เรียกว่า เตะตาตั้งแต่แรกเห็นเลยก็ว่าได้ สำหรับคราฟต์เบียร์จากแดนจิงโจ้ ประเทศออสเตรเลีย แบรนด์ Gayle (เกล) ที่เข้ามาทำตลาดในบ้านเราได้พักหนึ่งแล้ว โดยชื่อของแบรนด์นั้นเป็นการนำคำว่า Gay และ Ale มาผสมกันหมายถึง ‘ชนิดหนึ่งของเบียร์’ แต่นักดื่มบ้านเราหลายคนเลือกตั้งชื่อเล่นคิวท์ๆ ให้ว่า “เกย์ลี่”
เมื่อดูจากโลโก้รูปก้อนเมฆสีรุ้ง ก็แทบไม่ต้องเดาเลยว่า เบียร์ยี่ห้อนี้ต้องมีความเกี่ยวข้องกับชาวสีรุ้งอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งนั่นก็ใช่ เพราะเกลมีจุดเริ่มต้นจากเพื่อนฝูงชาว LGBT กลุ่มหนึ่งนั่งคุยกันเกี่ยวกับปัญหาที่ชาวสีรุ้งเจอกันมานมนาน ทั้งเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติ และยากลำบากในการใช้ชีวิตแค่เพราะพวกเขาไม่ใช่ชายหรือหญิงแบบที่สังคมอยากให้เป็นเท่านั้น
หลังจากคิดกันไป ถกกันมา ก็ได้ข้อสรุปว่า ถ้างั้นทำไมไม่สร้างอะไรสักอย่างที่จะช่วยให้ผู้คนเชื่อมถึงกันได้ง่ายๆ เหมือนชนแก้วกับเพื่อนยังไงล่ะ?
เรื่องก็เลยมาลงตัวที่คราฟต์เบียร์และไซเดอร์ยี่ห้อ “เกล” ที่ไม่ได้หมักด้วยวิธีธรรมดาๆ นะจ๊ะ เพราะเขาบอกว่า เจ้าเกลนี่หมักด้วย “ความรัก” กันเลยทีเดียว
“เราสร้างสรรค์คราฟต์เบียร์และไซเดอร์ในแบบที่เป็นเราขึ้นมา แล้วมันก็หมักบ่มด้วยความรัก ซึ่งไม่ใช่แค่เพื่อเชิดชูชุมชน LGBTIQA+ เท่านั้น แต่มันยังช่วยให้ครอบครัว และเพื่อนฝูงได้รื่นรมย์ด้วยกันอีกด้วย” ข้อมูลในเว็บไซต์บอกไว้แบบนั้น และยังบอกอีกด้วยว่า พวกเขาภูมิใจกับการเป็นผู้ผลิตเบียร์เกย์เจ้าแรกและเจ้าเดียวของออสเตรเลีย โดยเรียกตัวเองเป็น Gay beer and cider company
ที่ผ่านมา ในทุกๆ ประเทศที่ไปทำตลาด ส่วนใหญ่เกลจะเน้นเจาะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT เป็นหลัก โดยเฉพาะการเป็นสปอนเซอร์ชิปให้กับอีเวนท์สีรุ้งทั้งหลาย แต่เมื่อเข้ามาทำตลาดในไทย แม้จะยังยึดแนวทางเดิมไว้ แต่ก็ไม่ทั้งหมด
ผู้ผลิตให้ข้อมูลไว้ว่า เกลไม่ได้เป็นแบรนด์หรือโปรดักท์ที่เกิดมาเพื่อ LGBTQ+ เท่านั้น เพราะอย่างแรกเลย คือ มันจะต้องเป็นคราฟต์เบียร์ที่ดี ที่คนสามารถเอ็นจอยไปกับมันได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหนก็ตาม
และถึงแม้หลายคนจะด่วนตัดสินจากโลโก้สีรุ้งบนกระป๋องว่า เป็นเครื่องดื่มสำหรับชาวสีรุ้งเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วพวกเขาต้องการจะสื่อสารและนำพาให้ทุกคนมารื่นรมย์กับเบียร์ดีๆ พร้อมกับการเปลี่ยนมุมมองเก่าๆ ที่มีต่อชุมชน LGBTQ+ ต่างหาก
ในทางกลับกัน สำหรับประเทศไทยเอง มีเบียร์เกลวางขายในคราฟต์เบียร์บาร์ทั่วไปมากกว่าบาร์สำหรับเกย์ด้วยซ้ำ แล้วมันก็ไม่ได้ดูแปลกแยกอะไรด้วย โดยผู้ผลิตให้คำอธิบายไว้ว่า ด้วยความที่ชุมชนนักดื่มคราฟต์เบียร์ในบ้านเรา ส่วนใหญ่ก็มีแนวคิดเคารพความหลากหลายอยู่แล้ว ดังนั้นมันจึงเป็นความเข้ากันอย่างดี เพราะพวกเขายังคงส่งต่อแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมออกไปได้เช่นเดิม
เราขอทิ้งท้ายข้อมูลเกี่ยวกับศัพท์แสงอีกเล็กน้อย สำหรับคำว่า LGBT คงได้ยินกันบ่อยแล้ว แต่สำหรับคำว่า “LGBTIQA+” นั้น ถ้าใครอ่านแล้วยังไม่เก็ตว่าคืออะไร ไม่ต้องอาย เพราะเราก็ไม่รู้เหมือนกัน จึงไปหาคำตอบมา ได้ความว่า
นอกจาก LGBT ที่ย่อมาจาก Lesbian-Gay-Bisexual-Trans อย่างที่คงรู้กันดีอยู่แล้ว คำที่งอกมาใหม่ในยุคหลังก็คือ
I – Intersex เป็นภาวะเพศกำกวม หมายถึงคนที่เกิดมามีสองเพศแบบปกติ ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพ ไม่ได้หมายถึงเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศ
Q – Queer เป็นคำเรียกรวมๆ ของคนที่ไม่ได้มีพฤติกรรมและ/หรือไม่สามารถจัดอยู่ในกรอบได้อย่างชัดเจนของคำว่าเพศตามกระแสหลัก
A – Asexual, Agender, Aromantic คือ ผู้ที่ไม่ฝักใจทางเพศ
ส่วนเครื่องหมายบวก (+) ก็หมายถึง เพศสภาวะอื่นๆ นั่นเอง