ศึก 5G ไม่ใช่แค่เรื่องโครงข่าย! “dtac” พัฒนาระบบแจ้งพิกัดเรียลไทม์ ต่อยอดสู่แพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์

  • 33
  •  
  •  
  •  
  •  

DYOGuUSWsAAAvDN

ปล่อยให้ 2 ค่ายคู่แข่งออกมาอัพเดทความคืบหน้าเกี่ยวกับ 5G ไปก่อน แต่ล่าสุด dtac เร่งเครื่องตามมาติด ๆ โดยชี้แจงว่า ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในการพัฒนาระบบแจ้งพิกัดที่เรียกว่า GNSS RTK เพื่อเสริมศักยภาพ 5G ให้เป็นมากกว่าเทคโนโลยีโครงข่าย

ระบบ “GNSS RTK” คืออะไร?

เทคโนโลยีดังกล่าวมีชื่อเต็มว่า Real-time kinematic for improving accuracy on positioning of Global Navigation Satellite System ซึ่ง dtac ระบุว่าระบบดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญในการให้บริการ 5G โดยทำให้ระบบสามารถแจ้งตำแหน่งได้อย่างถูกต้องแม่นยำจากการระบุตำแหน่งผ่านดาวเทียมซึ่งให้รายละเอียดได้ลึกถึงระดับเซนติเมตร ทำให้ตอบโจทย์โซลูชั่น 5G ที่มีค่าความหน่วงสัญญาณต่ำ (Ultra-low latencies) และตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังสามารถพัฒนาเทคโนโลยีสู่บริการใหม่ เช่น โซลูชั่น Health Care, ระบบขนส่ง, ยานยนต์ไร้คนขับ, โดรนขนส่งสินค้า หรือโดรนเพื่อการเกษตร เป็นต้น สำหรับความร่วมมือระหว่าง dtac และ depa ในครั้งนี้ได้มีการทดสอบเฟสแรกไปแล้ว เพื่อทำการปรับค่าสัญญาณตามแผนความร่วมมือ

5G – Ready รายแรกโครงข่ายระบบชุมสายเสมือน

นอกจากนี้ dtac ยังประกาศว่ามีเทคโนโลยีที่เรียกว่า 5G – Ready ซึ่ง dtac เป็นรายแรกในการนำเทคโนโลยีโครงข่ายระบบชุมสายเสมือน (Visualized Core Network : VCN) มาดำเนินงาน โดยเทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่สุด และรองรับการใช้งาน 5G เพียงอัพเกรดก็สามารถพร้อมให้บริการได้ทันที

5G_GNSS RTK_dtac 01
RTK Box

ต่อยอดโครงข่ายสู่แพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์ สนับสนุนอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวได้พัฒนาจากโครงข่ายดีแทคในระยะเวลา 3 ปี จนถึงเดือนกันยายน 2564 ภายใต้เป้าหมายสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 5G เพื่อรากฐานบริการเชิงตำแหน่ง (Location based service) พร้อมต่อยอดสู่นวัตกรรมดิจิทัลที่ถูกออกแบบพึ่งพาการใช้ข้อมูลจากค่าพิกัดที่ต้องการความแม่นยำสูง ขณะที่โครงข่าย 5G จะเชื่อมต่ออุปกรณ์นับล้านชิ้นไว้ด้วยกัน จึงต้องมีแพลตฟอร์มที่พัฒนาเพื่อรองรับการตอบสนองสัญญาณแบบเรียลไทม์ ด้วยจุดเด่นค่าความหน่วงสัญญาณต่ำ ซึ่ง dtac และ depa มีแนวคิดร่วมต่อยอดเป็นแพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์สนับสนุนทุกอุตสาหกรรม

ที่ผ่านมา บริการที่ใช้งานค้นหาตำแหน่งสถานที่ เชื่อมโยงพิกัดจากแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ต่าง จะมีค่าผิดพลาดในการระบุตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์แบบละติจูดและลองจิจูด (Latitude/Longitude) ด้วยข้อจำกัดเทคโนโลยีแบบเดิมมีค่าความคลาดเคลื่อนได้มากถึง 5-10 เมตร จึงทำให้เกิดผลเสียในการใช้แผนที่นำทาง หรือระบุจุดหมายสถานที่ แต่โครงการที่ dtac พัฒนาร่วมกับ depa จะทำให้การแจ้งพิกัดทำได้แม่นยำโดยมีค่าผิดพลาดเพียงระดับเซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการต่อยอดจากเทคโนโลยี 5G ที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อหลายอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการระบุตำแหน่ง

“เรากำลังเริ่มต้นพัฒนาแพลตฟอร์มที่สำคัญที่จะมีผลต่อการแจ้งเกิดเทคโนโลยีในยุค 5G โดยการสื่อสารดิจิทัลในโลกความเร็วสูงจะถูกออกแบบให้สัมพันธ์กับพิกัด หรือระบุตำแหน่งที่แม่นยำ เพื่อพลิกโฉมบริการใหม่ เช่น การนำยานยนต์ไร้คนขับมาให้บริการ การใช้โดรนขนส่งสินค้าทางอากาศสู่จุดรับสินค้าหรือผู้รับที่แม่นยำ รวมทั้งการใช้งานของเกษตรกรรมแนวใหม่ เช่น สามารถใช้โดรนในการฉีดยาควบคุมแมลงได้ถึงระดับเฉพาะต้นในแปลงเพราะปลูก เป็นต้น” คุณราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ dtac กล่าว และอธิบายอีกว่า…

การเปิดตัว 5G จะไม่ใช่แค่กรณีของโอเปอเรเตอร์ที่จะเปลี่ยนอุปกรณ์โครงข่ายของตน หรือผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เพียงเท่านั้น แต่รวมถึงการมีส่วนร่วมทั้งอุตสาหกรรมสู่การเชื่อมต่อธุรกิจสู่ธุรกิจ และธุรกิจสู่ผู้บริโภค รวมทั้งการพลิกโฉมอุตสาหกรรมและธุรกิจด้วยวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืนสู่กลยุทธ์ 5G ของไทย

 


  • 33
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน