กรวัฒน์ เจียรวนนท์ แห่ง EKO กับเป้าหมาย Startup ไทยเจาะตลาดโลก

  • 9
  •  
  •  
  •  
  •  

13000410_10153374460351020_44335207_o

ชื่อของ กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ไม่ได้มีดีแค่อยู่ในตระกูลนักธุรกิจเจ้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP และ ทรู คอร์ปอเรชั่น แต่ กรวัฒน์ คือผู้ที่ก่อตั้ง EKO Corporation ขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองล้วนๆ จากจุดกำเนิดใน Silicon Valley ด้วยเงินทุนจาก Incubator เริ่มต้นที่ 20,000 เหรียญ เกือบจะล้มเหลวก็หลายครั้ง จนปัจจุบัน EKO เป็น Startup ที่ให้บริการกับบริษัทและสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในประเทศ และต่างประเทศ

บอกได้ว่า กรวัฒน์ เป็นหนุ่มใหญ่แห่งครอบครัวเจียรวนนท์ที่กำลังเริ่มต้นสร้างอาณาจักรธุรกิจของตัวเองได้อย่างน่าสนใจที่สุด Marketingoops ได้มีโอกาสนั่งคุยแบบเป็นกันเอง และได้สัมผัสความไม่ธรรมดาของหนุ่มคนนี้ และต่อไปนี้คือ สิ่งที่สะท้อนออกมาจากรุ่นที่ 3 แห่งตระกูลเจียรวนนท์

K_Chearavanont2

เติบโตขึ้นมากับ Startup และหลงใหลใน Startup

EKO เกิดขึ้นจากความหลงใหลใน Startup ของ กรวัฒน์ ซึ่งพอจับต้นสายปลายเหตุแล้ว กรวัฒน์ เกิดขึ้นมาจากครอบครัว Startup ของแท้ (แม้จะยังไม่มีเทคโนโลยีให้ใช้มากนักในเวลานั้น) เพราะ CP ก็เริ่มต้นมาจาก ธนินทร์ เจียรวนนท์ ก่อนที่จะยิ่งใหญ่เช่นในปัจจุบัน หรือ ทรู คอร์ปอเรชั่น ก็เกิดขึ้นจาก ศุภชัย เจียรวนนท์ ทำให้ กรวัฒน์ สนใจที่จะสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมาเช่นเดียวกัน

กรวัฒน์ เล่าว่า มีกฎของครอบครัวที่ลูกหลานต้องปฏิบัติตามนั่นคือ ลูกหลานทุกคนห้ามทำงานกับบริษัทในเครือของครอบครัว และต้องออกมาหาความสำเร็จด้วยตัวเองจากข้างนอก และเมื่อประสบความสำเร็จแล้ว หากจะเข้ามาสานต่อกิจการในเครือ ก็ห้ามเข้ามาอยู่ในบริษัทที่มีรายได้อยู่แล้ว คุณปู่ (ธนินทร์) กำหนดกฎนี้ขึ้นมาเพราะต้องการให้ลูกหลานรักษา Spirit of Entrepreneurship ไว้อย่างเข้มแข็งในทุกรุ่น

ดังนั้น ในการสร้างและดำเนินธุรกิจของ EKO มีหลายครั้งที่เกือบล้มเหลว มีหลายครั้งที่เกือบจะยอมแพ้ แต่ด้วยคำสอนของคุณพ่อ (ศุภชัย) ทำให้ได้เรียนรู้และทำให้แข็งแกร่งขึ้น และฝ่าฟันอุปสรรคมาได้ จนวันนี้ EKO สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างชัดเจน และพร้อมสำหรับการขยายตลาดไปทั่วโลก

chair
เก้าอี้ซ้ายมือคือจุดที่ CEO ของ EKO นั่งทำงาน

EKO Communication platform สำหรับองค์กรยุคใหม่

การเริ่มต้นของ EKO นั้นเกิดจากการมองเห็น คนใช้แอพพลิเคชั่นแชทกันอย่างแพร่หลายทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เช่น LINE, Whatsapp และ Messenger แต่จุดอ่อนของแอพเหล่านี้คือ การไม่แยกเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัวออกจากกัน ซึ่งตามปกติเรื่องงาน จะมีความลับทางธุรกิจ มีฟังกชั่นการทำงานที่ต้องสอดคล้องกับความต้องการของบริษัทต่างๆ ขณะที่เรื่องส่วนตัว ก็ต้องการความสนุกสนาน ต้องการสีสัน และการใช้งานที่เป็นส่วนตัว

กรวัฒน์ จึงตัดสินใจพัฒนาแอพพลิเคชั่น EKO ขึ้นมา มีการเรียนรู้ ปรับปรุง จนในที่สุดปลายปี 2013 จึงได้ความชัดเจนว่า EKO คือ Communication platform สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ และทำให้ได้เงินทุน Seed round จำนวน 1 ล้านเหรียญจาก 500startups ขยายทีม พัฒนาบริการได้ดี กระทั่งปี 2015 ได้รับทุนรอบ SerieA จาก Gobi Partners ซึ่งเป็นVC อันดับต้นๆ จากประเทศจีน จำนวน 5.7 ล้านเหรียญ และตัตสินใจกลับมาพัฒนาบริการที่ประเทศไทย เพราะเห็นว่าโอกาสใน Asia มีมากกว่าอเมริกา

“ในชีวิตประจำวันทุกคนใช้ LINE, Whatsapp หรือ Messenger ได้ แต่ที่องค์กรยังไม่มีบริการที่ชัดเจน และ EKO กระโดดเข้ามาทำ และมองตลาดทั่วโลกตั้งแต่เริ่ม เมื่อวิสัยทัศน์ดี บริการดี และโอกาสการตลาดชัดเจน จึงได้เงินทุนจาก VC”

eko1

Asia ภูมิภาคที่เหมาะสำหรับ Startup ด้วยแนวคิด Mobile First

จากประสบการณ์ที่เรียนระดับไฮสคูลมาจากอเมริกา และเริ่มต้นธุรกิจ Startup ที่นั่นทำให้ กรวัฒน์ รู้ว่าวัฒนธรรมการทำงานของอเมริกันยังไม่มีความเป็น Mobile มากนัก เพราะยังติดกับการทำงานแบบเดิมๆ อยู่มาก ขณะที่ภูมิภาค Asia ประชาชนมีแนวคิดแบบ Mobile First มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้นการย้ายกลับมาประเทศไทยจะเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจให้กับ EKO ได้อย่างมหาศาล ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีบริษัทชั้นนำหลายแห่งใช้บริการของ EKO อยู่ โดยที่พนักงานไม่รู้เลย เช่น ธนาคารกรุงเทพ, ทรู คอร์ปอเรชั่น, การบินไทย, โตโยต้า และ ทีโอเอ รวมถึงอยู่ระหว่างการเตรียมเปิดบริการกับธนาคารไทยพาณิชย์ ขณะที่ตลาดต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย ซึ่งยอดขายส่วนใหญ่มาจากนอกประเทศ

ด้วยการขยายตัวที่รวดเร็ว EKO เพิ่มกำลังคนจาก 10 คนเป็น 40 คน และจะเพิ่มเป็น 80 คนภายในปลายปีนี้ พิสูจน์ว่าครึ่งหลังของปี 2016 EKO จะขยายตัวอีกมาก โดยเฉพาะการเตรียมบุกตลาดจีนในปีนี้ อีกทั้งกำลังมองตลาดยุโรปซึ่งมีโอกาสอีกมาก

กรวัฒน์ ยอมรับว่า การทำตลาดเป็นเรื่องที่ยาก ใช้เวลานาน และเริ่มต้นได้ช้า เพราะลูกค้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ การตัดสินใจเลือกบริการจะต้องมั่นใจว่าดีจริงและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นกว่าจะได้ลูกค้าแต่ละรายต้องสร้างความเชื่อมั่นอย่างยิ่ง โดยมี ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นลูกค้ารายแรกที่ใช้บริการ และพิสูจน์ว่ามีคุณภาพจริงๆ ช่วยให้การขยายตลาดในไทยมีความเป็นไปได้มากขึ้น ขณะที่ลูกค้าต่างประเทศจะเน้นหาพันธมิตรช่วยเจาะลูกค้าองค์กรรายใหญ่เป็นจุดเริ่ม จากนั้นการขยายจะทำได้ไม่ยากนัก

“EKO เกิดขึ้นจากการออกไปสัมผัสโลกของ Startup เริ่มต้นจากเงินทุนที่ได้จาก VC ไม่ได้ใช้เงินทุนของ CP และ ทรู แม้ว่าจะมีทรูเป็นลูกค้ารายแรก แต่ก็ใช้เวลาพิสูจน์ว่าเป็นบริการที่มีคุณภาพจริง ใช้เวลาในการเข้าไปนำเสนอ ยืนยันว่าไม่มีเส้นสายในครอบครัว เพราะทุกวันนี้ CP ก็ไม่ได้ใช้บริการของ EKO ซึ่งทั้งหมดเป็นคำสอนภายในครอบครัวเพื่อทำให้ลูกหลานแข็งแกร่งขึ้น”

EkoGreen_Mockup_UI

Security คือจุดเด่นอันดับ 1 ของ EKO กุญแจสู่ตลาดสากล

จุดเด่นที่ทำให้ EKO แตกต่างจาก Communication platform อื่นๆ มีหลายส่วนด้วยกัน อันดับแรกคือ Security เพราะเรารู้ว่า องค์กรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสถาบันการเงินให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูลเป็นอันดับ 1 การจะใช้แอพการสื่อสาร จะผ่าน Server ภายนอกไม่ได้ ซึ่ง EKO มีการ Encrypt ข้อมูลหลายชั้น และเก็บไว้กับตัวองค์กรนั้นเอง สามารถส่งข้อมูล ดึงข้อมูลกลับ รวมถึงส่งข้อความและลบข้อความในแอพนี้จากมือถือของพนักงานทุกคนได้ จุดเด่นนี้ทำให้สถาบันการเงินและธนาคารจากทั้งภูมิภาคให้ความสนใจอย่างมาก และนี่คือลูกค้าระดับโลกของ EKO

ส่วนต่อมาคือ ความสามารถในการปรับแต่งได้อย่างอิสระ อย่างที่กล่าวไปแต่แรกว่า พนักานบริษัทต่างๆ ไม่รู้ว่าใช้บริการของ EKO เพราะมีการปรับให้เข้ากับแต่ละองค์กร พร้อมกับใช้ Logo ขององค์กรนั้นๆ เหมือนเป็นแอพภายในบริษัทเอง

อีกจุดเด่นหนึ่งคือ การมีฟีเจอร์จำนวนมากครอบคลุมการติดต่อทุกรูปแบบภายในองค์กร โพสต์ แชร์ กรุ๊ป และยังมีความยืดหยุ่นสูง สามารถผสานกับแอพภายในบริษัทนั้นๆ ได้ด้วย รวมถึงมีแบบฟอร์มสำหรับ HR เพื่อให้พนักงานสามารถส่งแบบฟอร์มต่างๆ ให้กับ HR ได้โดยตรง เรียกว่าด้วย EKO สามารถสร้างการทำงานที่ดีได้ทุกที่ทุกเวลาเหมือนอยู่ออฟฟิศ

“บริการ Enterprise Messaging มาแรงมาก อาจจะดูไม่เซ็กซี่มีลูกค้าหลายสิบล้านราย แต่มีมูลค่าที่จับต้องได้ สร้างรายได้ชัดเจน เช่น Slack มีผู้ใช้งานประมาณ 1 ล้านคน แต่บริษัทมีมูลค่า 4,000 ล้านเหรียญในเวลา 2 ปี”

ดังนั้น เป้าหมายของ EKO ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะต้องมีลูกค้า 200-300 องค์กรทั่วโลก

EkoGreen_PhotoMockup_Chat

สร้าง EKO ในไทยเพื่อบุกตลาดโลก พิสูจน์ซอฟต์แวร์ไทยใช้งานได้จริง

กรวัฒน์ บอกว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาเห็นซอฟต์แวร์ที่คิดและพัฒนาจากต่างประเทศถูกซื้อมาใช้ในไทย ดังนั้นการย้ายกลับมาไทยเพราะต้องการพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า คนไทยสามารถสร้างสรรค์ซอฟต์แวร์และไปขายให้ต่างประเทศได้ และต้องการทำให้คนไทยด้วยกันเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง ยิ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ความเป็น Mobile First มากที่สุด ทั้ง Facebook, Instagram และ LINE ความเป็นไปได้เปิดกว้างเสมอ

สิ่งที่ Startup ต้องให้ความสำคัญมากคือ การกำหนดเป้าหมาย ต้องคิดใหญ่ระดับโลก มองตลาดระดับโลก และจะได้เงินจาก VC ระดับโลก ซึ่งการจะทำให้สำเร็จนั้นต้องการคนเก่งมาทำงานด้วย เหมือน Model ของ Silicon Valley ที่ดึงคนเก่งจากทั่วโลกไปทำงานด้วยซึ่ง EKO จึงวางตัวเองเป็นบริษัท International ที่ดึงคนจากทั่วโลกมาทำงานด้วยกัน

“ทำงานที่ EKO ให้อิสระอย่างเต็มที่ ไม่จำกัดจำนวนวันหยุด ไม่มีเวลาเข้าออกงาน จะทำที่ไหนก็ได้ จะใส่เสื้อผ้าอะไรมาทำงานก็ได้ มีสวัสดิการด้านสุขภาพที่ดีที่สุดเพื่อให้พนักงานไม่ต้องกังวลใจ เน้นคนที่มีความรับผิดชอบสูง พร้อมทำงานหนัก และออฟฟิศมีงบสนับสนุนให้พนักงานทุกคนไปท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์ใหม่”

ด้วย Look ที่ดูสบายๆ แต่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์และเต็มไปด้วยพลัง ไม่น่าแปลกใจถ้าจากนื้ชื่อของกรวัฒน์ เจียรวนนท์ จะถูกกล่าวถึงมากขึ้น แต่ไม่ได้มาจากการเป็นสมาชิกของครอบครัวเจียรวนนท์ แต่เป็นในฐานะผู้ก่อตั้ง EKO Communication platform ของไทยที่มีการใช้งานไปทั่วโลก

Copyright © MarketingOops.com


  • 9
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE