เรื่องของปรากฏการณ์ ความเหมือนในสมอง ความสัมพันธ์เรื่องการสื่อสารแบรนด์ กับกระเป๋าแบรนด์ Freitag

  • 136
  •  
  •  
  •  
  •  

ทำไมมนุษย์เราถึงชอบอวด

ทำไมเราถึงเกิดความรู้สึกว่า มีการเชื่อมต่อทางอารมณ์กับประสบการณ์ที่เพื่อนๆ พากันมาโพสต์เรื่องราว รูปภาพต่างๆ ในโลกโซเชียล

มีงานวิจัยสองชิ้น มาแบ่งปัน ให้ทดลองร่วมค้นหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน งานวิจัยชิ้นแรกนี้ ตีพิมพ์ออนไลน์ในวารสาร Nature Neuroscience จัดทำขึ้นโดยนักประสาทวิทยา สาขาการพัฒนาการมนุษย์จาก Cornell’s College of Human Ecology โดยมี รศ.แอนเดอร์สัน เป็นหัวหน้าในการทำงานวิจัย

แนวคิดของงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นการพยายามค้นหารูปแบบอย่างละเอียดของกิจกรรมในระบบประสาทภายในสมอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางอารมณ์ ที่ปรากฏขึ้นใน Orbitofrontal Cortex (OFC) ที่ทำหน้าที่กำหนดรหัสของระบบประสาท เพื่อเก็บและจดจำความรู้สึกของแต่ละบุคคล

ในการศึกษานี้เขาให้ผู้เข้าร่วมการทดลองชมภาพถ่าย และชิมรสชาติต่างๆ โดยสรุปคือเป็นการทดลองกับประสาทสัมผัสเรื่องการมองเห็น และลิ้มรส แล้วลองนำเอาข้อมูล ภาพถ่ายในระบบประสาท มาวิเคราะห์จัดอันดับรูปแบบประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน ไปตามรูปแบบของการถูกกระตุ้น แล้วนักวิจัยก็ค้นพบเรื่องราวน่าทึ่งว่า..

สมองของมนุษย์เรา ได้สร้างรหัสพิเศษให้กับความรู้สึกพอใจและไม่พอใจ ทั้งความรู้สึกดีและรู้สึกแย่ ซึ่งสามารถถูกอ่านค่าออกมาได้ถ้าคนสองคน เกิดมีความสุขตอนจิบไวน์รสเลิศ หรือตอนชมพระอาทิตย์ตกดิน คล้ายๆ กัน นักวิจัยเขาค้นพบว่า เจ้าความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น มันเกิดขึ้นเพราะทั้งสองคนมีรูปแบบการทำงานของระบบประสาทภายใน OFC ที่คล้ายคลึงกัน

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ สมองของมนุษย์ทั้งสองคนนั้นได้เปลี่ยนความรู้สึกเหล่านั้นให้กลายเป็น “รหัสมาตรฐาน” ที่ใกล้เคียงกัน ถึงแม้ว่า เจ้าความรู้สึกสุขที่เกิดขึ้นนั้น มันจะเป็นเรื่องของประสบการณ์ส่วนตัว หรือเป็นทัศนคติของแต่ละบุคคลก็ตามที

แถมทีมนักวิจัย ยังได้ค้นพบอีกว่าเจ้าความรู้สึกส่วนตัวที่คล้ายกันนี้ ไม่ว่าเกิดขึ้นที่ตาหรือลิ้น ก็จะส่งผลให้เกิดเป็นรูปแบบของกิจกรรมภายใน OFC ที่คล้ายคลึงกัน

ซึ่งชี้ให้เห็นว่า สมองของเรามีรหัสของอารมณ์ความรู้สึกร่วมกัน ในประสบการณ์ที่แตกต่างของความพึงพอใจ รวมทั้งความไม่พอใจ และเจ้ารหัสที่เหมือนกัน หรือคล้ายคลึงกันนี่แหละ ที่กลายเป็นเบาะแสสำคัญชิ้นหนึ่ง

ที่เอามาตั้งเป็นสมมุติฐานเบื้องต้น และน่าทดลองสืบค้นต่อไปกับอีกหลายๆ งานวิจัยค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ในช่วงปี 2016 มีอีกงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ ในหัวข้อ A neural link between affective understanding and interpersonal attraction ทีมนักวิจัยนำโดย Silke Anders ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านสมองจากมหาวิทยาลัย Lübeckประเทศเยอรมัน ผลงานวิจัยนี้ อธิบายกระบวนการทางระบบประสาทที่อาจมีบทบาทสำคัญในเรื่องของความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ พวกเขาค้นพบว่า..มนุษย์เรามักถูกดึงดูดเข้าหาคนที่เราอ่านความรู้สึกได้

โดยการทดลองนี้ ทีมนักวิจัยทดลองให้กลุ่มเป้าหมาย 40 คน ดูวิดีโอของหญิง 6 คนที่แสดงความรู้สึกกลัว หรือเศร้า และหลังจากนั้นก็ให้กลุ่มเป้าหมายเลือกว่า รู้สึกดึงดูดกับคนไหนผลคือกลุ่มเป้าหมาย รู้สึกดึงดูด และเลือกคนที่พวกเขารู้สึกว่าเข้าใจอารมณ์ ได้มากกว่า เพราะมีความรู้สึกว่า สามารถรับสัญญาณทางอารมณ์ได้ มีภาษาทางความรู้สึกที่ตรงกัน รู้สึกได้ว่าเป็นพวกเดียวกัน สามารถเข้าใจความรู้สึกได้โดยไม่หวาดระแวง รู้สึกได้ว่ามีแรงดึงดูดเข้าหาบุคคลนั้นมากขึ้น นี่คือผลของ Neural vocabulary หรือเจ้าภาษาทางอารมณ์ที่ตรงกัน…. เมื่อเกิดความสบายใจ เข้าใจอารมณ์ได้มากกว่า สมองก็จะสั่งการว่า คนเหล่านี้แหละคือพวกเดียวกันกับเรา

