ขายต่อ ใครจะซื้อไหม Jet Airways? ค้นต้นตอ “ปีกหัก” ของยักษ์อินเดีย และสตาร์ทอัพ “สุดมั่น” เสนอซื้อ Jet …เขาคือใคร

  • 719
  •  
  •  
  •  
  •  

jet-airway

ผ่านมาหนึ่งอาทิตย์หลังข่าวที่สะเทือนหลายน่านฟ้า เมื่อสายการบินยักษ์ใหญ่ของประเทศอินเดีย Jet Airways ที่เคยให้บริการเกือบ 1,000 เส้นทางบิน ครอบคลุม 600 ปลายทางในอินเดีย และอีก 380 ปลายทางทั่วโลก โดยราว 4 เดือนก่อนนี้ ยังมีเที่ยวบินเฉลี่ย 650 เที่ยวต่อวัน แต่วันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา กลับประกาศต้องหยุดบินทุกเส้นทาง หลังเที่ยวบินรอบค่ำของวันที่ 17 เม.ย. 2562 ลงจอดเป็นไฟลท์สุดท้าย

ย้อนรอยกว่า 25 ปีของ Jet Airways

Jet Airways จัดตั้งขึ้นในปี 1993 เพียง 2 ปีหลังรัฐบาลอินเดียเปิดเสรีด้านการลงทุนให้กับภาคเอกชน ถือเป็น 1 ใน 5 สายการบินเอกชนที่จัดตั้งขึ้นในช่วงนั้น และเป็นเพียงรายเดียวที่เหลืออยู่จนถึงปีนี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นสายการบินเอกชนที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย และเป็นสายการบินแห่งแรก ๆ ที่เริ่มทำโปรแกรมสะสมไมล์ เริ่มให้บริการระดับ World-Class และเริ่มมีบริการ In-flight entertainment สมกับสโลแกน “Joy of Flying”

กลางทศวรรษ 2000s Jet เคยได้ชื่อว่าเป็นสายการบินเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ด้วยฝูงบิน (Fleet) ที่เคยมีมากสุดกว่า 120 ลำ (เป็นเจ้าของเองไม่ถึง 20 ลำ ที่เหลือเช่าจากบริษัทให้เช่าเครื่องบิน) และเคยครองส่วนแบ่งตลาดเส้นทางบินในประเทศมากเป็นอันดับ 2 รองจาก Indigo สายการบินต้นทุนต่ำรายใหญ่ในอินเดีย ก่อน SpiceJet จะก้าวมาเแทนที่ แต่ยังมีส่วนแบ่งตลาดในเส้นทางระหว่างประเทศเป็นอันดับ 1 ของสายการบินสัญชาติอินเดีย

ต่อมาในปี 2012 เมื่อรัฐบาลอินเดียมีนโยบายให้ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนโดยตรง (FDI) ในธุรกิจการบินได้ แต่ถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ในปี 2013 Etihad Airways จึงได้เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ถือหุ้นใน Jet ในสัดส่วน 24% พร้อมกับการขยายเส้นทางบินจำนวนมาก ถึงขนาดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่พีค (Peak) สุด Jet และ Etihad เคยมีเที่ยวบินระหว่าง Abu Dhabi ไปยัง 15 เมืองทั่วอินเดียมากกว่าอาทิตย์ละ 250 ไฟลท์

อดีตอันรุ่งเรืองทำให้หลายคนไม่คิดว่า สายการบินเอกชนเก่าแก่ที่สุดของอินเดีย (ที่เหลือมาถึงปัจจุบัน) จะมีอันต้องหยุดบิน (ชั่วคราว) แบบที่ “ลอยแพ” ผู้โดยสารนับแสนชีวิตที่ไม่รู้จะเรียกค่าตั๋วคืนจากไหน Bloomberg ประมาณการว่าอาจมีมูลค่ารวมกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ​

ต้นเหตุแห่งการหยุดบินครั้งนี้

jet airways-2
Photo Credit : Reuter File Photo

แถลงการณ์ของ Jet เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา มีใจความสำคัญว่า หลังจากที่สายการบินพยายามมาหลายวิธีเพื่อแก้ไขปัญหาสายการบิน แต่สุดท้ายก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากหยุดบินทุกเส้นทาง เพราะผู้ถือหุ้นและกลุ่มธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้ (Consortium) ของสายการบินปฏิเสธคำขอกู้เงินฉุกเฉิน ซึ่งรอยเตอร์แจ้งว่ามูลค่ากว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำมันและค่าบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการขึ้นบิน

ตัวแทนกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ระบุสาเหตุที่ไม่ให้เงินกู้ฉุกเฉิน เพราะถึงให้เงินกู้ครั้งนี้ Jet ก็คงบินต่อไปได้อีกแค่ไม่กี่วัน จากนั้นก็ต้องกลับมากู้อีก เพราะต้นทุนการบินที่สูง ขณะที่ราคาตั๋วค่อนข้างต่ำเพราะการแข่งขันสูง บวกกับสถานะการเงินที่เสี่ยงจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ เนื่องจากหนี้สินรวมสูงกว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

สัญญาณชีพของ Jet เข้าขั้น “โคม่า” หลังสายการบินล้มเหลวในการขอเงินกู้ชั่วคราวจากธนาคารเจ้าหนี้มูลค่า  217 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเดือน มี.ค. โดยนอกจากติดหนี้จำนวนมากกับธนาคารจนถึงกับมีการประกาศจะยึดเครื่องบินที่ Jet เป็นเจ้าของ สายการบินยังมีหนี้ค้างชำระค่าเช่าเครื่องบินและค่าบริการทางวิศวกรรม รวมทั้งค้างจ่ายเงินเดือนพนักงานกว่า 20,000 คน ร่วม 4 เดือน ส่งผลให้กัปตันและวิศวกรหลายคนย้ายไปอยู่สายการบินอื่น

ขณะที่สายการบินจำเป็นต้องขายตั๋วให้ได้มาก ๆ เพื่อหารายได้เข้ามาใช้จ่ายในองค์กร แต่จากปัญหาค้างจ่ายเงินเดือนพนักงาน กลายเป็นเงื่อนไขให้สมาคมทางด้านสวัสดิการของวิศวกรเครื่องบินของ Jet ออกแถลงการณ์ว่า Jet Airways มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เนื่องจากภาวะทางจิตใจ (Psychological Condition) ของวิศวกรไม่ปกติ อันเนื่องมาจากผลกระทบทางการเงิน ซึ่ง “ข่าวลบ” นี้ก็ยิ่งทำให้ผู้โดยสารน้อยลง

​​ปัจจัยต่าง ๆ ถาโถมทำให้ Jet มีเครื่องบินให้บริการไม่ถึง 10 ลำ จนต้องหยุดบินในหลายเส้นทาง และเหลือเพียง 5 ลำ สำหรับ 25 เที่ยวบิน ในวันสุดท้ายก่อนหยุดบิน

สัญญาณอันตราย” มีให้เห็นเป็นระยะ

jet airways crew
กระแสที่มีต่อข่าวหยุดบินของ Jet Airways โพสต์โดยนักสื่อสารมวลชนอินเดีย

กลาง ส.ค. ปีที่แล้ว State Bank of India (SBI) ธนาคารเจ้าหนี้อันดับหนึ่งของกลุ่มธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ของ Jet ส่งสัญญาณให้จับตาตัวเลขมูลค่าหนี้ของ Jet ขณะที่สายการบินโต้กลับว่า ยังสามารถจ่ายชำระหนี้ให้ธนาคารได้ปกติ

หลังการประกาศผลการดำเนินงานระหว่างเดือน เม.ย.- ก.ย. ปี 2018 (Fiscal Year ของ Jet คือ เม.ย.-มี.ค.) ของ Jet ซึ่งขาดทุนสูงกว่า 170 ล้านเหรียญสหรัฐฯ​ ต้นเดือน พ.ย. มีรายงานข่าวว่า TATA กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของอินเดียจึงเข้าพบ Naresh Goyal ประธานและผู้ก่อตั้ง Jet Airways เพื่อเจรจาซื้อหุ้นในสัดส่วน 51% โดยต้องการนำมาควบรวมกิจการกับสายการบิน Vistara Airlines ของTATA (ร่วมทุนกับ Singapore Airlines) แต่การเจรจาล้มเหลว เพราะ Goyal ยังต้องการมีอำนาจบริหารสายการบินที่ตนสร้างขึ้น

