Project Re:Brief ท้า”ครีเอทีฟรุ่นปู่”มาคิดงาน Digital

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

วันนี้ผมไปเจอคลิปหนึ่งที่ชวนทึ่งมากๆ เป็นคลิปเกี่ยวกับโปรเจคใหม่ของ Google

เราทราบกันดีว่าวงการโฆษณามีอายุมานานเกินร้อยปีแล้ว ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมาก็มีจุดเปลี่ยนต่างๆเกิดขึ้น ตั้งแต่สิ่งพิมพ์มาเป็นวิทยุ ทีวีขาวดำ ทีวีสี และมาถึงยุคดิจิตอลที่ซึ่งได้เริ่มขึ้นเมื่อ 18 ปีที่แล้ว วงการโฆษณาก็ต้องปรับตัวทุกครั้งเมื่อเทคโนโยลีได้ขยายขอบเขตจินตนาการในการสื่อสารกับผู้บริโภค กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่สุดน่าจะเป็น”ครีเอทีฟ”

เมื่อครีเอทีฟต้องอยู่ในยุครอยต่อทางเทคโนโลยี ก็คงเหมือนทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วิน ทุกคนต้องค่อยๆปรับตัวเปิดรับสื่อใหม่ๆ ครีเอทีฟที่เติบโตอยู่ในช่วงนั้นๆพอดีย่อม”ได้เปรียบ”กว่าครีเอทีฟรุ่นก่อนหน้า โดยเฉพาะเรื่องความเข้าใจในสื่อประเภทใหม่ ทั้งความเป็นไปได้และวิธีสื่อสารกับผู้บริโภค ยิ่งสำหรับยุคดิจิตอลแล้วแทบทุกปีจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆออกมาท้าทายความคิด แล้วนั่นหมายถึงว่า ครีเอทีฟรุ่นก่อนหน้าจะต้องค่อยๆสูญหายไปตามกาลเวลาหรือไม่? พวกเขาไม่อาจจะทำงานโฆษณาในยุคดิจิตอลได้”เทพ”เหมือนยุคสมัย 70 แล้วหรือ?

 

คำตอบอยู่ใน Project Re:Brief by Google

httpv://youtu.be/vPDnZoJiwA4

พวกเขาได้คัดเอางานโฆษณาที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในยุค 60-70 มา 4 ชิ้น และค้นหาครีเอทีฟที่ทำงานตัวนั้นๆ (ครีเอทีฟจะทำงานเป็นทีมคู่หูโดยมี Art Director ดูแลด้านงานศิลป์ และ Copy Writer ดูแลด้านการใช้คำพูด) ซึ่งปัจจุบันก็มีอายุมากโขและลาวงการโฆษณาไปแล้ว พาพวกเขากลับมา”บรีฟ”งานใหม่ด้วยโจทย์เดิม แต่คิดใหม่ให้เป็นงาน Digital Advertising ทันยุคทันสมัย

ส่วนตัวผมคิดว่า นี่มันโหดไม่น้อยกว่าให้”เปเล่”ลงสนามเตะบอลโลกนัดชิงเสียอีก

Harvey Gabor อาร์ตไดเรคเตอร์ผู้ทำหนังโฆษณาที่หลายคนอาจได้เคยเห็นผลงาน (ที่ทำไว้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว) ผลงานของเขาที่ถูกคัดมาเป็นโจทย์อีกครั้งคือ “Buy the world a Coke” ที่ทำให้กับ Coca-Cola เป็นหนังโฆษณาตัวแรกที่นำคนหลากหลายเชื้อชาติมาร่วมงานกันเพื่อสะท้อนมุมมองของแบรนด์และความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนทั้งโลก

 

