รวบตึงดราม่า #ปังชา (Pang Cha) ตั้งแต่เรื่องการจดสิทธิบัตร จนถึง “แม่ไก่” ปฏิเสธ “ลูกไก่”

  • 16
  •  
  •  
  •  
  •  

 

เรียกได้ว่ายังคงเป็นมหากาพย์ที่ยังไม่จบ กับประเด็นร้อน “ปังชา” (Pang Cha) ของร้าน “ลูกไก่ทอง” ระดับมิชลินสตาร์ ซึ่งสตาร์ทด้วยการอ้างสิทธิ์ของการจดเครื่องหมายการค้า พร้อมการฟ้องร้องร้านอาหารต่างๆ การออกมาปฏิเสธ จนไปถึงการที่ทำให้รู้ว่า ร้านลูกไก่ทองเองก็เป็นไปได้ที่ว่ามีการแยกตัวออกมาทำแบรนด์เอง และแม้จะเป็นเครือญาติกันแต่ก็ปฏิเสธความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ยิ่งทำให้ดราม่านี้ซับซ้อนนี้เป็นที่จับจ้องของผู้คนมากมาย เรียกได้ว่าชาวเน็ตไม่ได้พักกันเลยทีเดียว

 

แต่สำหรับคนที่เพิ่งมาตาม ว่ามันสลับซับซ้อนอะไรยังไงบ้าง ไม่ต้องกังวลไป เราได้รวบตึงไล่จะไทม์ไลน์เหตุการณ์ต่างๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายมาอยู่ที่นี่หมดแล้ว!

 

#1 ประกาศความเป็นเจ้าของ

เหตุการณ์ที่ แบรนด์ “ลูกไก่ทอง” มีแบรนด์ลูกที่ชื่อว่า “ปังชา” จำหน่ายเมนูขนมหวาน เมนูขึ้นชื่อเป็น “ปังชา” ซึ่งเป็นเมนูฮิตของร้าน โดยเพจของแบรนด์ลูกไก่ทอง ได้โพสต์ว่า ตอนนี้ได้ทำการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ว่า “ปังชา” ได้รับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า และห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข และห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย

 

#2 รถทัวร์ลง

โพสต์ดังกล่าวปรากฏว่า เรียกรถทัวร์เต็มไปหมด ว่าสามารถกระทำการจดทะเบียนฯ ได้หรือ เพราะคำว่า “ปังชา” ใครๆ ก็น่าจะสามารถนำไปใช้ได้ พร้อมกับที่ชาวเน็ตถกเถียงกันถึงการตีความข้อกฎหมายต่างๆ

ร้อนถึง “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ได้ออกมาให้ความรู้ถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า น้ำแข็งไสรราดชาไทยมีขายมานานแล้ว ไม่มีใครจดสิทธิบัตรอ้างเป็นเจ้าของได้ ส่วนที่ปังชา คาเฟ่ จดสิทธิบัตรไปนั้น เป็นการจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ คือถ้วยสีทองที่ใช้เสิร์ฟน้ำแข็งไส ไม่ใช่สิทธิบัตรขนมหวานหรือชื่อขนม ดังนั้น ใครก็ขายน้ำแข็งไสราดชาไทยได้ แต่อย่าใช้ภาชนะเหมือนที่เขาจดสิทธิบัตรไว้

https://www.facebook.com/ipthailand

 

#3 กล่าวคำขอโทษ

หลังจากที่ได้รับเสียงวิจารณ์ถล่มชั่วข้ามคืน รวมไปถึงการที่หน่วยงานรัฐออกมาชี้แจงว่า คงจะใช้ชื่อนี้และอ้างสิทธิดังกล่าวไม่ได้ ทางเพจลูกไก่ทองก็ได้ออกมาโพสต์ว่า ขออภัยว่าน่าจะเป็นการสื่อสารที่สร้างความเข้าใจผิด (https://www.facebook.com/photo/?fbid=691910456291363&set=a.636891011793308)

 

นอกจากนี้ ทาง “แก้ม กาญจนา ทัตติยกุล” เจ้าของร้านลูกไก่ทอง ก็ให้สัมภาษณ์ในรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ทางช่อง 3 โดยยืนยันว่าเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด และทางร้านไม่ได้มีเจตนาจะฟ้องร้องใคร

ก่อนอื่นต้องกราบขอโทษทุกคน ตอนนี้ก็เศร้ามากที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการสื่อสารของทางร้าน ทำให้เกิดกระแสสังคมที่หนักทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ และทางร้านลูกไก่ทอง” (ส่วนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์)

 

#4 โผล่เรียกค่าเสียหาย  

หลังการออกมาขอโทษผ่านโซเชียลฯ และเจ้าของร้านออกมากล่าวกับสื่อ ทำให้ชาวเน็ตคิดว่าประเด็นนี้น่าจะจบลงแล้ว แต่ทว่า ก็ปรากฏการร่อนจดหมายโนติส (ยังไม่ถึงขั้นฟ้องร้อง) ร้านเล็กร้านน้อยต่างๆ ในประเด็นเรื่องการใช้ชื่อ “ปังชา” รวมถึงเรื่องถ้วยใส่ขนม

  • ร้านปังชา ที่จังหวัดเชียงราย ร้านขายขนมหวาน ตั้งเพราะมีสินค้าทั้ง ชา และขนมปังขาย
  • ร้านปังชา เชียงราย ที่ฟู้ดคอร์ด เซ็นทรัล เชียงราย ซึ่งเป็นร้านอาหารตามสั่ง
  • ร้านที่ “ทางช้างเผือก” ที่สงขลา ขายนมสด ขนมปังปิ้ง แต่มีป้ายหน้าร้านกล่องไฟมีคำว่า “ปังชา”
  • ร้านตั้งใจชง ที่หาดใหญ่ สงขลา ร้านขายขนมหวาน แต่กรณีนี้ ได้รับโนติสเรื่อง ถ้วยใส่ขนม แต่ทางเจ้าของร้านระบุว่าซื้อถ้วยดังกล่าวมาจากจตุจักร

 

#5 ดราม่าซ้อน

ยังไม่ทันเคลียร์ดราม่าเกี่ยวกับการไล่ยื่นโนติสร้านเล็กร้านน้อย ก็โผล่อีกดราม่าซ้อนขึ้นมาว่า หนึ่งในโลโก้ของร้านปังชาดังที่ใช้จดทะเบียนสิทธิบัตร ยังมีเรื่องตราสัญลักษณ์ที่เป็นรูปผู้หญิงไทยสวมสไบ นั่งพับเพียบ มือขวาเอื้อมจับไปที่เมนูปังชา ค่อนข้างคล้ายกับผลงานคนอื่น

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก Peeramon Chomdhavat ของครูบิ๊ก พีรมณฑ์ ชมธวัช ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องแต่งกายไทยโบราณ ก็ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกันว่า ก่อนที่ทางร้านจะไปฟ้องลิขสิทธิ์คนอื่น ให้ดูโลโก้สินค้าร้านตัวเองก่อนไหม เพราะว่า โลโก้ของร้านปังชาที่ไปจดลิขสิทธิ์นั้น มีความคล้ายกับผลงานการออกแบบชุดไทยและลีลาท่าทางของหญิงคนหนึ่งมาก รวมไปถึงถาดปังชาก็ยังคล้ายกับถาดดอกไม้ของหญิงคนนั้น โดยที่ภาพนั้นครูบิ๊กบอกว่า เป็นผลงานการออกแบบชุดไทยและตนก็เป็นคนจัดวางท่าเอง ในปฏิทินรีเจนซี่ 2550

(https://www.facebook.com/peeramon.chomdhavat/posts/pfbid02v1hDBCuUpeEEMhdyvcMhXvgBaGDaTpxdBx1MyjGTMXK27tAUw6PZQeNNvSYywh8jl)

#6 แม่ไก่แสดงตัว ไม่เกี่ยวด้วยนะ

จากประเด็นร้อนแรงที่ถาโถมมากมาย ทำให้ ร้าน “ไก่ทอง ออริจินัล” ได้ออกมาแสดงตัวว่าไม่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากมีชาวเน็ตตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเครือญาติกันหรือเปล่า

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของ “ร้านไก่ทอง ออริจินัล” ระบุว่า ทางร้านฯ ได้รับทราบถึงเหตุการณ์และกระแสข่าวที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจประเภทเดียวกัน เรารู้สึกเห็นใจและเข้าใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก ร้านของเราก็เป็นหนึ่งในร้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน จากชื่อร้านที่มีความคล้ายคลึงกัน ทำให้หลายท่านเกิดความสับสนและเข้าใจผิด จึงขอประกาศชี้แจงให้ทราบว่า ร้านไก่ทอง ออริจินัล และร้านลูกไก่ทอง ไม่ใช่ร้านเดียวกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องในการตัดสินใจ และการดำเนินการใด ๆ ทั้งทางธุรกิจ และการบริหาร ทั้งสิ้น

