เปิดใจคุยผู้บริหาร แกร็บ แห่งประเทศไทย เพราะอะไรถึงบุกตลาดสินเชื่อ

  • 49
  •  
  •  
  •  
  •  

  • จุดเริ่มต้นของแกร็บในทำธุรกิจด้านการเงิน คือไทยมีปัญหาใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ในเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ
  • โดยแกร็บปล่อยสินเชื่อให้กับคนขับและร้านค้า ซึ่งมองเห็นว่าธุรกิจการเงิน จะทำให้แกร็บสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
  • เป้าหมายในครึ่งปีหลังของแกร็บ จะมีการปล่อยสินเชื่อให้กับร้านค้าขนาดกลาง อาทิ คาเฟ่ รวมทั้ง ธุรกิจ SME มากขึ้น โดยจะปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากวงเงินหลักแสนไปเป็นวงเงินหลักล้านเลยทีเดียว

ใคร ๆ หลายคนคงติดภาพจำว่าแกร็บ (Grab) เป็นเพียง Food Deliveries แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าแกร็บนั้น ก็มีอีกมุมในการทำธุรกิจด้านการเงินด้วย วันนี้เราจะพาทุกคนไปไขข้อสงสัย ว่าทำไมแกร็บถึงต้องรุกธุรกิจด้านการเงินกัน

 

จุดเริ่มต้นของแกร็บทำไมถึงต้องทำธุรกิจด้านการเงิน…?

คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร แกร็บ ประเทศไทย เล่าว่า การที่ไทยมีลักษณะใกล้เคียงกับเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มีปัญหาคล้าย ๆ กันคือเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถกู้เงินได้ ยิ่งคุณมีน้อยเท่าไหร่ ต้นทุนในการเข้าถึงก็ยิ่งแพงขึ้นมากเท่านั้น

 

แกร็บนั้นมีคนที่อยู่ในระบบจำนวนมาก แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. คนขับ 2. ร้านค้า และ 3. ผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความสามารถในการเข้าถึงบริการทางด้านการเงินอยู่แล้ว ผิดกับ Partner ของแกร็บไม่ว่าจะเป็นคนขับหรือร้านค้าส่วนใหญ่ ที่พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงบริการทางด้านการเงินมากนัก ซึ่งแกร็บได้เล็งเห็นถึงปัญหา จึงได้ทำ Financial Business เพื่อช่วยให้ Partner ของแกร็บทั้งคนขับหรือร้านค้า โดยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

แกร็บปล่อยสินเชื่อให้กับคนขับและร้านค้าเพราะอะไร…

คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร แกร็บ ประเทศไทย ได้กล่าวว่า แกร็บมองเห็นว่าธุรกิจด้านการเงิน จะทำให้แกร็บสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ถ้าไม่มีปัญหาด้านการเงิน การสั่งอาหารและบริการอื่น ๆ ก็จะสะดวกมากขึ้น นั้นจึงเป็นประโยชน์ต่อทั้งคนขับและร้านค้า โดยปัญหาส่วนใหญ่ของคนขับ คือการเป็นหนี้นอกระบบ แกร็บจึงปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยปัญหาด้านการเงินของคนขับ

 

ในส่วนของร้านอาหาร ปัญหาส่วนใหญ่มาก ๆ มาจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งส่งผลต่อร้านอาหารจำนวนมาก ร้านอาหารบางรายต้องปิดกิจการลง เนื่องจากมีปัญหาเรื่องติดกระแสเงินสด (Cash Flow) และทางธนาคารไม่อนุมัติให้กู้ ถึงจะมีสินทรัพย์ค้ำประกันก็ตาม เนื่องจากมองว่าร้านอาหารเป็นกลุ่มเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ แกร็บจึงปล่อยสินเชื่อแบบรายวัน เพื่อช่วยทางร้านค้า โดยวงเงินสูงสุดของร้านขนาดเล็กจะอยู่ที่ราว ๆ 100,000 บาท

 

อะไรคือเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อให้กับคนขับแกร็บ

เงื่อนไขของแกร็บในการปล่อยสินเชื่อ คือคนขับต้องได้รับการประเมินคะแนนจากลูกค้าที่ดี ส่งผลให้ได้ Credit Score ดีเพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้รับผลประโยชน์จากบริษัทในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งปัจจุบันแกร็บได้ปล่อยสินเชื่อเริ่มต้นวงเงินที่ 5,000 บาท

 

โดยคนขับที่มีรายได้เพียง 500 บาทต่อวัน ก็สามารถรับการปล่อยสินเชื่อจากแกร็บได้เลย ซึ่งคนขับแต่ละรายจะได้วงเงินสินเชื่อที่ไม่เท่ากัน ทั้งนี้แกร็บจะดูจากพฤติกรรมของคนขับมากกว่ารายได้ เปรียบเสมือนสินเชื่อนั้นเป็นรางวัลของคนขับ ซึ่งคนขับหลายคนเรียกบริการสินเชื่อนี้ว่า “บัง Grab”

 

ขณะเดียวกันแกร็บมีการหักเงินจากคนขับทุกวัน แต่ไม่ได้มากมาย เพราะฉะนั้นคนขับเองมองว่า ไม่ได้เป็นภาระหนี้เพิ่มมากนัก นอกจากนี้คนขับหลายคน ยังนำเงินที่ได้จากสินเชื่อแกร็บไปชำระหนี้นอกระบบของตนเอง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แกร็บให้จะอยู่ราว ๆ 1%-2% ต่อเดือน ซึ่งเป็นเพดานดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ในใบอนุญาต อีกทั้งสินเชื่อคนขับเป็นประเภทลดต้นลดดอกรายวัน ต่างกับธนาคารลดต้นลดดอกรายเดือน

 

แกร็บเพิ่มโอกาสต่าง ๆ ให้กับคนขับกับร้านค้าอย่างไร

คุณวรฉัตร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากคะแนนของคนขับเพิ่มมากขึ้น จะได้สินเชื่อในการผ่อนสินค้า 0% เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ อีกทั้งยังมีประกันให้กับคนขับหรือผู้ใช้งานมีทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่

  • ประกันของคนขับที่มีทั้งฟรีและสามารถทำเพิ่มเติมได้ โดยวงเงินประกันตอนนี้คุ้มครอง 1 แสนบาท นอกจากนี้ยังมีประกันรายได้สำหรับคนขับถ้าหากเจ็บป่วยมา ก็จะได้เงินกลับไป โดยสามารถจ่ายเบี้ยประกันเพียงแค่วันละ 1-2 บาท ซึ่งผลตอบรับดีมาก
  • ประกันอุบัติเหตุทั้งหมด ทุกวันนี้คนขับหรือแม้แต่ผู้โดยสารเองก็ได้รับความคุ้มครองด้วย
  • ประกันส่งสินค้าที่มีราคาแพง เช่น ส่งโทรศัพท์มือถือ ส่งโน้ตบุ๊ก ผู้ใช้งานสามารถเลือกจ่ายเพิ่มอีก 1-2 บาท เพื่อเพิ่มวงเงินประกันสินค้าได้

 

เป้าหมายในครึ่งปีหลังของแกร็บ

สำหรับครึ่งปีหลังของปี 2022 แกร็บจะมีการปล่อยสินเชื่อให้กับร้านขนาดกลาง อาทิ คาเฟ่ รวมทั้งร้านที่เป็น SME มากขึ้น โดยจะปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้าน แต่จะเริ่มต้นปล่อยให้กับร้านที่มีเจ้าของคนเดียวก่อน แล้วค่อย ๆ ขยับไปยังนิติบุคคล และระบบของแกร็บจะดูว่า แต่ละร้านเป็นยังไง ยอดขายโอเคหรือไม่

 

ถ้าหากยอดขายของร้านดี ร้านค้าเหล่านี้จะเบี้ยวหนี้ทำไม สมมติร้านค้าเหล่านี้มียอดขายวันละ 20,000 บาท ผ่อนวันละ 3,000 บาท ร้านค้าสามารถจ่ายได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ คือการปล่อยสินเชื่อเครื่องครัวเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของร้านอาหาร และยังมีฟังก์ชัน Buy Now, Pay Later ในครึ่งปีหลังอีกด้วย

 


  • 49
  •  
  •  
  •  
  •