GC เปิดตัว “เคมีค่ามิวเซียม” แหล่งเรียนรู้และสร้างความเข้าใจด้านปิโตรเคมีที่ต้องรู้

  • 2.9K
  •  
  •  
  •  
  •  

“พลาสติก” ใครๆ ก็รู้ว่าสามารถเอาไปทำอะไรได้บ้าง แต่จะมีใครรู้บ้างว่าพลาสติกทำมาจากอะไร และสามารถแปรรูปไปสู่ผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง บอกเลยว่าหลายคนทายไม่ถูกแบบเป๊ะๆ 100% ที่สำคัญพลาสติกที่หลายคนมองว่าเป้นขยะทำลายสิ่งแวดล้อม หากมีการบริหารจัดการที่ดีไม่เพียงจะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ยังสามารถสร้างผลิตภัณฑ์อื่นๆ มากมายที่มีประโยชน์แบบที่คิดไม่ถึงเลยทีเดียว

และถ้าอยากจะรู้จักพลาสติกให้มากกว่าที่รู้อยู่คงต้องค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าต้องการค้นหาข้อมูลง่ายกว่านั้น คงต้องมาที่ “เคมีค่ามิวเซียม” หรือ GC Chemical Experience Museum แหล่งรวมข้อมูลเรื่องราวของพลาสติกที่หลายคนอาจยังไม่รู้ โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ส่วนหนึ่งเพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 และเพื่อให้กลายเป็นหนึ่งแลนด์มาร์คแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดระยอง

ด้าน ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ชี้ว่า “เคมีค่ามิวเซียม” ตั้งอยู่บนพื้นที่ 800 ตารางเมตร โดยภายในมิวเซียมจะแบ่งความรู้ออกเป็น 3 ด้านหลักๆ ทั้งประวัติศาสตร์และความเป็นมาของการเปิดโรงโอเลฟินส์แห่งแรกของประเทศไทย, ความรู้เกี่ยวกับปิโตรเคมีไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และข้อมูลผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลกด้วยแนวคิดรักษ์โลกกับการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “เคมี…มีค่ามากกว่าที่คิด”

ความโดดเด่นของมิวเซียมแห่งนี้คือระบบการเรียนรู้แสงสีเสียง พร้อมด้วยระบบ Interactive โดยแบ่งออกเป็น 5 โซน ซึ่งโซนแรกจะเป็นห้องรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อกิจการปิโตรเคมีของไทย ส่วนโซนต่อไปจะเป็นห้องประวัติศาสตร์ของปิโตรเคมีไทยตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ขณะที่โซนต่อมาจะเป็นการนำเสนอเรื่องราวของ GC กับการพัฒนาปิโตรเคมีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศควบคู่กับการสร้างความยั่งยืน

โซนถัดมาจะถูกจัดให้เป็น 2 ห้อง โดยห้องแรกจะเป็นการอธิบายถึงธุรกิจที่ต่อเนื่องจากปิโตรเคมีของ GC (Business Value Chain) โดยแสดงออกมาให้เห็นเป็นเส้นทางธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน อาทิ โพลิเมอร์ ปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลาง นอกจากนี้ในโซนนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นนวัตกรรมจากปิโตรเคมีอย่าง ท่อรับแรงดันสูง ยางรถยนต์ ขวดพลาสติกน้ำดื่ม เป็นต้น ที่สำคัญในโซนนี้ยังมีตุ๊กตาตัวแทนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เมื่อวางบนแท่นแล้วจะมีการนำเสนอข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้นผ่านตัวการ์ตูนที่นำมาวางไว้บนแท่น

ขณะที่อีกห้องจะเป็นการรวมผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดโดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากปิโตรเคมี อาทิ ไฟหน้ารถยนต์ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หมวกกันน็อค ท่อ PVC รวมไปถึงการทำเป็นพื้นที่ใช้ร่วมกับระบบรับแรงเหยียบ โดยจะเปลี่ยนแรงเหยียบเป็นพลังงานไฟฟ้า และโซนสุดท้ายจะเป็นพื้นที่สำหรับเล่นเกมส์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเกมแยกขยะ เกมลดควันพิษ รวมไปถึงการตั้งเป้าหมายเลือกวิธีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ต้องการ

ไม่เพียงเท่านี้ แต่ละโซนยังมีเป้าหมายที่วางไว้อย่าง “สนุกมากกว่าที่คิด” กับรูปแบบ Interactive, “ได้ความรู้มากกว่าที่คิด” ความรู้ปิโตรเคมีไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน, “มีค่ามากกว่าที่คิด” การสร้างสรรค์และต่อยอดคุณค่าของปิโตรเคมี, “รักษ์โลกมากกว่าที่คิด” ที่ช่วยให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์จากปิโตรเคมีช่วยสร้างความยั่งยืน และ “เก๋มากกว่าที่คิด” กับผลิตภัณฑ์แฟชั่นของใช้ในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ที่พัฒนามาจากพลาสติกรีไซเคิล

“เคมีค่ามิวเซียม” ยังฝากมาบอกด้วยว่า ตอนนี้พร้อมต้อนรับการเยี่ยมชมแบบหมู่คณะสำหรับนักเรียน นักศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจและต้องการเรียนรู้เรื่องราวของปิโตรเคมี ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวที่ล้วนแต่ผลิตมาจากปิโตรเคมี โดยสนใจนัดหมายล่วงหน้าเพื่อเข้าเยี่ยมชมได้ที่ +66 (0) 3899 4000  กด 0 หรือที่ https://chemecamuseum.pttgcgroup.com


  • 2.9K
  •  
  •  
  •  
  •