อ่านเกม “KBank x Grab” ดันแอปฯ “K PLUS-Grab” อยู่ในชีวิตประจำวันคนไทย “จ่ายเงิน ยันปล่อยกู้”

  • 1.6K
  •  
  •  
  •  
  •  

kbankxgrab

เป็นอีกหนึ่งดีลใหญ่ของเมืองไทย เมื่อ “KBank” ประกาศลงทุนใน “Grab” มูลค่างบลงทุนกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการระดมทุนครั้งที่ 8 ของทาง “Grab” เพื่อต่อจิ๊กซอว์ให้เกิด “Digital Lifestyle Ecosystem” โดยใช้ความแข็งแกร่ง และศักยภาพของแต่ละฝ่ายมาผสานกัน

โดยเบื้องต้นของความร่วมมือ ครอบคลุมการพัฒนาแอปพลิเคชนการชำระเงิน ผ่านสมาร์ทโฟน และบริการทางการเงินต่างๆ รวมกัน นำร่อง 3 ผลิตภัณฑ์

1. GrabPay by Kbank จากเดิมบริการ GrabPay ในไทย ไม่ใช่ e-Wallet รับแค่บัตรเครดิตเท่านั้น แต่หลังจากร่วมมือกัน ถูกพัฒนาให้เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ บนสมาร์ทโฟน (Mobile Wallet) ที่จะทำให้ลูกค้า Grab ชำระเงินค่าเดินทาง และค่าบริการรับส่งของ ตลอดจนสามารถโอนเงินให้กับเพื่อน หรือครอบครัวใช้สำหรับซื้อสินค้า-บริการออนไลน์ รวมทั้งใช้จ่ายผ่าน QR Code ในร้านอาหาร – ร้านค้าต่างๆ ทั่วไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติธนาคารแห่งประเทศไย

2. พัฒนาให้แอปพลิเคชัน “K PLUS” และ “Grab” ใช้งานร่วมกันได้ เพื่อทำให้ลูกค้าใช้บริการตลอดวงจรการให้บริการของทั้งธนาคารกสิกรไทย และ Grab ได้อย่าง Seamless โดยจะเริ่มใช้งานร่วมกันได้ช่วงไตรมาส 1 ของปี 2562

3. นำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าทีอ่ยู่ในวงจรการให้บริการของ “ธนาคารกสิกรไทย” และ “Grab” โดยร่วมกันเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กับกลุ่มลูกค้าของตนเอง

KBank_Grab1

เมื่ออ่านเกมธุรกิจการลงทุนครั้งนี้ ถือเป็น “Win-Win Strategy” ที่สร้างประโยชน์ส่งเสริมกันทั้งสองฝ่าย ดังนี้

4 เป้าหมาย “KBank” มุ่งหวังจากความร่วมมือ

– ต่อจิ๊กซอว์ “Digital Lifestyle Ecosystem” เพื่อผลักดันแพลตฟอร์มของ “KBank” เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยที่ใช้ทุกวัน (Everyday Use) เนื่องด้วยทิศทางการปรับตัวของธุรกิจธนาคารในวันนี้ ปลดล็อกออกจากการเป็นเพียงสถาบันการเงิน ที่ให้บริการด้านธุรกรรมทางการเงินเท่านั้น แต่เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคที่คู่แข่งไม่ใช่เป็นเพียง “ธนาคาร” ด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังมีคู่แข่งหน้าใหม่ ที่อยู่คนละอุตสาหกรรมเข้ามาท้าชิง

ด้วยเหตุนี้ “ธนาคารกสิกรไทย” จึงต้องเปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็น “Life Platform” ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวันอันหลากหลายของทุกคน ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการใหม่ ๆ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กรอบการให้บริการการเงินแบบเดิมอย่างที่ธนาคารเคยทำมาอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้ง การเดินทาง ความบันเทิง ฯลฯ

แน่นอนว่าการต่อจิ๊กซอว์ “Digital Lifestyle Ecosystem” ให้ได้เร็ว จำเป็นอย่างยิ่งต้องสร้างความร่วมมือกับ “พาร์ทเนอร์” ซึ่ง “Grab” นิยามตัวเองเป็น “Everyday Super App” ครอบคลุมตั้งแต่การเดินทาง การจัดส่งอาหาร ไปจนถึงบริการรับส่งของด่วน

ดังนั้นนับจากนี้ในแอปพลิเคชัน “K PLUS” จะมีบริการของทางของ “Grab” เข้าไปอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือ ฐานผู้ใช้แอปฯ K PLUS ที่ใหญ่ขึ้น จากปัจจุบันมียอดผู้ใช้ 10 ล้านคน ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการใช้ทุกวัน และเข้าไปอยู่ในทุกโอกาสในชีวิตประจำวัน ดังที่ คุณพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เล่าว่า

