‘ไพลิน อัมพุช’ New Gen ผู้มาพร้อม Passion เพื่อพา ‘เดอะมอลล์ กรุ๊ป’ สู่ยุคใหม่

  • 763
  •  
  •  
  •  
  •  

เมื่อเอ่ยถึง ‘เดอะมอลล์ กรุ๊ป’ หลายคนจะคิดถึง ‘ศุภลักษณ์ อัมพุช’ หญิงแกร่งผู้กุมบังเหียนยักษ์ใหญ่ของวงการค้าปลีกในบ้านเราแห่งนี้ แต่วันนี้ทาง Marketing oops จะพาไปรู้จักกับ New Gen ‘ไพลิน อัมพุช’ ผู้มาพร้อม Passion ที่จะพาเดอะมอลล์ กรุ๊ป สู่ยุคใหม่ที่เป็นมากกว่าศูนย์การค้า

ไพลิน อัมพุช 4

‘ไพลิน’ หรือ ‘คุณบลู’ เป็นหลานอาของคุณแอ๊ว-ศุภลักษณ์ โดยเธอจบการศึกษาด้านแฟชั่นดีไซน์ จากมหาวิทยาลัยคิงส์ตัน ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้บริหาร บริษัท เอ็ม คิวเรเท็ด จำกัด ดูแลการนำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์กลุ่มแฟชั่น กลุ่มบิวตี้ และไลฟ์สไตล์ ทั้งในรูปแบบดิสทริบิวเตอร์ โดยมีแบรนด์อยู่ในพอร์ต อาทิ ‘คอนเทมป์ ซาลอง’ มัลติแบรนด์ แฟชั่นที่ประกอบไปด้วยแบรนด์ต่าง ๆ กว่า 30 แบรนด์ , ‘สไตล์นันดา’ ที่มีทั้งกลุ่มเสื้อผ้า แอ็กเซสซอรี่ และเครื่องสำอางภายใต้แบรนด์ 3CE , ‘โซซุงอา บิวตี้ 1989’ แบรนด์เครื่องสำอางจากเกาหลีที่กระแสกำลังมาแรง ฯลฯ และอนาคตทางเอ็ม คิวเรเท็ดมีแผนจะพัฒนาแบรนด์สินค้าของตัวเองด้วย

จาก Luxury brand สู่ Affordable brand

คุณบลูเริ่มต้นเล่าว่า เข้ามาดูแลบริษัท เอ็ม คิวเรเท็ด เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตอนนั้นบริษัทเพิ่งตั้งได้ประมาณ 1 ปี และเน้นนำเข้าและจัดจำหน่ายลักชัวรี่ แบรนด์ระดับสูงเข้ามาเพื่อเป็น Exclusive Brand เฉพาะของเดอะมอลล์ กรุ๊ป สำหรับสร้างความแตกต่างจากศูนย์การค้าอื่น ๆ

แต่ด้วยเดอะมอลล์ กรุ๊ป มีศูนย์การค้าจับกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่ม ทั้ง high-end luxury อย่างพารากอน , เอ็มโพเรียม และเอ็มควอเทียร์ รวมถึงเดอะมอลล์ ที่จับกลุ่มลูกค้าหลากหลาย เมื่อตัวเองเข้าไปดูแลในส่วนนี้ ต้องการให้ Exclusive Brand ที่นำเข้ามาจับตลาดที่กว้างขึ้น จึงเริ่มหาแบรนด์อื่น ๆ เข้ามาเสริม โฟกัสไปยังกลุ่ม  Affordable brand ที่ราคาจับต้องได้สำหรับลูกค้ากลางถึงบน โดยการเปลี่ยนแปลงแรกก็คือ การนำแบรนด์ ‘สไตล์นันดา’ เข้ามาเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา จากนั้นก็มีอีกหลาย ๆ แบรนด์ทยอยมา

 “ตอนนี้ Big Brand เช่น H&M , ZARA , ยูนิโคล่ ฯลฯ ห้างไหนก็มี การจะแตกต่างต้องใช้ Exclusive Brand และการที่เรามีห้างหลากหลาย จึงอยากได้แบรนด์ที่ตอบโจทย์ได้ทุกกลุ่ม ส่วนที่เราโฟกัสกลุ่มกลางถึงบน เพราะเป็นฐานที่กว้างที่สุดในไทย และสอดคล้องกับฐานเงินเดือนต่อเดือนของคนไทยที่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 16,000 บาท โดยในอนาคตพอร์ตของแบรนด์ที่มี จะเป็น High end 20% และ Mid to High 80%”

