เสียวมี่เจาะช่องว่างตลาด ปักธงหวังยกระดับแบรนด์ในระยะยาว

  • 332
  •  
  •  
  •  
  •  

Picture2

ศึกชิงชิ้นเค้กในตลาดมือถือสมาร์ทโฟนของบ้านเราถือว่าน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะกับการเข้ามาห้ำหั่นของแบรนด์สมาร์ทโฟนจากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่เรียกได้ว่าวันนี้ “แบรนด์ใหญ่” มาครบ แถมจัดหนักด้วยงบการตลาด และการนำเสนอสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง

ที่น่าจับตามองก็คือ การสร้างจุดยืนที่แข็งแกร่งให้กับตัวเอง พร้อมกับหาช่องว่างตลาด เพื่อปูฐานให้แบรนด์มีการเติบโตได้อย่างมั่นคงในตลาด

โดยเฉพาะกับแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดเมืองไทยเมื่อปีที่ผ่านมาอย่างเสี่ยวมี่ (Xiaomi) ที่ซึ่งเพิ่งสร้างความฮือฮาจากการเปิดตัว Redmi 5A ที่ยอดจองผ่านเว็บลาซาด้า หมดลงอย่างรวดเร็ว

ลองตามมาดูกันว่า กลยุทธ์ในการแจ้งเกิดของเสี่ยวมี่มีอย่างไรบ้าง

Redmi 5A เสียบลงบนช่องว่างตลาด

Redmi 5A 04

สมาร์ทโฟนจากจีนเลือกใช้กลยุทธ์ที่คล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างให้สมาร์ทโฟนของตัวเอง เป็นแฟชั่นมากกว่าแค่เครื่องมือสื่อสาร ทำผ่านการใช้พรีเซ็นเตอร์ที่เป็นดาราดัง โดยไม่ลืมที่จะนำเรื่องของกล้อง และลูกเล่นในการถ่ายเซลฟี่ที่สวยงามมาเป็น Message หลักในการสื่อสารกับผู้บริโภค

ขณะเดียวกันก็วางตำแหน่งของตัวเองให้เป็น “Premium Mass Segmentation” มีภาพลักษณ์และนวัตกรรมที่ดี แต่สามารถเอื้อมถึงราคาได้ง่าย แบรนด์ใหญ่อย่างหัวเหว่ย ก็มีการฉีกหนีไปแข่งกับอีก 2 แบรนด์ใหญ่ของโลก อย่างไอโฟน และซัมซุง โดยบอกว่าไม่ได้มองสมาร์ทโฟนจากจีนประเทศเดียวกันด้วยกันเป็นคู่แข่ง

ที่สำคัญ Xiaomi ยังมีการผลักดันให้ตัวเองเข้าไปเป็นทางเลือกของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสมาร์ทโฟนที่ฉีกหนีไปจากเดิมๆ ในราคาที่จับต้องได้ง่ายขึ้น

สำหรับ Xiaomi เอง การเปิดตัวอาวุธเด็ดอย่าง Redmi 5A กลับมองไปที่การขยายฐานเข้าไปยังกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ให้เห็นว่า อัตราการเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2560 อยู่ที่ร้อยละ 70.3 และกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น

เมื่อมองมาที่พื้นที่นอกเขตกรุงเทพฯ – ปริมณฑลแล้ว พบว่า ตัวเลขการถือครองสมาร์ทโฟนยังมีอยู่แค่ 50% จึงกลายเป็นโอกาสทางการตลาด ที่ Xiaomi สามารถผลักดันตัวเองเข้าไปเติบโตในช่องว่างของตลาด ที่น่าจะยังไม่มีการแข่งขันรุนแรงนัก