“จุดประสงค์หนึ่งของการลงทุนครั้งนี้ Kbank ต้องการตอบโจทย์ “Seamless Experience”  เช่น บริการจัดส่งอาหารของทาง Grab หรือบริการเรียกรถแท็กซี่ ต่อไปสามารถเข้าผ่านแอปฯ Grab และเข้าผ่านแอปฯ K PLUS ได้เช่นกัน เพราะเราต้องการให้คนใช้แพลตฟอร์มของเราทุกวัน โดยที่ลูกค้าสะดวกและคุ้นเคยกับการใช้แอปพลิเคชันไหนอยู่แล้ว ก็สามารถใช้แอปพลิเคชันนั้นได้เหมือนเดิม เช่น ชินกับการใช้ Grab อยู่แล้ว ก็ใช้ Grab ได้ต่อในการทำธุรกรรมทางการเงิน เรียกใช้บริการรถ-สั่งอาหาร-ส่งพัสดุ หรือถ้าลูกค้าชินกับการใช้ K PLUS ก็ใช้แอปฯ ของเราในการเรียกใช้บริการของทาง Grab ได้”

45776552_552629415162138_2577218997393031168_n

– ขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการของธนาคาร เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ เช่น ปล่อยสินเชื่อ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร 70 ล้านคน แต่ไม่ใช่คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคธนาคารได้ ดังนั้นยังมี “ช่องว่าง” อีกมหาศาลที่ “KBank” ต้องการเข้าถึงคนกลุ่มนี้

ในขณะที่ระบบนิเวศธุรกิจของ “Grab” มีทั้งผู้ขับขี่รถแท็กซี่ – วินมอเตอร์ไซค์ – แมสเซนเจอร์ ซึ่งคนกลุ่มนี้จำนวนมาก ในปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคาร เช่น การขอสินเชื่อ ทำให้ต้องหันไปพึ่งพา “เงินกู้นอกระบบ” ซึ่ง “หนี้นอกระบบ” ถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ฝั่งรากลึกในสังคมไทยมายาวนาน

ดังนั้น เมื่อ “KBank” เข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้ ต่อไปสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น สินเชื่อ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้โดยเฉพาะ โดยสามารถปล่อยกู้ได้ผ่านแพลตฟอร์มของ “Grab” ได้เลย

“กลุ่มผู้ขับขี่แท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์ เราไม่เคยเข้าถึง และเข้าใจรายได้-การใช้จ่ายของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ซึ่งการผนึกกำลังกับ Grab ซึ่งมีข้อมูลรายรับรายวันของกลุ่มผู้ขับขี่เป็นอย่างดี จะช่วยให้เราเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ได้เหมาะสม และตรงความต้องการ โดยที่เราต้องทำให้โครงสร้างการปล่อยสินเชื่อมีความรัดกุม-แม่นยำ เพื่อไม่ให้มี NPL เกิดขึ้น”

KBank_Grab4

Big Data จาก “Grab” ต่อยอดสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้แบบ Personalization ในยุคนี้ใครมี “Big Data” สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในโลกธุรกิจ ซึ่ง “Grab” เป็น Technology Company รายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นทั้งแพลตฟอร์มด้านการเดินทาง – แพลตฟอร์มเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) – แพลตฟอร์มสำหรับผู้บริโภค รวมจำนวนผู้ดาวน์โหลดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 125 ล้านผู้ใช้งาน ซึ่งปัจจุบันเฉพาะในประเทศไทย แพลตฟอร์ม “Grab” มีการเติบโตทั้งฐานผู้ใช้งาน และผู้ขับขี่ และผู้ประกอบการร้านค้า ซึ่งถือเป็น Big Data สำคัญที่สามารถนำไปต่อยอดสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้กับคนกลุ่มเหล่านี้ได้แบบ Personalization ต่อไปในอนาคต

Cross Product-Service ร่วมกัน ตามที่กล่าวต้นถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าในวงจรการให้บริการของทั้ง “KBank” และ “Grab” ร่วมกันนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กับกลุ่มลูกค้าของตนเอง เช่น การเสนอสินเชื่อกสิกรไทย ให้ผู้ขับรถ Grab, การนำเสนอบริการ “Grab for Business” ให้กับลูกค้า SME ของธนาคารกสิกรไทย หรือแม้แต่การดึงลูกค้าผู้ประกอบการ SME ของกสิกรไทย ในกลุ่มร้านค้าที่มีเป็นหลักแสนราย

ในขณะที่ “Grab Food” มีเครือข่ายร้านอาหาร 4,000 – 5,000 ราย ก็สามารถเสนอให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร SME ที่เป็นฐานลูกค้าของกสิกรไทย มาอยู่ในเครือข่ายร้านอาหารของ “Grab Food” ในการให้บริการจัดส่งอาหารไปยังผู้บริโภคได้กว้างขึ้น รวมไปถึงการใช้ Reward Point ร่วมกันได้

– เสริมศักยภาพการขยายธุรกิจไปยังตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน +3 ตามนโยบายของ “KBank” โดยทุกวันนี้ “Grab” ถือเป็น Regional Company รายใหญ่ในภูมิภาคนี้ ลงทุนใน 8 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, ไทย, เวียดนาม, เมียนมาร์ และกัมพูชา

 

“Grab” ตอกย้ำกลยุทธ์ Partnership – เสริมแกร่งบริการทางการเงิน

ส่วนประโยชน์ในฝั่งของ “Grab” ที่จะได้จาการจับมือกับ KBank ประกอบด้วย

– ตอบโจทย์กลยุทธ์ “Local Champion Partnership” การสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในวันนี้ จะยืนลำพังเพียงคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องมี “พาร์ทเนอร์” เพื่อร่วมกันผลักดันให้เติบโต ซึ่งกลยุทธ์ของ “Grab” ที่ลงทุนในประเทศต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้โมเดลผนึกกำลังกับ “พาร์ทเนอร์” ในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ โดยต้องเป็น “พาร์ทเนอร์แถวหน้า” ของกลุ่มธุรกิจนั้นๆ

สำหรับในไทย ปัจจุบัน “Grab” ได้ทำ Collaboration กับพันธมิตรชั้นนำ ทั้งในธุรกิจค้าปลีก เช่น เซ็นทรัล ที่เชนร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์ม Grab Food, ภาคการท่องเที่ยว จับมือกับสายการบิน และ Online Travel Agency (OTA), อีคอมเมิร์ซ, อสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจบันเทิง

45569119_867720783598160_5780647653926764544_n

– สร้างความน่าเชื่อถือในการให้บริการทางการเงิน “Grab Financial” แม้ว่าปัจจุบัน Grab มี Valuation 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่สำหรับการให้บริการด้านการเงิน นอกจากมีโปรดักต์ตอบโจทย์แล้ว อีกหนึ่งกุญแจสำคัญ คือ ความน่าเชื่อถือ ซึ่งแน่นอนว่าตรงนี้เป็น “จุดแข็ง” หนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคยังคงใช้บริการจากธนาคาร เพราะมีความน่าเชื่อถือ ทั้งด้านชื่อเสียงที่สั่งสมมายาวนาน และความมั่นคงขององค์กร

เพราะฉะนั้นการได้ “KBank” เข้ามาลงทุน จะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริการทางการเงินของ “Grab” และภาพลักษณ์โดยรวมของแบรนด์

– ทำให้ระบบนิเวศธุรกิจของ Grab ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพื่อให้กลายเป็น Everyday Super App ความร่วมมือกันจะทำให้ Business Ecosystem ของ Grab สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งบริการทางการเงิน ที่สามารถดึงจุดแข็งของ “KBank” มาสนับสนุนได้

45582310_257503844913361_5993014120058716160_n

คุณธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ Grab ประเทศไทย ขยายความว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้คนไทยเข้าถึงระบบการชำระเงินระบบดิจิทัล ที่สะดวกและปลอดภัยได้มากขึ้น สิ่งนี้เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะทำให้ Grab เป็น Everyday Super App ที่ตอบสนองความต้องการในแต่ละวันของลูกค้า

“ในปี 2561 Grab Financial ก้าวขึ้นเป็นผู้นำแพลตฟอร์ม FinTech ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้ต่อเดือน (Montly Active Users) และมูลค่าการใช้จ่ายรวม (Total Payment Volume) ดังนั้นการร่วมมือทางธุรกิจในครั้งนี้ จะทำให้ Grab Financial เป็นแพลตฟอร์มแรกบนสมาร์ทโฟนที่ได้รับใบอนุญาตในการเปิดให้บริการระบบชำระเงินใน 6 ประเทศอาเซียน รวมถึงตอกย้ำความแข็งแกร่งในกลยุทธ์การร่วมมือกันพันธมิตรทางธุรกิจ จากการที่ Grab เปิดแพลตฟอร์มนี้ ทำให้มีธุรกิจด้านการเงินชั้นนำจำนวนมากที่ต้องการร่วมมือกับ Grab เพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น” มร. รูเบน ไหล ผู้อำนวยการจัดการอาวุโส Grab Financial สรุปทิ้งท้าย

 

บทความนี้ นำเสนอเป็นที่แรกบนเว็บไซต์ MarketingOops.com


  • 1.6K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE