เมื่อผลิตภัณฑ์การเงินสิ้นมนต์ขลัง! ได้เวลา “แบงก์ไทย” ผันตัวเป็น “ผู้สร้างแพลตฟอร์ม”

  • 196
  •  
  •  
  •  
  •  

Thai-Bank
Photo Credit : saruntorn chotchitima / Shutterstock.com

ในอดีตคู่แข่งธนาคาร คือ สถาบันการเงิน ทั้งในกลุ่มธนาคารด้วยกันเอง และที่มิใช่ธนาคาร ที่แข่งกันออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และข้อเสนอสิทธิพิเศษ หรือให้โปรโมชั่นที่ใครให้มาก-ให้น้อยกว่ากัน เพื่อแย่งชิงการเป็น Main Bank !! แต่ในยุค “Technology Disruption” ถ้าธนาคารยังคงติดอยู่ในวังวน “Product Base” ที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และสิทธิพิเศษ หรือโปรโมชั่นวิ่งตามกันทัน จนแทบจะหาความแตกต่างของแต่ละค่ายไม่เจอ ในที่สุดแล้วอาจทำให้ “ธนาคาร” ในไทย ก้าวไม่ทันต่อ Landscape โลกการเงินที่เปลี่ยนไป

เพราะทุกวันนี้นอกจากธนาคารแข่งกับสถาบันการเงินด้วยกันเองแล้ว ยังมีคู่แข่งที่สร้างความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมการเงินในไทยไม่น้อย นั่นคือ “Big Tech Company” จากต่างประเทศที่พัฒนาแพลตฟอร์มด้านการเงิน

หนึ่งในยักษ์ใหญ่ที่น่าจับตามองมากที่สุด คือ “Alibaba Group” ที่กำลังรุกขยายอาณาจักรธุรกิจนอกประเทศจีน หนึ่งในจุดหมายสำคัญคือ ประเทศไทย โดยรุกตลาดไทยด้วยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี “LAZADA”

ที่สำคัญ “Alibaba” ไม่ได้เป็นเพียงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเท่านั้น แต่ภายใต้กลุ่มธุรกิจยังมีบริษัทในครือ “Ant Financial” บริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินรายใหญ่ของโลก ให้บริการกับผู้บริโภคทั่วไป และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก เช่น แพลตฟอร์มชำระเงิน Alipay ซึ่งปัจจุบันถือเป็น Payment Gateway อันดับต้นๆ ของโลก, เป็นแพลตฟอร์มขายผลิตภัณฑ์ประกัน, ให้บริการด้าน Wealth Management, สินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก

ขณะที่การเข้าตลาดไทยของ Ant Financial ใช้วิธีจับมือกับพาร์ทเนอร์ท้องถิ่น เช่น Ascend Group กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีในเครือซีพี

Resize Ant Financial (Cr.Alizila.com)
Photo Credit : www.alizila.com

ดังที่ คุณธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association : TMA) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “แบงก์ในเมืองไทย ถ้าจะสู้กับ “Alibaba” สู้อย่างไรก็ไม่สำเร็จ เพราะเขามีวิศวกรอยู่ที่หางโจว 50,000 คน และยังมี “Ant Financial” บริษัททางการเงินใหญ่ที่สุดในโลกของ Alibaba ซื้อทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ถ้าองค์กรไทย ซึ่งเป็นองค์กรเล็กๆ เหมือนมดตัวเล็กๆ จะสู้กับราชสีห์ ต้องไปเอา “กองทัพมด” มาสู้ และทำงานประสานกันให้ได้

การจะทำแบบนี้ได้ แบงก์ไทยต้องมีความสามารถในการเป็นพันธมิตรกับ “FinTech” เพราะฉะนั้นแบงก์ไทยไม่ใช่คู่แข่ง FinTech ขณะเดียวกัน FinTech ก็ไม่ใช่คู่แข่งแบงก์ไทย แต่ “FinTech” คือทางรอดของแบงก์ไทย โดยต้องสร้าง FinTech ที่ประสบความสำเร็จ และทำงานร่วมกับแบงก์ไทยได้ ถึงจะแข่งขันกับ Alibaba ได้”

ดังนั้น เพื่อรักษาสถานะให้ยังคงเป็นตัวเลือกในใจลูกค้า จำเป็นอย่างยิ่งที่ “ธนาคาร” ในไทยแต่ละค่าย ต้องปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างเดียวเหมือนเช่นในอดีต แต่ต้องขยายบทบาทไปสู่การเป็นนักลงทุนใน “Tech Startup” เพื่อดึงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเข้ามาเสริมทัพ และเป็น “ผู้สร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ที่ครบวงจรสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง – เล็ก องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ หรือแม้แต่การเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานภาครัฐ

SCB-Samitivej_02

“การแข่งขันธุรกิจการเงินในวันนี้ ทั้งเร็ว และแรง แต่คนแรง และเร็วไม่ใช่ธนาคารด้วยกันเอง แต่คือ เจ้าของดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มด้านรีเทล แพลตฟอร์มให้บริการเรียกรถแท็กซี่ หรือการเข้ามาของ “Alibaba” ที่ Disrupt ธุรกิจ

ถ้าเรายังคงเป็นธนาคารรูปแบบเดิมที่เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ไม่ว่าธนาคารไหนก็มีได้เหมือนกัน เมื่อไม่มีความแตกต่าง จะทำให้เกิดการแข่งขันตัดราคา ซึ่งมีแต่ส่งผลเสียทั้งอุตสาหกรรม เพราะคนจะเลือกใช้บริการธนาคารที่ให้โปรโมชั่นดีที่สุด ดังนั้นหากธนาคารไม่ปรับตัว ในที่สุดแล้วลูกค้าจะหายไป

ขณะเดียวกันปัจจุบันได้เปลี่ยนผ่านจากโมเดลธุรกิจยุค Product Base ที่ธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียม ไปสู่ยุค Free Transaction เพราะฉะนั้นธนาคารต้องเปลี่ยนโจทย์ธุรกิจใหม่ ด้วยการปรับตัวเป็น “ผู้สร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ที่เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจธนาคาร จากเมื่อก่อนเทคโนโลยี คือ ส่วนสนับสนุนธุรกิจ

นี่เป็นทิศทางของธนาคารทั่วโลก โดยขณะนี้พัฒนาการของธนาคารไทยในการขยับไปสู่การเป็นผู้สร้างแพลตฟอร์ม ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และต้องปรับตัวอีกมาก เพื่อทำให้ธนาคารยังคงเป็นส่วนสำคัญในชีวิตลูกค้า” คุณอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ฉายภาพการปรับตัวของธุรกิจธนาคารในยุค Technology Disruption

คุณอรพงศ์ เทียรเงิน Digital Ventures
คุณอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด

“ฟรีค่าธรรมเนียม – QR Code Payment” จุดเริ่มต้นแพลตฟอร์มการเงิน นำไปสู่ “Big Data”

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นที่ฮือฮากันทั่วเมื่อธนาคารในไทยพร้อมใจกันประกาศ “ยกเลิกค่าธรรมเนียม” การให้บริการโอนเงิน จ่ายบิล เติมเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ แม้ค่าธรรมเนียมจากลูกค้ารายย่อย เป็นหนึ่งรายได้สำคัญของธนาคารก็ตาม แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ธนาคารยังมีรายได้จากทางอื่นอีกมาก เช่น ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมขายประกัน ค่าที่ปรึกษาการลงทุน ฯลฯ ดังนั้นนโยบายฟรีค่าธรรมเนียมโอนเงิน – จ่ายเงิน – เติมเงิน จึงไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ธนาคารมากนัก

เพราะสิ่งที่ธนาคารมองไปไกลกว่านั้นจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมในกลุ่มลูกค้ารายย่อย คือ การช่วงชิงฐานลูกค้ารายย่อย และกระตุ้นให้การใช้ Mobile Banking และ Internet Banking ขยายตัวในระดับแมสทั่วประเทศได้เร็วขึ้น ยิ่งปัจจุบันเป็นยุค “Mobile First” ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่บนสมาร์ทโฟนหมดแล้ว

Resize ATM Banking
Photo Credit : Sarunyu L / Shutterstock.com

ผนวกกับเมื่อปีที่แล้ว “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ประกาศให้มีการใช้ระบบชำระเงิน “QR Code” ทำให้ธนาคารในไทยที่ได้รับอนุญาต ต่างเร่งขยายจุดให้บริการ QR Code เจาะเข้าตามร้านค้ารายย่อย และจับมือเป็นพันธมิตรกับองค์กรธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่ เพื่อเป็นแพลตฟอร์มชำระค่าสินค้า-บริการต่างๆ

ทั้งนี้ระบบชำระเงิน “QR Code” นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามของการผลักดันประเทศไทยไปสู่ “Cashless Society” หลังจากก่อนหน้านี้ ภาครัฐพยายามกระตุ้นให้คนไทยลดใช้เงินสด และหันไปชำระค่าสินค้า-บริการผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบอื่น เช่น บัตรเดบิต แต่เนื่องจากการติดตั้งเครื่อง EDC กระจุกตัวอยู่แต่ร้านขนาดกลาง และใหญ่ใน Modern Trade ไม่สามารถกระจายลงลึกเข้าไปตามร้านค้าขนาดเล็กทั่วไปได้ อีกทั้งร้านค้ามองว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการติดตั้งและใช้เครื่อง EDC ทำให้จุดรับบัตรเดบิตไม่แพร่หลายมากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมชำระค่าสินค้า-บริการ

ตรงกันข้ามกับระบบ “QR Code” ที่ใช้งานง่าย และสะดวก จึงตอบโจทย์ทั้งร้านค้า และลูกค้า ทำให้ธนาคารต่างรุกขยายร้านค้ารับชำระเงินด้วยระบบ QR Code ได้เร็ว และยิ่งมีร้านค้ารับชำระผ่าน QR Code มากขึ้นเท่าไร จะกระตุ้นให้ไทยพัฒนาก้าวไปสู่ยุค Cashless Society เร็วขึ้น

ด้วยวิธีการนี้ทำให้ธนาคารได้ “Big Data” การทำธุรกรรมการเงินของคนไทย ที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม และผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างตรงจุด

Resize QR Code Payment_02

กรณีศึกษา “SCB” ปลดล็อคจากธนาคาร สู่การเป็นแพลตฟอร์มตอบโจทย์ชีวิตรอบด้าน

กว่า 100 ปี “ไทยพาณิชย์” หรือ “SCB” ดำเนินธุรกิจในบทบาทของการเป็น “ธนาคาร” มาโดยตลอด แต่ทันทีที่โลกเข้าสู่ยุค Technology Disruption คู่แข่งไม่ใช่แต่ธุรกิจสถาบันการเงินด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังมีผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้ามาท้าชิง ทำให้ “SCB” ต้องปรับยุทธศาสตร์องค์กรครั้งใหญ่ ปลดล็อคจากการเป็น “ธนาคาร” ขยายไปสู่การเป็น “ผู้สร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม”

เวลานี้ “SCB” เดินหน้าต่อจิ๊กซอว์การเป็นแพลตฟอร์มครอบคลุมทั้งด้าน Living, Retail, Travel, University, Wealth & Insurance, Supply Chain, Energy, Food & Restaurant, E-Commerce, Tech & Digital Service, Lifestyle, Health & Wellness โดยมี “ดิจิทัล เวนเจอร์ส” (Digital Ventures) บริษัทในเครือทำหน้าที่พัฒนานวัตกรรมทางการเงินให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ และลงทุนใน Tech Startups

