วิกฤตอาหารโลกทำให้ “เนื้อจากห้องแล็บ” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

  • 303
  •  
  •  
  •  
  •  

cultured meat

วิกฤตโลกร้อน ภัยธรรมชาติ และพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่สมดุล (เกินพอเพียง) นำมาสู่วิกฤตปัญหาความขาดแคลนทรัพยากร ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่มาสู่วิกฤตแห่งความขาดแคลนอาหารของโลก โดยนักวิจัยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติเคยให้ข้อมูลว่า ในปี ค.ศ. 2050 โลกจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตทางด้านอาหาร แต่ดูเหมือนว่าการคาดการณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นจริงเร็วขึ้น

วิกฤตความขาดแคลนอาหารเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจต่างก็ให้ความสนใจ ในช่วงเวลาหลายปีมานี้ มีความพยายามมากมายที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อชะลอการเกิดปัญหาดังกล่าว การเลี้ยงเนื้อในห้องแล็บ หรือ Cultured Meat ก็เป็นหนึ่งในความพยายามที่เกิดขึ้นมาหลายปีก่อนหน้านี้ และดูเหมือนว่าจะเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นทุกที เพราะคาดกันว่าน่าจะเริ่มเห็นเนื้อสังเคราะห์ดังกล่าวเริ่มวางขายตามซูปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้แล้ว

Cultured Meat เป็นการนำสเต็มเซลล์ของสัตว์ต้นแบบมาเพาะเลี้ยงในถังหมัก (bioreactor) ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ด้วยน้ำเลี้ยง (culture medium) ที่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสเต็มเซลล์ ซึ่งเนื้อแต่ละชนิดจะต้องการการเลี้ยงในสภาพที่ต่างกัน โดย Cultured Meat ผลิตได้ทั้งเนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อหมู และเนื้อปลาทูน่า โดยทำได้เฉพาะส่วนเนื้อเท่านั้น หลายคนเรียกว่า “เนื้อสังเคราะห์” บ้างก็เรียก “เนื้อหลอดทดลอง” หรือ “เนื้อวิทยาศาสตร์”

ฝ่ายที่สนับสนุนการผลิตเนื้อสัตว์ด้วยวิธีการสังเคราะห์ ซึ่งไม่ทำลายชีวิตสัตว์ อย่างเต็มตัว ก็จะตั้งชื่อเรียกเนื้อที่ผลิตด้วยวิธีนี้ว่า “Clean Meat” ขณะที่ฝ่ายที่ต่อต้านการผลิตแบบที่ไม่เป็นธรรมชาติ หรือไม่ใช่แบบดั้งเดิม ก็มักเรียกขานเนื้อสังเคราะห์นี้ว่า “เนื้อซอมบี้”

เพียง 5 ปี ต้นทุนการผลิต Cultured Meat ลดลงอย่างรวดเร็ว  

Aleph-Beef
เนื้อวัวสังเคราะห์ หรือ Cultured Beef ที่ให้อารมณ์ไม่ต่างจากเนื้อปกติ (Photo Credit : Aleph Farms)

เนื้อสังเคราะห์แบบ Cultured Meat ปรากฏโฉมครั้งแรกในรูปแบบของเบอร์เกอร์เนื้อ โดยถูกนำเสนอผ่านทางโทรทัศน์ในประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 2013 โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Maastricht ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งขณะนั้นต้นทุนอยู่ที่ 478,993 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม หรือกว่า 15 ล้านบาท 

ด้วยต้นทุนที่สูงมากส่งผลให้ยังไม่สามารถนำเนื้อสังเคราะห์ดังกล่าวออกมาขายได้จริง กระทั่งช่วงไม่กี่ปีมานี้ที่สตาร์ทอัพด้านอาหาร (BioTech / FoodTech) เริ่มเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก คาดว่าปัจจุบันน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 30 รายทั่วโลก โดยส่วนใหญ่อยู่ในสรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป และอิสราเอล ส่งผลให้การแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง

ยกตัวอย่าง ต้นทุนการผลิต Cultured Beef ของ บริษัท Mosa Meat ที่ลดลงเป็น 95,798 และ 8,164 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ในปี 2015 และ 2016 ตามลำดับ และคาดว่าในปีหน้า บริษัทจะพยายามพัฒนาให้ต้นทุนเหลือเพียง 14.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม รวมทั้งคาดว่าจะสามารถผลิตแฮมเบอร์เกอร์จากเนื้อสังเคราะห์วางขายได้ในราคาชิ้นละ 10 เหรียญสหรัฐฯ​ และบริษัทจะเร่งขยายการผลิตให้เป็นแบบอุตสาหกรรม เพื่อทำให้สามารถขายเนื้อเบอร์เกอร์สังเคราะห์ได้ในราคาไม่เกิน 2 เหรียญสหรัฐฯ​ ภายในปี 2023  

ขณะที่กลางปีที่ผ่านมา บริษัท Memphis Meats เพิ่งประกาศว่าบริษัทสามารถผลิตเนื้อวัวสังเคราะห์ที่ใกล้เคียงความจริงทั้งด้านรสชาติและราคา โดยต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5,280 เหรียญสหรัฐฯ จากนั้นในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา บริษัท Aleph Farms สตาร์ทอัพสัญชาติอิสราเอล ก็ผลิตเนื้อสังเคราะห์สำหรับทำสเต๊กเนื้อวัวได้เป็นครั้งแรก ในต้นทุนเพียง 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อชิ้น คิดเป็นเงินไทยประมาณชิ้นละกว่า 1500 บาท ซึ่งก็ยังแพงอยู่ดีสำหรับค่าสเต็กชิ้นเดียว

นอกจากเนื้อวัวสังเคราะห์ ปัจจุบัน มีสตาร์ทอัพหลายรายที่พยายามพัฒนาเนื้อสัตว์สังเคราะห์อื่น ๆ เช่น JUST Incorporated สตาร์ทอัพจากสหรัฐฯ ที่กำลังพัฒนาเนื้อไก่สังเคราะห์ที่ผลิตจากสเต็มเซลล์ของไก่กับโปรตีนที่ได้จากพืชประเภทถั่วและสาหร่าย ซึ่งปัจจุบัน ต้นทุนยังอยู่ที่กว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ /กิโลกรัม​ หรือ Finless Foods ที่กำลังผลิตเนื้อปลาสังเคราะห์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2020 

ทางออกของวิกฤตการขาดแคลนเนื้อสัตว์ คือการแปรรูปพืช

Beyond Meat
ตัวอย่างเนื้อสังเคราะห์สำหรับทำไส้เบอร์เกอร์ที่ดูไม่ต่างจากเนื้อจริง (Photo Credit : Beyond Meat)

นอกจากเนื้อสังเคราะห์ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากสเต็มเซลล์ของสัตว์ ยังมีสตาร์ทอัพอีกกลุ่มที่พยายามผลิตเนื้อสัตว์เทียมจากการสังเคราะห์โปรตีนพืช (Plant-based Meat) เช่น Beyond Meat สตาร์ทอัพจากสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตเนื้อสัตว์เทียมที่ทำจากโปรตีนถั่วลันเตาและพืชชนิดต่าง ๆ โดยมีทั้งเนื้อไก่ เนื้อวัว ไส้กรอก และเบอร์เกอร์ ซึ่งว่ากันว่าให้รสชาติเสมือนเนื้อสัตว์จริงทั้งที่ผลิตจากโปรตีนพืช 100% โดย Beyond Meat เริ่มวางจำหน่ายไส้เบอร์เกอร์รสเนื้อที่ Whole Foods ตั้งแต่ปี 2016 จากนั้นจึงขยายไปสู่ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีโรงแรมและร้านอาหารหลายแห่งที่นำเนื้อจาก Beyond Meat ไปเป็นส่วนประกอบในบางรายการอาหาร ​

