7 เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในโลกยุค Post COVID-19 “ซัพพลายเชน-จ้างงาน-การศึกษา” เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

  • 2.9K
  •  
  •  
  •  
  •  

7 Trends in The future World

COVID-19 เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงในหลายอย่างให้เกิดเร็วขึ้น จากเดิมที่คาดการณ์กันว่าจะเกิดภายใน 10 ปี แต่กลับเร่ง (accelerate) ให้ปรากฏเร็วขึ้น และมีแนวโน้มจะมากขึ้นภายใน 1- 2 ปีนับจากนี้

Ipsos เปิดรายงาน Socio-economic trends that will strengthen and shape the future world แบ่งออกเป็น 7 เทรนด์สำคัญ ดังนี้

 

1. Reshoring of Supply Chains: ดึงการผลิตกลับที่ประเทศตนเอง ลดความเสี่ยงด้าน Supply Chain – สร้างงานให้คนในชาติ

ก่อนหน้านี้บริษัทสร้างโรงงานผลิตที่มีค่าแรงถูก เช่น ประเทศจีน แต่การเกิดโรคระบาดรอบนี้ ชี้ชัดเจนว่าการมีโรงงานในประเทศอื่น และถูกตัดขาด ทำให้ Supply หลายอย่างถูกตัดขาด และเริ่มเห็นความเปราะบางใน Supply Chain ที่ยึดโยงในไม่กี่ประเทศ ทำให้เริ่มมีการมองว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตกลับมาที่ประเทศตัวเองส่วนหนึ่ง

นอกจากนั้น “เทคโนโลยี” ช่วยให้การผลิตไม่ได้มีต้นทุนต่างกันมากแบบสมัยก่อน เนื่องจากแต่ก่อนถ้าผลิตในจีน ต้นทุนถูกมาก ขณะที่ผลิตในอเมริกา ต้นทุนสูงกว่า แต่ผลจากการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้าน Automatic ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตแต่ละแหล่งผลิตแทบไม่แตกต่างกันมากนัก

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ Trade Tension หรือความตึงเครียดในการต่อรองด้านการค้าจะมากขึ้น

เช่นกรณีประเทศสหรัฐอเมริกา “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ต้องการดึงฐานการผลิตกลับมาที่สหรัฐฯ และนำไปสู่การตั้ง Tariff ด้านต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าเมื่อบริษัทอเมริกามากลับมาตั้งฐานการผลิตที่ประเทศบ้านเกิด จะต้องได้เปรียบทางการค้ามากที่สุด

สิ่งที่ตามมาจากนโยบายดึงฐานการผลิตกลับไปที่ประเทศตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงด้าน Supply Chain และสร้างงานให้คนในประเทศแล้ว ขณะเดียวกันย่อมส่งผลต่ออนาคตของประเทศที่พึ่งพาการส่งอออกเป็นหลัก เช่น ประเทศไทย เศรษฐกิจจะเติบโตช้า

Supply Chain China

 

2. An Increasingly Distributed Workforce: เทคโนโลยีส่งผลต่อ “ตลาดงาน – การจ้างงาน” ที่เปลี่ยนไป

ผลจาก COVID-19 ที่ทำให้ต้อง Work From Home ทำให้บริษัท และพนักงานคุ้นเคยกับการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการทำงานมากขึ้น ถึงแม้จะสิ้นสุดวิกฤตนี้แล้ว ยังคงสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อตลาดงาน และการจ้างงานทั่วโลก นั่นคือ

  • เมื่อบริษัทนำเทคโนโลยีมาผสานในกระบวนการทำงานมากขึ้น ส่งผลให้ Workspace กลายเป็น “Common Space” เนื่องจากคนสามารถทำงานที่บ้าน หรือทำงานที่ไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นออฟฟิศจะกลายเป็นสถานที่ใช้สำหรับการประชุม โดยไม่ได้เป็นสถานที่ที่พนักงานต้องเข้ามาเหมือนแต่ก่อนเกิด COVID-19

