ใกล้เข้ามาแล้วกับช่วงเวลาของการส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ เมื่อย้อนมองกลับไปดูตั้งแต่ต้นปี 2022 เรียกได้ว่าถือเป็นอีกปีที่เกิดเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยจนส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางเหตุการณ์ส่งผลต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2021 บางเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นในปีนี้ และบางเหตุการณ์อาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงปี 2023
Marketing Oops! พร้อมพาทุกท่านร่วมหมุนย้อนเวลากลับไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 มาดูกันว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ และจะกลายเป็น Case Study ที่สำคัญในการรับมือต่อไปในอนาคตที่คาดการณ์กันว่า จะเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากของทุกคนและทุกธุรกิจ รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศไทย
Elon Musk บุรุษผู้เขย่าโลก Twitter
“Musk ตัดสินใจเข้าซื้อ Twitter ด้วยเงินมูลค่าถึง 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”
เป็นอีกหนึ่งวีรกรรมที่สร้างความฮือฮามากที่สุดในปี 2022 สำหรับชายที่ชื่อว่า Elon Musk เจ้าของบริษัท Tesla และ SpaceX ที่ไม่พอใจการบริหารงานของ Twitter โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จน Musk ตัดสินใจเข้าซื้อ Twitter ด้วยเงินมูลค่าถึง 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.6 ล้านล้านบาท แบบชนิดที่ว่ามีปัญหามากนัก เดี๋ยวจะเข้าไปบริหารจัดการแก้ปัญหาให้เอง
การซื้อ Twitter ของ Musk จะเรียกว่าเป็นมหากาพย์ก็ว่าได้ จากตอนแรกที่คิดว่าดีลนี้น่าจะจบลงได้อย่างสวยงามในระยะเวลาอันสั้น ด้วยปัญหาการเจรจากันภายในรวมถึง การที่ Musk ขอตรวจสอบบัญชีผู้ใช้งานจนพบว่ามี Bot จำนวนมากอยู่ในระบบ ก่อนที่จะตัดสินใจล้มดีล ทว่าก็เกิดปัญหาข้อกฎหมายจนถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาล และในช่วงวินาทีสุดท้ายของระยะเวลาการดีลจะสิ้นสุด Musk ก็ตัดสินใจเดินหน้าเข้าซื้อ Twitter เพื่อหลีกเลี่ยงการพิจารณาคดีที่มีแนวโน้มสูงว่า Musk อาจแพ้คดีได้
ซึ่งกว่าที่ดีลจะเกิดขึ้นได้จริงก็กินเวลายาวนานหลายเดือน ไม่เท่านั้นหลังจาก Musk กลายเป็นเจ้าของ Twitter โดยสมบูรณ์แล้ว ยังสร้างความฮือฮาสนั่นไปทั่วโลกด้วยการไล่ CEO และบรรดาผู้บริหารออกในทันทีแบบยกคณะ นอกจากนี้ยังมีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนอีกหลายพันคน ขณะที่พนักงานจำนวนหนึ่งก็ตัดสินใจลาออกเองเนื่องจากความไม่แน่นอนในการบริหารงานของ Musk
Meta กับศึกทั้งภายในและภายนอก
“Meta ประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากถึง 11,000 คน”
เมื่อพูดถึงการไล่ออก คงหนีไม่พ้นหนึ่งเรื่องใหญ่ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ในปี 2022 ก็คือ Meta บริษัทแม่ของ Facebook ที่เป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด และเป็นบริษัทมั่นคงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกต้องประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากถึง 11,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 13% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 87,000 คนเพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัทลงให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงมากในช่วงหลังและเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ Meta ต้องเผชิญทั้งศึกภายในและภายนอกพร้อมๆกัน
สถานการณ์ของ Meta ที่ดูไม่ดีนักไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีปัญหามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 ที่ Facebook มีจำนวนผู้ใช้งานลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี ตามมาด้วยปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายด้านความเป็นส่วนตัวที่ทำให้ Facebook ต้องสูญเสียรายได้จากการโฆษณาจำนวนมหาศาล
การทุ่มเงินลงทุนไปกับ Metaverse ที่ Zuckerberg มองว่าจะเป็นแพลตฟอร์มแห่งอนาคตก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาเพราะเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่ก่อให้เกิดรายได้และกระทบกับผลประกอบการโดยตรง และเมื่อผลประกอบการณ์ไม่น่าพอใจก็ทำให้หุ้นของ Meta ปรับตัวลดลงมูลค่าบริษัทของ Meta ร่วงลงตามไปด้วย
อีกสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือผู้ใช้งาน Facebook ที่มีอายุน้อยเริ่มลดลงเรื่อยๆ พร้อมๆกับการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มใหม่ๆที่โดนใจคนรุ่นใหม่อย่าง TikTok สื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานทะลุ 1,000 ล้านคนไปแล้วที่เข้ามาแย่งเวลาผู้ใช้งานโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ไป และนั่นทำให้ Facebook ต้องหันมาเพิ่มฟีเจอร์แบบเดียวกับ TikTok เข้าไปด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามแม้จะเจอศึกหนักทั้งภายในและภายนอก แต่ Facebook ก็ยังครองตำแหน่งแชมป์สื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกที่กว่า 2,900 ล้านคน ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า Zuckerberg จะวางกลยุทธ์อย่างไรเพื่อพลิกสถานการณ์กลับมาอีกครั้งในปี 2023 นี้
ปรากฎการณ์ ‘เลิกจ้าง – ระงับการจ้างงาน’ ของ “Tech Company”
“Tech Company ปรับนโยบายการจ้างงานตั้งแต่ระงับหรือชะลอ ไปจนถึงประกาศเลิกจ้าง”
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สามารถใช้คำว่าไม่มีอะไรยั่งยืนได้เลย เมื่อบรรดา Tech Company หลายองค์กร ตั้งแต่ Startup ไปจนถึง Enterprise ต่างมีการปรับนโยบายด้านการจ้างงานภายในองค์กร ตั้งแต่ระงับหรือชะลอการจ้างงาน ไปจนถึงประกาศเลิกจ้างพนักงาน
– Meta บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม Facebook เองก็ต้องประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากเช่นกันโดยล่าสุด Mark Zuckerberg ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Meta ได้ประกาศแล้วว่าจะต้องปลดพนักงานออกทั้งหมด 11,000 คนหรือคิดเป็น 13% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 87,000 คน พร้อมกับที่ ผู้ก่อตั้ง Facebook ออกมายอมรับผิดถึงการบริหารนโยบายที่ผิดพลาด…คลิกอ่านเพิ่มเติม
– Twitter ภายหลังจากที่ Elon Musk เข้ามาเป็นเจ้าของคนใหม่ ก็ประกาศนโยบายด้านการจ้างงาน พร้อมกับการปรับโครงสร้างผู้บริหารระดับบนครั้งสำคัญ รวมไปส่งเมล์แจ้งเลย์ออฟถึง 2 ระลอกใหญ่ด้วยกัน ครั้งแรก การส่งอีเมลภายถึงพนักงานถึงการแจ้งเตือนพนักงานเกี่ยวกับการเลิกจ้างพนักงาน และแจ้งว่า 4 พ.ย. สำนักงานจะปิดชั่วคราว พร้อมกับระงับการเข้าถึงทั้งหมดระบบ เพื่อทำการปรับปรุงใหม่เพื่อรับรองความปลอดภัยของข้อมูลพนักงานแต่ละคนรวมถึงข้อมูลของลูกค้า
ซึ่งหลังจากนั้นพนักงานหลายคนทยอยออกมาประกาศในทวิตเตอร์ตนเองนั้นไม่สามารล็อคอินเข้าระบบของบริษัทได้อีกต่อไป ต่อมากลางเดือนพฤศจิกายน ก็ประกาศเลย์ออฟอีกครั้ง โดยยกเลิกสัญญาจ้างพนักงานกว่า 4,400 จากทั้งหมด 5,500 คน ซึ่งหลายสำนักข่าวรายงานตรงกันว่า พนักงานเหล่านั้นไม่ได้รับการแจ้งเตือนใด ๆ ก่อนถูกบอกเลิกจ้าง หลังจากไม่สามารถเข้าใช้งานอีเมล และแอปพลิเคชัน Slack รวมถึงระบบการทำงานอื่น ๆ ได้ สำหรับเหตุผลของการปลดพนักงาน ระบุว่า เป็นส่วนหนึ่งของการจัดลำดับความสำคัญใหม่และเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
– Tesla แม้แต่บริษัทของตัวเองดั้งเดิมอย่าง Tesla ก็เช่นกัน Elon Musk ซีอีโอ ส่งอีเมล์เรื่องหยุดการจ้างงานทั่วโลกทั้งหมดชั่วคราว และเตรียมเลิกจ้างในสัดส่วน 10% ทั้งที่ช่วงปลายปี 2021 มีการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 คน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เซี่ยงไฮ้ หลังรัฐบาลจีนประกาศล็อกดาวน์ทั้งเมือง ซึ่งเซี่ยงไฮ้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ Tesla ที่สำคัญ แม้ว่าโรงงานจะหยุดแต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง
– Netflix เลิกจ้างพนักงาน 150 คน หลังจากยอดสมาชิก (Subscriber) ในไตรมาสแรก 2022 ลดลงกว่า 200,000 ราย ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่เสียฐานสมาชิก และคาดว่าจะเสียฐานสมาชิกอีก 2 ล้านคนในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ขณะเดียวกัน Spencer Neumann ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) ของ Netflix บอกว่า บริษัทจะลดการใช้จ่ายบางส่วน เพื่อควบคุมต้นทุน
– Amazon ประกาศแก่พนักงานว่า บริษัทฯ จะหยุดการจ้างงานพนักงานใหม่ในส่วนของอีคอมเมิร์ซชั่วคราว เพื่อเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายในช่วง “ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ปกติ” โดยการหยุดจ้างพนักงานใหม่จะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 2 – 3 เดือนเท่านั้น แต่ไม่ใช่ว่าบริษัทฯ จะไม่มีการจ้างคนใหม่ ๆ เลย โดยในปี 2023 จะยังคงมีพนักงานเพียงพอในทุก ๆ ตำแหน่งงาน และอาจมีการจ้างงานเพิ่ม เนื่องจากแอมะซอนยังคงมีโครงการการลงทุนอีกมากในหลากหลายธุรกิจ เช่น Prime Video, Alexa, Grocery, Kuiper, Zoox, และธุรกิจสุขภาพ (Healthcare)
– Microsoft คือบริษัทเทครายใหญ่รายแรกๆ ที่เริ่มประกาศลดพนักงานในช่วงไตรมาสของปี 2022 ซึ่ง ประกาศว่าจะใช้แนวทางที่ระมัดระวังมากขึ้นในการจ้างงานหลังจากนี้ ในครั้งนี้คาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อพนักงานประมาณ 1,000 คน โดยบริษัทได้กล่าวถึงยอดขายลิขสิทธิ์ Windows สำหรับพีซีที่ลดลง รวมถึงการเติบโตของรายได้รายไตรมาสนี้ที่ช้าที่สุดในรอบกว่า 5 ปี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า Microsoft วางแผนที่จะปลดพนักงานจำนวนเล็กน้อย หากเทียบกับบริษัทอื่นๆ แต่สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจรวมถึงการให้คำปรึกษาด้านโซลูชั่นกับพันธมิตรทั่วโลกไม่มากก็น้อย
– Shopee ประกาศปลดพนักงานจำนวนมาก โดยการปรับลดงานจะส่งผลกระทบต่อพนักงาน ShopeeFood และ ShopeePay ในหลายตลาด รวมถึงอินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม น่าตกใจคือทีม ShopeeFood และ ShopeePay ของไทยถูกปลด 50% การตัดสินใจดังกล่าวได้ประกาศให้พนักงานทราบก่อนหน้านี้ในการประชุมทาวน์ฮอลล์ระหว่างประเทศ โดยเรื่องนี้ถูกประกาศโดยผู้บริหารจาก Sea Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Shopee อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลในการปลดลดจำนวนคน แต่คาดว่าน่าจะมาจากสภาวะของเศรษฐกิจหดตัวลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ “Tech Company” เลิกจ้าง – ระงับการจ้างงาน ถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง เป็นสัญญาณเตือนสภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ดี รวมไปถึงสะท้อนถึงความผันผวนความไม่แน่นอน ที่แม้แต่บริษัทที่ทำด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลก็อาจจะมีวันที่สั่นคลอนได้เช่นกัน
Social Commerce เดือดระอุ Big Tech ลงเต็มตัว
“สงคราม e-Commerce เริ่มเปลี่ยนรูปแบบ โดยเฉพาะการเข้ามาอย่างเต็มตัวของบรรดา Social Media”
แม้ว่าเหล่าบรรดา Big Tech ทั้งหลายจะมีปรับลดพนักงานจำนวน แต่นั่นก็เป็นเพราะเทรนด์การซื้อขายบนระบบออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะ Social Commerce ที่มีมูลค่าตลาดเป็นอันดับ 2 รองจากกลุ่ม e-Marketplace อย่าง Shopee และ LAZADA ที่มีมูลค่า 76,751 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาตลาด e-Commerce เติบโตมากถึง 81% มีมูลค่า 294,000 ล้านบาท
จากข้อมูลของ Prizza พบว่ามีมูลค่ามากถึง 62,054 ล้านบาทที่เกิดการ Social Commerce ขณะที่ e-Marketplace อย่าง Shopee และ LAZADA หยุดสาดเงินเพื่ออัดแคมเปญแล้วหันมาสร้างกำไรอย่างเต็มตัว อย่างไรก็ตาม สงคราม e-Commerce เริ่มเปลี่ยนรูปแบบ โดยเฉพาะการเข้ามาอย่างเต็มตัวของบรรดา Social Media ทั้งหลายอย่าง Facebook, TikTok และ LINE ผ่าน LINE my Shop
ยกตัวอย่างเช่น TikTok ได้เข้ามามาบทาทอย่างมีนัยยะสำคัญโดยการส่งข้อความเชิงธุรกิจและการช้อปผ่านวิดีโอไลฟ์ ที่ยังเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลต่อการเติบโตของ e-Commerce ในไทย หรือคิดเป็นกว่า 25% ของเม็ดเงินที่ใช้จ่ายทั้งหมดในประเทศ ในขณะที่ Social Commerce เน้นสร้างการค้นพบผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งรูปภาพ วิดีโอ และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
Game of Streaming สงครามแย่งเวลาคนดู บนสังเวียนไทยแลนด์
“ทุกวันนี้ Streaming ในประเทศไทยก็แข่งกันเดือด โดยมีหลายเจ้าทยอยเข้ามาให้เลือกใช้บริการกันอย่างหลากหลายด้วยกัน”
นอกจาก Social Commerce ที่หันมาแย่งชิงลูกค้ากันมากขึ้นแล้ว ทุกวันนี้ Streaming ในประเทศไทยก็แข่งกันเดือด โดยมีหลายเจ้าทยอยเข้ามาให้เลือกใช้บริการกันอย่างหลากหลายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Netflix ที่เข้ามาตีตลาดในประเทศไทยก่อนใครเพื่อน Apple TV+ ที่เข้ามาอย่างเงียบๆ แต่คอนเทนต์เจ๋งๆ มีให้ดูเพียบ HBO GO สตรีมมิ่งที่เนื้อหาแต่ละโชว์อลังการ บิ๊กโปรเจ็คต์ทั้งนั้น ตอกย้ำความสำเร็จด้วย House of Dragons
หรือสตรีมมิ่งที่เพิ่งเข้ามาเมื่อปีที่แล้วอย่าง Disney+ Hotstar ที่ขนหนังดิสนีย์ มาร์เวล สตาร์วอร์ส มาให้แฟนคลับได้รับชมกัน รวมไปถึงสตรีมมิ่งเจ้าใหม่ล่าสุดอย่าง Prime Video โดย Amazon ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปในปีนี้ ยังไม่นับสายคอนเทนต์เอเชีย ทั้ง Viu และ WeTV ที่ต่างมาร่วมศึกสงครามแย่งชิงเวลาของคนดูกันอย่างดุเดือด เรียกได้ว่าคนดูอย่างเราๆ ก็แทบจะไม่มีเวลานอนกันอยู่แล้วก็เลือกดูไม่ถูกเลยว่าจะดูเจ้าไหนดี
นอกเหนือจาก แพล็ตฟอร์มจากต่างประเทศแล้ว ก็ยังพบว่ามีการเติบโตภายในประเทศที่แข่งขันกันอย่างหนัก อาทิ สตรีมมิงของค่ายเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออย่าง “True ID” และ “AIS Play” และอดีตเจ้าบรอดแคสต์ที่ยิ่งใหญ่อย่างช่อง 3 ก็ลงมาทำ 3PLUS เช่นกัน
ปัจจัยสำคัญเลย ความนิยมสื่อออนไลน์แทนที่สื่อดั้งเดิมพุ่งขึ้น และคนไทยชอบดูคอนเทนต์เรียลๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยกว่า 26 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ใช้รับชม content ผ่าน OTT (Over-The-Top) หรือบริการรับชมวิดีโอตามความต้องการ (Video on Demand) ที่ผู้ชมสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ เช่น ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตและรับชมได้ในทุกที่ทุกเวลา
ซึ่งใช้เวลาดูคอนเทนต์ออนไลน์เหล่านี้ ประมาณ 1-3 ชั่วโมงต่อวัน และ 92% ของคนไทยใช้ OTT มากกว่า 1 แพลตฟอร์ม บริการสตรีมมิงเหล่านี้ล้วนเปลี่ยนพฤติกรรมการรับชมรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกันบริการสตรีมมิงที่มีจำนวนมาก ส่งผลให้แต่ละบริการผลิตซีรีส์ รายการ และภาพยนตร์ออกมาจำนวนมาก เพื่อดึงดูดให้ผู้ชมเสียค่าสมัคร แต่ด้วยเนื้อหาที่มหาศาลขนาดนี้ มันมากเกินไปสำหรับผู้ชมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้ความนิยมจะเพิ่มขึ้น แต่ก็เกิดความท้าทายใหม่เช่นกัน ทั้งนี้ จากผลสำรวจของ Nielsen เกี่ยวกับความเห็นของผู้ใช้งานที่มีต่อแพลตฟอร์มสตรีมมิง ในชื่อ “State of Play” พบว่า 46% ของผู้ใช้บริการสตรีมมิงรู้สึกท่วมท้นต่อจำนวนแพลตฟอร์มและชื่อคอนเทนต์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้ยากต่อการจดจำและค้นหาว่าคอนเทนต์นั้น ๆ อยู่ในแพลตฟอร์มใด และด้วยปริมาณเนื้อหาที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 2 ใน 3 สนใจบริการแบบรวมกลุ่มที่อนุญาตให้เข้าถึงแพลตฟอร์มต่างๆ มากมาย โดยที่พวกเขาสามารถเลือกได้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดเงินได้มากยิ่งขึ้น
ดังนั้น จึงน่าจับตาว่า การเติบโตของการสมัครรับข้อมูลในตลาดวิดีโอสตรีมมิงเริ่มชะลอตัวลงในปีหน้า เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากกำลังประสบกับปัญหา “การสมัครรับข้อมูลมากเกินไป” ทำให้ผู้บริโภคเริ่มเลือกที่จะสมัครเฉพาะแพลตฟอร์มที่สนใจ ซึ่งน่าติดตามต่อว่าอนาคตจะเป็นขาลงของบริการสตรีมมิ่งหรือไม่ หรือจะเกิดบริการใหม่ที่จับคอนเทนต์มารวมศูนย์กลางให้เกิดขึ้น
ASF ทำหมูแพงต้นปี แถมเจอเงินเฟ้อซ้ำเติม
“โรคอหิวาห์แอฟริกันในหมู (ASF) ระบาดทำหมูแพง ซ้ำเติมด้วยภาวะเงินเฟ้อ มีเงินในกระเป๋าแต่ซื้อของไม่ได้”
แม้ตลาดจะมีการแข่งขันมากยิ่งขึ้นจนเรียกได้ว่าปี 2022 ส่อแววเศรษฐกิจอ่วมตั้งแต่ต้นปี หลังจากที่เกิดปรากฎการณ์ “หมูตายยกฟาร์ม” ไม่ใช่ตายแค่ยกเล้า นั่นคือพิษสงของ โรคอหิวาต์แอฟริกาหมู หรือ African Swine Fever (ASF) เรียกว่าสร้างความตระหนกและหวาดผวาไปอยู่พักใหญ่ หลังจากที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นการระบาดใหญ่ของ Covid-19 แต่โรค ASF ร้ายกว่าเพราะสามารถทำให้หมูตายอย่างรวดเร็วแถมตายเกลี้ยงชนิดที่เจ้าของฟาร์มต้องมานั่งนับหนึ่งกันใหม่เลยทีเดียว
สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อหมูที่ตายจากโรคนี้ต้องถูกทำลายสถานเดียว เพราะแม้หมูตายไปแล้วยังสามารถแพร่เชื้อได้ หรือแม้แต่นำไปทำให้สุกแล้วปรุงอาหารก็ยังสามารถแพร่เชื้อได้ ส่งผลให้เนื้อหมูหายไปจากตลาดราว 30% ถีบให้ราคาหมูพุ่งทะยานเหมือนราคาน้ำมัน ชนิดที่บางพื้นที่ราคาหมู 1 กิโลกรัมเฉี่ยว 300 บาท ส่งผลให้เมนูที่ใช้หมูเป็นส่วนประกอบปรับราคาขึ้นทันที ขนาดหมูปิ้งไม้ละ 10 บาทยังปรับขึ้นมาอยู่ที่ไม้ละ 15 บาท
แต่หลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายจนราคาเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ ประเทศไทยก็ต้องประสบกับปัญหาครั้งใหม่ เมื่อภาวะเงินเฟ้อทะยานสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าราคาข้าวของต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น หลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลงจนเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะเกือบปกติๆ ก็ลองคิดดูว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไปเที่ยวก็ไม่ได้ ออกไปกินข้าวนอกบ้านก็ไม่ได้ จะทำกิจกรรมอะไรนอกบ้านก็ไม่ได้
พอสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายหลายคนก็ถวิลหาอยากจะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ทั้งออกไปเที่ยว ออกไปหาอะไรกินนอกบ้าน หรือออกไปทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อความต้องการมีมาก ก็สะท้อนไปอย่างราคาสินค้าต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเพื่อเร่งสร้างกำไรชดเชยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และทางออกของหลายๆ คนก็คือการสร้างหนี้สิน เพื่อให้สามารถเพิ่มสภาพคล่องในการจับจ่ายใช้สอยช่วงภาวะเงินเฟ้อ
ซึ่งสถานการณ์เงินเฟ้อไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่เฉพาะประเทศไทยแต่เกิดขึ้นไปทั่วโลก นั่นจึงทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศหันมาใช้นโยบายเพิ่มอัตราดอกเบี้ย หวังสยบความร้อนแรงของภาวะเงินเฟ้อและควบคุมปริมาณความต้องการให้ลดลง แถมสงครามยูเครน-รัสเซียก็ยังยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อวิกฤตพลังงาน พร้อมๆ กับที่ OPEC ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น
ปีนี้จึงกลายเป็นปัญหาซ้ำเติมปัญหาแล้วซ้ำเติมอีกครั้งด้วยปัญหา กลายเป็นหลายคนมีเงินในกระเป๋าเท่าเดิม แต่มูลค่าลดลงเพราะราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และยังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2023 ภาวะเงินเฟ้อจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
จับตารถ “EV” จุดเปลี่ยนใหญ่อุตสาหกรรมยานยนต์
“ไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรถเครื่องยนต์สันดาป สู่ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ที่สำคัญถือเป็น New S-curve ของอุตสาหกรรมยานยนต์”
แม้เศรษฐกิจจะดูส่อแววไม่ดีเท่าที่ควร แต่หนึ่งในดัชนีที่สามารถชี้วัดเศรษฐกิจไทยที่ดีที่สุดคือ ตลาดรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันตลาดรถยนต์ทั่วโลก รวมทั้งไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรถเครื่องยนต์สันดาป สู่ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ที่สำคัญถือเป็น New S-curve ของอุตสาหกรรมยานยนต์ และสำหรับประเทศไทย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์รายใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงต้องเร่งปรับตัว และสร้างความพร้อมด้าน “EV Ecosystem”
ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐออกนโยบายสนับสนุนการลงทุนของผู้ผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า, โครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้งาน เช่น สถานีชาร์จตามจุดต่างๆ, การติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (Wallbox EV Charger), มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV เพื่อขยายตลาดและทำให้ประชาชนเข้าถึง EV ได้ง่ายขึ้น
ในรอบปี 2022 ถือเป็นปีที่ตลาดรถยนต์ EV ในไทยมีความคึกคักไม่น้อย โดยเฉพาะในตลาด “รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่” (BEV) หรือรถยนต์ไฟฟ้า 100% ถือเป็นคลื่นลูกใหม่มาแรงที่น่าจับตาว่าจะมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีผู้เล่นเข้าท้าชิงตลาดนี้มากขึ้น ทั้งค่ายจีน, ค่ายสัญชาติยุโรป, ค่ายญี่ปุ่น แม้จะเป็นเจ้าตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย แต่ต้องยอมรับว่ารุกทำตลาด BEV ในไทยได้ช้ากว่าคู่แข่งจากจีน
ตัวอย่างแบรนด์รถยนต์ BEV เช่น
– MG เวลานี้รุกเสริมสร้างพอร์ตโฟลิโอรถยนต์ไฟฟ้า 100% อย่างงรุ่น New MG4 Electric, MG EP, MG ZS EV
– Great Wall Motor (GWM) นำ Ora Good Cat เข้ามาบุกตลาด BEV ด้วยดีไซน์รูปทรง และหน้าตา สามารถสร้างกระแสและได้การตอบรับจากตลาดไทย
– BYD อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่รถยนต์ไฟฟ้า 100% สัญชาติจีน ที่เข้ามาบุกตลาดไทยในปีนี้ เริ่มทำตลาดด้วยรุ่น ATTO 3 รวมทั้งยังได้สร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาแห่งแรกในอาเซียนที่นิคมอุตสาหกรรม WHA ระยอง
– Toyota ถือเป็นพี่ใหญ่ของตลาดรถยนต์ในไทย ตัดสินใจส่งรถไฟฟ้า 100% Toyota bZ4X บุกตลาด BEV ในไทย เพื่อรองรับเทรนด์และความต้องการของผู้บริโภคไทย
– นอกจากนี้ยังมีค่ายรถยนต์สัญชาติยุโรป ก็ส่ง BEV เช่นกันกัน เช่น Volvo, MINI
ขณะที่ล่าสุด Tesla แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า 100% ของสหรัฐฯ เข้ามาตีตลาดไทยเป็นที่เรียบร้อย นำร่องด้วยรุ่น Tesla Model 3 และ Model Y สร้างความฮือฮาด้วยราคาเปิดตัว เริ่มต้น 1,759,000 บาท ถึง 2,509,000 บาท ระดับราคาดังกล่าวสร้างแรงสั่นสะเทือนตลาด BEV ไม่น้อย! เห็นได้จากภายในวันเดียวหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่ายอดจองผ่านออนไลน์ ทะลุกว่า 4,000 คัน! น่าจับตาดูต่อไปว่าในปี 2023 Tesla จะเปิดโชว์รูมแห่งแรกในไทย และขยายสถานี Supercharge คาดว่าจะยิ่งทำให้ตลาดรถยนต์ BEV ในไทยแข่งขันอย่างดุเดือดขึ้น
ปี 2022 เป็นเพียงก้าวแรกของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในไทย เชื่อว่าปี 2023 แต่ละค่ายจะยกขบวนทัพ BEV ในหลากหลายเซ็กเมนต์ และระดับราคามาอีกเพียบอย่างแน่นอน
Bitkub ดีลล่ม!!! True – dtac ลุยควบรวมต่อ
“ช่วงปลายเดือนสิงหาคม SCB ตัดสินใจยกเลิกการเข้าซื้อหุ้นใน Bitkub ขณะที่อีกดีลใหญ่ กสทช. ก็มีมติอนุญาตให้ทั้ง True และ dtac สามารถควบรวมกิจการกันได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด”
แม้ว่าปี 2022 ตลาดรถยนต์ EV จะเติบโตขึ้นอย่างมาก แต่ก็ยังมีข่าวใหญ่ด้านธุรกิจได้ฮือฮากันกับ 2 ดีลยักษ์ใหญ่มูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะดีลของ Bitkub และกลุ่ม SCB ที่เรียกว่าเป็นดีลยักษ์ใหญ่ ด้วยการเข้าซื้อหุ้น 51% ของ Bitkub ด้วยมูลค่ากว่า 17,850 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าของบริษัท Bitkub มีมูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท และกลายเป็น Unicorn ตัวใหม่ทันที ซึ่งการดื่มธุรกิจในครั้งนี้ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า SCB เตรียมขยับเข้าสู่ Digital Asset มากขึ้น
ขณะที่ Bitkub สามารถนำเงินลงทุนในส่วนนี้ไปขยายธุรกิจให้ครอบคลุมถึงทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Digital Asset โดยเฉพาะในส่วนของ Cryptocurrency แต่ดูเหมือนช่วงระหว่างที่ทำการโอนขายหุ้น จะมีอุปสรรคมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะ กับปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจาก Cryptocurrency ยังไม่เป็นที่ยอมรับในด้านการลงทุนภายในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในอนาคตของการลงทุนด้าน Cryptocurrency
อีกทั้ง Bitkub ยังมีเรื่องที่ต้องชี้แจงต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ส่งผลให้ช่วงปลายเดือนสิงหาคม SCB ในตอนนั้น ตัดสินใจยกเลิกการเข้าซื้อหุ้นใน Bitkub และกลายเป็นเหตุการณ์ดีลล่มครั้งใหญ่ของประเทศไทย และจะกลายเป็นกรณีศึกษาให้กับนักลงทุนต่อไปในอนาคต การที่ดีลใหญ่ยักษ์ล่มในครั้งนี้ยังส่ง ให้เกิดอาการร้อนๆ หนาวๆ กับอีกดีลยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินการควบคู่กันไป อย่างดีลควบรวมกิจการธุรกิจ Telco ที่เป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก
ขณะที่อีกดีลยักษ์ที่ควบคู่ไปด้วยนั้น คือ ดีลการควบรวมกิจการระหว่าง True Corporation และ dtac ภายใต้การบริหารของกลุ่ม Telenor เรียกได้ว่าเป็น 2 ค่ายกลุ่ม Telco ทีประสบปัญหาการลงทุนจนไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งเกิดจากภาวะขาดทุนที่ Telenor ประสบทั่วโลก ขณะที่ True Corporation หมดเงินไปกับการซื้อใบอนุญาตคลื่นความถี่และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมากมายเพิ่มเติมขึ้น
ซึ่งทั้ง True และ dtac ต่างมองว่า การควบรวมในครั้งนี้จะช่วยให้ทั้ง 2 บริษัทมีเงินลงทุนในการพัฒนาระบบเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าได้ดีมากยิ่งขึ้น และจะสามารถขึ้นมาแข่งขันกับผู้นำตลาดอย่าง AIS รวมไปถึงกลุ่ม Big Tech จากต่างชาติที่ถือเป็นคู่แข่งรายใหม่ในยุคดิจิทัล แต่ก็ถูกคัดค้านโดยนักวิชาการที่เชื่อกันว่าการควบรวมกิจการในครั้งนี้ จะส่งผลให้ตลาดเกิดการผูกขาดและจะไม่สามารถพัฒนาตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดี
เผือกร้อนๆ จึงตกไปอยู่ในมือของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่จะต้องเป็นผู้ตัดสินว่า ทั้ง 2 ค่ายสามารถควบรวมได้หรือไม่ ซึ่งในช่วงเวลานั้นทั้ง True และ dtac ต่างก็งัดหลักฐานและ Case Study มากมายที่มีการควบรวมแล้วสามารถพัฒนาตลาดมาเป็นตัวอย่าง เช่นเดียวกับฝั่งคัดค้านที่มีการนำหลักฐานและ Case Study มากมายที่มีการควบรวมแล้วเกิดการผูกขาดตลาดมาเป็นตัวอย่างเช่นเดียวกัน
และสุดท้าย กสทช. ก็มีมติอนุญาตให้ทั้ง True และ dtac สามารถควบรวมกิจการกันได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งหากภายหลังการควบรวมธุรกิจแล้วมีการร้องเรียนในเรื่องของการผูกขาดหรือการจำกัดและกีดกันการแข่งขัน กสทช. อาจจะมีการพิจารณายกเลิกหรือออกมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดออกมา โดยทั้งสองค่ายกำลังอยู่ในช่วงของการควบรวมกิจการและคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปี 2023 นี้
หมีตบกระทิงกระจาย ฉุดคริปโตวุ่นวาย สลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน
“ปี 2022 ถือว่าเป็นปีที่ย่ำแย่สำหรับตลาดคริปโต ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เหรียญ LUNA ถล่ม ไล่มาจนปัจจุบันที่เว็บเทรดอันดับสามของโลกอย่าง FTX ระเบิดไม่เหลือชิ้นดี”
ดีลของ Bitkub ถือเป็นหนึ่งผลกระทบของ Digital Asset เพราะในปี 2022 เรื่องของ Digital Asset ก็ดูวุ่นวายไม่แพ้กัน เมื่อสิ้นสุดพลังของ “กระทิง” และ “หมี” ตื่นออกจากถ้ำ เป็นธรรมดาที่สินทรัพย์อย่างหุ้นหรือคริปโต จะอยู่ในช่วงที่เรียกว่าเป็น Downtrend แต่ถ้าเจาะเฉพาะตลาดคริปโต คงจะประจักษ์กันแล้วว่า ณ ปัจจุบันราคาเหรียญแต่ละตัว บอกได้คำเดียวว่าเห็นแล้วรู้สึกขนลุกวูบวาบกันเลยทีเดียว
ปี 2022 ดูจะไม่ค่อยเป็นปีที่นักเก็งกำไรหรือนักเทรดคริปโตอยากจะจดจำนัก เพราะมีเหตุการณ์สะเทือนขวัญมากมายที่ทำให้คนทั้งโลกต้องตะลึงไปตาม ๆ กัน โดยเริ่มแรกน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่าเขย่าวงการแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อเหรียญชื่อดังอย่าง LUNA ถล่มลงมาอย่างไม่คาดฝัน ด้วยราคาที่ร่วงลงมากว่า 99.9% ซึ่งเริ่มจากมีแรงเทขายเหรียญ algorithmic stablecoin ที่มาคู่กับ LUNA อย่าง UST จนหลุดการตรึงค่าที่ 1$ (หรือที่เรียกกันว่าหลุด “Peg”) จนนำมาซึ่งบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นคู่ค้าหรือเกี่ยวเนื่องกับเหรียญตัวนี้ล้มตามกันเป็นโดมิโน
หนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการเทกระจาดของ LUNA ไม่ไกล้ไม่ไกลที่ไหน ซึ่งก็คือเว็บเทรดคริปโตชื่อดังในไทยอย่าง “Zipmex Thailand” ที่เริ่มจากการระงับถอนเงินบาทและคริปโตชั่วคราวในฝั่งของ ZipUp+ ที่ฝากเหรียญของคนไทยไปที่สาขาสิงคโปร์ ซึ่งทางสาขาสิงคโปร์ได้มีการนำไปลงทุนกับ Babel Finance และ Celsius Network ที่กำลังมีปัญหาอย่างหนักจากการล่มสลายของเหรียญ LUNA เช่นกัน แต่ถึงกระนั้น ก็ยังถือว่าได้ออกมายอมรับถึงปัญหาและพยายามแก้ไข ด้วยการ Zipmex สิงคโปร์มีการยื่นขอพักชำระหนี้ (Moratoriums Relief) จนถึงปลายปี ทั้งนี้ก็คงต้องติดตามต่อไปว่าการดำเนินการที่จะคืนเงินให้แก่ลูกค้า จะม้วนออกมาอย่างไรในอนาคต