รอยเตอร์ให้ข่าวว่า ต้นเดือน ธ.ค. Jet เริ่มขอความช่วยเหลือจาก Etihad Airways และเริ่มผิดนัดชำระหนี้ กระทั่งวันขึ้นปีใหม่ Jet ประกาศขอเลื่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร ทำให้เจ้าหนี้รวมตัวกันเพื่อหารือแผนปรับปรุงหนี้  Goyal เสนอให้ธนาคารแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งเจ้าหนี้บางรายสนใจเพิ่มทุน แต่มีเงื่อนไขให้ Goyal ลงจากตำแหน่งบริหาร แต่เขาไม่ตกลง

ต้นเดือน ก.พ. ฝูงบินของ Jet เริ่มหยุดบิน เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายให้บริษัทเช่าเครื่องบิน ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาสที่สิ้นสุดเดือน ธ.ค. 2018 ขาดทุน 83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ​ ​ต่อเนื่องจาก 2 ไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ตั้งแต่เดือน เม.ย.- ธ.ค. ขาดทุนรวมแล้วกว่า 253 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เหตุการณ์เลวร้ายลงเรื่อย ๆ จนกลางเดือน มี.ค. Jet ยกเลิกเที่ยวบินจาก Abu Dhabi ทั้งหมด หลังล้มเหลวในการเจรจาขอเพิ่มทุนฉุกเฉินจาก Etihad ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสอง ซึ่งขณะนั้นถือหุ้น 24% รองจาก Goyal ที่ถือ 51% ปลายเดือน Jet ยังผิดนัดชำระหนี้ 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้ HSBCBank Middle East ซึ่งมี Etihad เป็นผู้ค้ำประกัน ทั้งหมดนี้ทำให้ Etihad เสียหายหนักมาก

ในที่สุด Goyal ยอมลดสัดส่วนหุ้นเหลือ 25%พร้อมลงจากตำแหน่งประธาน เพื่อหลีกทางให้กลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ เป็นผู้ถือหุ้นหลักหลังใส่เงินทุนเพิ่ม 218 ล้านเหรียญสหรัฐฯ​ ซึ่งทันทีที่ข่าวนี้ออก ราคาหุ้นของ Jet Airways พุ่งขึ้นทันที12% หลังจากนั้น SBI ก็เร่งเดินหน้าหาคนมาซื้อกิจการ แต่ยังไม่ทันไร Jet ก็มา “หยุดบิน” เพราะไม่มีเงินจะจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะทำให้เครื่องขึ้น และไม่มีเงินจ่ายค่าธรรมเนียมให้สนามบินที่เครื่องจอด

“Goyal” ต้นตอที่นำมาสู่หายนะครั้งนี้

Naresh Goyal
Naresh Goyal ผู้ก่อตั้งและอดีต Chairman ของ Jet Airways ผู้ที่ใครๆ ก็อยากให้วางมือ (Photo Credit : Bloomberg)

BBC AFP และสำนักข่าวหลายแห่งมองคล้ายกันว่าต้นตอของปัญหาหนี้สะสมกว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ​ หรือกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท มีสาเหตุหลักมาจากการบริหารที่ไม่มืออาชีพของ Goyal โดยจุดผิดพลาดสำคัญเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2006 ที่เขาเสนอซื้อ Air Sahara ด้วยเงินสดมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ​ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าแพงเกินไป

แม้การเจรจาครั้งนั้นล้มเลิกไปแต่ Goyal ก็ยังพยายามซื้อ Air Sahara อีกรอบณราคา 338 ล้านเหรียญสหรัฐฯแลกกับฝูงบิน 27 ลำซึ่งก็ยังถูกมองว่าแพงไปและขณะนั้น Jet เองก็มีเครื่องบินอยู่แล้ว 62 ลำโดย Jet ซื้อ Air Sahara เข้ามาเพื่อดำเนินธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำภายใต้ชื่อ Jet Lite (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น Jet Konnect) โดยใช้ทีมบริหารเดียวกัน

สายการบินต้นทุนต่ำเริ่มเข้าสู่ตลาดในปี 2005-6 ทำให้การแข่งขันในตลาดการบินอินเดียดุเดือด โดยเฉพาะสายการบิน IndiGo ซึ่งเป็นผู้เล่นที่มีส่วนแบ่งเส้นทางในประเทศสูงสุด นอกจากนี้ยังมี SpiceJet และ GoAir ที่เป็นอีก 2 ผู้เล่นสำคัญ แม้ Jet จะเป็นสายการบินแบบ Full-service แต่ด้วยการแข่งขันที่รุนแรง จึงเลือกที่จะตั้งราคาแข่งขัน และถึงจะมี Jet Lite แล้วราคาตั๋ว Jet Airways ก็ยากที่จะลดลงมา เพราะกลัวเสียส่วนแบ่งตลาด 

การบริหารงานดังกล่าวทำให้กำไรลดลง จนเริ่มขาดทุน และขาดทุนสะสมเยอะขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่ราคาน้ำมันโลกแพง และค่าเงินรูปีอ่อนตัว ซึ่งปี 2018 เหตุการณ์ทั้งสองเกิดพร้อมกันและรุนแรง อีกทั้งยังเจอเคราะห์ซ้ำจากนโยบายเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นของรัฐบาลอินเดีย ทำให้การดำเนินงาน 3 ไตรมาส ขาดทุนกว่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

ยิ่งบวกกับความไม่ใส่ใจตัวเลขมูลค่าหนี้ ทำให้ Jet ยังประมาทใช้จ่ายเกินฐานะ หลังสุดคือ การสั่งซื้อเครื่องบิน Boeing 737Max กว่า 100-200 ลำ แต่ยังไม่ทันได้ซื้อ Jet ก็มาหยุดบินไปก่อน

ไม่เพียงสไตล์การบริหารและความไม่มืออาชีพของ Goyal นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ความประมาทและความไม่โปร่งใสในการบริหารเป็นอีกต้นตอปัญหาที่ทำให้ Jet หาผู้ร่วมทุนได้ยาก และผู้ที่สนใจ อย่าง TATA, SBI และ Etihad ต่างก็มีเงื่อนไขขอถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงกว่า Goyal เพื่อให้เขาลงจากตำแหน่งบริหาร แต่การเจรจาที่ผ่านมาทุกครั้ง เขาปฏิเสธ

มีไหม “แสงสว่าง” ที่ปลายทางสำหรับ Jet 

jet airways-1
Photo Credit : Travel Weekly Asia

อนาคตของ Jet จะเป็นอย่างไรต่อไปอาจจะต้องรอดูหลังวันที่ 10 พ.ค. นี้ซึ่งเป็นกระบวนการขั้นตอนสุดท้ายของการยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นหรือประมูลซื้อกิจการ Jet (แบบมีผลทางกฎหมาย) โดยระหว่างนี้มีข่าวลือมากมายว่ามีหลายหน่วยงานที่อยากจะยื้อชีวิตให้กับสายการบินเอกชนที่เก่าแก่ที่สุดรายนี้ไว้ให้ได้โดยเฉพาะกระทรวงการบินพลเรือนของอินเดีย (Ministry of Civil Aviation) ที่ออกมาระบุว่าจะสนับสนุน SBI ในการหาทางออก

SBI ในฐานะธนาคารผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ​Jet กล่าวว่า ได้มองบริษัทที่มีศักยภาพในการเข้าประมูล (Bidder) ไว้บ้าง โดย Bidder ที่มีศักยภาพสูงสุดคือ Etihad Airways ซึ่งถือหุ้นอยู่แล้ว และมีความต้องการขยายในตลาดอินเดีย ขณะที่คู่แข่งของ Etihad อย่าง Qatar Airways ก่อนหน้านี้เคยพยายามเจรจาซื้อหุ้นจาก IndiGo แต่ไม่สำเร็จ นับเป็นหนึ่งใน Bidder ที่อาจสนใจเสนอซื้อ และกลุ่มที่ลืมไม่ได้คือ คู่แข่ง โดยเฉพาะ IndiGo Partners

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง TATA ที่เคยแสดงความสนใจเมื่อปีก่อน  ตลอดจนกองทุนเอกชน บริษัทด้านการลงทุน และกองทุนเพื่อการลงทุนและกองทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติ (National Investment and Infrastructure Fund หรือ NIIF) ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลอินเดีย

อย่างไรก็ดี หลายสำนักข่าวรายงานว่าตัวแทนผู้บริหาร Etihad ระบุว่าอาจไม่ซื้อ Jet เพราะ 3 ปีที่ผ่านมา Etihad เองก็มีปัญหาการเงินหลังเผชิญภาวะขาดทุนร่วม 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่สำนักข่าวบางแห่งชี้ว่า นอกจากไม่ซื้อหุ้นเพิ่ม Etihad ยังมีแววจะขายหุ้นทั้งหมด ส่วน TATA ดูมีความสนใจจะซื้อหลังเข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลายแล้ว

ทางออกที่เป็นไปได้ที่สุดในการต่อลมหายใจให้ Jet คงมาจากการที่รัฐบาลอินเดียขอให้ธนาคารรัฐ ทั้ง SBI, Punjab National Bank (PNB) และกองทุน NIIF ช่วยกันถือหุ้นอย่างน้อย 1 ใน 3 จนกว่าจะหาผู้ซื้อหุ้นได้ แต่หนทางนี้ก็อาจไม่เกิดขึ้น เพราะหลายฝ่ายก็ยังมองไม่เห็นเส้นทางทำกำไร ซึ่งสุดท้ายแล้วศาลล้มละลายอาจเป็นปลายทาง ก็ได้

อีกแนวทางคือ ธนาคารเจ้าหนี้ทั้ง  11 แห่งร่วมกันลดมูลค่าหนี้ให้กับ Jet เพื่อดึงดูดให้บริษัทอื่นอยากมาซื้อกิจการ ภายใต้แสงทองแห่งความหวังด้านการเติบโตของตลาดการบินอินเดีย ซึ่ง KPMG บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกคาดไว้ว่าในปี 2020 อินเดียจะเป็นตลาดการบินที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ​ และจีน และจะใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2030 ปัจจุบัน​ถือเป็นตลาดการบินที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก

คู่แข่งเร่งไปต่อ…ไม่รอแล้ว

spice jet
SpiceJet สายการบินต้นทุนต่ำ หนึ่งในคู่แข่งสำคัญของ Jet Airways ได้เช่าเครื่องบิน 27 ลำของ Jet เพื่อรองรับการขยายเส้นทางบิน

ระหว่างที่ท้องฟ้ายังมืดมน พนักงานของ Jet เริ่มถูกดูดไปทำงานกับสายการบินอื่น แม้ว่าจะถูกลดเงินเดือนและสวัสดิการลงไปไม่น้อย โดยหลังหยุดบินไม่กี่วัน คู่แข่งอย่าง SpiceJet ก็ประกาศว่าเตรียมรับกัปตัน 100 คน สจ๊วต 200 คน และช่างเทคนิคอีกกว่า 200 คนจาก Jet มาร่วมงาน และเตรียมเช่าเครื่องบินอย่างน้อย 27 ลำของ Jet เพื่อรองรับเส้นทางบินที่เพิ่มขึ้นจากการบินทดแทนเส้นทางบินเดิมของ Jet โดยเฉพาะเส้นทางต่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา SpiceJet ได้ลงนามเป็นพันธมิตร Code Share เส้นทางบินระหว่างประเทศหลายเส้นทางกับ Emirates Airline คู่แข่งโดยตรงของ Etihad

ส่วนสายการบินแห่งชาติ Air India ก็ประกาศว่า สนใจจะเช่าเครื่องบินอย่างน้อย 5 ลำของ Jet เพื่อใช้บินเส้นทางระหว่างประเทศ และจะจ้างสจ๊วตอีก 100-150 คนจาก Jet พร้อมกับจะเพิ่มเส้นทางบินระหว่างประเทศทดแทนเส้นทางของ Jet นอกจากนี้ยังมีสายการบินชั้นนำอีกหลายราย อาทิ Vistara, Air Asia และ GoAir ที่มีแผนจะเพิ่มฝูงบินและบุคลากร เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดของ Jet 

ขณะที่ Slot เวลาในการจอดในสนามบินอินเดียที่เคยเป็นสิทธิของ Jet ก็กำลังถูกโอนย้ายไปยังคู่แข่ง โดยเบื้องต้นทางการอินเดียแจ้งว่าเป็นการอนุญาตให้รายอื่นใช้สิทธิเพียงชั่วคราว ถ้า Jet กลับมาบินได้ ก็จะคืนให้

ผู้เชี่ยวชาญในวงการการบินมองว่า Jet ตอนนี้ก็เหมือนกับ “ร่างเปล่า(ไร้สัญญาณชีพ)ที่รอเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า” จึงยากที่จะหาผู้ลงทุนได้ในเวลาอันสั้น และถ้า Jet ฟื้นกลับมาได้ ก็ยากที่จะกลับมายิ่งใหญ่ เพราะคู่แข่งได้ถอดถอน “เครื่องมือทำมาหากิน” ออกไปเกือบหมดแล้ว ดังนั้น ถ้ายิ่งฟื้นตัวและกลับมาบินได้ช้า “ความสามารถในการทำกำไร” และ “มูลค่ากิจการ” ของ Jet ก็จะยิ่งลดลง

สตาร์ทอัพอังกฤษที่เสนอซื้อ Jet …เขาคือใคร

jason unsworth
เว็ปไซต์ Atmosphere Intercontinental Airlines สตาร์ทอัพที่หาญกล้ามาขอเสนอซื้อ Jet Airways

นับจากวันที่ Jet ประกาศหยุดบิน ราคาหุ้น Jet Airways ก็ดิ่งลงจนถึงจุดต่ำสุดในรอบปี เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา เรียกว่าเกือบจะแตะจุดต่ำสุดของ Jet ตั้งแต่เข้าตลาดหุ้นมา แต่แล้วในวันรุ่งขึ้น (วันที่ 23 เม.ย.) จู่ ๆ ระหว่างวันราคาหุ้นก็ดีดตัวขึ้นมาจนน่าแปลกใจ ทำให้หลายสำนักข่าวควานหาว่า “ข่าวดี” นั้นคืออะไร

เว็ปไซต์ MoneyControl ระบุว่า มีเจ้าของสตาร์ทอัพในอังกฤษรายหนึ่ง ชื่อ Jason Unsworth ได้ส่งจดหมายไปยัง CEO ของ Jet ว่าสนใจอยากซื้อกิจการ Jet ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาเคยส่งจดหมายดังกล่าวไปยังกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ของ Jet แล้ว แต่ไม่ได้รับการสนใจ โดยเขาบอกว่าเขามีแผนที่จะฟื้นฟูหนี้สินของ Jet ไว้แล้ว

Unsworth เคยทำงานให้กับสายการบินหลายแห่ง ในฐานะลูกเรือและพนักงานภาคพื้นดิน ก่อนจะมาร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพชื่อ Atmosphere Intercontinental Airlines เมื่อปี 2015

จากเว็ปไซต์บริษัทระบุว่าเป็นบริษัทครอบครัวที่เป็นเจ้าของสายการบินและมีเครือข่ายสายการบินเช่า มีแผนจะบินจากลอนดอนไปกรุงเทพ, กระบี่, สิงคโปร์, โฮจิมินห์ซิตี้, คิลิมันจาโร และแคนคูน และจะเพิ่มเส้นทางจากสนามบินอู่ตะเภาไปจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย และประเทศอื่นในเอเชีย ปัจจุบัน ระบบบนหน้าเว็ปยังไม่พร้อมดำเนินการ

“เรามีนักลงทุน 3-4 รายที่สนใจลงทุนใน Atmosphere และพวกเขาแสดงความสนใจใน Jet Airways ด้วย”

ดูเหมือนจะเป็นข่าวดี แต่ก็มีหลายจุดที่อาจไม่เข้าเกณฑ์ที่จะเสนอซื้อได้ เช่น เขาไม่เคยมีประสบการณ์บริหารสายการบินมาก่อน และเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องมีเงินทุนไม่ต่ำกว่า 286 ล้านเหรียญสหรัฐฯ​ ทั้งนี้ Unsworth มั่นใจว่าจะสามารถทำให้ Jet กลับมาบินได้อีกครั้งในฐานะสายการบินพรีเมี่ยม เพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว บริการพรีเมี่ยมเท่านั้นที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน

MoneyControl ยังเล่าว่า Unsworth ยังได้เขียนจดหมายไปหานายกรัฐมนตรีอังกฤษและนายกรัฐมนตรีอินเดียให้สนับสนุนเขาในการเข้าซื้อ Jet … จากปกติที่มีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไล่ซื้อหุ้นหรือกิจการของสตาร์ทอัพ ถ้าเขาทำสำเร็จ ก็คงต้องบอกว่าเป็นมิติใหม่ของวงการสตาร์ทอัพ ก็ว่าได้ อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่มองว่า โอกาสจะเกิดขึ้นจริงแทบไม่มี

มรสุมธุรกิจการบินมีอยู่ในทุกน่านฟ้า

jet airways pilot
พนักงานกว่า 20,000 คน เป็นหนึ่งใน “เจ้าหนี้ (เงินเดือน)” ของ Jet Airways ร่ำไห้เพราะยังไม่รู้อนาคตของตัวเอง (Photo Credit : Reuters)

การ “ล้ม” ของนักยักษ์ในอินเดียครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนนี้ Kingfisher Airlines สายการบินต้นทุนต่ำที่ก่อตั้งโดยเจ้าของธุรกิจเบียร์รายใหญ่ของอินเดีย เปิดตัวในปี 2003 ก็มีอันต้องล้มละลายในปี 2012 หลังจากเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ราคาน้ำมันที่เหวี่ยงไปมา และค่าเงินรูปีที่อ่อนตัวสูง ทำให้ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี ตามมาด้วยการถูกปฏิเสธคำขอเงินกู้เพิ่ม ก่อนจะเข้าสู่ภาวะ “หยุดบิน” จนต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ …จะเห็นว่า “แพทเทิร์น (Pattern)” แห่งความหายนะค่อนข้างคล้ายกัน 

ไม่ใช่แค่น่านฟ้าอินเดียที่เจอกับมรสุมทางธุรกิจการบินที่โชกโชน เพราะช่วงปลายปีที่ผ่านมา Monarch Airlines สายการบินต้นทุนต่ำสัญชาติอังกฤษ ก็มีอันต้อง “ล้มละลาย” ขณะที่ก่อนหน้าที่ Jet Airways จะหยุดบินไม่ถึงเดือน WOW Air สายการบินราคาประหยัดจากประเทศไอซ์แลนด์ ก็ได้ประกาศหยุดบินไปก่อนหน้า ซึ่งหายนะของทั้ง 2 สายการบินก็มีบ่มเพาะมาจากปัญหาทางด้านการเงินและวิกฤติหนี้สิน 

ย้อนกลับมาดูน่านฟ้าไทย แม้ตลาดการบินไทยจะมีการแข่งขันที่รุนแรงจากจำนวนผู้เล่นที่มีอยู่มาก แต่กล่าวได้ว่ายังไม่เจอปัจจัยลบที่หลากหลายและรุนแรงเท่าอินเดีย อย่างไรก็ดี ความเข้มแข็งภายในของแต่ละสายการบินยังเป็นเรื่องที่น่าห่วงสำหรับหลาย ๆ สายการบินของไทย โดยเฉพาะสายการบินแห่งชาติ 

บทเรียนจาก Jet Airways สะท้อนให้เห็นว่า สายการบินที่เคยใหญ่ที่สุดและดีที่สุด ในตลาดการบินที่โตเร็วที่สุดและมีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก ก็ยังล้มได้ … ถ้าไม่รีบแก้ตัวเลขขาดทุนและหนี้สินที่ล้นพ้นตัว

“หนึ่งบทเรียนจากเหตุการณ์ Jet Airways คือ แม้การเติบโตของตลาดจะสูงจนน่าตื่นตาตื่นใจ ก็ไม่มีความหมาย ถ้าไม่ได้ส่งผลต่อ Bottom Line ของบริษัทคุณ ฉะนั้น สิ่งที่ทุกสายการบินควรให้ความใส่ใจคือ ตัวเลขกำไรขาดทุนและหนี้สิน ซึ่งสะท้อนผลการบริหารจัดการทั้งหมดของคุณ” นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาด้านสายการบินแห่งหนึ่งกล่าว

 

แหล่งข้อมูล Reuters, AFP, Daily Mail, BBC, MoneyControl, Atmosphere International Airlines


  • 719
  •  
  •  
  •  
  •  
Tummy
เมื่อไหร่ที่หยุดพัฒนาตัวเอง ถึงแม้เราไม่ได้ถอยหลัง แต่โลกก็จะทิ้งเราไว้ข้างหลังและหนีห่างออกไป จนวันหนึ่งเมื่อตื่นมา เราอาจรู้สึกแปลกแยก ... มาเปิดโลกทัศน์ แล้วสนุกกับทุกความเคลื่อนไหวในโลกใบนี้ไปพร้อมกันนะคะ