สรุปเทรนด์ 10 เทคโนโลยี ‘ต้องจับตา’ ที่จะเพิ่มบทบาทหลังจากนี้ ช่วง Post COVID-19

  • 2.3K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

การระบาดของไวรัสไม่ว่าความรุนแรงจะอยู่ในระดับไหน มักเป็นตัวกระตุ้นและเป็นตัว drive ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย หรือสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ได้ดีขึ้น

แม้ว่ามีบางเทคโนโลยีได้ถูกพัฒนามานาน และใช้งานกันมาอย่างกว้างขวางแล้วก่อนที่จะมีการระบาดเกิดขึ้น แต่ในช่วงหลังจากนี้ หากวิกฤตไวรัสสงบลง กูรูในวงการเทคโนโลยีมองว่า เทคโนโลยีเหล่านี้จะยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง และเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยได้วิเคราะห์เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง 10 เทคโนโลยี ว่าจะเข้ามาสร้างความยืดหยุ่นให้กับผู้คน, การทำงาน, การเรียน, การสร้างผลิตผลใหม่ๆ รวมไปถึง การเอ็นเตอร์เทนตัวเองจากกองความทุกข์ ที่เกิดขึ้นมานานกว่าครึ่งปี มีดังต่อไปนี้

 

Online Shopping and Robot Deliveries

รูปแบบการชอปปิ้งเริ่มเปลี่ยนไปจริงๆ ก็คือ ตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตการระบาดของโรค SARS ในปี 2002 ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดแพลตฟอร์มมากมายสำหรับการซื้อสินค้า เป็นช่องทางแห่งโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงของผู้คน ในเวลาที่ออกนอกบ้านและซื้อของ

เช่นเดียวกับการระบาดของ COVID-19 ที่กระตุ้นการชอปปิ้งออนไลน์ให้ปอปปูล่ามากขึ้น จากที่ภาคธุรกิจใช้รูปแบบ ‘a nice-to-have’ แพลตฟอร์มออนไลน์ก็ต้องปรับไอเดียให้เป็นรูปแบบ ‘a must-to-have’ ซึ่งการซื้อของออนไลน์จำเป็นต้องซัพพอท ‘โลจิสติกส์’ ให้เพียบพร้อมได้ประสิทธิภาพกับการปรับตัวด้วย

 

Credit : David Philogene/Shutterstock

 

สำหรับชอปปิ้งออนไลน์ ไม่ได้พูดถึงแค่สินค้าอุปโภคบริโภค หรือสินค้าแฟชั่นเท่านั้นที่มีโอกาส ในบางประเทศอย่าง จีน สินค้าของนักดื่มสายกลางคืนอย่าง ‘คอกเทล’ ก็มีบริการใหม่ผุดขึ้นมาด้วยเช่นกันในช่วงที่ทุกคนต้องกักตัว ‘บาร์’ หลายแห่งทั้งในปักกิ่ง-กวางโจว เข้าร่วมแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมีบริการออเดอร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และส่งตรงถึงหน้าประตูเลยทีเดียว

ทั้งนี้ หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และจีน มีร้านอาหารหลายแห่งที่จัดส่งสินค้าด้วย ‘Robots’ รวมไปถึง รูปแบบการจัดส่งสินค้าแบบ ‘picked up – dropped off’ ไปยังสถานที่ที่อยู่ใกล้บ้านและสะดวกสำหรับลูกค้าที่สุด เพื่อลดการสัมผัสระหว่างคนสู่คน

 

 

Digital and Contactless Payments

และเพื่อสนับสนุนให้ทุกคนใช้วิธี contactless หรือลดการสัมผัสเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น การชำระเงินแบบดิจิทัล หรือ E-payment จึงก้าวข้ามความกลัวของกลุ่มคนหลายประเภท ที่ก่อนหน้านี้ยังไม่คุ้นเคยกับรูปแบบ cashless ทำให้พวกเขาเปิดใจเรียนรู้มากขึ้น

โดยการชำระเงินแบบดิจิทัลได้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถซื้อสินค้าออนไลน์ และชำระค่าสินค้า-บริการ หรือชำระค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ ได้อย่างสะดวก แต่ถึงแม้ว่าจะมีผู้คนหลายคนที่หันมาใช้วิธี e-wallet กันมากขึ้น แต่เวิล์ดแบงก์ก็ชี้ว่า ผู้คนทั่วโลกกว่า 1.7 พันล้านคนที่ยังเข้าไม่ถึงระบบดิจิทัลนี้ นั่นหมายความว่า พวกเขายังเข้าไม่ถึงระบบอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

 

 

Remote Work

ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของ COVID-19 มีเพียงไม่กี่ % ของบริษัทที่เคยทดลองใช้วิธีการทำงานระยะไกล แต่สถานการณ์ดังกล่าวบังคับให้ทุกคนกลับมาอยู่ในจุดเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและความอยู่รอดของตัวเองและบริษัท

ทั้งนี้ การทำงานระยะไกล (Remote work) ทำให้ทั่วโลกก้าวขาสู่โลกแห่งเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะวิธีการทำงานแบบนี้ต้องใช้เทคโนโลยีหลายตัว เช่น เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network: VPN), การสื่อสารทางเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต (Voice over Internet Protocol: VoIPs), การประชุมเสมือนผ่านโปรแกรมต่างๆ, ระบบคอมพิวเตอร์แบบคลาวด์ (cloud technology), เครื่องมือการทำงานร่วมกัน และเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม remote work มีปัญหาและเกิดความท้าทายขึ้นด้วยเช่นกัน เช่นปัญหาที่เกิดมากสุด คือ ปัญหาจากการสื่อสารระหว่างกัน และ ความเหงา-โดดเดี่ยว ซึ่งนักจิตวิทยาของสหรัฐฯ ยืนยันว่า มีผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ทำงานจากที่บ้าน กลุ่มคนทำงานหลายรายมีปัญหาเรื่องการหาสมดุลในการทำงานและการพักผ่อน

 

 

Distance Learning

นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โรงเรียนและมหาวิทยาลัยกว่า 191 ประเทศทั่วโลกประกาศปิดคลาสเรียนชั่วคราว ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักเรียน-นักศึกษา ประมาณ 1.57 พันล้านคน

 

 

ดังนั้น คลาสเรียนออนไลน์จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบ pain point จากปัญหานี้ เพราะวิกฤตไวรัสมันลากยาวนานเกินไป ทั้งนี้ ชั่วโมงแห่งการปรับตัวระหว่างการเรียนการสอนทางออนไลน์ จึงต้องมีเทคโนโลยีเพื่อมาสนับสนุนให้สะดวกสบายขึ้น เช่น เครือข่ายอินเทอร์เน้ตที่ต้องมี, การจำลองภาพเสมือนจริง (VR), การผสมผสานระหว่างโลกความจริงและความเสมือนจริงเข้าด้วยกัน (AR) และ การพิมพ์ 3 มิติ และ ครู AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น

 

 

Telehealth

เทคโนโลยี ‘แพทย์ทางไกล’ ค่อนข้างตอบโจทย์ และกระตุ้นให้นำมาปรับใช้เร็วขึ้นจากการระบาดของ COVID-19  นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ผู้ป่วยยังสามารถเข้าถึงการแพทย์ได้เร็วและสะดวกขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล

 

 

โดยเทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้กับ Telehealth ที่พบเห็นทุกวันนี้ ก็คือ IoT อุปกรณ์ที่เชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ต, Chatbots ที่สามารถทำการวินิจฉัยอาการเบื้องต้นได้ทันที, เทคโนโลยี AI ที่ทำงานร่วมกับ Big Data ผ่านระบบข้อมูลทางการแพทย์ และการวิเคราะห์ผ่านภาพ รวมไปถึงเทคโนโลยี 5G ที่จะช่วยให้การรักษาเกิดขึ้นแบบ real-time มากกว่าเดิม