และสุดท้ายที่เรียกได้ว่าอาจจะหนักว่าเคสของ LUNA เป็นเท่าตัว ได้แก่เว็บเทรดอันดับสามของโลก FTX แตกกระจายไม่เหลือแม้แต่เงา ซึ่งได้เริ่มจากการที่ CEO ของเว็บเทรดคริปโตอันดับหนึ่ง CZ แห่ง BINACE ออกมาประกาศขายเหรียญ FTT ของ FTX ทั้งหมดออกจากการถือครอง หลังจากนั้นระลอกแห่งความดราม่าก็มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งพบว่า Sam Bankman-Fried หรือ CEO ของ FTX ได้บริหารเงินของลูกค้าพลาดด้วยการนำไปลงทุนแบบเสี่ยง ๆ และการเปิดโปงอีกหลายอย่าง เช่นการมี reserve ที่มีแต่เหรียญที่ตัวเองเสกขึ้นมา (FTT)
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ (และอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่ได้กล่าว) ล้วนทำให้ภาพลักษณ์ของคริปโตช้ำไปตาม ๆ กัน แต่แน่นอนว่าในช่วงที่มีพายุฝน ก็ยังมีหลายโปรเจกต์ซุ่มซ่อนตัวพัฒนาไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าสถานการณ์รอบตัวจะดีหรือร้ายยังไง ซึ่งแน่นอนว่าหากใครยังสนใจอยู่ ก็คงต้องหาความรู้ติดตัวให้เพิ่มมากขึ้น
“เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ผสานพลังสื่อออนไลน์ – ออฟไลน์ กรณีศึกษาของธุรกิจ
“พลังของทั้งสื่อออนไลน์ และออฟไลน์ ทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้เป็นกรณีศึกษาในด้านแบรนด์และการสื่อสาร”
หลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและธุรกิจ รวมไปถึงการเติบโตของโลกออนไลน์ แต่อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่จะเห็นได้ถึงพลังของโลกออนไลน์อย่างชัดเจน ต้องยกให้กับ “เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” แม้จะเกิดขึ้นเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นที่สนใจจากทั่วประเทศ และสะท้อนปรากฏการณ์หลายอย่าง
– เป็นหนึ่งในการเลือกตั้งที่คนให้ความสนใจและจับตามองมากที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2556
– ผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยทีมงาน ใช้พลังสื่อออนไลน์ เช่น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย, เว็บไซต์ เป็นสื่อหลักในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสื่อสารถึงนโยบาย ผสานเข้ากับสื่อดั้งเดิม เช่น ป้ายหาเสียงที่ติดตามจุดต่างๆ และผู้สมัครผู้ว่าฯ พร้อมด้วยทีมงานลงพื้นที่ต่างๆ
– ต่างชูแคมเปญหาเสียงที่ตอกย้ำจุดยืนของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เช่น “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” มาพร้อมกับ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” จนกลายเป็นหนึ่งในประโยคฮิต, “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” จากพรรคก้าวไกล ชูแคมเปญ “เลือกผู้ว่าที่พร้อมชน เพื่อคนกรุงเทพฯ”, “ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ ชูแคมเปญ “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” เป็นต้น
– ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กว่า 4.4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็น First Time Voter ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่อายุ 18 – 27 ปี เกือบ 7 แสนคน ก็ยิ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นที่สนใจในพลังคนรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน
– ผลการนับคะแนน ปรากฏว่า “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ชนะแบบถล่มทลาย ด้วยคะแนนกว่า 1.38 ล้านเสียง สูงสุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่จัดเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ด้วยตัวบุคคลผู้สมัครชิงตำแหน่ง ทั้งอิสระ และสังกัดพรรค – นโยบาย – แคมเปญสื่อสารในการหาเสียงที่ต่างชูจุดแข็งและจุดขายของตัวเอง – พลังของสื่อ ทั้งสื่อออนไลน์ และออฟไลน์ ตลอดจนภาคประชาชนที่ให้ความสนใจ ทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นอีกหนึ่งบันทึกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นกรณีศึกษาในด้านแบรนด์และการสื่อสารด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ คือเหตุการณ์สำคัญที่ประมวลมาแล้วว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจและอยู่ในกระแส ที่สำคัญเหตุการณ์เหล่านี้ยังสามารถนำไปใช้เป็น Case Study ในอนาคตได้อีกด้วย