หน้าร้อนแบบนี้หนึ่งในตลาดที่มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจ ก็คือ ‘เครื่องดื่ม’ โดยเฉพาะกลุ่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพราะถือเป็นฤดูขายที่ปกติเราจะได้เห็นแบรนด์ต่าง ๆ จัดแคมเปญและโปรโมชั่นออกมาประชันกันอย่างคึกคักในช่วงนี้ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ จึงน่าสนใจว่า ในปีนี้ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์จะยังคงคึกคักอยู่หรือไม่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินภาพรวมตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศ ปี 2564 ไว้ว่า จะเติบโตเล็กน้อยอยู่ที่ 0.5-1.5% หรือมีมูลค่าราว 1.97 – 1.99 แสนล้านบาท แต่ยังไม่กลับไปไม่เท่ากับปี 2562 (ก่อนมีโควิด-19) ที่มีมูลค่ารวม 2 แสนล้านบาท โดยเครื่องดื่มที่มีสัดส่วนการขายมากที่สุด ได้แก่
น้ำอัดลม 31%
น้ำดื่มบรรจุขวด 22%
เครื่องดื่มชูกำลัง 13%
น้ำผลไม้ 9%
ชาพร้อมดื่ม/กาแฟพร้อมดื่ม ในสัดส่วนเท่ากันที่ 7%
เครื่องดื่มสปอร์ตดริ๊งก์หรือเกลือแร่ 4% อีก
เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ รวมกัน อยู่ที่ 7%
แนวโน้มที่เกิดขึ้น ปัจจัยหลัก ๆ ก็มาจากความไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย บวกกับข้อกำหนดการรับประทานอาหารในบางพื้นที่ ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มนอกบ้านลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มบางส่วนตัดสินใจชะลอการเปิดตัวสินค้าใหม่ออกไป รวมถึงปรับเปลี่ยนช่องทางการจัดจำหน่าย โดยเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายออนไลน์ควบคู่ไปกับการจัดส่งถึงบ้าน และจัดแคมเปญเพื่อรักษาฐานลูกค้าและ Brand Loyalty
อย่างไรก็ตาม หากช่วง 1-2 เดือนนี้ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดี จะทำให้ตลาดเครื่องดื่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนที่ไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อน เป็นช่วงพีคของธุรกิจนี้ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มน้ำดื่มบรรจุขวด น้ำอัดลม และโซดา
สำหรับเซ็กเม้นท์ที่มีการเติบโตดีกว่าตลาดโดยรวม ได้แก่ กลุ่มกาแฟพร้อมดื่มแบบ Specialty ที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าคอกาแฟ และน้ำผสมวิตามิน เครื่องดื่มวิตามิน และฟังก์ชันนอลดริงก์ เนื่องจากยังสามารถดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้อและมองหาเครื่องดื่มใหม่ ๆ มาตอบโจทย์เฉพาะ หรือ Niche Market ขณะที่ตลาดเครื่องดื่มดั้งเดิมและตลาด Mass มีแนวโน้มจะแปรผันตามกำลังซื้อและสภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ยังรักษาส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้
ส่วนภาพรวมของการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์จะยังคงรุนแรงต่อเนื่อง เราจะเห็นการปรับตัวของธุรกิจในหลายรูปแบบ ทั้งการหาช่องว่างของประเภทเครื่องดื่มดั้งเดิม เช่น น้ำผสมวิตามินที่ตอบโจทย์เทรนด์ functional drink , การตอบโจทย์เฉพาะกลุ่ม เช่น กาแฟ Cold Brew , การมุ่งเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น เครื่องดื่มชูกำลังรสชาติใหม่ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์และปรับรสชาติใหม่ เป็นต้น