จับตา ‘โมบายล์ สโตร์’ โมเดลใหม่ของธุรกิจ ‘ร้านอาหาร’ เพื่อแก้จุดอ่อนปิดสาขา-เข้าถึงลูกค้า

  • 1.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

จาก ‘เดลิเวอรี่’ สู่ ‘โมบายล์ สโตร์’ การสร้าง New Format ของธุรกิจ ‘ร้านอาหาร’ เพื่อแก้จุดอ่อน-เพิ่มจุดแข็งให้กับธุรกิจหลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในช่วงล็อคดาวน์ที่ถูกปิดสาขาในห้างทั่วประเทศ จนกระทบยอดขายอย่างหนัก

ช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นการปรับตัวและพลิกเกมของธุรกิจร้านอาหารในหลากหลายรูปแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ภายใต้โจทย์ ทำอย่างไรให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายที่สุด ซึ่งไม่เพียงจะลดผลกระทบทางธุรกิจจากการปิดสาขาในช่วงล็อคดาวน์ ยังเป็นการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ที่ชอบความสะดวกสบายได้เป็นอย่างดี โดยกลยุทธ์แรกที่เกือบทุกร้านหยิบมาใช้ หนีไม่พ้น ‘เดลิเวอรี่’

รวมถึงการพัฒนาร้านในรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ‘คีออส’ และ ‘Grab and  Go’ กระจายเปิดตามแหล่งชุมชม อาทิ ออฟฟิส , โรงพยาบาล , ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ ไปจนถึงเส้นทางคมนาคมอย่างสถานีรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT

มาถึงล่าสุด ‘โมบายล์ สโตร์’ ร้านเคลื่อนที่ ซึ่งข้อดี คือ ใช้พื้นที่ไม่มาก ลงทุนไม่สูง การเปิดให้บริการไม่จำกัดต้องเปิดในห้างหรือศูนย์การค้าเหมือนในอดีต แต่สามารถเคลื่อนที่ไปตามโลเคชั่นต่าง ๆ ได้คล่องตัว ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นกว่าเดิม

ยกตัวอย่าง ‘บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)’ กับการเปิดตัว ‘Oishi Food truck’ ร้านอาหารเคลื่อนที่โมเดลใหม่ที่จะเน้นเจาะไปตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ออฟฟิส , ตลาดนัด , งานออกบูธ ,อีเวนท์ , คอนเสิร์ต และงานกิจกรรมต่าง ๆ

จุดเริ่มต้นของโมเดลนี้มาจากบทเรียนในช่วงโควิด-19 ที่ถูกล็อคดาวน์จนต้องปิดสาขาทั้งหมด ทำให้รู้ว่า ธุรกิจยังไม่ flexible พอ และเห็นจุดอ่อนของธุรกิจในเรื่องสาขา เพราะเมื่อต้องปิดสาขา คนเดินทางมาห้างน้อยลง ก็ได้ส่งผลกระทบหนักต่อธุรกิจ ทางโออิชิ จึงพยายามมองหา Asset Point ในการสร้างความคล่องตัวสำหรับรองรับเมื่อเกิดเหตุการณ์ใหม่ ๆ และเพิ่มช่องทางการขายให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่าเดิม โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องมาที่ร้านหรือห้าง และต้องมากกว่าให้บริการเดลิเวอรี่ ซึ่งเป็นช่องทางที่ต้องมีอยู่แล้ว

โจทย์ คือ คิดใหม่ทำใหม่ แก้เกมธุรกิจ

สำหรับ Food truck ของโออิชิ เป็นการคิดใหม่ที่ต่างจากเดิม เพราะในอดีตการเปิดสาขามักจะเลือกห้างหรือศูนย์การค้า เป็น Priority แรก โดยหลักการ คือ จะดูความเหมาะสมของโลเคชั่น กลุ่มเป้าหมาย และทราฟฟิกต้องหนาแน่น ขณะที่โมเดลใหม่นี้จะมีความคล่องตัว ทำหน้าที่ เป็น ‘ร้านเคลื่อนที่’ สามารถไปได้ทุกที่ที่ขายดีและมีกลุ่มเป้าหมาย จึงเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

ส่วนเมนูและราคาสินค้าที่นำไปจำหน่ายนั้น ก็ไม่ได้วางไว้ตายตัว แต่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละโลเคชั่นที่ไปตั้ง แต่หลัก ๆ 1. ต้องเป็นเมนูขายดีโดนใจลูกค้า 2.ราคาเข้าถึงได้ง่าย และ 3.ควบคุมคุณภาพได้ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารจานเดียวทั้งจานหลักและทานเล่น เช่น ราเมนหอยผัดพริก , แซลมอนซาชิมิ ,ยำแซลมอน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม Oishi Food truck ยังเป็นโมเดลทดลองที่ได้เริ่มไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่าน ณ หน้าตึก CW Tower ถนนรัชดา และโรงงานนวนคร โดยก่อนจะขยายต่อไปตอนนี้ต้องรอดู feedback ในหลายเรื่อง อาทิ ขนาดของรถที่ต้องตอบโจทย์ในการขายและความต้องการของลูกค้า , การวางเมนูและตั้งราคาอย่างไรถึงเหมาะสม และการเลือกโลเคชั่นในการตั้ง ซึ่งนอกจาก Food truck ก่อนหน้านี้ทางโออิชิได้สร้างโมเดลใหม่ขึ้นมา ในรูปแบบ Grab and  Go ที่สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ และในอนาคตจะมีอีกหลายโมเดลออกมาเพิ่มเติม

CRG  ผุด ‘เดลโก้ หนุนเดลิเวอรี่เพิ่มการเข้าถึงลูกค้า

‘บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด’ หรือ CRG เชนร้านอาหารยักษ์ใหญ่ในไทย อาทิ เคเอฟซี , มิสเตอร์ โดนัท , อานตี้ แอนส์ , ชาบูตง , โยชิโนยะ ฯลฯ เป็นอีกบริษัทที่ได้หยิบโมบายล์ สโตร์ มาเป็นหนึ่งโมเดลใหม่สำหรับแก้โจทย์ธุรกิจ ภายใต้ชื่อ ‘เดลโก้ (Delco)’ โดยโมเดลใหม่นี้จะช่วยเสริมให้การส่งเดลิเวอรี่ครอบคลุมและเข้าถึงทุกพื้นที่มากขึ้น

นอกจากนี้ ด้วยการเป็นโมบายล์ สโตร์ ทำให้สามารถสับเปลี่ยนไปตามย่านต่างๆ ที่เป็นทำเลเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น ตามปั๊มน้ำมัน , แหล่งชุมชนใหญ่ และพื้นที่รอบนอก เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากกว่าเดิม  โดยเบื้องต้นเดลโก้ได้ถูกนำมาใช้กับ 2 แบรนด์ใหญ่อย่าง ‘มิสเตอร์ โดนัท’ และ ‘อานตี้ แอนส์’ เพราะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมายอดสั่งเดลิเวอรี่ของทั้ง 2 แบรนด์เติบโตจากปีที่แล้วมากกว่า 300% ซึ่งตอนนี้มี 1 สาขา ที่ปั้ม ปตท. นวมินทร์ และจะเปิดอีก 10 สาขาภายในปีนี้ ส่วนในปี 64 มีแผนจะเปิดจำนวน 25 สาขา

นอกจาก โออิชิ และ CRG แล้ว ยังมีผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารอีกหลายรายที่ซุ่มพัฒนาบริการและสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ออกมา เพื่อเพิ่มช่องทางการขายและเข้าถึงลูกค้าให้มากกว่าเดิมที่ส่วนใหญ่จะฝากความหวังไว้ที่สาขาในห้างหรือศูนย์การค้า เช่น ‘เขียง’ ร้านสตรีทฟู้ดส์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องอมนูกระเพรา ก็เปิดตัว ‘รถเข็น’ เป็นโมเดลร้านใหม่สำหรับตั้งขายตามร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น เพราะส่วนใหญ่ได้รับบทเรียนมาแล้วจากช่วงล็อคดาวน์ที่ทำให้ธุรกิจต้องเจ็บหนักไปตาม ๆ กัน


  • 1.5K
  •  
  •  
  •  
  •