  • ผลจากเทรนด์ Workspace กลายเป็น Common Space ของบริษัทมากขึ้น ส่งผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น Office Building จะเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากบริษัทจะ “เช่าระยะสั้น” มากขึ้น

  • สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมา คือ ราคาของที่ดิน ทั้งในเมือง และรอบๆ เมือง จะมีราคาที่ไม่เพิ่มสูงขึ้นเหมือนแต่ก่อน หรือราคาระหว่างในเขตเมือง และรอบนอกเมืองที่แตกต่างกันมาก ช่องว่างระหว่างราคาที่ดินอาจลดลงในอนาคต เพราะเมื่อคนใช้เทคโนโลยีในการทำงานมากขึ้น นั่นหมายความว่า คนสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องตื่นแต่เช้า รีบเดินทางเข้าบริษัท ส่งผลให้

  • เมื่อคนคุ้นเคยกับการทำงานผ่านออนไลน์ และเทคโนโลยี ต่อไปจะเห็นการจ้างงานแบบ “Internationalization Talent Pool” เกิดการจ้างงานบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจากหลากหลายชาติ ไม่ใช่แค่การจ้างงานเฉพาะคนในประเทศเท่านั้น

ส่งผลทำให้เกิดสองขั้ว คือ คนเก่งที่มีศักยภาพ จะสามารถรับงานได้จากทั่วโลก ในขณะที่คนที่ไม่มีศักยภาพ จะถูกทิ้งห่างออกไป

Workforce

 

3. Shift from Time-based to Task-based Compensation: การจ้างงานเปลี่ยนจากจ้าง Full Time จ่ายรายเดือน สู่การจ้างงานเป็นงานๆ ตรงความสามารถคน

การจ้างงานจะมีความยืดหยุ่นขึ้น เช่น อาจไม่ได้จ้างงานแบบ Full Time หรือจ่ายเป็นรายเดือนแล้ว แต่จะเป็นการจ้างงานในรูปแบบ “Task-based Compensation” มากขึ้น คือ การจ้างงานเป็นงานๆ ไป และจ่ายค่าจ้างตามชิ้นงาน หรือจ่ายตามการว่าจ้างในแต่ละครั้ง

จะเห็นได้ว่าความมั่นคงของรายได้ของคนทำงานประจำย่อมน้อยลง และผลของการจ้างงานเป็นงานๆ ย่อมมีผลต่อความยืดหยุ่นด้านเวลาการทำงานมากขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการจ้างงานรูปแบบ Task-based Compensation คือ บริษัทจะไม่ได้มองคนตามตำแหน่งงานแล้ว แต่จะมองที่ Skill หรือทักษะความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับงานนั้นๆ จึงเป็นการทำงานที่ตรงกับความรู้ความสามารถของคนทำงานอย่างแท้จริง และทำให้เกิดการทำงานแบบ Cross Skill กันระหว่างคนที่มีทักษะความรู้ความสามารถต่างๆ 

Gig Economy

 

4. Hallowing Out of Middle-level Jobs: ผู้บริหารระดับกลางจะถูกลดบทบาท และแทนที่ด้วย Automation Gig Economy

ต่อไปมีแนวโน้มว่าคนทำงานระดับ Middle-levels Management จะถูกลดบทบาทไป เพราะหลายฟังก์ชั่นสามารถใช้เทคโนโลยี Automation ประกอบกับการทำงานประจำลดลง ในขณะที่การจ้างงานแบบ Gig Economy เพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้นคนทำงานในระดับ Low Skill และระดับ Middle Management จะถูกแทนด้วยระบบที่เป็น Automatic มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่าง หรือความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่มากกว่าเดิม

เนื่องจากเมื่อบางตำแหน่งงานแทนที่ได้ด้วย Automation ตำแหน่งงานนั้นย่อมถูก Layoff ไปจนถึงตำแหน่งงานนั้น อาจหายไปในอนาคตก็เป็นไปได้ หรือการงานใหม่ เมื่อได้งานใหม่แล้ว อาจไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีเท่าเดิม ด้วยเหตุนี้เองทำให้กลุ่ม Middle Income มีความกังวลในความมั่นคงด้านงาน

อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่มี Skill เป็นที่ต้องการของตลาดงาน จะสามารถหางานใหม่ได้ดี และผลตอบแทนสูง

Middle-level Jobs

 

5. Decline of Institutional Education: เมื่อจ้างงานตาม Skill มากขึ้น สถาบันการศึกษาต้องเร่งปรับตัว

เมื่อรูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไปเป็น Task-based มากขึ้น ซึ่งเป็นการจ้างงานที่ให้ความสำคัญกับ Skill ความรู้ความสามารถเป็นหลัก ย่อมส่งผลให้สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน

เช่น สอนออนไลน์มากขึ้น และพัฒนาหลากหลายหลักสูตร พร้อมทั้งทำในรูปแบบ Module เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความต้องการของแต่ละคน รวมถึงพาร์ทเนอร์กับข้างนอก เพื่อพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน

Online Education

 

6. Reshape of Business Responsibilities: ธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อสังคม และโปร่งใส

ต่อไปความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นคนในสังคมจึงมองว่า ภาคส่วนต่างๆ ควรมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันภาคธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลอย่างเดียว ดังผลสำรวจที่ว่า

  • 77% ของคนทั่วโลกมองว่าภาคธุรกิจ ต้องมีความรับผิดชอบในการช่วยแก้ปัญหาสังคม

นอกจากนี้ คนต้องการให้ภาคธุรกิจมีความโปร่งใส เช่น องค์กรที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ต่อไปนี้คนจะมองว่า ถ้าจะช่วยเหลือองค์กรนั้นๆ ต้องมีความโปร่งใส เช่น แสดงโครงสร้างเงินเดือนผู้บริหาร, การจ่ายภาษีเป็นอย่างไร, การใช้จ่ายในองค์กรเป็นอย่างไร

Corporate Social Responsibility

 

7. Re-engineering of Social Safety Nets: ปรับระบบ – นโยบายดูแลประชาชน ให้สอดคล้องบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป

ปัจจุบันสิ่งคนทั่วโลกรู้สึกกังวลมากที่สุดในเวลานี้ คือ

1. ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในสังคม

2. ภาวะการว่างงาน

3. ปัญหาอาชญากรรม และความรุนแรง

4. ปัญหาทางการเงิน และการคอร์รัปชั่นทางการเมือง

5. ด้านสุขภาพ

จะเห็นได้ว่าคนเรากังวลเรื่องความยากจน การว่างงาน และการไม่มีเงิน มากกว่าด้านสุขภาพ

เพราะฉะนั้นเมื่อคนเราต้องอยู่ในยุคแห่งความไม่แน่นอน และอนาคตภาวะความไม่แน่นอนจะมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ทำให้สิ่งที่คนต้องการคือ ความมั่นคง – ความปลอดภัยในชีวิต ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนควรต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการดูแลประชาชน

เช่น ภาครัฐปรับนโยบายเงินประกันสังคมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ หรือในปัจจุบันภาคเอกชนใช้วิธีจ้างฟรีแลนซ์มากขึ้น แต่กลับพบว่านโยบายการช่วยเหลือ หรือซัพพอร์ตคนกลุ่มนี้ยังน้อย หรือแทบไม่มีในส่วนนี้ภาครัฐอาจจะออกนโยบายให้ภาคเอกชนที่ว่าจ้าง Gig Economy รองรับคนทำงานกลุ่มนี้มากขึ้น หรือแม้แต่สถาบันการเงิน อาจต้องมีนโยบายช่วยเหลือคนกลุ่มฟรีแลนซ์เช่นกัน

จะเห็นได้ว่าบางเทรนด์ กำลังเกิดขึ้น ในขณะที่บางเทรนด์เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเห็นดังนี้แล้วอยู่ที่ว่าเราทุกคนจะเร่งปรับตัวให้ทันอย่างไร


  • 2.9K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