ผ่า 100 เทรนด์โลก สู่ “10 เทรนด์ไทย” โดย J. Walter Thompson

  • 116
  •  
  •  
  •  
  •  

เรื่องของ เทรนด์ (Trend) เป็นเหมือนสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน รู้จักกันทุกคน แต่ยากที่จะจับทิศทางหรือเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ได้ เพื่อให้รู้ลึกรู้ดีถึงเทรนด์โลกในปี 2016  เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย (J. Walter Thompson Bangkok) ได้นำบทวิเคราะห์แนวโน้มของเทรนด์และการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตาในหลากหลายอุตสาหกรรมโลกมาเปิดเผยข้อมูล เพื่อเป็นประโยชนต่อภาคธุรกิจ นักการตลาด และนักโฆษณา ในชื่อผลงานว่า 100 เทรนด์แห่งอนาคต : แนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงที่ต้องจับตาในปี 2016 (Future: 100 Trends and Change to Watch in 2016)

ทั้ง 100 เทรนด์ได้แบ่งหมวดหมู่ออกมาเป็น 10 categories ด้วยกัน แต่ละ categories นั้น  J. Walter Thompson Bangkok ได้หยิบยกเอาบางส่วนที่เห็นว่าคล้องจองกับเทรนด์ต่างๆ ที่น่าจับตาในประเทศไทยมาแนะนำให้ฟัง โดยได้ 2 คีย์แมนแห่ง JWT ได้แก่ ปรัตถจริยา ชลายนเดชะ กรรมการผู้จัดการ และ ปรัชวัน เกตวัลห์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการสื่อสาร JWT มาเป็นผู้นำเสนอบทวิเคราะห์ให้เราฟัง ดังนี้

trends

1.เทรนด์ด้านวัฒนธรรม (Cultural trend)

ไอคอนของคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมตามแบบฉบับเจเนอเรชั่นซี (Gen-Z’s Responsible Icons)

ในขณะที่ผู้คนในยุคมิลเลนเนียลชื่นชมไอคอนที่โด่งดังจากเรียลลิตี้ทีวี แต่คนเจนซี (Gen-Z) หรือเจเนอเรชั่นซี ต้องการไอคอนที่แตกต่าง เพราะพวกเขามีความตระหนักรู้ หัวก้าวหน้า และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสูง เติบโตมาในยุคของประธานาธิบดีผิวสี และคู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย การต่อสู้ของนักกิจกรรมอายุน้อย เช่น Malala Yousefsai เด็กสาวผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ หรือ Jazz Jennings นักต่อสู้เพื่อสิทธิคนแปลงเพศ ซึ่งมีอายุเพียง 14 ปี

สำหรับในประเทศไทย เจเนอเรชั่นซีเป็นกลุ่มคนที่สามารถมองเห็นโอกาสรอบๆ ตัวและนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วไป อีกทั้งสร้างชื่อเสียงที่ประสบความสำเร็จได้ ยกตัวอย่าง “จัสมิน” พิมรา สีดอกบวบ ไอดอลสาวมุสลิม เศรษฐีรุ่นเยาว์เจ้าของเครื่องสำอางฮาลาล “พิมมารา” (PIMMARA) หรือ “ม๊าเดี่ยว” อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ นางแบบเพศที่สองและสไตลิสต์แห่งโลกโซเชียล ที่แทรกการนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานออกมาในงานสร้างสรรค์ สามารถสร้างชื่อเสียงให้บ้านเกิดของตนไปถึงต่างประเทศได้

ภาพการประชดประชันที่เผยถึงยุคหลังฮิปสเตอร์ (Post-Hipster Visual Irony)

ภาพศิลป์เชิงดิบสไตล์ฮิปเตอร์ที่เป็นที่นิยมในยุคมิลเลนเนียล ได้ปลุกเร้าให้เกิดอีกกระแสศิลปะล้อเลียนในโลกโซเชียล แสดงออกมาในส่วนของเมนูอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ อินสตาแกรม @thisismold และ @bananagrafitti ที่อาหารถูกนำมาแกะสลักเป็นงานศิลป์แบบ Surreal หรือระบายภาพการ์ตูนลงไป

ในขณะที่เมืองไทย มีการนำกระแสฮิปสเตอร์มาประชดประชันเช่นกัน อาทิ ยายบัว Hipster คุณแม่วัย 70 ปีที่มาเป็นนางแบบให้ลูกสาว หรือผลงานชุด “ลุงชัยเป็นคนชิคๆ” มีการแชร์กันมากมายในโลกโซเชียล เอาคุณลุงชาวนามาเซ็ทถ่ายทำในอิริยาบถตามไลฟสไตล์ของฮิปสเตอร์แบบชวนขำ

2.เทรนด์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology + Innovation trend)

มหาวิทยาลัยออนไลน์ (Online University)

การเรียนรู้ออนไลน์กำลังได้รับความนิยม เนื่องจากค่าเล่าเรียนของสถาบันการศึกษาเริ่มพุ่งสูงขึ้น และสถานศึกษาแบบดั้งเดิมเริ่มถูกตั้งคำถาม สำหรับในประเทศไทย มีการถกเถียงที่ถูกขยายวงกว้างถึงแนวคิดที่เรียกว่า ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อส่งเสริมการจัดระบบการเรียนรู้ให้นักเรียนแสวงหาการเรียนรู้ด้วยตนเองจากแหล่งต่างๆ ที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน อาทิ อินเตอร์เน็ท แทบเล็ต และสมาร์ทโฟน ฯลฯ ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ที่ผ่านมาสถานศึกษาหลายแห่งในประเทศไทยได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ เว็บถามครู.com เป็นความรู้จากครูที่ให้ผู้ปกครองไว้แนะนำการดูแลบุตรหลานเพื่อการพัฒนาเด็ก เว็บ LangFight.Com เป็น Free Online Learning Community ผู้ใช้สามารถเรียนรู้ภาษาและอัดเสียงตัวเองเพื่อให้ผู้ใช้คนอื่นช่วยให้คะแนน มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน จัดตั้งขึ้นเป็นแหล่งผลิตชาวนาชั้นครูของประเทศ เพื่อเป็นผู้ฝึกอบรมและเผยแพร่ความรู้การทำนาตามมาตรฐานกรมการข้าว สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพและคุณค่าโภชนาการทางสารอาหารปลอดสารเคมี เป็นต้น

3.เทรนด์ด้านการเดินทางและบริการท่องเที่ยว (Travel + Hospitality trend)

การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sportspitality)

แบรนด์สุขภาพชั้นนำเริ่มขยายโครงสร้างทางธุรกิจตอบรับความนิยมรักษาสุขภาพและมุ่งไปที่เรื่องของการท่องเที่ยว ทำให้โรงแรมไม่สามารถมองฟิตเนสเป็นแค่บริการเสริมอีกต่อไป แต่ต้องผสานเข้าไว้กับธุรกิจเพื่อมอบบริการหรูสร้างความประทับใจให้ลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องของสุขภาพ ทั้งนี้ แบรนด์ยิมระดับโลกอย่าง Equinox ได้ขยายธุรกิจสู่การท่องเที่ยว มีแผนจะเปิดโรงแรมสำหรับนักเดินทางที่ต้องการเฟิร์มหุ่นอยู่ตลอดเวลาระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ 75 แห่งทั่วโลก หรือแบรนด์จักรยาน SoulCycle ก็จับมือกับเครือสตาร์วูดเปิดอาคารให้บริการในไมอามี เช่นกัน

สำหรับประเทศไทยมีโรงแรมอย่าง Absolute Sanctuary บนเกาะสมุย เน้นจุดขายอย่างเรื่องของโยคะ ผสมผสานโรงแรมที่มีการตกแต่งเป็นสไตล์โมรอคโคเข้ากับโปรแกรมการบริการที่เน้นเรื่องของการฟื้นฟูสุขภาพ หรือโรงแรมระดับหรูอื่นๆ อย่าง ชีวาศรม, พอยต์ ยามู บาย โคโม, โซเนว่า คีรี, คามาลายา มีบริการฟิตเนสเป็นโปรแกรมนำเสนอด้วยเหมือนกัน นอกจากนี้ บริการล่องเรือท่องเที่ยว Silver Cruise ผสมผสานการออกไปท่องโลก กับโปรแกรม Wellness อย่างโยคะ ยืดเส้น พิลาทีส ออกกำลังกายในน้ำ ฟิตเนสแบบ Technogym เมนูอาหารสุขภาพ และการให้คำปรึกษาสุขภาพบนเรือ ตลอดจนสปา

4.เทรนด์ด้านการตลาดและแบรนด์ (Marketing + Brand trend)

การคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าอาวุโส (Global Ageless Society)        