(https://www.facebook.com/KaithongOriginal/photos/a.312712868818941/1810087332414813/?type=3)

 

สำหรับ ร้านไก่ทอง ออริจินัล เป็นแบรนด์ร้านอาหารไทยต้นตำรับ เปิดมาแล้วกว่า 25 ปี ก่อตั้งโดย “อรุณี มนตรีวัต” ซึ่งบริหารงานโดยทายาทรุ่นสอง ได้แก่ “แสงอรุณ มนตรีวัต” เดิมชื่อร้าน “ไก่ทอง” จนกระทั่งรีแบรนด์มาเป็น ‘”ไก่ทอง ออริจินัล” และได้ขยายสาขาไปแล้วทั้งหมด 4 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาเมืองทองธานี สาขาเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ สาขาเซ็นทรัลภูเก็ต ฟลอเรสต้า และสาขาเซ็นทรัล เอ็มบาสซี

ในขณะที่ “ร้านลูกไก่ทอง” ก่อตั้งโดย “แสงณรงค์ มนตรีวัต” ลูกชายของ อรุณี มนตรีวัต ผู้ก่อตั้งไก่ทอง ออริจินัล และ กาญจนา ทัตติยกุล ซึ่งได้แยกออกมาเปิด ร้าน ‘ลูกไก่ทอง’ เมื่อ 2552 สาขาแรกที่ทองหล่อ โดยสัญลักษณ์รูปไก่มาจากปีเกิดของพ่อ (ปีระกา) และอาหารของร้านจะเป็นสูตรอาหารจีนที่ส่งต่อจากรุ่นแม่สู่รุ่นลูก และได้มีการปรับปรุงรสชาติให้ถูกปากกับคนไทย ส่วนเมนูขนมหวาน ปังชานั้น เกิดขึ้นเมื่อตอนเปิดร้านปี 2552 พัฒนาโดย “แก้ม กาญจนา ทัตติยกุล” ลูกสะใภ้ ได้รับ Michelin Guide Thailand 5 ปีซ้อน (2561-2565) และด้วยความโดดเด่นของเมนูนี้ทำให้แตกไลน์ร้านขนมหวานมาเป็น ปังชา คาเฟ่ (Pang Cha cafe)

 

เกาะติด “ปังชา” กระแสร้อน เอ็นเกจเมนต์มากกว่า 2 ล้านใน 5 วัน

ด้าน บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ทำการเก็บข้อมูลการพูดถึงกระแสปังชา ตั้งแต่ช่วงที่มีกระแส ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE พบว่าบนโซเชียลกำลังพูดถึงเรื่องนี้มีมากกว่า 19,000 ข้อความ และยังคงมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในช่วงเวลาเพียงแค่ 5 วัน มีเอ็นเกจเมนต์มากกว่า 2  ล้านเอ็นเกจเมนต์ โดยในวันที่ 31 สิงหาคมเพียงแค่วันเดียว มีการพูดถึงสูงถึง 1.2 ล้านเอ็นเกจเมนต์เลยทีเดียว

ข้อความส่วนใหญ่เกิดขึ้นบน Facebook มากที่สุด (63.48%) ตามมาด้วย Twitter (29.78%) Youtube (5.03%) Instagram (0.45%) และอื่นๆ (1.26%)

ความรู้สึกของชาวโซเชียลที่พูดถึงเรื่องนี้ได้แตกออกเป็นทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลบน ZOCIAL EYE สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

#1 เสียงวิพากย์วิจารณ์การฟ้องร้อง ชาวโซเชียลตั้งคำถามเกี่ยวกับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและเครื่องหมายการค้ากับเมนู “ปังชา” ในครั้งนี้ บ้างก็มองว่าไม่เป็นธรรมกับธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึง บ้างก็แสดงออกว่าจะเลิกสนับสนุนเพราะรู้สึกไม่พอใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น  

#2 กระแสตีกลับ ‘โลโก้ลอกเลียนแบบ’ และความสับสนในแบรนด์

#3 แห่กินเมนูตามดราม่า ทั้งหอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเกี่ยวข้อง ทั้งชาไทย น้ำแข็งไส และขนมปังปิ้ง  

 

กรณี #ปังชา เรียกได้ว่าเป็นเคสศึกษาในหลายประเด็นได้เลย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของกฎหมายการจดสิทธิบัตร การทำธุรกิจร้านอาหาร ไปจนถึงการรับมือกับวิกฤตดราม่าบนโซเชียล


  • 16
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!