Online Marketing แบบไม่ต้องเสียเงิน

  • 21
  •  
  •  
  •  
  •  

คนไทยกับ Google แทบจะเรียกได้ว่ารู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการใช้บริการ Search Engine ที่พอคิดอะไรไม่ออกก็เข้า Google ไว้ก่อน จากนั้นก็ Search แล้วข้อมูลก็จะปรากฏขึ้นมาให้เลือกเอง ข้อมูลจากเว็บไซต์ไหนที่ดูว่าน่าจะตรงกับความต้องการก็แค่คลิกเข้าไป

แต่สำหรับนักการตลาดแล้ว แน่นอนว่าคงจะต้องการเครื่องมือเพื่อช่วยในการทำตลาดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการทำการตลาดกับ Google เอง เพื่อให้เว็บไซต์ของตัวเองทะยานขึ้นสู่อันดับต้นๆ จากการค้นหา ซึ่ง Tools ที่ทาง Google พัฒนาขึ้นมาเองนั้นจะสามารถช่วยให้คุณทำการตลาดได้ง่ายมากขึ้น

มาดูกันว่า Google Tools ที่น่าใช้และมีประโยชน์มีอะไรบ้าง

1. Google Analytics

Google Analytics คือ ตัวเก็บสถิติเกี่ยวกับผู้เข้าชมเว็บไซต์ พฤติกรรมของคนที่เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ รวมทั้งติดตามประสิทธิภาพของแคมเปญการโฆษณา AdWords หรือโปรแกรมการโฆษณาอื่นๆ ด้วยข้อมูลนี้จะทราบว่าคีย์เวิร์ดใดที่ได้ผล ข้อความโฆษณาใดมีประสิทธิภาพมากที่สุด และผู้เข้าชมเว็บไซต์ออกจากเว็บไซต์เพราะเหตุใด

ความสามารถหลักของ Google Analytics แบ่งความสามารถตามจุดประสงค์การใช้งาน ได้แก่ สถิติเกี่ยวกับ Visitor รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่เข้ามาชมเว็บไซต์ สถิติเกี่ยวกับ Traffic รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางในการเข้าถึงเว็บไซต์ สถิติเกี่ยวกับ Content รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการเข้าชมเนื้อหาภายในหน้าเว็บไซต์ และสถิติเกี่ยวกับ Goal วิเคราะห์ว่าผู้ใช้งานเข้าถึงเป้าหมายภายในเว็บไซต์ได้อย่างไร

เครื่องมือตัวนี้จะช่วยให้คุณเห็นภาพรวมของเว็บไซต์ของคุณในทุกๆ วัน โดยจะวิเคราะห์ทั้ง Traffic ที่เกิดขึ้น คนที่เข้าเว็บไซต์มาจากไหน ประเทศอะไร และเข้ามาทำอะไรบ้างในเว็บไซต์ของคุณ โดยคุณสามารถ Monitor สถานการณ์ความเคลื่อนไหวภายในเว็บไซต์ของคุณได้ทั้งหมด

Google Analytics เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการช่วยวิเคราะห์ทิศทางการทำตลาดของคุณเองต่อไป ซึ่งจะทำให้คุณรู้ว่าอะไรที่เป็นที่นิยม อะไรที่คุณควรจะขาย กลุ่มเป้าหมายที่ให้ความสนใจของคุณเป็นใคร และถ้าจะขยายตลาดต่อไปนั้นควรจะไปทำตลาดในประเทศอะไรต่อไป โดยข้อมูลเหล่านี้ยังมีความจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงระดับการลงทุนเพื่อทำการโฆษณา รวมทั้งยังทำให้สามารถคิดอัตราการคืนทุนได้ง่ายขึ้น

2. Google Sitemaps

Google Sitemap หรือการทำแผนที่เว็บไซต์ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย เพราะนอกจากจะทำให้คุณสามารถทำ SEO ได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังจะส่งผลดีกับเว็บไซต์ของคุณในระยะยาวอีกด้วย โดยเครื่องมือตัวนี้มีประโยชน์สำหรับเว็บมาสเตอร์หรือนักการตลาดที่ต้องการให้ข้อมูลบนเว็บไซต์ของคุณถูกค้นพบอย่างรวดเร็ว

Google Sitemap จะเป็นเหมือน ป้ายบอกทางให้กับ Googlebot เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลภายในเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้นด้วยการไต่ไปตามโครงสร้างและเนื้อหาของเว็บไซต์ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลของ Google เมื่อมีการ Search หาข้อมูลใน Search Engine จะทำให้ข้อมูลในเว็บไซต์สามารถค้นพบได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ Google Sitemap ยังสามารถบอกได้ด้วยว่าเว็บไซต์ของเรามี Sites หรือ Webpages หน้าไหนที่ไม่ทำงานด้วย

วิธีการสร้าง Google Sitemap

  1. เข้าไปที่ http://www.xml-sitemaps.com/  จากนั้น ใส่ URL ของเว็บไซต์ที่ต้องการสร้าง Google Sitemap ลงใน Starting URL เสร็จแล้วคลิก Start ระบบจะทำการสร้าง Sitemap ให้ จากนั้นจะปรากฏคำว่า Generated sitemap is ready ให้ไปคลิกที่ Download Un-compressed XML.sitemap และเซฟไว้ในไฟล์ที่ชื่อ sitemap.xml  แล้วนำ File ที่ชื่อ sitemap.xml ไป Upload ขึ้นเว็บไซต์ของตัวเอง โดยให้อยู่ในระดับเท่ากับ index.html เช่น http://www.ecommerce-magazine.com/sitemap.xml/
  2. ไปที่ http://www.google.com/webmaster/tools/   ใส่ URL ของเว็บไซต์ จากนั้นคลิกที่ เพิ่มไซต์ 
  3. จะพบ Google my Site ให้คลิกที่ เพิ่ม ที่ช่องของ sitemap  เพื่อเพิ่ม Sitemap 
  4. เลือก Add general web sitemap และกำหนดชื่อ My sitemap URL ตามตัวอย่างของ Google เช่น http://www.ecommerce-magazine.com/sitemap.xml เสร็จแล้วคลิก Add web sitemap ระบบจะขึ้น Pending รอการยืนยันเว็บไซต์ในขั้นตอนต่อไป
  5. ทำการ ยืนยันเว็บไซต์ โดยคลิกที่ ยืนยัน ที่ช่องของ ยืนยันแล้วหรือยัง
  6. เลือกยืนยันแบบ อัพโหลดไฟล์ HTML
  7. จากนั้นระบบจะสร้างชื่อไฟล์ HTML ให้  จากนั้นให้เราสร้างไฟล์ HTML เปล่าๆ โดยตั้งชื่อไฟล์ชื่อเดียวกับไฟล์ HTML ที่ Google สร้างให้ จากนั้นทำการอัพโหลด ขึ้นเว็บไซต์ของตัวเอง โดยให้อยู่ในระดับเดียวกันกับ ไฟล์ index.html เช่น http://www.ecommerce-magazine.com/googlexxxxxxx.html
  8. คลิกที่ ยืนยัน เพื่อทำการยืนยันเว็บไซต์ จากนั้นระบบจะอ่านเว็บไซต์ของเราและวินิจฉัยให้ด้วย เท่านี้ก็เรียบร้อย แต่ถ้าคุณมีการปรับปรุงเว็บไซต์มากๆ ควรที่จะมาสร้าง Sitemap ขึ้นมาใหม่

3. Google Alerts

การใช้ Google Alerts เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คุณสามารถเก็บ Track ที่เกิดขึ้นกับคุณในทุกกิจกรรมบนโลกออนไลน์ อีกทั้งยังทำให้คุณสามารถ Monitor บริการและสินค้าที่ได้รับความสนใจบนออนไลน์ รวมทั้งยังทำให้ทราบอันดับเว็บไซต์ของคุณว่าก้าวถึงระดับต้นๆ ในแต่ละคีย์เวิร์ดได้หรือไม่อีกด้วย

Google Alerts เป็นระบบการเตือนเมื่อมีใครหรือว่าเว็บไซต์อื่นได้อ้างอิงถึงเว็บไซต์หรือชื่อของคุณ หรือมีผลการค้นหาใหม่ตามคำค้นที่คุณระบุ ระบบจะส่งอีเมลมาให้อัตโนมัติ โดยปัจจุบันระบบ Google Alerts รองรับการค้นหาจาก ข่าว เว็บไซต์ บล็อก วิดีโอ และ Google Groups

เช่น ถ้าเป็นบริการสำหรับข่าว ระบบจะส่งอีเมลมาเตือนเมื่อมีข่าวใหม่ 10 อันดับแรกที่ตรงกับคำค้นหาที่คุณระบุจาก Google News Search ถ้าเป็นบริการสำหรับเว็บไซต์ ระบบจะส่งอีเมลรายงานผลการค้นหา 20 อันดับแรกที่ตรงกับคำค้นหาที่คุณระบุจาก Google Web Search ส่วนบริการสำหรับบล็อก ระบบจะส่งอีเมลรายงานผลการค้นหา 10 อันดับแรกที่ตรงกับคำค้นหาที่คุณระบุจาก Google Blog Search เป็นต้น

การสมัครใช้บริการสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการเข้าไปที่ http://www.google.com/alerts จากนั้นป้อนคำที่ต้องการค้นหา เลือกบริการที่ต้องการ (ข่าว เว็บไซต์ วิดีโอ ฯลฯ) ความถี่ที่คุณต้องการตรวจสอบผลลัพธ์และอีเมลของคุณหลังจากกรอกข้อมูลครบแล้วให้กดปุ่ม “Create Alert” ระบบจะส่งอีเมลยืนยันให้คุณเมื่อได้รับอีเมลแล้วให้คุณยืนยันเปิดการใช้งาน โดยคลิกลิงก์ที่ส่งมาในอีเมล

อย่างไรก็ตาม คุณสามารถสร้างและยืนยันการทำ Alert พร้อมๆ กันหลายรายการ โดยเข้าไปที่หน้า “Manage Your Alerts” ซึ่งการใช้งานนั้นคุณจะต้องเข้าสู่ระบบโดยใช้ Google Account หากยังไม่มี Google Account สามารถสร้างได้ที่หน้าเว็บไซต์ Google Account

4. Google Froogle

หลังจากที่ Google ได้เปิดให้บริการ Froogle ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยค้นหาสินค้าเพื่อการชอปปิงออนไลน์ แต่เนื่องจากชื่อดังกล่าวไม่สามารถสื่อได้ว่าเป็นแหล่งชอปปิงออนไลน์ตามที่ Google คาดหมายไว้ตั้งแต่แรก จึงได้เปลี่ยนชื่อ Froogle เป็น Google Product Search (http://www.google.com/products) แทน เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าใจง่ายขึ้น

Froogle เป็น Index การสืบค้นสำหรับการชอปปิงแบบออนไลน์ที่ทำให้บรรดานักชอปฯ สามารถค้นหาสินค้าในราคาประหยัดได้ง่ายขึ้น โดยเครือข่ายของ Froogle จะมีความสามารถในการค้นหาสินค้าต่างๆ ในร้านค้าออนไลน์เป็นพิเศษ โดยหน้าตาของ Froogle นั้นจะคล้ายกับ Google Directory แต่มุ่งเน้นไปที่การทำให้คุณเข้าถึงตัวสินค้าที่ต้องการได้ง่ายขึ้น

การค้นหาสามารถทำได้โดยใส่ชื่อผลิตภัณฑ์ที่คุณต้องการโดยตรง หรือหากคุณยังไม่ได้ตัดสินใจชี้ชัดลงไปก็สามารถดูสินค้าไปเรื่อยๆ โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการค้นหาจะมีภาพสินค้าปรากฏให้ดูด้วย (หากร้านค้ามีการนำภาพมาลงไว้) และสามารถเรียงผลการค้นหาที่ได้ทั้งในแบบตามราคา จากราคาสูงไปต่ำ หรือต่ำไปสูง เรียงเว็บไซต์ตามจำนวนสินค้าที่เสนอ เรียงตาม Products Rating หรือจะให้เรียงตาม Seller Rating ก็ได้

นอกจากนี้ยังสามารถเลือกชมสินค้าเฉพาะรายการที่อยู่ในช่วงราคา (Price Range) ที่สนใจได้ด้วย  และยังสามารถใช้การสืบค้นขั้นสูงมาช่วยให้การสืบค้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงกับความต้องการมากขึ้น โดยการสืบค้นจาก Froogle จะเป็นประโยชน์มาก ซึ่งถ้าหากคุณมีสินค้าที่ต้องการซื้ออยู่ในใจแล้ว และต้องการความรวดเร็วในการซื้อสินค้า เครื่องมือตัวนี้ของ Google จะสามารถช่วยคุณได้มาก
สำหรับเว็บมาสเตอร์และนักการตลาดที่ต้องการโปรโมตสินค้าของตัวเอง การศึกษาและวิเคราะห์ว่าจะทำให้เนื้อหาบนเว็บไซต์ของตัวเองไปแสดงบน Froogle ได้นั้นต้องทำอย่างไรจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงควรติดตาม ศึกษานโยบาย กลยุทธ์ และทิศทางในการทำให้สินค้าจากเว็บไซต์ของคุณได้ไปแสดงต่อหน้ากลุ่มเป้าหมายนับพันนับล้านคนด้วย

5. Google Checkout

Google Checkout คือระบบการจับจ่ายซื้อสินค้าที่สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว โดยจะทำหน้าที่คล้ายๆ กับเป็น Payment Gateway หรือ Payment Processing เพื่อทำหน้าที่รับชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่มีขายบนเว็บไซต์ โดยระบบการรับชำระเงินของ Google Checkout นั้นคุณสามารถทำรายการสั่งซื้อและจ่ายค่าสินค้า ตลอดจนตรวจสอบรายการการสั่งซื้อหรือการชำระสินค้าได้ด้วยตัวเองผ่านหน้าเว็บไซต์

ผู้ที่มีเว็บไซต์อยู่แล้วสามารถที่จะนำ Google Checkout ไปติดตั้งไว้บนเว็บไซต์ได้ฟรี แต่ทุกครั้งที่มีคนชำระเงินผ่านทาง Google Checkout ทางเว็บไซต์จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับ Google เป็นจำนวน 2%+$0.2 ต่อการชำระเงินหนึ่งครั้ง

ส่วนทางด้านผู้ใช้บริการ Google Checkout นั้นจะสามารถซื้อสินค้าบนอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน โดยผู้ใช้แค่ใส่รหัสบัตรเครดิตและข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เพียงแค่ครั้งเดียว จากนั้นเมื่อต้องการจะซื้อสินค้าก็แค่ใส่ Log In กับ Password ของ Google Checkout (ซึ่งก็เป็น Log In และ Password เดียวกับ Gmail หรือ Account อื่นๆ ของ Google) เท่านี้ก็สามารถทำการซื้อสินค้าได้แล้ว พร้อมทั้งยังสามารถเช็กประวัติการซื้อสินค้าของตัวเองได้ด้วยว่าซื้ออะไรไปเมื่อไรบ้าง หากเกิดปัญหาก็สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้

สำหรับนักการตลาดที่ใช้ AdWords ในการโฆษณาเว็บไซต์อยู่แล้วสามารถที่จะนำ Google Checkout นี้มาใช้สำหรับรับชำระเงินในเว็บไซต์ได้ โดยจะทำให้คุณเสียค่าธรรมเนียมน้อยลง หรือไม่เสียเลยก็ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าถ้าหากคุณเสียค่าโฆษณาให้กับทาง Google AdWords เป็นจำนวนเงิน $1 ทาง Google จะอนุญาตให้คุณใช้ Google Checkout เพื่อรับชำระค่าสินค้าได้ฟรี $10 โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการใช้ (2%+$0.2) ซึ่งสิทธิพิเศษที่ทาง Google มอบให้นี้ทำให้เจ้าของร้านค้าสามารถประหยัดค่าธรรมเนียมการใช้ไปได้มากทีเดียว

นอกจากนี้คุณยังสามารถวางโลโกของตัว Shopping Cart ไว้ที่ตัวโฆษณา AdWords ที่คุณใช้ เพื่อใช้ประโยชน์จากความน่าเชื่อถือของแบรนด์ Google มาสร้างข้อได้เปรียบให้กับเว็บไซต์คุณได้ด้วย ซึ่งนักการตลาดเองก็คงไม่ต้องเสียเวลาไปกับการหาเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและเปี่ยมไปด้วยคุณค่ามาใช้กันอีกแล้ว

ได้ทำความรู้จักกับเครื่องมือฟรีๆ เพื่อช่วยทำการตลาดจาก Google ทั้ง 5 ตัวไปแล้ว ฉบับต่อไปมาติดตามกันต่อว่าจะมีเครื่องมืออะไรที่ทั้งฟรีและดีจาก Google ที่น่าใช้กันอีกบ้าง

Source:  Ecommerce Magazine


  • 21
  •  
  •  
  •  
  •