นอกจากงานวิจัยทั้งสองเรื่องข้างต้นนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้น ที่ให้ผลการศึกษาไปในทางเดียวกันคือ มนุษย์เรามักจะชอบและดึงดูดเข้าหาคนที่เหมือนกับเราโดยอัตโนมัติมันอาจส่งผลเกี่ยวข้องกับการที่กลุ่มต่างๆ ในสังคมมนุษย์เรา มักจะดึงดูดคนที่มีรสนิยม มีความชอบ และความไม่ชอบที่คล้ายๆ กัน ให้เข้ามาอยู่ในกลุ่ม มาอยู่ในสังคมแบบเดียวกัน ทั้งในโลกออนไลน์ และโลกในชีวิตจริง ด้วยเพราะปรากฏการณ์ของการเกิดรหัสความสุขในสมองที่คล้ายคลึงกันข้างต้น มาผสมผสานกับความสบายใจในการอยู่ร่วม

จนเกิดเป็นเรื่องราวทางสังคมซึ่งช่างสอดคล้องกับกระแสการก่อกำเนิดของกลุ่มปิดต่างๆ ในโลกโซเชียล กลายเป็นกลุ่มสังคมที่มารวมตัวกัน เพราะมีความชอบ มีความคิด มีรสนิยมคล้ายๆ กัน ด้วยเพราะรหัสของการทำงานในสมองนั้นมีความคล้ายคลึงกัน และกำลังมีอิทธิพลกับสังคมในเวลานี้

นี่คือเหตุผลที่สำคัญของแบรนด์ ในยุคปัจจุบัน ต้องถูกพัฒนาให้เข้าถึง รวมทั้งต้องมีความเข้าใจ ถึงความคิดร่วมของกลุ่มเป้าหมาย เข้าใจถึงเป้าหมาย และความปรารถนาในใจของคนที่มารวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มก้อนต่างๆแบรนด์ต้องมีมากกว่าแค่ความแตกต่าง ในเรื่องที่จับต้องได้คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แต่แบรนด์ ต้องก้าวไปให้ถึงความแตกต่างในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกและยิ่งไปกว่า แบรนด์จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาในชีวิต และนำเสนอคุณค่าทางใจ บนความรู้สึกของการที่ลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มสังคม รวมทั้งรูปแบบการแสดงออกทางบุคลิกภาพของแบรนด์ ที่ต้องสอดคล้องกับความเชื่อ เป้าประสงค์ และคุณค่าของแบรนด์ ที่เกิดมาเพื่อช่วยตอบโจทย์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ลองยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ คือกลุ่มลูกค้าแบรนด์ Frietag Frietag คือกระเป๋าที่ทำจากผ้าใบ มีความทนทาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากผ้าใบรถบรรทุกเก่า รวมทั้งใช้วัสดุรีไซเคิล อย่างเช่นสายเข็มขัดนิรภัย มาทำเป็นสายกระเป๋า ด้วยกระบวนการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

 

แบรนด์ Freitag จึงเป็นมากกว่าแค่กระเป๋าด้วยทัศคติและจุดมุ่งหวังของแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความรู้สึกเรื่องเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร เพราะทุกใบมีความแตกต่างไม่เหมือนกันมันส่งผลสะท้อนไปถึงรสนิยมของกลุ่มคนที่ชื่นชอบและนิยมในแบรนด์ จนกลายเป็นกลุ่มแฟนคลับที่รักแบรนด์ โดยเริ่มต้นจากกลุ่มนักออกแบบ ขยายไปถึงคนทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ และก็ต่อเนื่องออกมาถึง ผู้ที่ชื่นชอบในเรื่องแฟชั่น กลุ่มคนที่มีทัศนคติรักโลก ห่วงใยสิ่งแวดล้อม และชื่นชอบในเรื่องเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ผสานความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากร จนกลายเป็นแบรนด์หนึ่งที่มีคนชื่นชอบติดตาม มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน โดยที่แบรนด์ ไม่ต้องลงทุนเรื่องงบประมาณโฆษณา แต่เป็นการเชื่อมต่อ ส่งต่อ บอกต่อ ข่าวสารออกไปโดยกลุ่มแฟนๆ

 

 

นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเล็กๆ ที่ช่วยขยายความถึงเรื่องกลุ่ม สังคม และทัศนคติของกลุ่ม ที่กำลังมีอิทธิพลในโลกออนไลน์บนพื้นที่ๆ เรื่องราว ความเชื่อ และทัศนคติสามารถส่งต่อ บอกต่อ สื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว ผ่านเครือข่ายต่างๆ ในทุกวินาที

และด้วยเหตุผลทั้งหมดข้างต้นนั้น มันก็มีส่วนช่วยพลักดันให้มนุษย์เราอยู่รวมกันเป็นสังคม เสมอมาทั้งในสังคมโลกจริง และสังคมโลกออนไลน์ รวมทั้งเป็นเหตุผลสำคัญที่แบรนด์ จะต้องหาวิธีการใหม่ๆในการเชื่อมต่อพวกเขาไว้อย่างยั่งยืน

 


  • 136
  •  
  •  
  •  
  •  
ก้า อรินธรณ์
อธิกร ศรียาสวิน (ก้า อรินธรณ์) ผู้อำนวยการสถาบัน Academy of Business Creativity (ABC) ม.ศรีปทุม นักการตลาดอินดี้ ที่ปรึกษาด้านครีเอทีฟแบรนดิ้ง
CLOSE
CLOSE