ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท มีมติเสนอให้จ่ายเงินปันผลแก่ ผู้ถือหุ้นจากผลกำไรจากการดำเนินงานในงวดหกเดือนหลังของปี 2558 อัตราหุ้นละ 0.20 บาท ทั้งนี้เงินปันผลเสนอจ่ายดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญประจำปีของผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม 2559
ในส่วนของงบการเงินเฉพาะกิจการ (ธุรกิจการให้บริการด้านไอซีที) สำหรับปี 2558 บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการ จำนวน 2,274 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52 ล้านบาท หรือร้อยละ 2 จากปี 2557 และมีกำไรสำหรับปี เท่ากับ 309 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.52 บาท/หุ้น ทั้งนี้ เนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องในกลุ่มสินค้าหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนบริการด้านศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต
ในปี 2558 บมจ. ซีเอสล็อกซอินโฟ (“บริษัท”) มีรายได้รวมเท่ากับ 2,964 ล้านบาท ลดลง 81 ล้านบาท หรือร้อยละ 3 และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 315 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.53 บาท/หุ้น ลดลง 85 ล้านบาท หรือร้อยละ 21 จากกำไรก่อนค่าใช้จ่ายพิเศษในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจการให้บริการด้านไอซีทีไม่สามารถชดเชยผลประกอบการที่ลดลงจากธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองและธุรกิจการให้บริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์และการบริการเสริมบนโทรศัพท์เคลื่อนทีได้
สำหรับนโยบายการบริหารสินค้าและบริการในภาพรวมนั้น ในปี 2559 บริษัทมีเป้าหมายที่จะพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ตรงใจลูกค้าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้า อันจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวต่อผู้ถือหุ้น โดยมีทิศทางที่สำคัญดังนี้
• ด้านธุรกิจไอซีที: ยังคงมุ่งเน้นการขายและการให้บริการในกลุ่มสินค้าหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการให้บริการ ด้านศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Data Center: IDC) บริการไอซีทีโซลูชั่นและคลาวด์คอมพิวเตอร์ และบริการวงจรเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ควบคู่ไปกับการสานต่อการขยายการลงทุนเกี่ยวกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับกลุ่มลูกค้าคอนโดมิเนียมอย่างต่อเนื่อง
• ด้านธุรกิจสมุดหน้าเหลือง: มุ่งเน้นการจัดพิมพ์และแจกจ่ายสิ่งพิมพ์โฆษณาแบบเจาะเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อผู้ขาย ตลอดจนมุ่งเน้นการพัฒนา/ผสมผสานสื่อสิ่งพิมพ์เข้ากับสื่อออนไลน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ลงโฆษณามากขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับแผนการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด เพื่อชดเชยรายได้จากการขายโฆษณาในสมุดหน้าโทรศัพท์เหลืองหลักที่ลดลง
• ด้านธุรกิจบริการข้อมูลและความบันเทิงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่: ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ผ่านการเน้นการคัดสรรสินค้า/บริการมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเร่งพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยหันมามุ่งเน้นการพัฒนาบริการด้านแอพพลิเคชั่นเพื่อรองรับการใช้งานของกลุ่มลูกค้าสมาร์ทโฟนและกลุ่มลูกค้าองค์กรให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และกระตุ้นให้เกิดการใช้งาน และพยายยามควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดผลกระทบต่อกำไรในภาพรวม