ถือเป็นการทำตลาดที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะหากมองในระยะยาวแล้ว กลุ่มลูกค้าที่เพิ่งเข้ามาใช้สมาร์ทโฟนกลุ่มนี้ มีโอกาสที่จะ “Trad Up” หรือยกระดับการใช้ ไปสู่สมาร์ทโฟนที่มีราคาสูงขึ้นได้ และการเป็นแบรนด์แรก ที่ลูกค้ามีประสบการณ์ด้วย ก็มีโอกาสที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ตรงนั้นได้ หากไม่สร้างประสบการณ์ที่น่าผิดหวังให้กับลูกค้ากลุ่มนี้

มร.จอห์น เฉิน ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Xiaomi กล่าวว่า “ความมุ่งมั่นของเสี่ยวมี่ คือการนำเสนอนวัตกรรมในทุกช่วงราคา เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และด้วย Redmi 5A เรามั่นใจว่าจะสามารถมีส่วนร่วม ในการเพิ่มสัดส่วนการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทย ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ถึงเวลาแล้วที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนและเทคโนโลยีได้ ดังจะเห็นได้จากราคาผลิตภัณฑ์ของเรา ซึ่งราคาอยู่ที่เพียงประมาณครึ่งราคาของสมาร์ทโฟน ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน”

ราคา + ช่องทางขาย กลยุทธ์เด็ด Xiaomi

Picture4

Xiaomi เลือกใช้กลยุทธ์ราคาสำหรับการเปิดตัว Redmi 5A โดยวางราคาเปิดตัวไว้เพียง 2,790 บาท แต่มาพร้อมกับตัวเครื่องที่เป็นโลหะเนื้อแมตต์ และคุณสมบัติการใช้งานขั้นสูงมากมาย ที่ไม่เคยมีมาก่อนในกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับนี้ ได้แก่ ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon ™ 425 กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อมช่องเพิ่มการ์ด microSD แยกสำหรับการขยายพื้นที่จัดเก็บข้อมูล รวมถึงแบตเตอรี่ 3000mAh จึงสามารถใช้งานได้ยาวนาน ซึ่งยังไม่มีสมาร์ทโฟนในประเทศไทยรุ่นไหน ที่มีคุณสมบัติคุณภาพสูงเหล่านี้ในราคาเพียงเท่านี้จริงๆ และสมาร์ทโฟนอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันนั้นก็มีราคาเริ่มต้นเกือบ 5,000 บาท

เรียกได้ว่า เป็นการนำราคาที่จับต้องได้ เข้ามาเป็นหัวหอกในการขยายฐานการใช้ ซึ่งจะสอดรับกับกลยุทธ์ในเรื่องของช่องทางขาย ที่มีการใช้เว็บช้อปปิ้งออนไลน์อย่างลาซาด้า เข้ามาเป็นพันธมิตรในการขาย การเปิดตัวเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมาถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะ Redmi 5A ขายหมดภายในเวลาไม่ถึง30 นาทีเท่านั้น ในจำนวนเครื่องกว่า 2,000 เครื่องตามที่วางไว้

แน่นอนว่า Xiaomi มีการประกาศถึงความสำเร็จดังกล่าวออกมา พร้อมกับเดินหน้าขยายฐานการขายให้กว้างมากขึ้น โดยช่องทางขายออนไลน์ถือเป็น 1 ใน Best Practice ที่ Xiaomiเคยใช้ และประสบความสำเร็จมาแล้ว จากการทำตลาดในประเทศจีน โดยร่วมมือกับอาลีบาบาทำตลาดในจีน และในอีกหลายๆ ประเทศ

หลังประสบความสำเร็จจากการเจาะช่องว่างตลาดแล้ว อยู่ที่เสี่ยวมี่ (Xiaomi) เองว่า จะเก็บเกี่ยวความสำเร็จดังกล่าวมาต่อยอดได้อย่างไร เพราะตลาดสมาร์ทโฟนของบ้านเรา ถือว่ามีความ “หิน” ไม่แพ้ชาติใดๆ ในโลก……

Picture3


  • 332
  •  
  •  
  •  
  •