ปีนี้ถือเป็นปีที่ e-Commerce กลายเป็นพระเอกในแง่ของการสร้างรายได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ช่วยให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภค อีกทั้ง e-Commerce ยังเป็นช่องทางการขายที่มีการลงทุนเพียงเล็กน้อย ซึ่งจากข้อมูลของ Priceza พบว่า ปีนี้ e-Commerce แบ่งออกเป็น 3 ช่องทางหลักๆ ทั้ง e-Marketplace, Social Commerce และ e-Retail หรือ e-Brand
โดย Social Commerce ที่ผ่านช่องทาง Social Media มีสัดส่วนการซื้อขายมากที่สุดถึง 40% เช่น LINE, Facebook, Instagram ขณะที่ e-Marketplace อย่าง Lazada, Shopee, JD Central.com ได้รับความนิยมรองลงมาถึง 35% และที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้นจะเป็นในส่วนของ e-Retail หรือ e-Brand ที่ได้รับความนิยมถึง 25% โดยการซื้อทั้ง 3 รูปแบบส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อผ่านสมาร์ทโฟนถึง 99% ซึ่งในจำนวนนี้ 70% มีการใช้สมาร์ทโฟนทั้งก่อนซื้อและหลังซื้อ โดย 77% ของการใช้สมาร์ทโฟนก่อนซื้อสินค้าจะเป็นการค้นหาข้อมูล และอีก 56% จะเป็นการเปรียบเทียบสินค้าที่ต้องการ
จากข้อมูลของ Priceza ยังพบว่า ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะใช้เงินในการช้อปปิ้งออนไลน์ประมาณ 475 บาทต่อคน ลดลงจากปีที่แล้วที่มีการใช้เงินอยู่ที่ประมาณ 769 บาทต่อคน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลยุทธ์ของ e-Marketplace ที่ต้องการดึงลูกค้ารายใหม่ให้เข้ามาใช้บริการ ด้วยโปรโมชั่นลดราคาทำให้การใช้เงินต่อคนลดลง ซึ่งการชำระด้วยการโอนเงินยังเป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดถึง 43%
5 เทรนด์ปี 2020 ต่างชาติเจาะตลาดไทย
นอกจากปีนี้จะเป็นปีที่ดีของ e-Commerce แล้ว ปี 2020 จะกลายเป็นปีที่เรียกว่า มองด้านดีจะเป็นปีที่ e-Commerce โตแบบที่จะพลิกโฉมธุรกิจได้อย่างเห็นได้ชัด มองในแง่ร้ายผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้เตรียมความพร้อมจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในปีหน้า ด้วยปัจจัยในเรื่องของต่างชาติที่พร้อมบุกตลาดเข้าสู่ประเทศไทยผ่านรูปแบบ Cross Border
โดยจากข้อมูลพบว่า เมื่อรวม 3 e-Marketplace รายใหญ่ทั้ง Lazada, Shopee, JD Central.com มีจำนวนสินค้าที่ขายได้ในปี 2019 สูงถึง 174 ล้านชิ้นมากกว่าปี 2018 ถึง 100 ล้านชิ้น (จำนวนสินค้าที่ขายได้ในปี 2018 อยู่ที่ 74 ล้านชิ้น) เติบโต 2.4 เท่า เมื่อจำแนกการขายในปี 2019 ออกมาจะเห็นว่า สินค้าที่มาจาก Cross Border สูงถึง 135 ล้านชิ้น โดยเป็นสิ้นค้าในประเทศไทยเพียง 39 ล้านชิ้นเท่านั้น แต่เมื่อลงรายละเอียดจะพบว่า มีผู้ขายคนไทยสูงถึง 1 ล้านราย แต่ผู้ขาย Cross Border มีเพียง 8.1 หมื่นรายเท่านั้น
นั่นชี้ให้เห็นว่าสินค้า Cross Border มีราคาถูกแต่ขายสินค้าหลากหลายประเภท ขณะที่ผู้ขายคนไทยขายสินค้าเพียงไม่กี่ประเภทแต่มีราคาสูง โดยรองเท้าผู้ชายและ Gsdget เป็นสินค้าที่นิยมซื้อแบบ Cross Border นอกจากนี้ยังมี Case Study ที่ชี้ให้เห็นว่าช่วงระยะเวลาไม่กี่เดือนการส่งสินค้าจากจีนมายังประเทศไทยใช้เวลาน้อยลง จากเดิมที่ใช้ระยะเวลา 12-15 วันเหลือเพียง 6-7 วัน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่จีนลดเวลาการตรวจสินค้าจาก 9 วันเหลือเพียง 2 วันเท่านั้น
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการสร้างความหลากหลายของ e-Marketplace จึงมีการส่งเสริมให้สินค้าต่างประเทศเข้ามาขายยใน Platform ของตัวเอง รวมไปถึงนโยบายรัฐที่มีการสนับสนุนการค้าด้วยการเปิด Free Trade โดยสินค้าที่ไม่เกิน 1,500 บาทไม่ต้องเสียภาษีใดๆ (ภาษีนำเข้า, VAT) ที่สำคัญคนไทยต้องการสินค้าที่มีราคาถูกซึ่งเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศ
ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญ 3 เรื่องทั้ง การสร้างสินค้าให้มีความแตกต่างมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร นอกจากนี้ควรเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น การให้บริการที่รวดเร็วหรือการสร้างความประทับใจที่ช่วยให้ซื้อได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการขยายช่องทางต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกช่องทางที่ลูกค้าจะสามารถเข้าถึงสินค้าได้ทั้งเว็บไซต์, e-Marktplace และ Social Media
แบรนด์เห็นชัดเจนขึ้น เริ่มขายเองสู่ลูกค้า
อย่างที่บอกไปแล้วว่าปีนี้ e-Commerce โต ซึ่งอัตราการเติบโตนี้แบรนด์ก็เห็นเช่นกัน เนื่องจากปีนี้ถือเป็นปีที่แบรนด์ต่างๆ ทดสอบการขายผ่าน e-Commerce โดยมีแบรนด์ที่ขายอยู่ใน e-Marketplace กว่า 44,000 แบรนด์ และมีแบรนด์ที่ทำการขายเองถึง 1,700 แบรนด์ และมีแนวโน้มที่จะเริ่มขายสินค้าจำนวนที่มากขึ้นจากอัตราการเติบโตของ e-Commerce
นอกจากนี้แบรนด์ต่างๆ เริ่มที่ทำการขายสินค้าโดยตรงถึงผู้บริโภคโดยไม่ผ่านคนกลาง โดยจะเห็นได้จากการที่แบรนด์เริ่มเปิดการขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เช่น LION เปิดเว็บไซต์เพื่อขายสินค้า เป็นต้น รวมไปถึงการเปิดเพจใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับการขายสินค้าโดยเฉพาะ ขณะที่เพจที่เป็น Official จะเน้นไปที่การสร้างแบรนด์
โดยแบรนด์มองว่า การขายเองจะช่วยให้เกิดความใกล้ชิดกับลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์เข้าถึงข้อมูล (DATA) ของลูกค้าได้โดยตรง นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับแบรนด์และช่วยให้แบรนด์รับทราบความต้องการของลูกค้าช่วยให้เกิดความภักดี (Loyalty) ต่อแบรนด์ และเมื่อแบรนด์มีข้อมูล (DATA) ของลูกค้า ในปี 2020 แบรนด์จะนำข้อมูลของลูกค้าเหล่านั้นมาสร้างการตลาดในแบบ Personalize ได้แบบ Real-Time
เครื่องมือใหม่ช่วยให้ซื้อขายบน Social ง่ายขึ้น
จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำระดับโลกในการซื้อขายผ่าน Social Media ในรูปของ Social Commerce ที่มีสัดส่วนถึง 40% ของธุรกิจ e-Commerce โดยมีเวียดนามตามมาติดๆ เป็นอันดับสองในสัดส่วน 36% ซึ่งแบรนด์มีการขายผ่านช่องทาง Social มากที่สุดถึง 47% สำหรับช่องทาง Social ที่นิยมใช้กันมากที่สุดจะเป็นช่องทาง Facebook และแอปฯ ในเครือทั้ง Instagram, FB Messenger และ WhatsApp ถึง 61% ขณะที่ 39% ที่เหลือคาดว่าจะเป็นการซื้อขายผ่านช่องทาง LINE
โดยในปี 2020 การซื้อขายผ่าน Social จะเติบโตมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่แอปฯ Social ต่างๆ พยายามเปิดฟีเจอร์ใหม่ที่ช่วยให้การซื้อขายง่ายขึ้นอย่าง Facebook Pay ที่ช่วยให้การซื้อขายบน Facebook ไม่ต้องคอยสลับแอปฯ ไปมาระหว่าง Facebook กับแอปฯ ด้าน Payment หรือการที่ LINE เปิดตัว LINE OA Plus e-Commerce ที่ช่วยให้สามารถซื้อขายได้ในหน้าแชทของ LINE Official Account ช่วยให้สามารถใช้การแชทปิดการขายได้
สำหรับปี 2020 แบรนด์ที่ใช้ช่องทาง Social จะไม่วัดแผนการตลาดโดยดูจาก Engagement อีกต่อไป แต่แบรนด์จะวัดผลแผนการตลาดจากยอดขาย ที่สำคัญการใช้เครื่องมือหรือบริการต่างๆ จาก Social จะมีราคาที่สูงขึ้นอีกด้วย
Ride Hailing ช่วยการส่งสินค้าเร็วขึ้น
Omni Channel อยู่ทุกที่ที่ลูกค้าต้องการ
นอกจาก e-Commerce ที่เกี่ยวกับการขายสินค้าจะเติบโตขึ้นมาก การใช้จ่ายออนไลน์ผ่านรูปแบบธุรกิจ Ride Hailing ก็มีอัตราเติบโตเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งอาหาร (Food Delivery) ซึ่งผู้เล่นรายใหญ่ในไทยมีถึง 3 รายทั้ง Grab, GET และ LINEMAN
ปีนี้กลุ่มธุรกิจ Ride Hailing เติบโตอย่างมากจากการทำตลาด Food Delivery ซึ่งจะเน้นไปที่การแข่งขันในเรื่องความหลากหลายและการส่งไว ในปีหน้าธุรกิจ Ride Hailing จะขยายบริการเข้าสู่ธุรกิจ e-Commerce โดยเฉพาะการให้บริการจัดส่งสินค้าภายใน 1 วันหรืออาจจะน้อยกว่านั้น นั่นเป็นผลมาจากการที่ปีนี้กลุ่มธุรกิจ Ride Hailing สามารถให้บริการจัดส่งอาหารได้ภายในหลักนาที
ซึ่งเทรนด์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น โดยที่อินโดนีเซียและมาเลเซียกลุ่มธุรกิจ Ride Hailing ได้เข้าไปมีบทบาทในการจัดส่งสินค้าให้กับธุรกิจ e-Commerce เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น Shopee ที่อินโดนีเซียสามารถเลือกการจัดส่งได้ว่าจะเป็น Grab หรือ GoJek ซึ่งช่วยให้สามารถจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว
นั่นส่งผลให้ในปี 2020 การซื้อขายผ่าน e-Commerce มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากความเร็วในการจัดส่งสินค้าผ่านกลุ่มธุรกิจ Ride Hailing นอกจากนี้แบรนด์หรือผู้ประกอบการที่ขายสินค้าอยู่ใน e-Commerce สามารถใช้กลุ่มธุรกิจ Ride Hailing เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้
หนึ่งใน Trend สำคัญได้อีกครั้งในปี 2560 ที่เกิดขึ้นคือการก้าวสู่ Omni Channel หรือร้านค้าต้องอยู่ทุกที่ที่ลูกค้าต้องการซื้อไม่ว่าจะเป็น Online หรือร้านค้า Offline เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี โดยการขายรูปแบบ Omni Channel ในสหรัฐฯ มีสัดส่วน ใกล้เคียงกับการขายสินค้าในร้านค้า Offline โดยมีสัดส่วนถึง 40.9% ขณะที่ Omni Channel ในประเทศไทยมีสัดส่วนเพียง 2.6% นั่นชี้ให้เห็นว่าโอกาสการเติบโตในรูปแบบของ Omni Channel ยังมีโอกาสอีกมาก
สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรต้องเตรียมตัวรับมือ
นอกจาก 5 Trend e-Commerce ที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 แล้ว คุณวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ OfficeMate ชี้ให้เห็นว่า ปี 2020 จะเป็นปีที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่เข้าสู่โลกออนไลน์ ทั้งนี้เป็นเพราะยักษ์ใหญ่จากจีนเตรียมตัวบุกเข้ามาสู่ตลาดไทยอย่างเต็มที่ ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งตัวส่งผลให้สินค้าจีนมีราคาถูกเมื่อเทียบกับสินค้าไทย
ถ้ารวมกับการขนส่งที่รวดเร็วยิ่งขึ้นผ่านธุรกิจ Ride Hailing ชนิดที่สั่งตอนนี้อีก 2 ชั่วโมงได้รับสินค้า จะยิ่งทำให้ ผู้ประอบการที่ใช้ความเร็วในการส่งสินค้าเป็นจุดขายจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรดำเนินการ โดยการนำข้อมูล (DATA) ของลูกค้ามาใช้ในการทำการตลาด แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีว่า ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการไทยจะเป็นกลุ่ม SME ซึ่งการได้มาซึ่งข้อมูล (DATA) ของลูกค้าอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ควรต้อง เร่งแสวงหาข้อมูล (DATA) มาไว้อยู่ในมือ
ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีข้อมูล (DATA) อยู่ในมือแล้ว ควรจะต้องเร่งนำข้อมูล (DATA) เหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยเร็วที่สุด เพราะจาก 5 Trend จะเห็นได้ว่า แบรนด์ระดับใหญ่ต่างๆ ก็เข้ามาเล่นในตลาด e-Commerce ซึ่งแบรนด์ใหญ่เหล่านี้มีข้อมูล (DATA) อยู่มากมายมหาศาลและสามารถใช้งานข้อมูล (DATA) เหล่านั้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ฉะนั้นผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือการจัดระบบระเบียบของบัญชีในองค์กร ซึ่งถือเป็นหัวใจพื้นฐานของการนำข้อมูล (DATA) มาใช้ให้เกิดประโยชน์