เพราะปัญหาสังคมเป็นเรื่องของทุกคน SET ชวนร่วม “ออกแบบ ทางออก มหาชน” ในงาน SET Social Impact Day 2019

  • 802
  •  
  •  
  •  
  •  

เพราะชื่อของ “ตลาดหลักทรัพย์” ที่ใครเห็นก็คงทราบว่า มีพันธกิจหลักคือเรื่องเกี่ยวกับการเงินการลงทุน แต่เมื่อโลกธุรกิจการเงินไม่สามารถอยู่ได้โดยลำพัง ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นการขับเคลื่อนในมิติสังคมโดยองค์กรนี้ ทั้งการสนับสนุนให้รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล

“ความตั้งใจแรกของเรา คือ ต้องการสร้าง SET Social Impact Platform เป็นพื้นที่ให้คนได้มาเจอกัน มองเห็นกัน ระหว่างภาคธุรกิจ ที่มีเงิน มีกำลัง และมีความตั้งใจดีๆ อยากจะทำอะไรให้กับสังคม ให้เขาได้เจอกับกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม หรือ SE (Social Enterprise) ที่มีโจทย์เดียวกัน ได้มาทำงานร่วมกัน เราจึงเป็นเหมือน Impact Multiplier เป็นตัวคูณให้เขามาเจอกัน และสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้เกิดผลลัพธ์ในการแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน” คุณนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเพื่อสังคม และสื่อสารองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของ SET Social Impact Platform เมื่อปี 2016 โดยได้ทำต่อเนื่องจากนั้นเป็นต้นมา

ล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ คือ งาน SET Social Impact Day 2019 ที่จะจัดระหว่างวันพุธที่ 17 –วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎคม 2562 เวลา 8.30 – 17.00 น. ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ. รัชดาภิเษก

จาก Visibility สู่ Ability และ Co-creation

การทำงานของ SET Social Impact Platform ในเรื่องแรก Visibility ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการสร้างพื้นที่ให้ภาคธุรกิจซึ่งมีกำลังทรัพย์ และมีความตั้งใจดีๆ ที่จะแก้ปัญหาสังคม ได้พบกับฝั่งธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำงานในด้านที่ตนสนใจ ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วโดยมี SETsocialImpact.com เป็นแพลตฟอร์มหลัก

สเต็ปถัดมา คือ Ability โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเหมือนพี่เลี้ยง ช่วยบ่มเพาะ เสริมศักยภาพให้ธุรกิจเพื่อสังคมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างเครือข่ายการทำงานให้เป็นไปอย่างแข็งแกร่ง ผ่านหลายโปรแกรม อาทิ หลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม SE101 และ SE102, SET Social Impact Gym โครงการอบรมเข้มข้นโดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และธุรกิจเพื่อสังคมมีโอกาสนำเสนอผลงานเพื่อ matching ความร่วมมือกับภาคธุรกิจ รวมถึงขยายผลสู่ภูมิภาคด้วยแนวคิดการสร้างผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้เข้มแข็งในท้องถิ่น (Local-to-Local Growth) อย่างยั่งยืน

จากนี้ไป ก็เข้าสู่สเต็ปการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง คือ Co-creation โดยต้องการ “คูณ” ให้เกิดพลังบวก เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในอีเวนต์ใหญ่ประจำปีอย่าง SET Social Impact Day ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อให้เป็นพื้นที่ข้อมูลความรู้ พบปะ หารือเพื่อสร้างเน็ตเวิร์คหรือเจรจาธุรกิจ รวมทั้งการนำเสนอ Showcase ของทั้งภาคธุรกิจและภาคสังคม

“ปีนี้งาน SET Social Impact Day 2019 จัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก คือ “Partnership for Impact Co-creation ออกแบบ ทางออก มหาชน” เพราะหมดยุคของการนั่งพูดแต่เรื่องปัญหาแต่ไม่ถกหาทางออกกันได้แล้ว งานของเราในปีนี้จึงจะเน้นหนักเรื่องการแก้ปัญหา พูดเรื่องนวัตกรรม พูดเรื่องโซลูชั่นในการแก้ปัญหามากกว่าจะเอาข้อมูลปัญหามาตีแผ่และลงจากเวทีโดยไม่ทิ้งทางแก้อะไรเอาไว้” คุณนพเก้า อธิบาย

รวมพลัง สร้างนวัตกรรมสังคม

กิจกรรมภายในงาน ทั้งบนเวทีและด้านล่างเวที จะอยู่ในกรอบของปัญหาสังคมหมวดหลักๆ คือ การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม กลุ่มเปราะบาง รวมถึงการเกษตรและพัฒนาชุมชน โดยประกอบด้วย

  • Impact Seminar เวทีที่บรรจุหัวข้อสัมมนาถึง 10 หัวข้อ ครอบคลุม 5 มิติของปัญหาของสังคมไทย ที่มุ่งสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด และนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน
  • Impact Gallery (SE showcase) บูธผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม นำเสนอแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อผลลัพธ์ในการแก้ไขปัญหาให้กับสังคมไทยในมิติต่างๆ เพื่อการเชื่อมโยงกับภาคตลาดทุน เพื่อส่งเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจ
  • Impact Dialogue Rooms พื้นที่เพื่อการสนทนาประเด็นเชิงลึก เพื่อผลักดันให้เกิดการทำงานและการเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจเพื่อสังคมร่วมกันในอนาคต
  • Impact Market จำหน่ายสินค้าของธุรกิจเพื่อสังคมหลากหลาย ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและความเข้มแข็งให้กับชุมชนต่างๆ ผู้ด้อยโอกาส ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสังคมไทยร่วมกันทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อ
ภาพจากงาน SET Social Impact Day 2018
ภาพจากงาน SET Social Impact Day 2018

ไฮไลต์ของเสวนา อาทิเช่น ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่จะมาแชร์แนวทางการทำงานของกองทุนฯ ในการสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับเด็กที่ขาดแคลน

ส่วน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ถอดหมวกไฟแนนซ์ออก และจะมาเล่าถึงแนวคิดการดูแลสุขภาพที่ไม่ได้ดีแค่ตัวเรา แต่ยังช่วยให้เศรษฐกิจชาติได้อีกด้วย ขณะที่ ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค ศิลปินนักแต่งเพลงรุ่นใหญ่ ก็จะมาแชร์ประสบการณ์การทำงานอาสาที่ตนเองได้เข้าไปทำกับโรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นต้น

“ปีนี้ เราสื่อสารเรื่องสุขภาพกายสุขภาพใจมาก เพราะเราเห็นว่า การรักษาสุขภาพ ไม่ได้ดีแค่ทำให้ตัวเองไม่ป่วย แต่จะทำอย่างไรให้สามารถรักษาผลิตภาพ หรือ Productivity จากบุคคลให้ยังมีศักยภาพ และสร้างประโยชน์แก่สังคมได้อย่างไร” คุณนพเก้า กล่าว

Triple Win ‘People-Planet-Profit’

นอกจากการให้ความสำคัญเรื่องการแก้ปัญหาแล้ว จะเห็นคำว่า “มหาชน” อยู่ในนั้นด้วย

“เราต้องการเน้นการมีส่วนร่วม เพราะทุกคนต่างต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคมและโลกด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะในเรื่องของ Stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเดิมคนก็จะคิดถึงแค่ผู้ถือหุ้น ลูกค้า ซัพพลายเออร์ ฯลฯ แต่เราอยากให้คนเปลี่ยนทัศนคติใหม่ มองคำว่า Stakeholder เป็นมากกว่านั้น ไปให้ถึงสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า ชุมชน สังคม”

โดยเฉพาะการสร้างทัศนคติที่ว่า “ปัญหาสังคมเป็นเรื่องที่ทุกคนล้วนต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ” ดังนั้น คอนเซปต์การจัดงานจึงจะเน้นเรื่องการมีส่วนร่วม โดยไม่เพียงแต่สามส่วนที่เป็นองค์ประกอบหลักของงานอย่าง ภาคธุรกิจ, ธุรกิจเพื่อสังคม และเซเลบริตี้ ที่จะมาร่วมแชร์แนวทางการแก้ปัญหาสังคมในรูปแบบที่แตกต่างกันแล้ว “ผู้มาร่วมงาน” ยังถือเป็นตัวละครสำคัญของอีเวนต์นี้ ที่แม้ไม่ได้ขึ้นเวที หรือมีโชว์เคสมาจัดแสดง แต่สามารถแสดงพลัง สนับสนุนสังคมได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“งานนี้ เราเน้นเรื่องการมีส่วนร่วม อย่างการเสวนาก็เปิดให้คนด้านล่างเวทีได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ นอกจากนี้เรายังมีบอร์ดสำหรับแนะนำตัว เรียกว่า Impact Board ให้มาแปะนามบัตรหรือโบรชัวร์แนะนำตัวว่า ทำเรื่องเกี่ยวกับอะไร แนวทางเป็นอย่างไร คนที่มาดู ถ้าสนใจ อยากจอยโปรเจคต์กัน ก็ติดต่อมา แล้วทางงานก็มีห้องมีทติ้งชื่อ Impact Dialogue สำหรับใครที่อยากคุยงานกันต่อ ก็มาจองใช้ห้องได้ แล้วเราก็มี Impact Market ให้ธุรกิจเพื่อสังคมที่เราคัดสรรมาแล้วได้นำสินค้ามาขาย และบอกเล่าสตอรี่ของงานที่เขาทำได้ด้วย”

สำหรับความคาดหวังที่ต้องการจะเห็นจากการจัดงานในครั้งนี้ คุณนพเก้าเชื่อว่า คนที่มาร่วมงานน่าจะต้องได้อะไรสักอย่างหนึ่งกลับไป ถ้าไม่ใช่พาร์ทเนอร์ใหม่ๆ ก็อาจจะเป็นความรู้ แรงบันดาลใจ ได้เติมไฟซึ่งกันและกัน หรืออย่างน้อยๆ ก็น่าจะได้อุดหนุนสินค้าดีๆ ที่สร้างประโยชน์กลับบ้านไปสักชิ้นหนึ่งก็ได้

แต่ถ้าถามถึงความคาดหวังในระยะยาวกับสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามทำอยู่ เธอตอบว่า..

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชื่อบอกอยู่แล้วว่าเป็น Exchange เรามีประสบการณ์ในเรื่องการแลกเปลี่ยน Wealth แต่ตอนนี้เราต้องการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อแลกเปลี่ยน Value หรือคุณค่าอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน แล้วเราก็คาดหวังอยากเห็นเมืองไทย ธุรกิจไทย และคนไทย มีแนวคิดเรื่องความยั่งยืน (Inclusive Growth) ฝังอยู่ใน DNA ”

และเมื่อวันใดที่กลไกการเติบโตอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นในสังคมไทย เมื่อนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพัฒนาบทบาทไปตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

“เราทำ..ก็เพื่อจะหยุดทำ เมื่อกลไกสังคมเกิดขึ้นได้จริง”

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน SET Social Impact Day 2019 “ออกแบบ ทางออก มหาชน” ที่จะจัดระหว่างวันที่ 17 และ 18 กรกฎคม 2562 เวลา 8.30 – 17.00 น. ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ. รัชดาภิเษก สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.setsocialimpact.com


  • 802
  •  
  •  
  •  
  •