ปรับแนวทางบริหาร เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

business-1จากสถิติการค้นหาของคนไทยด้วย keywords ในปี 2551 จาก Google พบว่า มีการค้นหาเกี่ยวกับคำว่า “ถูก” สูงขึ้นจากเดิม 164% มีการค้นหาเกี่ยวกับคำว่า “ราคาดี” เพิ่มขึ้น 113% และคำว่า “ลดราคา” เพิ่มขึ้น 76% ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยค้นหา ข้อเสนอที่ดีที่สุด และประหยัดเงินผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลไปถึงความกล้าในการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ที่จะมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงขาขึ้นของธุรกิจออนไลน์ แต่บางธุรกิจที่อยู่ในออนไลน์ และออฟไลน์ ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกิจมากขึ้นด้วย โดยผลสำรวจจากมาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ ระบุว่า ปี 2552 ผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อหดตัวทั่วเอเชียแปซิฟิก ส่วนคนไทยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการกินข้าวนอกบ้านและสิ่งบันเทิงต่างๆ มากเป็นอันดับ 1 การเดินทางท่องเที่ยว เป็นอันดับ 2 และอสังหาริมทรัพย์ เป็นอันดับ 3 ซึ่งใครที่อยู่ในธุรกิจนี้ไม่ว่าจะเป็นออฟไลน์ หรือออนไลน์คงต้องเตรียมปรับตัว คิดหากลยุทธ์รับมือกับแรงกดดันทางธุรกิจที่กำลังเข้ามาเยือนกันแล้ว

ส่วนผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคโดยรวม พบว่า ผู้บริโภคกว่า 70% ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเตรียมรัดเข็มขัดระวังเรื่องการใช้จ่าย โดยประเทศที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มลดการใช้จ่ายลงสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และเกาหลี ส่วนประเทศที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มลดค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ได้แก่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และจีน ซึ่งถ้าธุรกิจใครมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่คิดจ่ายเงิน ก็คงต้องไปหาช่องทางเจาะกลุ่มตลาดใหม่ๆ เปลี่ยนแผนกลยุทธ์ไปยังตลาดที่มีความพร้อมจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ผลการสำรวจยังได้ระบุว่า กลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญในเรื่องการออมเงินมากขึ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ 97%, อินโดนีเซีย 96%, มาเลเซีย 93%, อินเดีย 92% และไทย 90% ส่วนประเทศที่ให้ความสำคัญกับการออมเงินน้อยที่สุด คือ ประเทศจีน 78% แต่ถึงจีนจะให้ความสำคัญกับการออมเงินน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่ก็ยังถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจากรายงานของมาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ ได้ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคจำนวน 1 ใน 3 คน มีแนวโน้มที่จะออมเงินมากกว่า 20% ของรายได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

วินาทีที่กำลังเข้าสู่วิกฤติ ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนให้เป็นโอกาสเช่นนี้ คงถึงเวลาที่จะต้องปรับแนวทางการบริหารธุรกิจเข้าสู่ยุคใหม่กันสักที

1. จากศัตรู เปลี่ยนเป็นการร่วมมือ

ถึงเวลาที่คุณจะต้องหาพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ ให้มาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันแล้ว จากเดิมที่เคยเป็นคู่แข่ง คู่ปรับในอุตสาหกรรมเดียวกัน ก็คงต้องเปลี่ยนมุมมองหันพิจารณาว่า บริษัทที่เดิมเป็นคู่แข่งกันนั้น ถ้ามารวมกัน ร่วมมือกันจะสร้างจุดแข็ง หรือข้อได้เปรียบในการแข่งขันให้กับคุณได้มากน้อยเพียงใด สร้างอำนาจในการต่อรองให้กับคุณเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ช่วยป้องกันคู่แข่งรายอื่น และสร้างฐานลูกค้ารายใหม่ หรืออย่างน้อยก็รักษาฐานลูกค้ารายเดิมของคุณให้เหนียวแน่นขึ้น ไม่ไปจากคุณได้หรือไม่ ในขณะเดียวกันคุณก็จะได้ลดคู่แข่งทางธุรกิจให้ลดลงไปด้วยในตัว

ดั่งเช่นคำเปรียบเปรยที่มักจะใช้ในวงการเมืองที่ว่า ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูที่ถาวร ดังนั้น ศัตรูในวันนี้อาจจะเป็นมิตรที่ดีของคุณในวันหน้าก็ได้

2. สร้างความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือ

การทำธุรกิจไม่ใช่มุ่งเน้นเพียงแค่ลดความเสี่ยงให้เกิดขึ้นกับธุรกิจให้น้อยที่สุด และเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจให้มากที่สุดเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างคุณประโยชน์จากความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์จากความสัมพันธ์ส่วนตัวซึ่งอาจจะส่งผลทางธุรกิจในเรื่องการพูดจาต่อรองทางธุรกิจที่ทำได้ง่ายขึ้น ความสัมพันธ์จากการเป็นคู่ค้ากันมายาวนาน ความสัมพันธ์ของการเป็นเพื่อนที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันที่อาจจะคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการจะสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ มิตรภาพต่างๆ นี้ได้นั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใส และความเชื่อใจกัน

ความโปร่งใสทางธุรกิจ การดำเนินธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ถือเป็นประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งในการทำให้บริษัทของคุณอยู่ในอุตสาหกรรมได้อย่างยาวนาน และเป็นการลดความเสี่ยงในการสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ ในขณะเดียวกันยังมีส่วนช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรของคุณ ทำให้บริษัทของคุณเป็นองค์กรที่น่าจะเข้าไปร่วมธุรกิจด้วยแห่งหนึ่งอีกด้วย

การสร้างความโปร่งใสในการทำธุรกิจให้เกิดขึ้นนั้น บางครั้งคุณอาจจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายภายในองค์กร ซึ่งนั่นจะส่งผลต่อรูปแบบในการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไปด้วย แต่การปรับเปลี่ยนนี้อาจจะทำให้คุณมี position ที่ดีขึ้นในอุตสาหกรรมในบางเรื่อง และอาจจะสร้างจุดด้อยในองค์กรให้เกิดขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน แต่ประเด็นก็คือว่า คุณจะสามารถรับมือ และตอบสนองกับจุดด้อยที่กำลังเป็นปัญหาซึ่งเกิดขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อคุณบวก ลบ คูณ หาร ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้ว คุณจะได้ข้อสรุปของกลยุทธ์แนวใหม่ซึ่งดีกับองค์กรของคุณที่สุดในช่วงเวลานี้ขึ้นมา

3. หาโซลูชั่นแบบชนะด้วยกันทั้งคู่

สถานการณ์แบบรวยคนเดียว ประเภทที่ว่าถ้ามาร่วมมือกันแล้วเราได้ 60 เธอเอาไป 40 คงจะไม่ค่อยมีใครต้องการนักในช่วงเศรษฐกิจเช่นนี้ โซลูชั่นแบบชนะด้วยกันทั้งคู่ ไม่มีใครแพ้ในเกมการแข่งขัน น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้

การปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหาร ก็ต้องสร้างมุมมองใหม่ๆ ในการทำธุรกิจด้วยเช่นกัน บางครั้งบริษัทคุณอาจจะได้ผลประโยชน์ไม่เท่าเดิมที่เคยได้ แต่เพื่อเป้าหมายในระยะยาวแล้ว เห็นทีต้องยอมแลกกับผลประโยชน์เล็กน้อยที่เสียไปในวันนี้เช่นกัน

ผู้นำในทุกธุรกิจต่างก็พัฒนาวิสัยทัศน์ของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น เพื่อให้เข้ากับทิศทางในอนาคตของอุตสาหกรรมที่ได้ทำเนินธุรกิจอยู่ ทุกคนต่างต้องการเป็นส่วนหนึ่งในอนาคตของอุตสาหกรรมที่พวกเขาอยู่ ไม่มีใครต้องการล้มหายตายไปหรือหลุดวงโคจรออกไปจากธุรกิจ ดังนั้นผู้ที่เป็นผู้นำจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ให้ก้าวทันกับแนวโน้มที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ โครงสร้างทางธุรกิจ และเทคโนโลยี ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้องค์กรของคุณยังมีความสามารถในการแข่งขัน มีความสามารถในการทำรายได้อยู่นั่นเอง

การมองวิสัยทัศน์ในระยะยาวนั้น ผู้นำองค์กรจำเป็นจะต้องเล็งเห็นถึงแรงกดดันในรูปแบบต่างๆ ที่จะเข้ามีผลกระทบต่อองค์กรของตัวเอง ซึ่งการตอบโต้กับแรงกดดันต่างๆ โดยการใช้กลยุทธ์แบบชนะไปด้วยกันทั้งคู่ ก็เป็นการแก้ลำในสถานการณ์เช่นนี้ได้เป็นอย่างดี 

4. การปรับเปลี่ยนคือความท้าทาย

ไม่เพียงแค่ผู้บริหารเท่านั้นที่ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหาร แต่องค์กรทั้งองค์กรของคุณจะต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน ไปตามแนวทางการบริหารโฉมใหม่นี้ด้วย ซึ่งจะปรับแล้วรอด เปลี่ยนแล้วยิ่งเพิ่มพูนหรือไม่ คือความท้าทายที่ทุกองค์กรต้องเผชิญ

การแก้ไขปัญหาต่างๆ ผู้บริหารต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ บริษัทของคุณทำธุรกิจเพื่ออะไร และยังต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัทเราด้วย ซึ่งหากในวันนี้สภาพแวดล้อมรอบๆ องค์กร ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจ คู่แข่ง เทคโนโลยีที่กำลังปรับเปลี่ยนในหลายๆ อุตสาหกรรม กำลังส่งแรงกดดันที่มีผลต่อความสามารถในการทำกำไรขององค์กรคุณแล้ว การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างเร่งด่วน และที่สำคัญต้องได้ผล สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี คืองานสำคัญที่กำลังรอคุณอยู่

ปี 2552 คงเป็นปีที่ทุกธุรกิจต้องหันมาสำรวจจุดอ่อน (Weakness), จุดแข็ง (Strong), โอกาส (Opportunity) และภัยคุกคาม (Threat) ทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกองค์กรอย่างถ้วนถี่ และหากลยุทธ์ที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อตอบโต้กับแรงกดดันจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ องค์กรของคุณ และเปลี่ยนวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนโหดร้าย ให้กลายเป็นโอกาสอย่างยิ่งยวดของธุรกิจคุณ


  •  
  •  
  •  
  •  
  •