Coca-Cola, 1971 – ‘Hilltop’ | “I’d like to buy the world a Coke”

httpv://youtu.be/1VM2eLhvsSM

แน่นอนว่า Gabor เองก็ไม่ต่างจากคุณปู่ของเราสักเท่าไรนัก ที่เราต้องสอนต้องแนะนำวิธีถ่ายรูปด้วยมือถือหรือเล่น facebook ทีมงานของ Google จึงต้องพาปู่ Gabor มาพูดคุยกันเรื่องเทคโนโลยีของยุคดิจิตอลกันก่อน หลังจากที่ Re-Cap (ทบทวนงาน) และเบรนสตรอมถึงงานชิ้นนี้ ทีมงานก็เริ่มพา Gabor ท่องโลกดิจิตอลในเวลาสั้นๆ เขาได้ลองเล่น iPad เป็นครั้งแรก และทุกอย่างดูแปลกใหม่ไปหมดสำหรับครีเอทีฟที่หลงมาจากยุค 70 เขาดูตื่นเต้นกับสิ่งที่สามารถทำได้ในยุคปัจจุบัน

แต่ครีเอทีฟรุ่นปู่คนนี้กลับทำให้เราตื่นเต้นมากกว่า ด้วยการพรีเซนต์ไอเดียให้กับ Global Creative Strategist ของ Coca-Cola เขาพูดถึงจินตนาการเมื่อ 40 ปีที่แล้วตอนที่ทำโฆษณาตัวนี้ จินตนาการที่ว่าคุณสามารถเลี้ยงโค้กให้คนที่อยู่อีกฟากหนึ่งของโลกได้ในแบบทันทีทันใด เขาเริ่มขายงานด้วยวิธีเก่าๆเปิดป้ายทีละแผ่นและพูดเล่าเรื่องไป เพียงแต่เนื้อหาในแต่ละแผ่นเป็นการสร้างจินตนาการของเขาให้เป็นจริง ด้วยการใช้ Online Banner, Website และ Mobile Application คุณที่สามารถคลิกเลือกส่งโค้กไปที่ตู้หยอดเหรียญที่ตั้งอยู่ตามที่ต่างๆทั่วโลก ผู้คนที่เดินผ่านไปมาแถวนั้นอาจจะได้ยินเสียงขวดโค้กหล่นลงมาและคงเซอร์ไพร์ไม่น้อยที่รู้ว่ามันถูกส่งมาจากอีกฟากหนึ่งของสหรัฐหรือประเทศทางยุโรป ยิ่งไปกว่านั้นผู้รับยังสามารถส่งข้อความขอบคุณกลับไปหาผู้ส่งด้วยข้อความหรือวิดิโอผ่านทางตู้หยอดเหรียญได้ทันที

ไอเดียที่ขายไป สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าและซื้อมันในทันที (ไม่ง่ายเลยกับการขายไอเดียให้กับแบรนด์ระดับโลก) และสุดท้ายจินตนาการของ Gabor เมื่อ 40 ปีที่แล้วก็ได้ถูกสร้างขึ้นมาจริงๆ

 

วิดิโอการทำงานของ Gabor ในยุคดิจิตอลที่ Google

httpv://youtu.be/-w6cOoh_CJA

ผู้คนที่อาร์เจนติน่าสามารถส่งโค้กส่งความสุขไปให้ชาวเมือง Cape Town ในประเทศแอฟริกาใต้และอีกหลายประเทศหลายทวีป พวกเค้ายิ้มให้กันและกัน ไอเดีย “Buy the world a Coke” เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ได้อย่างสุดยอดที่สุดในปี 2012

แรงบันดาลใจที่น่าทึ่งครั้งนี้ ในฐานะคนวงการโฆษณายุคดิจิตอล ผมอยากจะบอกปู่ Harvey Gabor เพียงคำเดียวสั้นๆ…”ข้าน้อยขอคารวะ”

*** Project Re:Brief ยังมีอีก 3 ชิ้นจากครีเอทีฟรุ่นเก๋าติดตามกันได้ที่ http://www.projectrebrief.com/ ***


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
@beerthoven
Thiti Thianprued (Beer) Director, Experience Design at VMLY&R Thailand