จับตา‘Digital Hospital’ จุดขายใหม่ ‘โรงพยาบาลพระรามเก้า’ เพื่อลงสนามแข่งขันในจังหวะก้าวสู่ปีที่ 27 และเตรียมเข้า IPO

  • 204
  •  
  •  
  •  
  •  

การแข่งขันในธุรกิจโรงพยาบาล  เรียกได้ว่า ดุเดือดไม่แพ้ธุรกิจอื่น ๆ เลย เพราะเราได้เห็นการขยับและรุกอย่างหนักของรายเดิม ขณะเดียวกันก็ยังมีรายใหม่ทยอยเข้ามาสู่สนามแข่งขันเรื่อย ๆ ทั้งไทยและต่างชาติ

สำหรับโรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ใช้จังหวะที่ปีนี้กำลังก้าวสู่ปีที่ 27 ของการดำเนินการและเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศรีแบรนด์ และโพซิชั่นใหม่ ภายใต้ Professional Healthcare Community ซึ่งถือเป็นรีแบรนด์และทำการตลาดเชิงรุกครั้งแรกตั้งแต่ดำเนินการมา ภายใต้ 5 กลยุทธ์หลักที่เป็นหมากสำคัญสำหรับสู้ศึกในธุรกิจโรงพยาบาลและสร้างการเติบโตต่อจากนี้

หนึ่งในนั้นคือ การก้าวสู่ Digital Hospital

นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ  รองประธานกรรมการ กรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระรามเก้า ขยายความให้ฟังว่า Digital Hospital สำหรับโรงพยาบาลพระรามเก้า จะเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อบริการทางการแพทย์และกระบวนการทำงานภายในโรงพยาบาล

นพ เสถียร ภู่ประเสริฐ 2

ส่วนเหตุผลว่า ทำไมต้องเป็น Digital Hospital ก็เพราะว่า

1. เป็นไปเทรนด์ของโลกยุคใหม่ ที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญและเข้ามา Disruption ในทุกแวดวงธุรกิจ ไม่เว้นกระทั่งธุรกิจโรงพยาบาล

2. ปิดจุดอ่อนการเป็น Stand alone ที่ไม่มีสาขาหรือเครือข่ายของโรงพยาบาลฯ  โดยการนำดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามา จะทำให้ผู้ใช้บริการเข้ามาใช้บริการได้ง่ายและสะดวกขึ้น จึงถือเป็นการเพิ่ม Productivity ในการดำเนินงานและบริการ เพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขัน

3. สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้ใช้บริการ ตามยุคและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป

4. ต้องการรักษาบุคลากรของตนเอง เพราะจากการแข่งขันในธุรกิจโรงพยาบาลที่รุนแรง ทำให้เกิดการแย่งชิงบุคลากรกันอย่างหนัก ซึ่งการนำดิจิทัลและเทคโนโลยีมาใช้ จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ลดความยุ่งยากลง และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

3 เฟสสู่ Digital Hospital  ในอีก 3-5 ปีจากนี้

ส่วนการก้าวสู่ Digital Hospital  จะแบ่งการดำเนินการเป็น 3 เฟส ประกอบด้วย เฟสแรก การสร้าง Infrastructure ด้านไอทีและบริการอื่น ๆ ภายในโรงพยาบาลให้พร้อม

เฟส 2 การพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและอุปกรณ์ที่ทันสมัยในรูปแบบที่เรียกว่า Digital Health มาประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยและติดตามการรักษาผู้ป่วย อาทิเช่น Praram 9 Patient Mobile Application โมบายแอพพลิเคชั่นที่ผู้ป่วยสามารถนัดหมาย หรือติดตามเรื่องการรักษาได้ด้วยตนเอง

หุ่นยนต์จัดยา โรงพยาบาลพระรามเก้า 2

Medical Wearable Device อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผู้ป่วยสามารถใส่ติดตัว เพื่อติดตามสถานการณ์ ดูแลป้องกันและเตรียมพร้อมในการรักษาพยาบาลได้อย่างทันท่วงที และ Telemedicine การให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องสุขภาพและการรักษาเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยแบบไม่ต้องมาโรงพยาบาล เป็นต้น

เฟส 3 การก้าวสู่ Digital Hospital เต็มรูปแบบ ด้วยการเป็นองค์กรไร้กระดาษ หรือ paperless  และต้องมีการบันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ (Electronic Medical Record – EMR) ทั้งหมด

 

 “การเป็น Digital Hospital  ต้องอาศัยเวลา เพราะมีการลงทุนค่อนข้างเยอะ และต้องมีการเทรนนิ่ง ซึ่งเราวางไว้ว่า จะต้องชัดเจนภายใน 3-5 ปีต่อจากนี้” นายแพทย์สุธร ชุตินิยมการ รองกรรมการผู้อำนวยการ (ฝ่ายบริหาร) และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการ (ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ) โรงพยาบาลพระรามเก้า บอกถึงเป้าหมายการปรับตัวครั้งนี้

เติม 4 กลยุทธ์สร้างความแข็งแกร่ง

อย่างที่บอก Digital Hospital เป็น 1 ใน 5 กลยุทธ์สำหรับแข่งขันในธุรกิจและสร้างการเติบโตให้กับโรงพยาบาลพระรามเก้าต่อจากนี้ ส่วนอีก 4 กลยุทธ์ที่เหลือ ได้แก่

การขยายเครือข่ายพันธมิตรและความร่วมมือทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ส่งผู้ป่วยเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลพระรามเก้า ซึ่งกลยุทธ์นี้ถือเป็นการปิดจุดอ่อนในการเป็น Stand alone ปัจจุบันทางโรงพยาบาลพระรามเก้ามีโรงพยาบาลพันธมิตรในไทยทั้งหมด 9 แห่ง ที่จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี จันทบุรี ตรัง อุบลราชธานี ชุมพร และนครสวรรค์ รวมถึงมีพันธมิตรในต่างประเทศ ได้แก่ พม่า กัมพูชา และเตรียมเข้าไปขยายความร่วมมือในจีน

ลงทุนกว่า 2พันล้านบาท สร้างอาคารใหม่สูง 16 ชั้น เพื่อรองรับการขยายขอบเขตบริการทางการแพทย์และจำนวนผู้ใช้บริการที่เติบโตสูงขึ้น โดยอาคารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด Co-Healthy Space ที่นอกจากจะเป็นศูนย์รวมทางการแพทย์ที่มีเครื่องมือทันสมัยในด้านการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลแล้ว ยังมีบริการด้านไลฟ์สไตล์ อาทิ ร้านค้าเพื่อสุขภาพและความงาม ส่วนจัดแสดงนิทรรศการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และ Co-working Space คาดว่า จะพร้อมให้บริการในช่วงไตรมาส 4 ปี 2562

ขยายขอบเขตการให้บริการ โดยเน้นส่งเสริมสุขภาพ มากกว่าการรักษาโรค ตอบสนองเทรนด์ยุคใหม่ที่คนในปัจจุบันหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น เช่น จัดตั้งศูนย์สุขภาพเส้นผม ศูนย์ผิวหนังและศัลยกรรมความงาม ศูนย์รักษาอาการปวดและเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์ตรวจสุขภาพครบวงจร ฯลฯ

Praram 9 Hospital New Logo_2

ทำการตลาดเชิงรุกและการปรับภาพลักษณ์องค์กร สู่ Professional Healthcare Community เน้นสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ การทำ Viral Video พร้อมกับจัดอบรมและสร้างความเข้าใจถึงวิสัยทัศน์ใหม่ขององค์กรกับกลุ่มคณะแพทย์และบุคลากรของโรงพยาบาล เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วม (Engagement) กับทิศทางใหม่ที่เกิดขึ้น

“เราต้องการสร้างจุดยืนที่ชัดเจน และการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งการที่เราขยายสู่บริการใหม่ ๆ จะเป็นการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ให้เราด้วย ทำให้เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและการเติบโตในอนาคต”

ตั้งเป้า 3-5 ปีจากนี้โตไม่ต่ำกว่า 11%ต่อปี

หลังจากประกาศรีแบรนด์และปรับโพซิชั่นใหม่ รวมถึงเดินหน้าสู่การเป็น Digital Hospital และลงทุนอื่น ๆ ทางผู้บริหารโรงพยาบาลพระรามเก้า ตั้งเป้าไว้ว่า ผลดำเนินการใน  3-5 ปีจากนี้ จะมีการเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 11%

จากปัจจุบันที่มีผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง ในปี 2558 มีรายได้รวม 1,996.4 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,272.5 ล้านบาท ในปี 2559 และ 2,455.2 ล้านบาท ในปี 2560  ส่วนในไตรมาส 1 ปี 2561 มีรายได้รวมอยู่ที่ 653.3 ล้านบาท เติบโตขึ้น 15.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560

นอกจากนี้ ยังต้องทำให้โรงพยาบาลพระรามเก้าเดินต่อได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ซึ่งมองแล้วเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อย เพราะธุรกิจโรงพยาบาล  ก็มีการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะจากกลุ่มโรงพยาบาลระดับบิ๊ก ๆ ที่มีทั้ง Know how พาร์ทเนอร์ และทุนยังหนาอีกด้วย


  • 204
  •  
  •  
  •  
  •