 

 

ทั้งนี้ ในเอเชีย ‘ไต้หวัน’ เป็นแห่งเทคโนโลยีการแพทย์ที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ อย่างบริษัท Leadtek Research Inc ที่มีการสร้างแพลตฟอร์มในการตรวจสุขภาพกายและใจ ผ่านสร้อยข้อมือที่ทำร่วมกับแบรนด์ Amor เพื่อช่วยบันทึกการนอนหลับ, ดัชนีความล้า, ดัชนีวงจรชีวิต และดัชนีความเครียดทางกายภาพ และนำมาทำนายความเสี่ยงผ่านเทคโนโลยี AI  วิเคราะห์แนวโน้มส่วนบุคคล ไปจนถึงคำแนะนำที่เป็นประโยชน์

ขณะที่ข้อมูลของ eClinicalWorks เปิดเผยว่า จำนวนผู้ใช้แพลตฟอร์ม TeleVisits ในวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา มียอดทั้งหมด 1.5 ล้านคนเปรียบเทียบจาก วันที่ 16 มี.ค. ที่มียอดผู้ใช้ประมาณ 100,000 คน เพิ่มขึ้น 15 เท่าในช่วง 3 สัปดาห์

 

 

 

Online Entertainment

การกักตัวเป็นเวลานานในช่วงที่มีการระบาดของไวรัส เป็นจุดกำเนิดให้เกิดกิจกรรมดิจิทัลขึ้น นอกเหนือจากวิดีโอสตรีมมิ่ง หรือ เกมออนไลน์ ซึ่งเป็นกิจกรรมยอดนิยมของกลุ่มคนทั่วโลก แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังทำให้เกิด ‘คอนเสิร์ตสตรีมมิ่ง’ ที่แพร่หลายทั่วโลก รวมถึงในไทยด้วยเช่น

 

 

นอกจากนี้มีบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ของจีนที่ปล่อย content ภาพยนตร์ออนไลน์โดยเฉพาะ เพื่อตอบ need ของชาวจีนในช่วงที่ต้องกักตัวด้วย รวมไปถึงเทรนด์ ‘virtual tours’ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ และสถานที่ที่เป็นมรดกของโลกก็ตาม

 

 

Supply Chain 4.0

นับตั้งแต่ที่มีการระบาดเกิดขึ้นจนทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกต้องหยุดชะงัก เนื่องจากต้นตอการระบาดนั้นเกิดจาก ‘จีน’ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งการผลิตใหญ่ของโลก ดังนั้น บริษัทจำนวนไม่น้อยที่ปรับเปลี่ยน warehouse หรือคลังกักตุนสินค้าจาก ‘center’ คือ ศูนย์กระจายสินค้ามาจากที่แห่งเดียว ปรับเป็นมีศูนย์กระจายสินค้าหลายแห่งหลายประเทศแทน

ศูนย์กระจายสินค้าจะเป็นไปในลักษณะที่มี ‘ความยืดหยุ่นสูง’ และนำเทคโนโลยีต่างๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Big Data, cloud computing, Internet-of-Things (IoT) และ เทคโนโลยี blockchain เพื่อเพิ่มความแม่นยำให้กับข้อมูลสินค้า และคำนวณระยะเวลาที่จะขนย้ายของ ประเมินและคาดการณ์กระบวนการอย่างครอบคลุม รวมไปถึงทำนายความเสียหายในกรณีที่เกิดอุปสรรคระหว่างทางขนส่ง และที่สำคัญข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะถูกจัดแบ่งและแชร์ Data บนฐานข้อมูลเดียวกันในแต่ละ warehouse เพื่อให้ง่ายต่อการใช้ข้อมูลต่อไป

 

 

 

3D Printing

เทคโนโลยีการพิมพ์ 3D จะช่วยประหยัดเวลาในกระบวนการผลิตมากขึ้น และความยืดหยุ่นให้กับการผลิต เนื่องจากเครื่องพิมพ์เดียวกันสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันตามไฟล์และวัสดุที่ออกแบบไว้ รวมไปถึงปริมาณของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมีปริมาณมากเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมามีหลายประเทศ ที่ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3D เพื่อผลิต Face Shield (หน้ากากป้องกันการติดเชื้อ) และ Ventilator (เครื่องช่วยหายใจ)

 

ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์ให้อุตสาหกรรมการแพทย์พัฒนาขึ้นได้ ด้วยการพิมพ์ 3 มิติที่มีความแม่นยำสูง สามารถช่วยให้กลุ่มแพทย์เรียนรู้ระบบกล้ามเนื้อและกระดูกของผู้ป่วยผ่านทางโมเดล 3D ได้ เป็นต้น

 

 

 

Robotics and Drones

ด้วยการระบาดที่หนักหนาจึงทำให้เกิดดีมานด์บางอย่างขึ้น เห็นได้ชัดในธุรกิจค้าปลีก, ร้านอาหาร, ภาคการผลิต และโลจิสติกส์ ที่เป็นธุรกิจที่จำเป็นต้องมีแรงงานคนจำนวนมาก ดังนั้น ไวรัส COVID-19 เป็นแรงผลักให้เทคโนโลยีโรบอติกส์ และการใช้โดรนมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตมนุษย์หลังจากนี้

ความประทับใจของลูกค้า และความไม่สะดุดของภาคธุรกิจ จะกระตุ้นให้อนาคตหลังจากนี้ เทคโนโลยีทั้งสองนี้จะยังคงอยู่กับเรา ซึ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กระแสการใช้หุ่นยนต์เพื่อส่งอาหาร, สินค้าต่างๆ ตั้งแต่พื้นที่กักกันตัว ในโรงพยาบาล และร้านค้าทั่วไปในหลายประเทศปรากฏให้เห็นมากขึ้น

นอกจากนี้ ในภาคอุตสาหกรรมก็มีจำนวนแรงงานบางส่วนเป็นหุ่นยนต์ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ในอนาคตหลังจากที่เกิดวิกฤตไวรัสโลกจะเกิดตำแหน่งใหม่ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อป้อนให้กับ ‘คน’ ส่วนตำแหน่งงานบางอย่างก็ถูกแทนที่ด้วย ‘หุ่นยนต์’

 

 

สำหรับ ‘โดรน’ นอกจากจะใช้ในการถ่ายภาพนิ่งเพื่อประเมินสภาวการณ์บางอย่าง ในอนาคตการใช้โดรนเพื่อขนส่งสินค้าจะได้รับความนิยมมากขึ้นอีก รวมไปถึงการใช้โดรนทางการทหารเพื่อติดตามกลุ่มก่อการร้าย, โดรนสำหรับการเกษตรเพื่อประเมินคุณภาพดิน และอุปสรรคต่างๆ รวมไปถึง โดรนตรวจสอบพื้นที่งานก่อสร้าง ที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในหลายประเทศ

 

 

5G and ICT

เทคโนโลยี 5G ที่แตกต่างไปจาก 4G ในหลายๆ ปัจจัย ทั้งความเร็ว, อัตราความหน่วง และคอนเน็คชั่นที่เชื่อมโยงกับ IoT ให้ทุกอย่างเป็น smart things จะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนเราแทบจะ 100% ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะรวมไปถึง ICT ที่ช่วยในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ ก่อนจะนำมาประมวลผล และสร้างความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้นในยุคต่อๆ ไป

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลโดย IBM และ weforum


  • 2.3K
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม
CLOSE
CLOSE