ถึงวันนี้ “Starbucks” เข้ามาทำตลาดในไทยเข้าสู่ปีที่ 26 แล้ว ในทุกปีจะขยายร้านไม่ต่ำกว่า 30 สาขาต่อปี โดยปัจจุบันมี 517 สาขา และภายในสิ้นปีนี้จะมี 522 สาขาจากทั่วโลกกว่า 38,000 สาขา
เชื่อว่าใครที่เข้าไปในร้าน Starbucks ไม่ว่าจะสาขาในไทย หรือประเทศต่างๆ สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือ การออกแบบและตกแต่งร้านที่แตกต่างกัน
เหตุผลที่ Starbucks ให้ความสำคัญกับ “สาขา” นั่นเพราะต้องการเป็น “Third Place” สำหรับผู้คน นอกเหนือจาก First place คือบ้าน ขณะที่ Second place เป็นที่ทำงาน
ดังนั้นการจะเป็น Third place ที่ส่งมอบประสบการณ์และเข้าถึงลูกค้า Starbucks มีกระบวนการและลงรายละเอียดงานดีไซน์แต่ละสาขาให้มีความแตกต่างกัน สอดคล้องกับสถานที่ที่ร้านสาขาไปเปิดให้บริการ ความต้องการ และพฤติกรรมของผู้คนในพื้นที่ หรือโซนนั้นๆ
หลักปรัชญาการออกแบบสาขา Starbucks
คุณธนาศักดิ์ กุลรัตนรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ผู้อยู่เบื้องหลังการหาโลเคชัน เพื่อขยายสาขา และการดีไซน์ร้านสาขาต่างๆ ของ Starbucks ในประเทศไทย ให้รายละเอียดปรัชญาการออกแบบร้านสาขา Starbucks ว่าคำนึงถึง “สถานที่” และ “การส่งมอบประสบการณ์ Starbucks” (Starbucks Experience) ที่มาจากการสังเกตความต้องการ และพฤติกรรมลูกค้า
การดีไซน์ร้านสาขา มาจากการทำงานร่วมกันระหว่างทีมดีไซเนอร์ Starbucks ในแต่ละประเทศ กับทีมดีไซเนอร์ ที่ประจำอยู่ Design Center กระจายตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก
อย่าง Starbucks ประเทศไทย ทีมดีไซเนอร์ไทย จะเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Local Market เช่น ความชอบ-ความต้องการของลูกค้าไทย เอกลักษณ์โดดเด่นของแต่ละพื้นที่ หรือแต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาค จากนั้นทีมดีไซเนอร์ต่างประเทศ จะลงรายละเอียดงานดีไซน์ เพื่อให้ได้การออกแบบที่ถูกจริตคนไทย สอดคล้องกับสถานที่ และยังคงอยู่ภายใต้การส่งมอบประสบการณ์ Starbucks
“การเปิดสาขา Starbucks ไม่ได้มีสูตรตายตัว แต่ต้องพิจารณา traffic ของโลเคชันนั้นๆ ซึ่งเราเปิดสาขาในโลเคชันที่แตกต่างและหลากหลายมาก เช่น สาขาในโรงพยาบาล, มหาวิทยาลัย, ย่านออฟฟิศบิวดิ้ง เพราะฉะนั้นในด้านการดีไซน์ เราต้องเข้าไปสำรวจว่าในชุมชนของโลเคชันนั้นๆ เป็นอย่างไร
เพื่อนำมาออกแบบทั้งองค์ประกอบด้านฟังก์ขั่น เช่น ลูกค้าต้องการ facilities แบบไหน ห้องประชุม โต๊ะที่นั่ง อย่างร้านสาขาในย่านมหาวิทยาลัย หรือในมหาวิทยาลัย เรามีโต๊ะที่มีความสูงมากกว่าโต๊ะกาแฟ แทนที่จะวางแต่โต๊ะกาแฟอย่างเดียว
รวมกับการออกแบบด้านการตกแต่งร้าน เช่น ดีไซน์ที่ออกแบบให้เข้ากับสถานที่ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของโครงการที่สาขา Starbucks ไปตั้งอยู่ และบางจังหวัดมี material บางอย่างที่เป็นจุดขาขของภาค หรือจังหวัดนั้นๆ เราหยิบมาเป็นส่วนสอดแทรกในการตกแต่งร้านสาขา”
กว่าจะเป็นดีไซน์ “Starbucks Reserve One Bangkok”
เพื่อให้เห็นภาพการออกแบบสาขาชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่าง “Starbucks Reserve One Bangkok” (สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ วัน แบงค็อก) ซึ่งเป็นสาขา Flagship Store แห่งที่ 4 ต่อจากสาขาสยามสแควร์วัน, เซ็นทรัลเวิลด์, ไอคอนสยาม และล่าสุดที่ One Bangkok ขนาด 860 ตารางเมตร เป็นร้านแบบ 2 ชั้น สามารถรองรับลูกค้าได้สูงสุดถึง 230 ที่นั่ง
