ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเอามาก ๆ ครับ เพราะมันแสดงให้เห็นว่า พลังซื้อของคนจีนดูแคลนไม่ได้เลย ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องละเอียดอ่อน อย่างเช่น ประเด็นเชื้อชาติ ความเชื่อ วัฒนธรรม
ก่อนหน้านี้เพิ่งมีกรณีจากเหตุการณ์ที่ว่าคนจีนแห่เข้าไปซื้อสินค้ารัสเซีย โดยเฉพาะพวก ช็อกโกแลต ขนมหวาน วอดก้า ซึ่งเป็นสินค้าบนร้านค้าออนไลน์ที่สนับสนุนโดยทางการรัสเซีย คือ Russian State Pavilion ที่ได้มาเปิดร้านอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ JD.com
การเข้าไปสนับสนุนของคนจีนก็ง่าย ๆ คือสาเหตุมาจากการที่แบรนด์ของรัสเซีย ถูกบอยคอตจากหลายชาติในโลกตะวันตก ที่นำโดย สหรัฐอเมริกา และกลุ่มชาติยุโรป จากกรณีที่ปูติน ผู้นำรัสเซียสั่งโจมตียูเครน ซึ่งถึงตอนนี้สงครามก็ยังไม่สงบ
เมื่อสินค้ารัสเซียถูกแบน และถูกบอยคอตจากกลุ่มชาติยุโรป ก็กลายเป็นว่าคนจีนจำนวนไม่น้อยเห็นใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โอเคว่า เหตุการณ์สงครามเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และรัสเซียเป็นผู้โจมตี แต่ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความใกล้ชิดของจีนและรัสเซียที่พรมแดนอยู่ติดกัน และทั้งสองชาติก็มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยปฏิวัติประเทศเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ดังนั้นการที่ชาติตะวันตกประณามรัสเซีย ท่าทีของจีนจึงเป็นเรื่องยากที่จะแสดงออกในทางลบ
ซึ่งการออกมาสนับสนุนสินค้ารัสเซียของคนจีน จึงมาในแง่ของ Soft Power ที่พากันเข้าไปกดแห่ซื้อสินค้ารัสเซียกันจนหมดร้าน แล้วที่สำคัญคือสินค้ารัสเซียที่ว่าเหล่านี้ก็เป็นกลุ่มของที่คนจีนสามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้ไม่ยากด้วย
ตามที่มีรายงานออกมานั้น พบว่า สินค้าบนร้าน Store Russian State Pavilion สามารถขายสินค้าในกลุ่ม ช็อกโกแลต ขนมหวาน ได้ในระดับ Sold Out หมดทุกอย่าง ส่วนกลุ่มที่ได้รับความสนใจในการสั่งซื้อเพิ่มและสั่งล่วงหน้าคือ วอดก้า โดยเฉพาะ St Peterberg Vodka ที่ขายดีเป็นพิเศษ โดยมีราคาต่อโหลเพียง 528 หยวน (ประมาณ 83 เหรียญ) เท่านั้น
ซึ่งทางตัวแทนองค์กรธุรกิจการค้าของรัสเซียได้ออกมากล่าวแสดงความขอบคุณชาวจีนที่ช่วยซื้อสินค้าจากรัสเซียด้วยว่า
“ถึงมิตรสหายชาวจีนที่รัก ขอขอบคุณที่พวกคุณสนับสนุนรัสเซียและแบรนด์ของเราในเวลาที่แสนยากลำบากนี้”
สำหรับจีนและรัสเซียมีความสัมพันธ์กันมายาวนานตั้งแต่ที่จีนเริ่มสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน แม้จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่จีนและรัสเซียเมื่อสมัยยังเป็นสหภาพโซเวียตเคยตัดขาดความสัมพันธ์กันมาก่อนก็ตาม แต่ก็เป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน
เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ก็คือ ถ้าในช่วงนั้นมีการปลุกกระแส ชาตินิยมจีน ขึ้นมาได้ โอกาสที่สินค้าที่เกี่ยวข้องจะได้รับการสนับสนุนอย่างล้มหลาม โดยก่อนหน้านี้มีกระแส China-Chic ที่คนจีนหันมาอุดหนุนสินค้าจากแบรนด์จีนมากกว่าสินค้าตะวันตก หรือกรณีผ้าฝ้ายซินเจียงที่อุยกูร์ ซึ่งกลายเป็นสินค้าขายดีบน Tmall มาแล้วนั่นเอง
แต่เรื่องนี้ก็ต้องระวัง ถ้าใครคิดจะใช้ประเด็นละเอียดอ่อนในการสร้างกระแส เพราะถ้าโดนกระแสตีกลับ หรือถูกแอนตี้จากคนจีน ซึ่งอาจมาจากการทำคอนเทนต์ที่สุ่มเสี่ยงและละเอียดอ่อนเกินไปต่อความรู้สึกในภาพรวมของคนจีนทางเน็ต (ที่ปั่นได้ง่าย) สินค้าแบรนด์นั้นก็อาจจะหมดอนาคตในตลาดจีนได้เลยเหมือนกัน เช่นกรณีของ Burger King ที่เคยทำคอนเทนต์นางแบบสาวจีนใช้ตะเกียบคีบเบอร์เกอร์ แล้วคนจีนเกิดความรู้สึกว่าเหมือนโดนล้อเลียน และอีกหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันมาแล้ว เช่นการเขียนโพสต์พูดถึงไต้หวันว่าเป็นประเทศ สุดท้ายกลายเป็นถูกชาวเน็ตจีนต่อต้านไปโดยปริยาย