5 ธุรกิจที่ต้องการแรงงานมากที่สุดในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้

  • 187
  •  
  •  
  •  
  •  

shutterstock_380411458-700

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี เป็นช่วงที่หลายคนคิดกำลังมองหาโอกาสการเติบโตในสายงานใหม่ๆ ในระยะหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้พยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อก้าวสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ภาพรวมตลาดแรงงานในปีนี้ค่อนข้างคึกคัก จากการเก็บข้อมูลของ จ๊อบไทย เปิดเผยข้อมูลคาดการณ์ตลาดแรงงานของประเทศไทยในช่วงไตรมาส 4 ประจำปี 2560 ระบุว่าจากข้อมูลภาพรวมที่ผ่านมา พบ 5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่

อันดับ 1 ธุรกิจบริการ 9,529 อัตรา โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังเริ่มฟื้นตัว ผนวกกับไตรมาสสุดท้ายเป็นช่วงที่ประชาชนเริ่มหันมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นตามเทศกาลต่างๆ จึงทำให้ภาคท่องเที่ยว บริการ อาหาร-เครื่องดื่ม และค้าปลีกเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 และจะเติบโตต่อเนื่องยาวถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่นที่ผู้คนนิยมไปท่องเที่ยวและออกมาใช้จ่าย จึงส่งผลให้ธุรกิจบริการมีความต้องการแรงงานด้านนี้จำนวนมาก

อันดับ 2 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 8,915 อัตรา ปัจจัยการเติบโตสอดคล้องกับธุรกิจบริการที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก เพื่อรองรับการขยายตัวในช่วงปลายปี

อันดับ 3 ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 7,293 อัตรา ได้แรงหนุนมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ดีขึ้น เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาครัฐ เช่น โครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น ผนวกกับในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะเป็นช่วงที่ประชาชนเริ่มหันมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้นตามเทศกาลต่างๆ จึงส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกที่ขยายตัวหลักๆ อยู่ในหมวดห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป

อันดับ 4 ธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวน 6,449 อัตรา เป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งปัจจัยภายในประเทศที่มีความต้องการสูงขึ้น เนื่องจากมีสินค้าใหม่เข้ามากระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ที่การขยายตัวของการผลิตรถยนต์ในประเทศสูงแต่ยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนสำคัญบางประเภทได้จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไทย ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการส่งออกในหมวดยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย

อันดับ 5 ธุรกิจก่อสร้าง จำนวน 6,248 อัตรา สืบเนื่องมาจากนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าทางคู่ 5 เส้นทาง ซึ่งส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไปจนถึงปีหน้า รวมถึงด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีการขยายตัว เช่น คอนโด ตามเส้นรถไฟฟ้าสายสีส้ม เหลือง และชมพู จึงต้องการแรงงานเข้ามารองรับการเติบโต

Infographic_Top5Business

ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเปิดรับสมัครงานมากที่สุด
1. งานขาย อยู่ที่ประมาณ 17,500-18,000 อัตรา
2. งานช่างเทคนิค อยู่ที่ประมาณ 9,400-10,000 อัตรา
3. งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ อยู่ที่ประมาณ 7,100-7,500 อัตรา
4. งานวิศวกรรม อยู่ที่ประมาณ 6,400-7,000 อัตรา
5. งานบริการลูกค้า อยู่ที่ประมาณ 5,400-6,000 อัตรา ตามลำดับ

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่างานที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ยังคงเป็นเรื่องงานขาย เนื่องจากถือเป็นหัวใจสำคัญของทุกบริษัท แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อลองดูข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่างานผลิต/ควบคุมคุณภาพ มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะไต่ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3 ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 32% โดยคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงโครงการที่สำคัญต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีผลต่อกำลังแรงงานในอุตสาหกรรม

หากคาดการณ์ตลาดแรงงานในไตรมาส 4 ของปีนี้ คิดว่าจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ผนวกกับช่วงไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่ประชาชนเริ่มจับจ่ายใช้สอย ทำให้ตลาดแรงงานจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งในภาคท่องเที่ยว บริการ อาหาร-เครื่องดื่ม ค้าปลีก ในส่วนของภาคก่อสร้างเองก็ยังมีโครงการจากภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลักซึ่งมีแนวโน้มยาวไปถึงปีหน้า ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จึงคาดว่าในไตรมาส 4 ตลาดแรงงานน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3 โดยประมาณ 1-3%

 


  • 187
  •  
  •  
  •  
  •