อีคอมเมิร์ซบูม ดันโลจิสติกส์โต! “DHL” รุกบริการส่งพัสดุด่วนในวันเดียว ท้าชิง “Kerry”

  • 228
  •  
  •  
  •  
  •  

DHL - Kerry Express cover

ปัจจุบันธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” ทั่วโลกขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเข้ามา Disrupt “ธุรกิจรีเทล” กับ “ธุรกิจโลจิสติกส์” ต้องปรับตัวใหญ่ โดยในส่วนธุรกิจรีเทล จะอยู่รอดได้ ต้องขยายมาให้บริการ “Online Shopping” ผสานเข้ากับ Physical Store ส่งผลให้อีคอมเมิร์ซประเภท “B2C” เติบโต ขณะเดียวกันในยุคดิจิทัล เป็นยุคไร้พรมแดน การค้าขายสามารถทำได้ผ่านอินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์ม e-Marketplace ทำให้อีคอมเมิร์ซกลุ่ม “C2C” มาแรงเช่นกัน

ขณะที่ฝั่งผู้ให้บริการ “ธุรกิจโลจิสติกส์” ต้องพัฒนาระบบให้สามารถรองรับปริมาณการจัดส่งพัสดุที่เพิ่มมากขึ้น และสร้างความหลากหลายของบริการการจัดส่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ โดยยังคงต้องยึดหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ คือ ความเร็วในการจัดส่งพัสดุ, การส่งมอบสินค้าตรงเวลา, สินค้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์, พนักงานให้บริการอย่างมืออาชีพ และสุภาพ

อีกทั้งเวลานี้ทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ได้ให้บริการเรียกเก็บเงินปลายทาง (Cash on Delivery : COD) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยที่อยากซื้อสินค้าออนไลน์ แต่ยังไม่มั่นใจในตัวสินค้าและการจัดส่ง ดังนั้น การมีบริการ COD ทำให้ผู้บริโภคที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์การซื้อสินค้าออนไลน์ ได้เข้ามาซื้อมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินก่อนได้สินค้า

เผยปัจจัย “อีคอมเมิร์ซ – โลจิสติกส์” โต

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” เติบโตทั่วโลก นอกจากโลกยุคดิจิทัล ที่ทำให้การซื้อขายไร้พรมแดน ยังมาจาก

– การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ทำให้สัดส่วนประชากรอาศัยในเมือง (Urban Populations) มีมากกว่าประชากรที่อาศัยในชนบท (Rural Populations) โดย “United Nations” ฉายภาพว่าในปี 2010 ประชากรที่อาศัยในเมืองมีจำนวน 3,495 ล้านคน ใกล้เคียงกับประชากรที่อาศัยในเขตชนบท มีจำนวน 3,412 ล้านคน จากประชากรรวมทั่วโลก 6,907 ล้านคน แต่ในปี 2025 สัดส่วนประชากรอาศัยในเมือง จะเพิ่มขึ้นเป็น 4,584 ล้านคน และประชากรในชนบท อยู่ที่ 3,426 ล้านคน จากประชากรทั่วโลกรวม 8,010 ล้านคน

Resize Logistic E-Commerce_02

– คาดการณ์ว่าในปี 2025 ทั่วโลกจะเกิด “Megacities” เพิ่มขึ้นอีก 19 เมืองในประเทศกำลังพัฒนา และประมาณการณ์ว่าจำนวนประชากรทั่วโลกที่อาศัยอยู่ใน Megacities จะอยู่ที่ 640 ล้านคนของจำนวนประชากรที่อาศัยในเขตเมืองโดยรวม (Total Urban Population)

– ในประเทศกำลังพัฒนา จะมีการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ของประเทศ เช่น ระบบคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม ซึ่งการพัฒนา Infrastructure ขนาดใหญ่ เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ความเป็นสังคมเมืองขยายตัวในประเทศนั้นๆ

– กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งใน Megacities ของโลก โดยมากกว่า 50% ของ GDP ประเทศไทย เกิดขึ้นในมหานครแห่งนี้ และปัจจุบัน กรุงเทพฯ ถูกจัดเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นอันดับ 38 ของโลก โดยมีประชากร 5,285 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก โดยคาดการณ์ว่าปี 2030 จะมีประชากรอาศัยในกรุงเทพฯ 11 ล้านคน และมียวดยานพาหนะบนท้องถนน 10 ล้านคัน

Resize Logistic E-Commerce_01

Resize Logistic E-Commerce_07

– เมื่อ Urbanization ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ตามมาคือ คนจะใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งการใช้จ่ายที่เกิดขึ้น มาจากการสั่งซื้อสินค้าบนออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันค่าเฉลี่ยของการซื้อสินค้าออนไลน์ทั่วโลกอยู่ที่ 12.5% เทียบกับค้าปลีกทั้งระบบ แต่ประเทศที่ “อีคอมเมิร์ซ” เติบโตเร็ว คือ จีน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 20% เมื่อเทียบกับค้าปลีกทั้งระบบของจีน ขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย แม้เวลานี้ยังมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับค้าปลีกทั้งระบบ แต่มีศักยภาพสูง

– ผลจาก “อีคอมเมิร์ซ” บูม ทำให้ “ธุรกิจโลจิสติกส์” โตขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะกลุ่ม B2C และ C2C โดยภูมิภาคที่การให้บริการ “จัดส่งพัสดุภายในประเทศ” (Domestic Delivery) มีแนวโน้มเติบโตเร็วที่สุด คือ “เอเชีย” โดยคาดการณ์ว่าในปี 2021 บริการขนส่งภายในประเทศในภูมิภาคเอเชีย จะเติบโตเร็วที่สุด (40%)

Resize Logistic E-Commerce_03

Resize Logistic E-Commerce_05

– สิ่งที่ตามมาจากการจัดส่งพัสดุภายในประเทศขยายตัว คือ ผู้บริโภคคาดหวังการจัดส่งเร็วขึ้น ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดบริการที่เรียกว่า “Same-day Delivery” หรือบริการรับ-ส่งพัสดุด่วนภายในวันเดียวจากผู้ให้บริการโลจิสติกส์ โดยคาดว่าปี 2025 การเติบโตของบริการจัดส่งแบบ Same-day Delivery จะเติบโต 43% และมีสัดส่วน 22% ของตลาดโลจิสติกส์ในภาพรวม

ปัจจุบันบริการ Same-day Delivery ในไทยมี 2 ระบบ คือ 1. แบบกำหนดเวลาเปิด-ปิดรับพัสดุ เช่น DHL Parcel Metro และ Bangkok Sameday ของ Kerry Express / 2. แบบ On Demand คือ รับเวลาไหนก็ได้ และรับถึงสถานที่ที่ลูกค้าระบุมา ข้อดีคือ มีความยืดหยุ่นสูง แต่ค่าใช้จ่ายสูงกว่าแบบแรก

“พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ต้องการความสะดวกและรวดเร็วขึ้น เช่น ในเมืองไทย สมัยก่อนการจัดส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ใช้เวลา 2 วัน – ต่างจังหวัด ใช้เวลา 5 วัน แต่วันนี้มาตรฐานการให้บริการต้องพัฒนาให้ดีขึ้น เร็วขึ้น เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้นคนเริ่มรู้สึกว่าถ้าจัดส่งในกรุงเทพฯ ต้องภายในวันเดียว หรือภายในวันรุ่นขึ้น (Next Day) และถ้าเป็นต่างจังหวัด ไม่ควรเกิน 2 วัน ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ต้องแข่งกันนำเสนอทางเลือกที่ดีกว่า” คุณเกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ DHL eCommerce ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉายภาพการเปลี่ยนแปลงธุรกิจโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซ และความคาดหวังของผู้บริโภค

Resize Logistic E-Commerce_04

“DHL” ท้าชิงตลาด “Same-day Delivery” – เร่งขยายจุดบริการ 2,500 แห่ง – มั่นใจขึ้นผู้นำภายใน 5 ปี

หลังจาก “DHL” เปิดตัวกลุ่มธุรกิจ “DHL eCommerce” ในไทยเมื่อ 3 ปีแล้ว นับเป็นการส่งสัญญาณบุกหนักขยายฐานลูกค้ามายังกลุ่มผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ ทั้ง B2C และ C2C มากขึ้น จากก่อนหน้านี้ DHL เน้นกลุ่ม B2B และการจัดส่งระหว่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากมีจุดแข็งในฐานะเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร ที่มีเครือข่ายทั่วโลก

อย่างไรก็ตามเมื่อโอกาสธุรกิจในวันนี้ อยู่ที่อีคอมเมิร์ซ ประเภท B2C และ C2C ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ในช่วง 5 – 10 ปีมานี้ เกิดผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่เน้นเจาะอีคอมเมิร์ซสองกลุ่มนี้ขึ้นเป็นจำนวนมากในไทย ดังนั้น “DHL eCommerce” จึงไม่พลาดที่จะตกรถไฟขบวนนี้ ล่าสุดเปิดตัวบริการรับ-ส่งพัสดุภายในวันเดียว (Same-day Delivery)ภายใต้ชื่อ “DHL Parcel Metro” ในไทยเป็นแห่งที่สองต่อจากเวียดนามที่เปิดให้บริการนี้ไปก่อนหน้านั้น

Resize Logistic E-Commerce_06

นำร่องพื้นที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3 จังหวัด คือ นนทบุรี, สมุทรปราการ และปทุมธานี จากนั้นเตรียมขยายไปยังเมืองใหญ่ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา โดยสามารถรับพัสดุที่มีน้ำหนักสูงสุด 20 กิโลกรัม และขยายเวลารับพัสดุจากสถานประกอบการจนถึงเที่ยงวัน ขณะที่ผู้ซื้อออนไลน์ สามารถใช้บริการ และตรวจสอบสถานการณ์จัดส่งได้แบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชันของ DHL โดยค่าบริการจัดส่งเริ่มต้นที่ 100 บาท

นอกจากบริการใหม่ดังกล่าวแล้ว “DHL eCommerce” ยังเปิดเกมรุก ด้วยการตั้งเป้าขยายจุดบริการ “DHL ServicePoints” จากปัจจุบันมี 200 แห่ง เพิ่มเป็น 1,000 สาขาภายในปีนี้ และในปี 2562 ตั้งเป้าเพิ่มจุดบริการเป็น 2,500 แห่ง

โดยจำนวนจุดบริการที่เพิ่มขึ้น มีทั้งมาจากการจับมือกับร้านซีเอ็ด บุ๊คเซ็นเตอร์เข้าไปตั้งจุดบริการภายในร้าน (Shop-within-a-shop Concept) และขยายในโมเดลเปิดให้ผู้ประกอบการร้านค้าอาคารพาณิชย์ที่อยู่ตามริมถนนในชุมชนต่างๆ เข้ามาเป็นเครือข่ายจุดบริการ DHL ServicePoints

“ยุทธศาสตร์ 5 ปีของบริษัทแม่ (Deutsche Post DHL Group) มีการกำหนดเป้าหมายแน่นอน โดยตั้งเป้า “DHL eCommerce” เป็นผู้นำในตลาดอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ ในทุกประเทศที่ DHL eCommerce เข้าไปให้บริการ” คุณชาร์ลส์ บรูเออร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ สรุปทิ้งท้ายถึงเป้าหมายใหญ่ของการรุกตลาดอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์

Resize DHL (Facebook DHL)_02
หน่วยรถมอเตอร์ไซค์สำหรับส่งพัสดุในเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม (Photo Credit : Facebook DHL)

“Kerry Express” กวาดเรียบลูกค้ากลุ่ม B2C, C2C

นาทีนี้ถ้าพูดถึงบริษัทโลจิสติกส์ในไทยที่มาแรงที่สุด คงต้องยกให้ “Kerry Express” ที่รุกหนักขยายฐานเจาะกลุ่มอีคอมเมิร์ซ ทั้ง B2C และ C2C ประกอบกับการเร่งขยายเครือข่ายจุดให้บริการ ที่เจาะลึกเข้าไปอยู่ตามชุมชนต่างๆ โดยตั้งเป้าในปี 2561 จะมีจุดให้บริการไม่ต่ำกว่า 2,500 แห่ง และยอดจัดส่งพัสดุกว่า 750,000 ชิ้นต่อวัน!!

หลังจากเร่งสร้างความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายจุดให้บริการ เพิ่มจำนวนยานพาหนะ และบุคลากร ทำให้ “Kerry Express” ตัดสินใจเปิดตัวให้บริการรับ-ส่งพัสดุภายในวันเดียว ในชื่อบริการ “Bangkok Sameday” ไปก่อนหน้านี้ และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มงบลงทุนอีกกว่า 800 ล้านบาท เพื่อพัฒนาบริการรับ-ส่งพัสดุด่วนในวันเดียวให้ดีขึ้น

โดยลูกค้าสามารถใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน Kerry Express หรือใช้บริการผ่านคอลเซ็นเตอร์ รวมทั้งเพิ่มยานพาหนะจัดส่ง พร้อมทั้งสร้างแบรนด์ Bangkok Sameday ให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น

Resize Kerry Express Bangkok Sameday_01
Photo Credit : YouTube Kerry Express Thailand

แนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ ที่ให้บริการอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ต่อไปเมนูการให้บริการจะเป็น Fragment มากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกรูปแบบการให้บริการที่ตอบโจทย์ความสะดวก และความรวดเร็วที่ตนเองต้องการอย่างแท้จริง เช่น บริการส่งสินค้าในช่วงเช้า, ส่งของในช่วงหลัง 21.00 น. หรือส่งแบบ Slot Time Delivery เช่น ส่งของระหว่าง 13.00 – 15.00 น. ซึ่งบริการ Same-day Delivery ที่เกิดขึ้นในไทยวันนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นการทำ Service Customization ของธุรกิจโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซในประเทศไทย


  • 228
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