบริโภคสินค้าอยู่ในช่วงขาลงเช่นนี้

บริษัทวิจัย “ดิสเพลย์เสิร์ช” ระบุว่า มีสัญญาณชัดเจนว่าผู้บริโภคกำลังลดการใช้จ่ายลง แม้ความต้องการซื้อโทรทัศน์ จอแบนในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ยังคงแข็งแกร่งก็ตาม แต่การขยายตัวของตัวเลขการส่งออกจอแอลซีดีในช่วงครึ่งแรกของปี ลดลงจาก 47% ในปีที่แล้ว เหลือ 32% ในปีนี้ และความต้องการที่ชะลอตัวลง น่าจะส่งผลต่อการขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ชัดเจนมากขึ้น

“อีริค ลี” นักวิเคราะห์จากบาร์เคลย์ แคปิตอล ในโตเกียว มองว่า ไม่เพียงแต่จะส่งผลให้ต้องควบรวมกิจการ หรือล่มสลายไป แต่การชะลอซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้บริโภค อาจส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่นต้องปิดธุรกิจที่ขาดทุน เพื่อจะลดต้นทุนให้มากที่สุดด้วย

ลีกล่าวว่า การสูญเสียฐานที่มั่นในบางธุรกิจที่ไม่ทำยอดในแง่ปริมาณ อาจจะเป็นตัวเร่งให้บริษัทต้องยอมตัดใจถอนตัวออกจากตลาด ซึ่งบริษัทที่มีแนวโน้มจะต้องโยนผ้าขาวยอมแพ้ก็รวมถึงผู้ผลิตเบอร์รองๆ อาทิ เจวีซี เคนวูด ฟูไน โตชิบา

สำหรับโซนี่เอง การลดคนครั้งนี้อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่อาจต้องปรับลดคนเพิ่มเติมอีก ดังที่แถลงการณ์ระบุว่า โซนี่จะใช้มาตรการอื่นๆ อีก หากมีความจำเป็น

สอดคล้องกับ “ซีเน็ต” ที่รายงานว่า ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ ส่งผลต่อการแข่งขันกันของบรรดาแบรนด์ ใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใน ทุกเซ็กเมนต์

โดย “ริค กิอัสโต” รองประธานบริษัทวิจัย “ไอดีซี” เปิดเผยว่า มีแนวโน้มว่าการแข่งขันจะรุนแรงขึ้นในทุกเซ็กเมนต์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ช่วงเทศกาลวันคริสต์มาสยาวไปจนถึงปีหน้า ซึ่งเราอาจจะได้เห็นการแข่งกันหั่นราคา เนื่องจากบริษัทต้องการกระตุ้นให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น ซึ่งเทรนด์หั่นราคาน่าจะเริ่มต้นขึ้นในไม่ช้านี้

Source: ประชาชาติ ธุรกิจ


  • 47
  •  
  •  
  •  
  •