Resize SCB S VISION 2561-06-27

ก่อนหน้านี้ “ดิจิทัล เวนเจอร์ส” ได้พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับร้านค้า “Merchant mPos” ช่วยบริหารจัดการร้านค้า ทั้งการบริหารสต๊อกสินค้า เช็กยอดขายรายวัน ระบบชำระเงิน PromptPay QR Code พร้อมทั้งทำแอปพลิเคชัน “Chatuchak Guide” เป็นการต่อยอดเทคโนโลยี Indoor Navigation จาก Tech Startup ประเทศฟินแลนด์ที่ดิจิทัล เวนเจอร์สเข้าไปลงทุน มาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันค้นหาร้านค้าได้ง่าย และบอกโปรโมชั่นร้านค้าได้แบบเรียลไทม์

หรือเมื่อช่วงต้นปีเจาะเข้าธุรกิจ Retail โดยจับมือ “Villa Market” ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมียม ด้วยการเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน “VPlus Wallet” เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ลูกค้าเติมเงินเข้ามา สำหรับใช้จ่ายเวลาซื้อสินค้าจาก Villa Market พร้อมใช้สะสมคะแนน เพื่อแลกรับสิทธิ์ประโยชน์ และเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ “shoponline.villamarket.com” สำหรับซื้อสินค้าของ Villa Market ได้ 24 ชั่วโมง

SCB-Villa Market

ขณะที่ล่าสุดเจาะเข้าธุรกิจ Health & Wellness ด้วยการเป็นพันธมิตรกับ “โรงพยาบาลสมิติเวช” พัฒนาระบบชำระเงินสแกน QR Code “สมิติเวช ฟาสต์เพย์” (Samitivej FastPay) และ แอปพลิเคชัน “สมิติเวช พลัส” (Samitivej Plus) เป็นเสมือนผู้ช่วยด้านสุขภาพที่ครอบคลุมตั้งแต่ก่อนเดินทางเข้าใช้บริการ (Pre Hospital) ระหว่างใช้บริการที่โรงพยาบาล (Hospital) และหลังจากกลับบ้าน เพื่อพักฟื้นหรือดูแลตัวเอง (Post Hospital) ทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มชำระเงินด้วยเช่นกัน เบื้องต้นนำร่องใช้ที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท, สมิติเวช ศรีนครินทร์, โรงพยาบาลเด็ก สมิติเวช และคาดว่าจะนำแอปพลิเคชันดังกล่าวไปใช้กับทุกโรงพยาบาลในเครือที่มีอยู่ 7 แห่งทั่วประเทศ

SCB-Samitivej_03

เมื่อทุกธนาคารในไทย ต่างขยับทัพมาเป็น “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” แน่นอนว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ การเร่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจ ทั้งการจับมือกับภาคเอกชนในหลากหลายอุตสาหกรรม และภาครัฐ เพื่อในที่สุดแล้วจะเป็นจิ๊กซอว์ต่อภาพใหญ่ที่ทุกธนาคารต้องการไปถึง นั่นคือ “Business Ecosystem” ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่ภายใต้ระบบนิเวศธุรกิจแต่ละกลุ่ม มีองค์ประกอบใหญ่-เล็กที่เชื่อมโยงกันมากมาย 

เช่น การสร้าง Business Ecosystem ในธุรกิจค้าปลีก ครอบคลุมตั้งแต่ Retailer – Supplier – Customer โดยมี “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ของธนาคารเป็นตัวกลางเชื่อมต่อส่วนต่างๆ นี้เข้าหากัน

ที่สำคัญการเป็น “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ทำให้ธนาคารเข้าถึงฐานข้อมูลจริงของลูกค้า (Big Data) ทั้งรายได้/ยอดขาย ผลกำไร และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เพื่อนำไปวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ารายย่อย หรือลูกค้าธุรกิจได้รวดเร็ว และแม่นยำ ซึ่งจะป้องกันการเกิดหนี้เสียในอนาคต และนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ตรงความต้องการแบบเฉพาะบุคคล – เฉพาะองค์กร 

SCB-Samitivej_01


  • 196
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