นอกจากนี้ยังมี Impossible Foods สตาร์ทอัพจากจากสหรัฐฯ อีกรายที่พยายามคิดค้นผลิตเนื้อสัตว์เทียมจากพืช โดยมุ่งมั่นที่จะทำให้สัมผัสของเนื้อเทียมนั้นเหมือนเนื้อสัตว์จริง ด้วยการนำ “ฮีม (Heme)” สารประกอบเฮโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงที่พบได้ในพืชตระกูลถั่วมาผสมลงในก้อนเนื้อเบอร์เกอร์จากเนื้อสัตว์เทียม เมื่อนำเนื้อสังเคราะห์นั้นไปทอดจะมีน้ำสีแดงไหลออกมาเหมือนเลือด แต่ที่เด็ดยิ่งกว่าคือเวลาที่เนื้อนั้นถูกเคี้ยวจะให้รสสัมผัสชุ่มฉ่ำเหมือนเนื้อสัตว์จริง โดยผลิตภัณฑ์ Impossible Burger เริ่มวางขายในสหรัฐฯ ในปี 2016 และกำลังขยายสาขาไปยังสิงคโปร์และฮ่องกง ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของ Impossible Foods คือการเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่อยู่ในตู้เย็นของคนทั่วไป

มีการประเมนิว่าในปี 2023 อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์จะมีมูลค่าสูงถึง 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจดังกล่าว ทำให้หลายคนมองว่านั่นเป็นสาเหตุที่มหาเศรษฐีระดับโลกอย่าง Bill Gates ยอมลงทุนหลักร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ ในสตาร์ทอัพ 2 รายนี้ แต่จริง ๆ แล้วเป็นเพราะ Bill Gates มองว่าโลกไม่สามารถประคองความต้องการเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี โลกจำเป็นต้องหาทางออก ซึ่งทางออกก็คือ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนโปรตีนจากพืชให้เหมือนเนื้อสัตว์ และได้ผลลัพธ์เป็นที่พึงพอใจของผู้ประกอบการ

heme
ฮีม (Heme) สารประกอบเฮโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงที่พบได้ในพืชตระกูลถั่ว ถูกนำมาผสมในเนื้อที่ผลิตจากโปรตีนพืช เพื่อเพิ่มรสสัมผัสให้เหมือนเนื้อจริง (Photo Credit : Impossible Foods)

นอกจากนี้ ยังมีอีกเหตุผลสำคัญคือ Bill Gates ปวารณาตัวเป็น Vegan ซึ่งคนกลุ่มนี้นอกจากจะไม่บริโภคเนื้อสัตว์ โดยเน้นรับประทานพืชผักผลไม้แล้ว คนกลุ่มนี้ยังรับประทานอาหารที่ไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตใด ๆ ทั้งสิ้น จึงต้องงดบริโภคนม เนย ชีส ไข่ รวมถึงน้ำผึ้ง ยีสต์ และเจลาติน สำหรับคนที่เคร่งครัดชนิด ก็จะไม่สวมใส่เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และใช้เครื่องสำอางที่ทำมาจากสัตว์ หรือทดลองจากสัตว์ด้วย

โอกาสและความท้าทายของเนื้อสังเคราะห์  

นอกจากการลดต้นทุนให้ถูกลง ให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับราคาของเนื้อจริง เพื่อที่คนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ความท้าทายสำคัญของเนื้อสังเคราะห์ ทั้ง Cultured Meat และ Plant-based Meat ​การยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งต้องอาศัยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการผลิตและความปลอดภัย รวมถึงการให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของเนื้อสังเคราะห์ทั้งต่อผู้บริโภคและต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการเปิดใจที่จะทดลอง ​

สำหรับ Cultured Meat ยังมีอีกความท้าทายหลัก ได้แก่ การรองรับตามกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและสารอาหารที่จะได้รับ ซึ่งจะเบิกทางให้ Cultured Meat สามารถวางขายตามร้านค้าทั่วไป ขณะที่ความท้าทายหลักของ Plant-based Meat คือการทำให้รสชาติและสัมผัสคล้ายกับเนื้อจริง ซึ่งก็ใกล้ความจริงมากแล้ว

แต่ถ้ามองในฝั่งโอกาสของเนื้อสังเคราะห์ พบว่า เนื่องจาก Cultured Meat และ Plant-based Meat ผลิตในห้องแล็บ จึงสามารถควบคุมความสะอาดและการปลอดเชื้อโรคได้ดีกว่า อีกทั้งยังไม่ต้องหวาดกลัวยาปฏิชีวนะและฮอร์โมนในการเลี้ยงสัตว์จะตกค้างบนเนื้อ ย่ิงกว่านั้น ยังสามารถปรับปรุงคุณค่าทางอาหารบางอย่างให้สูงขึ้นได้ตามต้องการ เช่น เพิ่มคอลลาเจน ไขมัน โอเมก้า 3 ฯลฯ จึงถือเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้รักสุขภาพ ทั้งยังน่าจะเป็นทางเลือกถูกใจสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ต้องการฆ่าและทารุณสัตว์  

cattle
Photo Credit : Pakistan Today

แต่โอกาสที่สำคัญคงเป็นภาวะขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ที่หลีกเลี่ยงได้ยากในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นไป จนคาดว่าในปี 2050 น่าจะมีถึงกว่า 9.7 พันล้านคน การจะผลิตเนื้อสัตว์เพื่อเลี้ยงคนจำนวนดังกล่าว จำเป็นต้องใช้พื้นที่และทรัพยากรในการทำฟาร์มปศุสัตว์เพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัว ซึ่งหากใช้วิธีการผลิตเนื้อสัตว์แบบเดิม โลกจะไม่มีพื้นที่เพียงพอในการเลี้ยงสัตว์

นอกจากนี้ ยังต้องเสี่ยงต่อภัยโรคระบาดในสัตว์ หรือภัยแล้งที่ทำให้ขาดแคลนอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้จำนวนสัตว์ลดลงอย่างมากด้วย จึงกล่าวได้ว่าโลกในอนาคตอยู่บนความเสี่ยงที่จะเจอวิกฤตขาดแคลนเนื้อสัตว์ได้ทุกเมื่อ ซึ่ง Cultured Meat เป็นแนวทางการผลิตที่จะทำให้ผลิตเนื้อสัตว์ได้ในปริมาณมากด้วยเวลาที่สั้นลง​และทรัพยากรที่น้อยลง

ขณะเดียวกัน ความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการเรียกร้องกิจกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งปรากฏว่าปัจจุบัน ภาคปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 18% ของการปล่อยทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าภาคขนส่งเสียอีก และการจะได้มาซึ่งเนื้อวัวจริง 1 กิโลกรัม จำเป็นต้องใช้น้ำเฉลี่ยถึง 1.5 หมื่นลิตร ขณะที่ Cultured Beef เมื่อเทียบกับการเลี้ยงวัวจริง ๆ พบว่า ใช้พื้นที่น้อยกว่า 99% ใช้น้ำน้อยกว่า 96% ใช้พลังงานน้อยกว่า 45% และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าถึง 96% 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกเนื้อสังเคราะห์ โดยเฉพาะ Cultured Meat อาจยังมีผู้คัดค้านอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ เหมือนกับกรณี GMO หรือการตัดแต่งพันธุกรรมในพืช แต่ในอนาคต เมื่อโลกเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอาหารและวิกฤตสิ่งแวดล้อมมาก ๆ เข้า เราก็คงจำเป็นต้องเลือกบริโภคอาหารสังเคราะห์เหล่านี้ ​เพื่อประทังชีวิตตัวเองและเพื่อรักษาโลกใบนี้ 

..เหมือนที่ Bill Gates เคยเตือนเกี่ยวกับวิกฤตอาหารโลกและสิ่งแวดล้อมโลกผ่าน Facebook ของเขาเองว่า “​เราจำเป็นต้องเริ่มคิดถึงอาหารในอนาคต ถ้าเรากำลังจะต้องเลี้ยงคน 9 พันล้านคน โดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”

แหล่งที่มา : Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)


  • 303
  •  
  •  
  •  
  •  
Tummy
เมื่อไหร่ที่หยุดพัฒนาตัวเอง ถึงแม้เราไม่ได้ถอยหลัง แต่โลกก็จะทิ้งเราไว้ข้างหลังและหนีห่างออกไป จนวันหนึ่งเมื่อตื่นมา เราอาจรู้สึกแปลกแยก ... มาเปิดโลกทัศน์ แล้วสนุกกับทุกความเคลื่อนไหวในโลกใบนี้ไปพร้อมกันนะคะ