เผย 9 เทรนด์อาหารและเครื่องดื่ม ที่มาแรงในปี 2020

  • 1.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

[ข่าวประชาสัมพันธ์]

ตอนนี้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งเป็นอย่างมาก เพราะศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการไทย ที่สามารถหาโอกาสในการส่งออกและการทำธุรกิจในตลาดต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง โดยต้องยอมรับว่าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคด้วยวัตถุดิบที่หลากหลายและคุณภาพในการผลิตที่ได้มาตรฐาน
และเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยตามทันพฤติกรรมของผู้บริโภคงาน Fi Asia 2019 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 กันยายน 2562 ณ ไบเทคบางนา ได้ทำการเปิดเผยข้อมูลเทรนด์อาหารและเครื่องดื่ม ปี 2020 เพื่อเป็นแนวทางต่อผู้ประกอบการ ดังนี้

1. โปรตีนแทนเนื้อสัตว์และโปรตีนสายพันธุ์ใหม่

มีการประมาณการว่า มูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในปี 2561 มีมูลค่าประมาณ 86,648 ล้านบาท โดยกลุ่มโปรตีนจากพืชและนมพืช ซึ่งเป็นอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากพืชตระกูลถั่ว เห็ด และสาหร่าย รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชเมล็ดถั่ว ตลอดจนโปรตีนจากการหมักเชื้อจุลินทรีย์ มีมูลค่าประมาณ 6,321 ล้านบาท และยังคาดการณ์ว่า มูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในปี 2562 จะมีมูลค่าประมาณ 88,731 ล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัว 2.4% เมื่อเทียบจากปี 2561 โดยกลุ่มโปรตีนจากพืชและนมพืช จะมีมูลค่าประมาณ 6,725 ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัว 6.4% ตามความนิยมบริโภคอาหารโปรตีนสูงเพื่อสร้างสมดุลทางโภชนาการทดแทนเนื้อสัตว์ การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ รวมถึงการรักษาสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์

ส่วนการเกิด “เนื้อไร้เนื้อ หรือ Plant Based Food” จะกลายเป็นเมกะเทรนด์ของอนาคต เนื่องจากเป็นโปรตีนที่ไม่สร้างมลพิษในขั้นตอนการผลิต ทั้งยังดีต่อสุขภาพซึ่งเป็นใจความสำคัญของการใช้ชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่โรคต่าง ๆ เริ่มพัฒนาและต่อต้านการรักษาได้มากขึ้น เมื่อประกอบกับการคาดการณ์ถึงภาวะขาดแคลนเนื้อสัตว์อันเนื่องมาจากปัจจัยของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่ใช้มีลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เนื้อที่ใช้วิธีการปลูกขึ้นมาจึงจะกลายเป็นอาหารหลักในไม่ช้า

2. ลดน้ำตาล เพิ่มความหวานที่ดีต่อสุขภาพ

เพราะกระแสรักสุขภาพของภาคประชาชนและการขึ้นภาษีน้ำตาลของภาครัฐเริ่มส่งผลอย่างเห็นได้ชัด ทั้งตลาดอาหารและตลาดเครื่องดื่มที่มีรสหวานเลยต้องลดการใช้น้ำตาลให้มีปริมาณที่น้อยลง มองหาแหล่งความหวานทางเลือกใหม่ที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคและควบคุมต้นทุนการผลิตไปพร้อม ๆ กัน รวมไปถึงการมุ่งผลิตสินค้ารูปแบบใหม่เพื่อชิงเปิดตลาดสินค้ากลุ่มที่มีรสชาติไม่หวานก่อนแบรนด์อื่น

ในขณะเดียวกัน ก็ใช้งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความหวานที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความหวานเพื่อความรื่นรมย์ในการทานอาหารอยู่ เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างอนุภาคของน้ำตาล เพื่อให้ละลายบนลิ้นได้เร็วกว่าเดิม ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับรสชาติความหวานเท่าเดิม อาหารมีรสชาติเหมือนเดิม 100% แต่สามารถลดน้ำตาลในการผลิตได้มากถึง 40%

