อ่านเกม ‘โออิชิ’ จะโตอย่างไรในอีก 10 ปี ภายใต้ความท้าทายทั้งการแข่งขันและเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนเร็ว

  • 177
  •  
  •  
  •  
  •  

การอยู่ในตลาดมานาน 21 ปี แม้จะบอกถึงฝีมือของ ‘โออิชิ กรุ๊ป’ แต่สิ่งที่ผ่านมา ก็ไม่ได้การันตีว่า จะสร้างความสำเร็จในอนาคตได้ โดยเฉพาะเมื่อโลกและผู้บริโภคเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว จึงเป็นที่มาของการกำหนดวิสัยทัศน์ของโออิชิในอีก 10 ปีข้างหน้า กับเป้าหมายผู้นำด้านนวัตกรรมสินค้า , อาหาร หรืออะไรก็ตามที่สะท้อนความเป็นญี่ปุ่นที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้บริโภค

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อธิบายถึงการวางวิสัยทัศน์ดังกล่าวว่า ,มาจาก 3 เทรนด์ใหญ่ที่จะเข้ามากระทบหรือ Disrupt ธุรกิจของโออิชิในอนาคต ได้แก่

1.พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น Aging Society , กระแสรักสุขภาพ , ความสะดวกสบาย , การเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ Sustainability เทรนด์ที่กำลังมาแรงแบบสุด ๆ ฯลฯ

2.การนำเสนอนวัตกรรมที่ต้องต่างไปจากเดิม ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจอาหาร ที่ ‘รสชาติอร่อย’ ยังคงเป็นตัวชูโรง แต่ตอนนี้ต้องเติมนวัตกรรมอื่น ๆ เข้าไป อาทิ กินแล้วดีต่อสุขภาพ , แพ็กเกจจิ้ง และ ดีไซน์ เป็นต้น

3.เรื่องของดิจิทัล และเทคโนโลยี ซึ่งมาตอบโจทย์ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า

“อย่างแผนในปี 63 เราพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค เช่น Health & Wellness ที่พัฒนาสูตรอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ , การเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้า ก็นำเทคโนโลยีดิจิทัลมา ส่วน Sustainability มีการพัฒนานวัตกรรมใน 3 ธุรกิจของเรา ได้แก่ เครื่องดื่ม , ร้านอาหาร และอาหารพร้อมทาน เพื่อแสดงความความรับผิดชอบในเรื่องนี้ ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ”

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ธุรกิจเครื่องดื่ม เร่งดึงฐานวัยรุ่นคืน ควบคู่ขยายกลุ่มพรีเมียม  

สำหรับกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม แม้ตอนนี้โออิชิจะครองความเป็นเบอร์ 1 ในตลาดชาเขียวด้วยมาร์เก็ตแชร์กว่า 45% แต่เพื่อสร้างการเติบโตให้มากขึ้น ทาง เจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด จึงได้วางกลยุทธ์หลัก ๆ ไว้ดังนี้

– ดึงฐานวัยรุ่น 13-24 ปี ให้กลับมาเป็นแฟนชาเขียวโออิชิอีกครั้ง หลังจากลดลง เพราะปัญหาเรื่องการเก็บภาษีชาเขียว ด้วยการจับมือเกมชื่อดังซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มนี้อย่าง ROV ทำแคมเปญ OISHI x ROV

– ขยายฐานพรีเมียม ที่แม้จะมีมาร์เก็ตแชร์เพียง 10% ของตลาดทั้งหมด แต่เติบโตถึง 25% โดยแนวทางของโออิชิ คือ ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพ เช่น โออิชิ โกลด์ เกียวคุโระ ชาเขียวที่ได้รับการยกย่องจากชาวญี่ปุ่นว่าเป็นหนึ่งในชาที่หายาก และให้รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์