โจทย์ใหญ่การออกแบบ Starbucks Reserve One Bangkok คือ 1. เป็น Flagship Store และ 2. ตั้งอยู่ในโครงการอภิมหาโปรเจค One Bangkok ที่อยู่บนทำเลใจกลางเมือง ดังนั้นทีมดีไซเนอร์จึงทำการบ้านอย่างหนัก
เริ่มจากทีมดีไซเนอร์ Starbucks ประเทศไทย พาทีมดีไซเนอร์จากต่างประเทศ เดินทางไปภาคเหนือ เพื่อดูแหล่งปลูกกาแฟ และทำความเข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไร่กาแฟภาคเหนือ
“การออกแบบของ Starbucks Reserve One Bangkok ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมกาแฟอันหลากหลายของภาคเหนือของไทย และบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาของทำเลใจกลางเมืองนี้ เราได้สร้างพื้นที่ที่สะท้อนถึงความงดงามและประเพณีของเรา”
เมื่อเดินเข้ามาในร้านสาขานี้ ทั้งสองชั้นได้รับแรงบันดาลใจจากทิวเขาที่เป็นพื้นที่เพาะปลูกกาแฟในภาคเหนือของประเทศไทยที่อยู่ของชุมชนชาวเขาที่มีชีวิตชีวา จนกลายเป็นแนวคิดการออกแบบ “เรือนยอดไม้ใหญ่” หรือ Tree Top Canopy ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ใช้ในการเพาะปลูกกาแฟ
– ชั้นแรกของร้าน เป็นตัวแทนของต้นกาแฟ เมื่อเดินเข้ามาจะเห็นที่นั่งแบบ “Stadium Seating” สะท้อนถึงการเดินทางขึ้นไปดอยของทางภาคเหนือ จะเห็นการทำเกษตรกรรมแบบขั้นบันได เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขา จึงต้องการออกแบบให้เห็นถึงเกษตรกรรมขั้นบันได
– ส่วนชั้นบน หรือชั้น 2 สะท้อนถึงเรือนยอดไม้ มีพื้นที่นั่งเล่นอันเงียบสงบสำหรับลูกค้า
ด้านการตกแต่งร้าน สะดุดตาด้วยศิลปะสิ่งทอประดับเพดานโดย Ease Studio หลากหลายสีสัน ได้รับแรงบันดาลใจจากภูมิทัศน์อันงดงามของภาคเหนือ ประเทศไทย มรดกทางวัฒนธรรมอันอุดมสมบูรณ์ของชาวเขา และการแต่งกายของชาวเขาใส่ชุดสีสันสวยงาม
โดยงานแขวนแต่ละชิ้นมีลักษณะ Free form จำลองมาจากเมล็ดกาแฟผ่าครึ่ง โดยใช้การไล่ระดับสี การจัดวางเป็นชั้น ๆ และใช้เทคนิคการทอเพื่อแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนและลุ่มลึกของรสชาติกาแฟ
นอกจากนี้ภายในร้านยังตกแต่งด้วย “ผนังอิฐ” ที่ถูกจัดวางอย่างพิถีพิถัน ทำให้เกิดการมองเห็นหลากหลายมิติ เปลี่ยนแปลงไปตามมุมมองของผู้ชม แรงบันดาลใจการออกแบบมาจากภูมิทัศน์ที่ปลูกกาแฟของภาคเหนือในประเทศไทยและสถาปัตยกรรมอิฐ
และเมื่อเดินขึ้นมาชั้น 2 สะดุดตาด้วยโคมไฟขนาดใหญ่ 3 โคม รอบโคมเหมือนไม้แกะสลัก สะท้อนถึงต้นไม้ขนาดใหญ่ ที่มาของดีไซน์นี้มาจากการปลูกกาแฟของชาวไร่ภาคเหนือ เป็นการปลูกแบบยั่งยืน หมายความว่าปลูกต้นกาแฟ อยู่ร่วมกับต้นไม้ขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่าปลูกใต้ร่มเงา ดังนั้นตัวโคมไฟขนาดใหญ่ สื่อถึงลำต้นของต้นไม้ขนาดใหญ่
“ร้านนี้ยังเป็นสถานที่ต้อนรับใจกลางกรุงเทพฯ ที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของสตาร์บัคส์ในการเชื่อมต่อผู้คนผ่านกาแฟที่มีคุณภาพท่ามกลางพื้นที่ที่มีความสวยงาม ทุกรายละเอียดตั้งแต่การออกแบบพื้นที่ไปจนถึงงานศิลปะ ล้วนบอกเล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมท้องถิ่นและความยั่งยืน”
สรุป 10 ไฮไลต์ “Starbucks Reserve One Bangkok”
นอกจากงานดีไซน์แล้ว Starbucks Reserve One Bangkok ยังมีอีก 10 ไฮไลต์ที่น่าสนใจ
1. บาร์เครื่องดื่มหลัก: นำเสนอเมนูเครื่องดื่มและอาหารหลากหลายเมนูที่คุ้นเคยจาก Starbucks เช่น Signature Espresso Roast สุดคลาสสิก หรือ ม่วนใจ๋ เบลนด์ เมล็ดกาแฟ Starbucks สัญชาติไทย ที่ได้รับการพัฒนาโดยความร่วมมือของชุมชนชาวไร่กาแฟทางภาคเหนือของไทย