บุกบิวตี้ เสริมพอร์ตให้แข็งแรง​

สำหรับทิศทางของการนำแบรนด์เข้ามานั้น จะโฟกัสไปที่กลุ่มบิวตี้ และไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะบิวตี้ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโตที่ดี โดยในอนาคตจะมีเข้ามาเสริมอีก 2-3 แบรนด์

หลักในการคัดแบรนด์เข้ามานั้น เทรนด์และชื่อเสียงของแบรนด์เป็นส่วนหนึ่งในเกณฑ์ แต่ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีก อาทิเช่น การเติบโตของแบรนด์ , ความหลากหลายของโปรดักท์ , back ground ของบริษัท รวมถึงแผนธุรกิจและแผนการตลาดที่จะคอยซัพพอร์ต ถ้ามีพร้อม ต่อไปจะมาดูเรื่องราคาว่า ตรงกับกลุ่มเป้าหมายหรือตลาดที่โฟกัสหรือไม่

นอกจากนำเข้าแบรนด์แล้ว ภายในสิ้นปีนี้มีแผนจะพัฒนาแบรนด์ของตนเองขึ้นมาในกลุ่มเครื่องสำอางสำหรับกลุ่มแมส เหตุผลเพราะ 1. เป็นตลาดที่เติบโตได้ดีไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร 2. จากการได้เข้ามาบริหารที่เอ็ม คิวเรเท็ดมากว่า 5 ปี ทำให้เห็นทิศทางของตลาดและความต้องการผู้บริโภค จึงอยากลองทำดู

ส่วนแบรนด์สไตล์นันดาที่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ทางลอรีอัล ได้ซื้อกิจการจากบริษัทแม่ที่เกาหลีนั้น ในไทยทางเอ็ม คิวเรเท็ด ยังทำหน้าที่ดิสทริบิวเตอร์อยู่ โดยสัญญาจะหมดภายในปีนี้ แต่ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทแม่ที่เกาหลีได้มีการพูดคุยแล้วว่า จะมีการต่อสัญญาอีก 3 ปี

ไพลิน อัมพุช 6

 

เตรียมบุกชอปปิ้งออนไลน์อีกครั้ง

ขณะที่เรื่องของอีคอมเมิร์ซและชอปปิ้ง ออนไลน์ ที่ปัจจุบันเป็นเรื่องที่รีเทลทุกรายให้ความสำคัญ ภายในปีนี้ทางเดอะมอลล์ กรุ๊ป เอง ก็เตรียมกลับมาทำชอปปิ้ง ออนไลน์อีกครั้ง หลังจากหยุดไปก่อนหน้านี้

คุณบลู บอกว่า แม้ตอนนี้ทางผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซและออนไลน์ต่างรุกตลาดอย่างหนัก แต่ไม่ได้หมายความว่า ช่องทางออฟไลน์จะตายไป ส่วนตัวมองทั้งสองช่องทางจะมาเสริมซึ่งกันและกัน หรือเรียกว่า Omni-channel  คือ ตัวศูนย์การค้าที่เป็นออฟไลน์ต้องมีการพัฒนาในการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้า ขณะที่ออนไลน์จะช่วยเติมเต็ม โดยขณะนี้ทางเดอะมอลล์ กรุ๊ปอยู่ระหว่างเตรียมขึ้นระบบไอทีใหม่ เพื่อทำชอปปิ้งออนไลน์ภายในปีนี้

“ถามว่า ช้าไปหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าไม่ ตอนนี้ไม่เถียงว่าออนไลน์กำลังมา แต่ถามว่า ในไทยแรงเท่ากับจีนหรือสหรัฐอเมริกาฯหรือไม่ คำตอบคือไม่ ของไทยยังเพิ่งเริ่มต้น ตอนนี้เราถึงเห็นการถอยออกไปของผู้ประกอบการดัง ๆ และมีอีกหลายรายที่ขาดทุนอยู่ ส่วนตัวมองอีก 5 ปีตลาดออนไลน์ในไทยถึงจะบูม ถึงบอกว่า เราไม่ช้าไป”

Passion หัวใจการทำงาน

แน่นอนในฐานะหลานอา คุณศุภลักษณ์ต้องมีการถ่ายทอดเคล็ดลับความสำเร็จให้ ซึ่งเธอบอกว่า คำสอนที่คุณอามักจะสอนอยู่เสมอในการทำงาน คือต้องมี 3 D ได้แก่ Determination การกำหนดเป้าหมายชัดเจน , Dedication มีความทุ่มเท และ Devotion ซื่อสัตย์