การคำนึงถึงความต้องการของ ผู้สูงอายุวัยเกษียณ หรือกลุ่ม Baby Boomer เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีแนวโน้มการใช้จ่ายที่มากขึ้น โดยกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปต้องการสินค้าเฉพาะกลุ่มที่ละเอียดอ่อนมีความหลากหลายไม่แตกต่างจากลูกค้าวัยอื่นๆ

ในประเทศไทยมีการตื่นตัวเรื่องสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความท้าทายและโอกาสทางการตลาดที่จับกลุ่มลูกค้าอาวุโส ผู้มีรายได้สูง ดังตัวอย่างสินค้าและบริการที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคหลังเกษียณในประเทศไทย เช่น

  • LINE แอพพลิเคชั่นชื่อดัง พยายามสื่อสารการตลาดกับกลุ่ม Baby Boomer ด้วยการเล่าเรื่องราวทำให้พวกเขาสามารถถ่ายทอดความรู้สึกและได้ใกล้ชิดกับกลุ่มเด็กรุ่นใหม่
  • บริษัทประกันชีวิตเกือบทุกเจ้าในปัจจุบันที่เน้นให้การดูแลลูกค้ากลุ่มอาวุโสมากขึ้น
  • ร้านสะดวกซื้อชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Lawson 108 ให้บริการอาหารเพื่อสุขภาพสนองกลุ่มผู้สูงอายุในเมืองที่ชีวิตแสนจะวุ่นวายจนไม่มีเวลาทำอาหารรับประทาน

5.เทรนด์อาหารและเครื่องดื่ม (Food + Drink trend)

เทรนด์จังค์ฟู้ดเพื่อสุขภาพ (Natural Junk)

แบรนด์ต่างๆ เริ่มให้ความสนใจการนำเสนออาหาร Junk Food ที่ใช้ส่วนผสมธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักมากขึ้น ในส่วนของคนไทย ปัจจุบันนิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพกันมากกว่าแต่ก่อน ทำให้แบรนด์ต่างๆ เริ่มมองหาวัตถุดิบที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกผิดน้อยลงเวลาที่รับประทานอาหารที่ดูจะไม่ค่อยดีต่อร่างกายมากนัก เช่น  Theera คาเฟ่เพื่อสุขภาพ สรรสร้างเบเกอรี่ในแบบ Gluten & Allergen Free คือไม่มีส่วนผสมของแป้งสาลีและวัตถุดิบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ขณะที่ Yofu Chips แบรนด์ขนมคบเคี้ยวของคนไทย ผลิตอาหารทานเล่นจากเต้าหู้กรอบที่ไม่ผ่านการทอด เป็นต้น

JWT1

6.เทรนด์ด้านความงาม (Beauty trend)

การยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล (Freckles)

เป็นการยอมรับความงามในแบบของตัวเอง หรือการยอมรับความไม่สมบูรณ์ของตัวเอง เน็ทไอดอลไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนสวยในแบบที่สังคมเป็นคนกำหนด กล่าวสำหรับเมืองไทยนั้น จะเป็นเรื่องของการยอมรับในตัวตนที่แตกต่าง และถ่ายถอดความเป็นตัวของตัวเองออกมาจนเป็นที่ยอมรับในโลกโซเชียลของเมืองไทย เช่น “ม๊าเดี่ยว” อภิเษฐ์ เอติรัตนะ , นินิว เพชรด่านแก้ว สาวประเภทสองอารมณ์ดีจากราชบุรี, มะเฟือง เด็ก ม.ปลายที่ทำคลิปผ่าน vine และ เคธี่ ณัฐิยา ยศรุ่งเรือง โด่งดังจากการพากย์เสียงเลียนแบบที่ฮาสนั่นโลกโซเชียล เป็นต้น

7.เทรนด์ร้านค้า (Retail trend)

แหล่งรวมแบรนด์ Startup (Startup Stores)

หลายแบรนด์ยอมแบ่งพื้นที่ในร้านของตัวเองเพื่อให้แบรนด์ Startup ได้ลองวางขายสินค้า เป็นการเชื่อมโยงถึงนวัตกรรม ดึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้าร้าน ซึ่งเทรนด์นี้เริ่มเติบโตมากขึ้นทั้งในสหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ขณะที่เมืองไทย ผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มอายุต่างหาช่องทางการทำธุรกิจของตัวเอง และหนึ่งในเทรนด์ของธุรกิจในปัจจุบันคือศูนย์รวมร้าน Startup อย่าง The Selected ที่สยามเซ็นเตอร์ หรือร้านรวมของมือสองที่คัดเลือกของมาแล้วอย่างดี อาทิ ร้าน (Un) Fashion

น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เมื่อเทรนด์ของสตาร์ทอัพเริ่มเติบโตก็ส่งผลดีต่อธุรกิจโลจิสติกส์ด้วย ทำให้เกิดบริการการจัดส่งสินค้าในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้น เช่น Grab Bike หรือ ATT Bangkok ให้บริการฝาก-รับของตามเส้นให้บริการของ BTS เป็นต้น

8.เทรนด์ด้านสุขภาพ (Health trend)

การทำงานที่เน้นการดูแลสุขภาพของพนักงาน (Work wellness)

บริษัทต่างๆ พยายามเสริมสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พนักงาน จัดหาเครื่องออกกำลังกายและกิจกรรมสันทนาการต่างๆ มาไว้ในบริษัท หลายๆ บริษัทได้นำเสนอเรื่องโปรแกรมดูแลสุขภาพสำหรับพนักงาน เพื่อดึงคนที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงาน โปรแกรมนี้ได้ช่วยบำรุงขวัญกำลังใจของพนักงานและช่วยเพิ่มกำไรให้กับบริษัทด้วย มีผลวิจัยโดย The World Economic Forum พบว่า การลงทุนทางด้านการดูแลสุขภาพของพนักงานเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วยทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับในประเทศไทย หลายบริษัททั้งใหญ่และเล็กเริ่มทำกันมากขึ้น แต่บางครั้งการดูแลเรื่องของ Work Life Balance ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่เรื่องของการจัดพื้นที่ออกกำลังกายเท่านั้น ยังอาจรวมไปถึงการจัด Activity ต่างๆ ให้พนักงานได้ผ่อนคลายอีกด้วย

9.เทรนด์ด้านไลฟ์สไตล์ (Lifestyle trend)

การเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัย (Stimulated adulthood)

เด็กๆ ในยุคนี้มีโอกาสที่จะถูกกระตุ้นให้เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ก่อนวัย  ปัจจุบันมีกิจกรรมต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ชีวิตและการทำงานแบบผู้ใหญ่ อาทิ การเข้าแคมป์การเรียนรู้เพื่อเก็บสะสมเป็นโปรไฟล์ในอนาคต การเข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งในเมืองไทยก็เริ่มเห็นเทรนด์นี้มากขึ้น เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทดลองใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ อาทิ สวนสนุก KidZania ในกรุงเทพฯ ได้จำลองอาชีพต่างๆ ให้เด็กได้เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่อย่างสมจริง โครงการ Root Garden ได้ปรับโฉมที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสร้างสรรค์พื้นที่ให้เหมาะต่อการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร การปลูกผักออร์แกนิก เป็นต้น

10.เทรนด์ด้านความหรูหรา (Luxury trend)

ประสบการณ์การทานอาหารแบบตื่นเต้นท้าทาย (Extreme dining)

ประสบการณ์การทานอาหารแบบใหม่ล่าสุดที่ตั้งใจเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะ คือ การทานอาหารในรูปแบบที่แปลกใหม่ตื่นเต้นท้าทาย โดยเน้นการเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล หายาก และการจัดรูปแบบร้านเหมือนกับโรงละครเพื่อให้สัมผัสได้ถึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ

สำหรับในประเทศไทยมีบางโรงแรมและร้านอาหารที่มอบประสบการณ์การทานอาหารที่ตื่นเต้นและท้าทายเพื่อเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นกัน อาทิ

  • Soneva Kiri Resort & Residences บนเกาะกูด นำเสนอประสบการณ์การทานอาหารในบ้านรังนกบนต้นไม้สูง และประสบการณ์การทานอาหารท่ามกลางน้ำตกในป่าลึกให้แก่แขกที่มา
  • โรงแรม Six Senses Samui มีร้านอาหาร “Dining on the rocks” ที่มอบประสบการณ์การทานอาหารบนอาคารดีไซน์เปิดโล่งสร้างอยู่บนโขดหินริมผาเห็นวิวทะเล
  • โรงแรม Keemala Hotel จ.ภูเก็ต นำเสนอประสบการณ์การทานอาหารท่ามกลางป่าฝน

ประสบการณ์การทานอาหารที่ออกแบบตามความต้องการพิเศษของลูกค้า (Hyper-personalized dining experiences)

เทรนด์นำเสนอประสบการณ์การใช้ชีวิตแบบมีระดับได้มีการพัฒนาให้พิถีพิถันมากขึ้น อย่างเรื่องของอาหาร บรรดาพ่อครัวต้องปรับกลวิธีในการเอาชนะใจลูกค้าโดยการเติมแต่งรายละเอียดของแต่ละจานให้มีความเฉพาะตัวเหมาะกับลูกค้าแต่ละราย เพื่อสร้างประสบการณ์การทานอาหารที่น่าประทับใจยิ่งขึ้น

ส่วนที่ประเทศไทย ผู้ประกอบการหลายแห่งได้หันมาให้ความสำคัญต่อการสร้างประสบการณ์การทานอาหารที่ออกแบบตามความต้องการพิเศษของลูกค้ามากขึ้น เช่น การบินไทย มอบประสบการณ์พิเศษให้กับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง โดยการโทรสอบถามผู้โดยสารก่อนวันออกเดินทางว่าต้องการรับอาหารประเภทใดบนเครื่อง วิลล่า อแมนซี่ (Villa Amanzi) จังหวัดภูเก็ต ให้บริการแขกที่มาพักด้วยการจัดเชฟส่วนตัวสำหรับปรุงอาหารตามความพึงพอใจของแขกหรือตามที่แขกได้ขอมา ร้านซูชิ อิจิ (Sushi Ichi) นำเสนอซูชิจานพิเศษที่ออกแบบตามความต้องการของผู้มารับประทาน ร้านเทธเอเนส์ (Tête et Nez) ร้านใช้ “กลิ่น” เพื่อช่วยสร้างมิติของการทานอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของเทรนด์ทั้ง 10 หมวด ที่เห็นว่าภาคธุรกิจไทยทำได้ดี ได้แก่ เทรนด์ Work wellness เริ่มมีแล้วในหลายบริษัทของไทยทั้งเล็กและใหญ่ให้ความสนใจในมากขึ้น อาจจะออกมาในรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ เทรนด์ Gen Z ที่มีการเพิ่มพื้นที่ให้เด็กกลุ่มนี้แสดงออกมากขึ้น รวมถึงการที่แบรนด์หยิบเอาเทรนด์ Stimulated adulthood มาใช้มากขึ้น เพราะเมื่อเด็กรักแบรนด์ ก็มีโอกาสที่พ่อแม่จะชื่นชอบแบรนด์ไปด้วย

แต่ในส่วนที่เห็นว่าธุรกิจไทยยังทำได้ไม่ดีนัก คือไม่ตอบสนองต่อเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น จะทำให้เสียโอกาสนั้นไป ได้แก่ การจับเทรนด์ผู้สูงวัย หลายแบรนด์กลับเห็นว่าการทำแคมเปญเพื่อตอบสนองคนกลุ่มผู้สูงอายุจะทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์ดูเสีย ดูแก่ ไม่ทันสมัย แต่จริงๆ แล้วมันอยู่ที่วิธีการพูดคุยมากกว่า และอยู่ที่การวางกลยุทธ์ว่าจะสื่อสารยังไงให้ทันสมัย ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ได้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สเปนดิ้งเงินสูงมาก

“อย่างไรก็ตาม การนำเทรนด์ไปใช้ต้องรู้จักการนำมาประยุกต์ เนื่องจากกระแสบางอย่างอาจดูธรรมดาและไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่หากเราเปรียบมันเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร แม้กระทั่งเครื่องปรุงปริมาณเล็กน้อยก็มีส่วนสร้างรสชาติและเรื่องราวใหม่ๆ ได้ และยิ่งถ้าเรานำเทรนด์ดังกล่าวไปปรุงร่วมกับเทรนด์อื่น เราอาจจะได้รสชาติชิ้นงานการสื่อสาร หรือ Product Solutions ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้นวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจและช่วยแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในตลาด ได้รสชาติตรงปากตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น และนั่นคือสเน่ห์ของ Future100 ที่ดึงเครื่องปรุงต่างๆ ที่อยู่ในกระแสมานำเสนอให้เราได้เลือกเล่น เลือกดู และเลือกให้ไปตลอดปี 2016 นี้” ปรัชวัน กล่าวตบท้าย

ทั้ง 10 เทรนด์นี้เชื่อว่าทั้งแบรนด์ นักการตลาด และนักโฆษณา น่าจะนำไปเป็นเครื่องปรุงชั้นดี ให้กับแคมเปญและแผนทางการตลาดอื่นๆ ให้ออกมาแซบและนัวได้ในปี 2016 นี้.


  • 116
  •  
  •  
  •  
  •