โดยรายได้ 10 บาทจากการจำหน่ายเครื่องดื่มที่ทำจากเมล็ดกาแฟม่วนใจ๋ เบลนด์ทุกแก้วจะนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไร่กาแฟ ผ่านมูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (Integrated Tribal Development Foundation)
2. บาร์ Starbucks Reserve™: ความหลากหลายของเครื่องดื่มซิกเนเจอร์ของ Starbucks จากเมล็ดกาแฟ Starbucks Reserve™ คุณภาพเยี่ยม หายาก ด้วยรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ที่หมุนเวียนมาให้เลือกสรรมากมายผ่านวิธีการชงที่หลากหลาย ทั้งเครื่องชงไซฟอน (Siphon) และเคเม็กซ์ (Chemex) หรือการชงแบบพัวร์โอเวอร์ (Pour Over)
นอกจากนี้ยังยกระดับประสบการณ์ Starbucks ที่พิเศษไปอีกขั้นด้วยนวัตกรรมเครื่องชงกาแฟเอสเพรสโซ่ OVISO™ ที่โดดเด่นด้วยดีไซน์สุดเท่ ตัวเครื่องทำเอสเพรสโซ่ได้รับการออกแบบให้ซ่อนอยู่ด้านล่าง (bottom-fill) พร้อมเทคโนโลยีการทำฟองนมที่เป็นสิทธิบัตรของ Starbucks ถูกติดตั้งไว้บนเคาน์เตอร์
3. บาร์ทีวาน่า: เครื่องดื่มชาหลากหลายรสชาติ อาทิ ราสเบอร์รี่ แบล็ค ที แซงเกรีย (Raspberry Black Tea Sangria) ซันเซ็ท (Sunset) และ ลิ้นจี่ เอิร์ล เกรย์ ที (Lychee Earl Grey Tea) ที่พร้อมสร้างความสดชื่นให้กับลูกค้าทุกท่าน
4. โซนขนมแบบอบใหม่ในร้าน: นำเสนอขนมอบสดใหม่ เช่น แซนด์วิช Open-faced หลากหลายรสชาติเฉพาะที่สาขาสตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ วัน แบงค็อก นอกจากนี้ยังมี ครัวซองส์เนยสด (Butter Croissant) ทาร์ตแอบเปิ้ลฝรั่งเศส (Baked French Apple Tart) และช็อกโกแลตทวิสต์ (Chocolate Twist)
นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถเพลิดเพลินไปกับการจับคู่เมนูขนมซิกเนเจอร์ของ Starbucks กับไอศกรีม รวมถึง โคลด์คัท (Cold Cut)และชีสหลากชนิด (Cheese Platter) บรูสเกต้า (Bruschetta) ขนมปังแฟลตเบรด (Flatbread) ซุปและพาสต้า
5. บาร์ Mixologist: บาร์ที่นำเสนอนวัตกรรมและการผสมเครื่องดื่มไว้อย่างเต็มรูปแบบ
6. ห้องประชุม 2 ห้อง: ตามคอนเซปต์ The Third Place หรือ บ้านหลังที่สาม พื้นที่ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน ห้องประชุมทั้ง 2 ห้องนี้ เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน สามารถใช้ประชุมหรือสังสรรค์กับเพื่อนฝูง เป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันในบรรยากาศที่ผ่อนคลายและสะดวกสบาย
7. ที่นั่งแบบสเตเดียม: พื้นที่นั่งอเนกประสงค์ให้ลูกค้าได้ผ่อนคลาย สะท้อนถึงทัศนียภาพอันงดงามของไร่กาแฟที่ตั้งอยู่บนภูเขา การออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากพื้นที่ปลูกกาแฟเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของทั้งสตาร์บัคส์และชาวไร่กาแฟที่จะมอบความรื่นรมย์จากการดื่มกาแฟผ่านเมล็ดกาแฟคุณภาพสูง
8. บาร์คอนดิเมนต์ที่ใหญ่กว่าสาขาอื่น (Condiment Bar): ร้านนี้เป็นสาขาแรกที่มี Condiment Bar เพื่อความยั่งยืนที่ส่งเสริมให้ลูกค้าล้างแก้วและเทเครื่องดื่มที่เหลือทิ้ง พร้อมทิ้งขยะในที่ที่เหมาะสม
9. ร้าน Greener Store ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ: ใช้นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนมาผสมผสานในการการออกแบบ ได้แก่ จุดรีไซเคิลขยะครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย ระบบการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
10. ระบบ Smart Lighting: ระบบปรับแต่งปริมาณแสงในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน ทั้งเช้า – กลางวัน – เย็น เพื่อให้คงบรรยากาศความอบอุ่น ขณะเดียวกันช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของร้าน