แต่ส่วนตัวแล้วอยากเพิ่มคำว่า Passion เข้าไป เพราะถ้าไม่มี Passion ในการทำงาน ก็เหมือนกับไม่มีใจทำ อาจทำให้ขาดความมุ่งมั่น ทำอะไรได้ไม่นานและไม่ยั่งยืน คำว่า Passion จึงมีความสำคัญไม่น้อยในการทำงานของเธอ

ไพลิน อัมพุช 2

“อย่างตอนเลือกมาดูแลด้านนี้ เพราะส่วนตัวชอบและอยากเป็น Buyer ตั้งแต่แรก ตอนคุยกับอาก็เลยเลือกจะทำด้านนี้ ตอนนั้นยอมรับว่า กังวลเพราะอายุแค่ 20 ต้น ๆ และไม่เคยทำงานมาก่อนด้วย แต่ด้วย Passion ทำได้มุ่งมั่นทำ

และการเป็นคนรุ่นใหม่ ทำให้กล้าทำในสิ่งใหม่ ๆ เหมือนเครื่องสำอาง กลุ่มเดอะมอลล์ไม่เคยทำมาก่อน ก็เป็นคนตัดสินใจจะทำ ตอนแรกทีมผู้บริหารมีคำถามว่า จะทำได้เหรอ เพราะไม่เคยทำมาก่อน แต่ตัวเองมองว่า ไม่เคยทำ ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีใครเกิดมาแล้วทำเป็นเลย ต้องอาศัยความกล้าและต้องเรียนรู้”

ลูกค้า คือความท้าทายที่สุด

สำหรับความท้าทายในการทำงานของคุณบลู เธอบอกว่า หนีไม่พ้นพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ลูกค้ายังถูกสปอยล์ด้วยการลดราคา จนกลายเป็นพฤติกรรม ส่วนหนึ่งมาจากห้างเองที่จัดลดราคาประจำ และการแข่งขันของออนไลน์ที่แข่งขันในเรื่องราคากันรุนแรง ทำให้ลูกค้ารอซื้อตอน Sale เท่านั้น และ Insight ที่เห็นชัดเจน ก็คือ ลูกค้ายุคนี้ ไม่มีลอยัลตี้เลย โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลเนียม

ดังนั้นการรักษาลูกค้าไว้ให้ได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งบริการที่ดีและสร้างประสบการณ์จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ได้มาก โดยเดอะมอลล์เองต้องการเป็นบ้านหลังที่ 2 ให้คนมาใช้ชีวิตให้มากที่สุด เพราะตอนนี้คนไม่มาห้างเพื่อชอปปิ้ง ยังมาเพื่อ Hang out , พักผ่อน , ทานอาหาร ฯลฯ

เริ่มดูแลตั้งแต่เดินเข้ามา มีบริการพิเศษ อย่างเดอะมอลล์มีบริการ hand free shopping ถือสินค้าไปส่งที่รถหรือโรงแรม รวมไปถึงพยายามให้พนักงานทุกคนรู้จักลูกค้าแบบ Personalize โดยเฉพาะแผนกที่ตัวเอง ดูแลอยู่  ให้รู้จักชื่อ มี contact ดูแลลูกค้าแต่ละคนตามคาแรคเตอร์ ตามความชอบในการซื้อสินค้า รู้จักลูกค้าให้มากที่สุด เพื่อจะนำเสนอในสิ่งที่เขาต้องการ

เช่น คุณ A ชอบอะไรใหม่ เมื่อมีคอลเลคชั่นใหม่เข้ามาก็จะนำเสนอไป ส่วนคุณ B สนใจแค่โปรโมชั่น เมื่อมีโปรโมชั่นใหม่ ๆ ก็จะนำเสนอไป แบบนี้เป็นต้น โดยพยายามดูแลลูกค้าแบบนี้ทุกคน ไม่เฉพาะวีไอพีเท่านั้น

“อาแอ๊วไม่ได้ให้โจทย์อะไรเป็นพิเศษ แต่ชอบคำว่า affordable และชอบสอนว่า คนมาห้างไม่ได้มาแค่ชอปปิ้ง แต่มาหา Experience ดังนั้นให้คิดถึงการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนไว้ เราถึงพยายามเติมอะไรใหม่ ๆ เข้าไป เพื่อให้ลูกค้ามาห้าง มาซื้อของและมาใช้ชีวิตกับเรา ซึ่งจากนี้จะเห็นอะไรใหม่ ๆ มากกว่าการเป็นศูนย์การค้าจากเดอะมอลล์อีกเยอะ”

 ไพลิน อัมพุช 1


  • 763
  •  
  •  
  •  
  •