Dairy Queen เปิดร้านรูปแบบใหม่ “DQ Lounge” ขยายความหวาน เบเกอรี่-ไอศกรีม ปูทางสู่สาขา Stand Alone

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ศูนย์การค้าในปัจจุบันกลายเป็นจุดนัดพบของคนรุ่นใหม่ และหลายคนก็มักจะหาร้านเพื่อนั่งรอพร้อมกับหาของอร่อยทานระหว่างรอ โดยเฉพาะร้านของหวานอย่างไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ซึ่งหนึ่งในชื่อที่ผุดขึ้นมาต้องมี Blizzard ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟจาก Dairy Queen แต่ที่ผ่านมารูปแบบการซื้อไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟมักจะเป็นรูปแบบ Grab & Go เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภค Dairy Queen จึงเปิดตัวรูปแบบร้านใหม่ “DQ Lounge”

คุณธนกฤต กิตติพนาชนม์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด บริษัทในเครือ ไมเนอร์ กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจร้านไอศกรีม “Dairy Queen” ชี้ว่า ในปี 2567 Dairy Queen พร้อมพลิกโฉมแบรนด์ใหม่ ภายใต้คาแรกเตอร์ ทันสมัย รักสนุก และมีพลัง (Modern, Fun-Loving, Energetic) เจาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่รักความสนุก ผ่านการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดที่หลากหลาย

หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญถือเป็นไฮไลท์ของปีนี้คือ การมุ่งเน้นสร้างประสบการณ์พิเศษให้ผู้บริโภคผ่านโมเดลร้านรูปแบบใหม่ในคอนเซปต์ “DQ Lounge” พื้นที่แห่งการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์และสวรรค์ของคนรักของหวานที่จะช่วยเชื่อมโยงผู้บริโภคให้ได้ใกล้ชิดกับแบรนด์มากยิ่งขึ้น จาก Insight พฤติกรรมผู้บริโภคที่ Dairy Queen พบว่า หลายคนนิยมมองหาร้านที่สามารถแวะนั่งพักผ่อนได้

สำหรับร้าน “DQ Lounge” สาขาแรก ตั้งอยู่ในห้างเซ็นทรัลพลาซ่า เวสต์เกต ชั้น 1 ขนาดพื้นที่ทั้งหมด 40 ตารางเมตร โดยพื้นที่ร้านจะแบ่งออกเป็น 2 โซน ได้แก่ โซนการให้บริการที่ลูกค้าสามารถเลือกสั่งเมนูต่างๆ และจุดเด่นคือมีเมนูสุดพิเศษที่มีจำหน่ายเฉพาะที่สาขานี้เท่านั้น ได้แก่ ของหวานกลุ่มเบเกอรี่ อาทิ บราวนี่  โทสต์ และ พาร์เฟต์ ที่เป็นกลุ่มเมนูที่สร้างยอดขายให้กับร้านเพิ่มขึ้นถึง 10%

รวมถึงการนำผลไม้สดเกรดพรีเมียมมาใช้เป็นที่แรก ตลอดจนการมีเมนูท๊อปปิ้งที่ผู้บริโภคสามารถสั่งเพิ่มลงในเมนูปกติได้ เช่น กล้วย เลดี้ฟิงเกอร์ โอริโอ้ เป็นต้น ในขณะที่อีก 50% ของพื้นที่ร้านจะเป็นในส่วนโซนโต๊ะและที่นั่งสำหรับรองรับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถนั่งพักและเพลิดเพลินไปกับเมนูต่าง ๆ ของแบรนด์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหลังจากร้านเปิดให้บริการพบว่า สามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้เติบโตมากขึ้นถึง 20%

 

สำหรับแผนการขยาย “DQ Lounge” จะเน้นศูนย์การค้า  เป็นหลัก เนื่องด้วยเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ และจะไม่ใช่การปรับเปลี่ยนร้านเดิมแต่จะเป็นการสร้างเพิ่มเติม ซึ่งความเร็วในการเพิ่มจำนวนสาขาอยู่ที่การได้รับอนุญาตจากศูนย์การค้าในการจัดพื้นที่ตั้งร้าน ขณะที่ DQ Lounge ในสาขาต่างจังหวัดจะเป็นหน้าที่ของแฟรนไชส์ในการเลือกศูนย์การค้าที่จะเข้าไปลงทุน และยังได้เตรียมเปิดสาขา 2 ที่ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต รวมทั้งขยายสาขาอย่างน้อย 1 แห่งในทุกจังหวัด โดยตั้งเป้าปีนี้จะเปิดให้ได้ถึง 10 สาขา

Dai

คุณธนกฤตยังเพิ่มเติมว่า DQ Lounge จะเป็นต้นแบบของร้านค้าที่จะปูทางขยายไปสู่ร้านค้าในรูปแบบ Stand Alone ซึ่งจะช่วยขยายระยะเวลาการขายได้มากขึ้น จากเดิมที่ต้องปิดเปิดตามเวลาศูนย์การค้า ขณะที่รูปแบบ Stand Alone สามารถขยายเวลาการขายได้มากกว่านั้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสบการณ์และยอดขายได้มากขึ้น นอกจากนี้ Dairy Queen ยังมีแผนอาจจะขยายไปสู่ธุรกิจ Food ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

การมีที่นั่งในร้านจะช่วยอัพเกรดการทานของลูกค้า เช่น ลูกค้าที่ทานโคนจะหันมาทาน Blizzard และลูกค้าที่ทาน Blizzard จะหันไปทานสินค้าตัวอื่นๆ ส่งผลให้ปัจจุบัน Dairy Queen มีรูปแบบร้านหลัก 3 รูปแบบทั้ง ร้าน KIOSK ถึง 90%, ร้าน KIOSK แบบมีที่นั่งไม่เกิน 3 โต๊ะถึง 10% และรูปแบบ DQ Lounge ที่เพิ่งเปิดตัว โดยสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์ภายในร้านจะแบ่งเป็น Blizzard 60%, เค้กไอศกรีม 20%, Drink 10% และอื่นๆ 10%


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา