คิดอะไรอยู่! Mastercard แทงสวน โร่หนุนคริปโต แม้อยู่ในช่วงมูลค่าตกต่ำถึงขีดสุด

  • 7
  •  
  •  
  •  
  •  

จากสถานการณ์คริปโตตอนนี้ที่นับวันยิ่ง ‘เตี้ยลงสาละวันเตี้ยลง’ มีแต่คนพยายาม ‘ถอยห่าง’ แต่ไม่ใช่กับ Mastercard! โดยผู้บริหารออกมาแสดงทรรศนะ ‘แทงสวน’ แน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้คนต้องสงสัยกันเป็นแน่ว่า ผู้บริหารเขาคิดอะไรอยู่กันแน่?

ฮาโรลด์ โบสเซ (Harold Bossé) รองประธานฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และนวัตกรรม (Vice President of new product development and innovation) กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวในงานสัมมนาออนนไลน์ Powering Business with Blockchain ถึงการใช้งานเป็นวงกว้าง (Mass Adoption) ของคริปโตและบล็อกเชนจะเกิดขึ้นในไม่ช้าแทนที่จะเป็นเรื่องไกลออกไป (แบบที่คนอื่นๆ คิดกัน)

“วงการนี้มีทั้งหน้าเก่าทั้งหน้าใหม่ แต่เราก็ผันเปลี่ยนตลาดนี้ไปสู่ความแมสได้ มันจะเป็นแง่มุมที่สำคัญสุดๆ แก่การขยับขยายสู่ตลาดดังกล่าวของบรรดาสถาบันทางการเงิน”

 

โปสเตอร์งานเสวนาออนไลน์ Powering Business with Blockchain

ด้วยจำนวนคนที่ ‘เข้ามาเล่น’ มากขึ้นทั่วโลกหลักล้านคน และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ (โปรดดู: รายงานจาก Techcrunch) ฉะนั้น คริปโตจึงเป็นสิ่งที่ ‘หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable)’ ที่ Mastercard จะขอเข้าไปร่วมวงด้วย

สำหรับประเด็น ‘มูลค่าดำดิ่ง (Collapsing in Value)’ ของตลาดคริปโตที่หลายฝ่ายต่างวิตกกังวลกันในขณะนี้ สำหรับผู้บริหาร MasterCard คิดต่างออกไปว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่คริปโตจะเผชิญกับขวากหนามเพื่อที่จะก้าวขึ้นไปเป็น ‘ระบบการเงินกระแสหลัก (Mainstream)’ การขาดองค์ความรู้ การบริหารจัดการ การเติบโตเร็วจนคุมไม่อยู่ และความกังวลจากภาครัฐ ล้วนเป็นปัญหาที่คริปโตต้องเผชิญ โดยเปรียบเทียบกับ ‘ระบบอินเตอร์เน็ต (Internet)’ ไว้ว่า

“ตอนอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นใหม่ๆ ใครมันจะไปคิดว่า ต่อมาจะต้องเชื่อมต่อมันก่อนกดสั่งของกับ แอมะซอน (Amazon) … ก็เหมือนกันกับคริปโตนั่นแหละ เราจะทำอย่างไรในการเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนและเข้าไป (เปลี่ยน) ในกลุ่มคนที่ไม่เคยคุ้นหูกับบล็อกเชนมาก่อน แต่คิดถึงปัญหาทางธุรกิจที่พวกเขาเผชิญอยู่เสมอ”

โบสเซตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า มูลค่าที่ตกต่ำลงของคริปโต แม้จะเป็นจริง แต่ส่วนหนึ่งมาจากบรรดา ‘คนจำพวกกระแสหลัก (หมายถึง กลุ่มที่ต่อต้านคริปโต ภาครัฐ และ regulator ที่เห็นว่าคริปโตเป็น ‘ของเถื่อน’ และ ‘ผิดกฎหมาย’)’ พยายามสร้าง FUD (Fear, Uncertainty and Doubt: หมายถึง การสร้างความกลัว ความไม่แน่ใจ และความแคลงใจ ต่อสินทรัพย์หนึ่ง เพื่อมุ่งทำให้ผู้ตัดสินใจลงทุนหยุดชะงักลง) ตลอดเวลา 

เขายกตัวอย่างว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุด คือปี 2018 ณ ตอนนั้น บิตคอยน์มูลค่าสูงที่สุดเพียง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็เพิ่มสูงขึ้นอีกกว่าร้อยละ 50 ในตอนนี้ (ก่อนจะร่วง) แต่ราคาที่ร่วงก็ยัง ‘สูงกว่า’ ช่วงพีคตอนนั้น (ในปี 2018) เสียอีก ดังนั้น ความกังวลมันจึงเป็นเหมือน ‘นิทานหลอกเด็ก (old tales of woe)’ ของคนจำพวกนั้น

และเขายังปิดท้ายด้วยว่า แก่นของคริปโตคือ ‘อิสรภาพทางการเงิน (Financial Freedom)’ ตลาดนี้จะค่อยๆ เป็นมิตรมากขึ้น หากขจัดพวก ‘หัวหมอ (อาทิ speculators and leveraged gamblers)’ ต่างๆ ออกไปจนหมด ฉะนั้น ช่วงนี้ ให้คิดว่าเป็นช่วง ‘ศึกษาและเก็บเกี่ยว (ประสบการณ์)’ เพื่อเตรียมพร้อมสู่อนาคต

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Mastercard แทงสวนเรื่องคริปโต ในช่วงเมษายน 2022 Mastercard ได้จับมือกับ Nexo บริษัทให้บริการกู้ยืมคริปโตชื่อดัง ออก ‘บัตรเครดิตคริปโต (crypto-backed payment card)’ ซึ่งถือเป็นการดึงเงินดิจิตัลมาใช้จับจ่ายในชีวิตจริงเจ้าแรกของโลก (โปรดดูเพิ่มเติมที่ MarketingOops!) รวมถึง การเป็นผู้บุกเบิก ‘การใช้จ่ายในโลกเสมือนจริง (Virtual Payment/ Marketplace)’ ผ่าน เมตาเวิร์ส (Metaverse) รวมถึงรุกตลาดการซื้อขาย ‘เอ็นเอฟที (NFTs: Non-fungible Tokens)’ อีกด้วย

‘บัตรเครดิตคริปโต (crypto-backed payment card)’ จากความร่วมมือระหว่าง Mastercard และ Nexo

นับเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตาต่อไปในอนาคตเป็นอย่างมาก ถึงความทะเยอทะยานดังกล่าวของ Mastercard เพราะหากเป็นจริงขึ้นมา ไม่แน่ว่า มันอาจจะเปลี่ยน ‘มุมมอง’ ของผู้คนทุกภาคส่วนที่มีต่อคริปโต และทำให้มันกลายเป็น ‘กระแสหลัก’ อย่างที่หวังกันไว้ก็เป็นได้

 

ที่มา: Be[in]crypto, Be[in]cryptoBe[in]crypto, TechCrunch+, MarketingOops!


  • 7
  •  
  •  
  •  
  •  
Hayden Wiesz
A rookie of Tech columnist with disciplined from Faculty of Political Science, Thammasat University. Writing related with Metaverse, Cryptocurrency, Digital Asset, Financial Technology, Fiscal/ Monetary Policy, Macroeconomics and any Current Affairs. Fully passionate with Political Theory, Political (Ontological) Turn, Agonistic Democracy, Post-marxism, and Korean Studies.
CLOSE
CLOSE