– ขยายตลาดส่งออก จากเดิม 13 ประเทศ เพิ่มเป็น 33 ประเทศทั่วโลก ซึ่งแผนการขยายตลาดนั้น จะเน้นสร้างความแข็งแกร่งในตลาดหลัก คือ กัมพูชาและลาว , สร้างความเป็นผู้นำในตลาดเกิดใหม่ , ขยายตลาดในกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ , สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและขายในระดับภูมิภาค และสร้างความพร้อมของบุคลากรในการทำงานในต่างประเทศ

ธุรกิจร้านอาหาร เน้นไซด์เล็ก-เพิ่มแบรนด์ใหม่

ด้านธุรกิจอาหาร ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จะสร้างการเติบโตผ่าน 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

– Growth Engine ผ่านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และเมนูใหม่ ๆ รวมไปถึงขยายสาขาต่อเนื่อง และพัฒนาช่องทางการสั่งซื้อออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง เช่น www.oishidelivery.com ควบคู่ไปกับการร่วมมือกับผู้ให้บริการเดลิเวอรี่ยักษ์ใหญ่ของไทยทั้งแกร็บฟู้ด ไลน์แมน และ ฟู้ดแพนด้า

– ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ และเพิ่มโมเดลรูปแบบใหม่ให้ตรงกับโลกปัจจุบันและเทรนด์ผู้บริโภค เช่น ‘ชาบูชิ 24 ชั่วโมง’ รับวิถีคนเมืองและ Sleepless Society  , การปรับโฉมโออิชิแกรนด์ สาขาสยามพารากอน ฯลฯ

– Reinvented Customers Experience เพื่อมอบประสบการณ์แปลกใหม่ น่าประทับใจแก่ผู้บริโภค  และ Spin-off Brands: พัฒนาและเปิดตัวแบรนด์ใหม่ เชโฮว ยู (HOU YUU), ซากาเอะ (SAKAE) จับกลุ่มลูกค้าระดับบน และ ระดับบน และ โอโยกิ (OYOKI) ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ เปิดสาขาแรก ณ อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ และสาขา 2 สามย่านมิตรทาวน์

น้องใหม่ โอโยกิ (OYOKI) ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ

เร่งเครื่องธุรกิจอาหารพร้อมทาน

ในกลุ่มธุรกิจอาหารพร้อมทาน หลังจากมีการเปลี่ยนแปลง โดยให้ทั้งหมดมาอยู่ภายใต้แบรนด์ ‘โออิชิ อีทโตะ (OISHI EATO)’ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำแล้ว ทาง เมขลา เนติโพธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหารสำเร็จรูป บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า ต่อจากนี้พร้อมลุยเต็มที่ เพื่อสร้างธุรกิจนี้เป็นอีกธุรกิจที่สร้างการเติบโตในภาพรวม

ส่วนกลยุทธ์ ก็คือ การสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง และเป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมสร้างภาพลักษณ์ตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทานสไตล์ญี่ปุ่น ถัดมา การนำเสนอนวัตกรรม ด้วยการสร้างความต่างทั้งรูปแบบ รสชาติ คุณค่าทางโภชนาการ และแพ็กเกจจิ้ง เพื่อตอบความต้องการผู้บริโภคที่หลากหลาย รวมถึงการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังกลุ่มฟู้ด เซอร์วิส ด้วยการซินเนอร์ยี่ระหว่างพันธมิตรกลุ่มธุรกิจในเครือไทยเบฟ รวมทั้งขยายสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้นทั้งอาเซียนและสหภาพยุโรป

หากเปรียบโออิชิเป็นคน นงนุช บอกว่า ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงวัยของการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ส่วนอีก 10 ปีต่อจากนี้ อยู่ในวัยของการวางรากฐาน และมองหา ‘คู่ใจ’ ที่จะมาช่วยสร้างครอบครัวให้แข็งแรงมากขึ้นด้วยกัน ดังนั้น การวางวิสัยทัศน์ใน 10 ปีข้างหน้า จึงเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับองค์กรแห่งนี้

 

 

 


  • 177
  •  
  •  
  •  
  •