3. อาหารพร้อมทานเพื่อสุขภาพ

เป็นเทรนด์อาหารที่เกิดขึ้นมาหลายปีและจะยังคงอยู่ตามกระแสรักสุขภาพที่เป็นเมกะเทรนด์ในตอนนี้ โดยคำนึงถึงปัจจัย 5 ประการ คือ มีปริมาณน้ำตาลน้อย ไขมันอิ่มตัวต่ำ ไขมันรวมต่ำ มีใยอาหาร และมีโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอ โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดอาหารพร้อมทานเพื่อสุขภาพของโลกจะมีมูลค่าประมาณ 10,551 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 โดยกลุ่มผู้บริโภคจะเป็นกลุ่มคนรุ่น Millennial อายุ 18-34 ปี ที่รับกระแสรักสุขภาพและตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรอาหารรวมไปถึงสิ่งแวดล้อม และกลุ่ม Baby Boomers ที่มีอายุ 51-69 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องดูแลสุขภาพและปรับเปลี่ยนโภชนาการให้เหมาะกับวัย  

4. อาหารสำหรับผู้สูงอายุและโภชนาการแบบเฉพาะบุคคล

การเป็นสังคมผู้สูงอายุของประชากรโลก ทำให้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต้องให้ความสำคัญกับผู้บริโภคกลุ่มนี้มากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นจาก 900 ล้านคน ในปี 2015 เป็น 2,000 ล้านคน ในปี 2050 หรือจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 22 ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด ด้านประเทศไทย ในปี 2565 ประมาณการว่าจะมีผู้สูงวัยอายุ 70 ปี มากถึง 4.6 ล้านคน นำมาซึ่งความต้องการด้านโภชนาการที่เหมาะสมกับสุขภาพ วัย และโรคประจำตัว ซึ่งจะต้องลดความหวาน เค็ม มัน เสริมโปรตีน เสริมแคลเซียม และย่อยง่าย

5. วัตถุดิบและส่วนผสมจากท้องถิ่น

สืบเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือความแปลกใหม่อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต้องมองหาวัตถุดิบและส่วนผสมที่มีในเฉพาะบางพื้นที่เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรม โดยคุณค่าของความเป็นท้องถิ่นจะช่วยสร้างมูลค่าของสินค้าได้มากขึ้น ส้มบางสายพันธุ์ ข้าวบางสายพันธ์ กล้วยบางสายพันธ์ หรือแม้แต่การเพาะปลูกเก็บเกี่ยวและผลิตในเฉพาะบางพื้นที่ล้วนสร้างเรื่องราวและคุณค่าได้อย่างมหาศาล

6. เครื่องดื่มสีใส แต่งกลิ่น แต่งรส สดชื่น

เมื่อตลาดเครื่องดื่มเริ่มอิ่มตัว การสร้างสรรค์สินค้าใหม่จึงเป็นอีกทางออกที่สร้างมูลค่าได้อย่างน่าสนใจ โดย Water Plus เครื่องดื่มสีใส แต่งกลิ่น แต่งรส และให้ความสดชื่น เกิดขึ้นมาเพื่อทำตลาดใหม่ หลังจากที่ตลาดเดิมอย่างน้ำอัดลมกำลังถึงจุดอิ่มตัวจากกระแสรักสุขภาพ ซึ่งสีใสของ Water Plus จะให้ความรู้สึกว่าเป็นเครื่องดื่มที่ใกล้เคียงกับน้ำเปล่า ในขณะเดียวกันก็ให้รสชาติและความสดชื่นจากการปรุงแต่งผ่านส่วนผสม โดยการแข่งขันของตลาดนี้กำลังคึกคักเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากความหลากหลายของแบรนด์บนชั้นวางเครื่องดื่มสีใสที่อยู่ในร้านสะดวกซื้อ

7. ดื่มเพื่อสุขภาพ (บำรุงสมอง เสริมการทำงานลำไส้ และเพิ่มความงาม)

จากปัจจัยที่ผู้บริโภคเครื่องดื่มกำลังมองหาสินค้าที่มีน้ำตาลน้อยไปจนถึงไม่มีน้ำตาล แต่รสชาติ อร่อยไปพร้อม ๆ กับเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจึงถูกคิดค้นขึ้นมากมายในยุคสมัยนี้ โดยเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมคือการเพิ่มส่วนผสมเพื่อบำรุงสมองและการทำงานของระบบประสาท ซึ่งเป็นความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มวัย นอกจากนี้ การเติมโพรไบโอติกและพรีไบโอติกรวมไปถึงเส้นใยเพื่อช่วยการทำงานของระบบลำไส้ก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการอันเนื่องมาจากปัญหาในการทานผักและผลไม้น้อยตามไลฟ์สไตล์ที่เร่งด่วน ปิดท้ายกับการเติมส่วนผสมที่ช่วยเรื่องความสวยงามและชะลอวัย อย่างเช่น คอลลาเจน ซิงค์ วิตามินซี ที่แพร่หลายอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มในปัจจุบัน

8. น้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำมะพร้าว

ปัจจุบัน ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของน้ำดื่มบรรจุขวด เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการน้ำดื่มที่สะอาดและมีคุณภาพ โดยมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของ GDP และชนชั้นกลางที่เพิ่มจำนวน พร้อมปัจจัยหนุนจากอากาศร้อนที่ทวีความรุนแรงจากปรากฏการณ์ El Nino ทำให้น้ำดื่มบรรจุขวดเป็นที่ต้องการในตลาดเป็นอย่างมาก โดยมีน้ำมะพร้าวบรรจุขวดเป็นดาวรุ่งของวงการ จากการแจ้งเกิดแบรนด์น้ำมะพร้าวมากมายในตลาดของช่วงที่ผ่านมา และยังคงจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในอนาคต จากแนวโน้มของตลาดน้ำมะพร้าวทั่วโลก ที่คาดว่าจะมีการเติบโตสูงถึง 26.8% ในปี 2563 และมีมูลค่าสูงถึง 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก และอเมริกาใต้ เป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังการคาดการณ์กันอีกว่ามูลค่าตลาดน้ำมะพร้าวทั่วโลกมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นถึง 50% ภายในปี 2020

9. การแปรรูปแมลง

แมลงเป็นอาหารโปรตีนสูงที่สามารถบริโภคทดแทนเนื้อสัตว์ได้ โดยแป้งที่ได้จากการทำแมลงให้เป็นผง 100 กรัม จะให้โปรตีนได้สูงถึง 50% ในขณะที่เนื้อสัตว์อื่น ๆ จะให้โปรตีนที่ 30% เท่านั้น ที่สำคัญแมลงนั้นใช้วัตถุดิบและสร้างมลพิษให้โลกน้อยมาก โดยการเพาะเลี้ยงแมลงจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น ๆ อีกทั้งแมลงยังสามารถเพาะเลี้ยงให้เป็นอาหารที่ไร้กลูเตน เหมาะสำหรับคนแพ้กลูเตนที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน

ธุรกิจแมลงที่รับประทานได้ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ (12,000 ล้านบาท) โดยเอเชียเป็นตลาดหลักในการบริโภคและส่งออก มีสัดส่วนประมาณ 40% ของโลก ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแมลงเติบโตปีละประมาณ 20% และประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการส่งออกแมลงไปขายทั่วโลก มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำฟาร์มเพาะเลี้ยงซึ่งมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไป

พลาดไม่ได้กับงาน Fi Asia 2019 วันที่ 11-13 กันยายนนี้ ที่ไบเทคบางนา เชื่อว่าจะได้ไอดีใหม่ๆ เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มกลับมาต่อยอดธุรกิจอย่างแน่นอน สามารถลงทะเบียนร่วมงานฟรีที่ http://bit.ly/2Xmg9FC

[ข่าวประชาสัมพันธ์]


  • 1.5K
  •  
  •  
  •  
  •