เพื่อเข้าใจความคิด ตัวตน และความต้องการของผู้บริโภคในปี 2020 MarketingOops! Podcast ในหมวด MarTech “Consumer Insights” โดย “คุณณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์” และ “คุณแพน จรุงธนาภิบาล” จาก GroupM ได้รวบรวมผลการศึกษาของ GroupM และได้นำมาวิเคราะห์เทรนด์ผู้บริโภค ทั้งที่กำลังดำเนินอยู่ แต่จะเห็นชัดเจนขึ้น และเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้พบว่า ในประเทศไทยกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพสูง ที่แบรนด์ไม่ควรมองข้าม คือ “กลุ่มผู้สูงวัย” หรือวัยเกษียณ เป็นผู้บริโภคที่มีเงิน และมีเงิน และ “คนโสด” เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และพร้อมจะใช้เงินไปกับสิ่งที่ตัวเองสนใจ
เมื่อเจาะลึก Insights ผู้บริโภคสองกลุ่มนี้ พบ 6 เทรนด์ใหญ่ที่นักการตลาด – เจ้าของแบรนด์สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผู้บริโภคเซ็กเมนต์ต่างๆ ทุก Stage of Life ได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะคนวัยเกษียณ และคนโสดเท่านั้น
6 เทรนด์ Consumer Insights 2020 ที่ว่านี้ ประกอบด้วย
-
คนสูงวัย และคนโสด มองหา “ความสุข” ในการใช้ชีวิต
เนื่องจากคนวัยเกษียณ และคนโสดมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ “อยู่คนเดียว” เมื่ออยู่คนเดียว ก็มีเวลามากขึ้น ทำให้เกิด “ความเหงา” เมื่อเกิดความเหงา ก็ต้องหากิจกรรมทำ เพื่อที่ตัวเองได้มี “ความสุข” มากขึ้น
โดยแต่ละคนสร้างความสุขในวิถีของตนเอง เช่น บางคนหาความสุขจากความบันเทิงต่างๆ ขณะที่บางคนใช้เวลาไปกับการแชทคุยกับเพื่อน หรือบางคนออกไปค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ – ความรู้ใหม่ๆ
-
“Wellness” สุขภาพดี คือ การสร้างความสุขระยะยาวจากภายใน
การเสริมสร้างร่างกายให้มีสุขภาพดี และแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องรอให้เข้าสู่วัย 40+ หรือวัยเกษียณ แต่สมัยนี้คนรุ่นใหม่หันมาดูแลสุขภาพกันตั้งแต่วัยรุ่น – วัยเริ่มต้นทำงาน
เพราะ Insights ของผู้บริโภคยุคนี้มองว่าการมีสุขภาพดี คือ การสร้างความสุขจากข้างใน ที่ทำให้ตัวเองมีความสุขในระยะยาว และเป็นความสุขที่สามารถทำได้ง่าย
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าไม่เพียงแต่วัยเกษียณเท่านั้น ที่ออกกำลังกาย พิถีพิถันการอาหารการกินเท่านั้น ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ ก็ให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพ ทั้งทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น ออกกำกังกาย รับประทานอาหารคลีน นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
-
“Knowledge” เรียนรู้สิ่งใหม่ เติมคุณค่าให้ตัวเอง
โดยลึกๆ แล้ว เราทุกคนมีความรู้สึกว่าตัวเองขาดอะไรบางอย่างอยู่ ดังนั้นเมื่อมีเวลา คนเราก็อยากไปหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อเติมเต็ม “คุณค่า” ให้กับตัวเอง เหมือนเช่น “คนโสด” และ “คนวัยเกษียณ” มีเวลาว่างในการเรียนรู้สิ่งใหม่
เช่น คนวัยเกษียณอยากเรียนรู้เรื่องนี้ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว แต่ในช่วงวัยนั้น ไม่มีโอกาส เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ที่ตัวเองมีเวลามากขึ้น ก็จะเติมเติมความรู้นั้นๆ
ขณะที่คนโสด เป็นวัยหนุ่มสาว ยังอยู่ในช่วงค้นหาตัวตน ดังนั้นผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ตัวเองได้ค้นพบสิ่งที่ดีที่สุด และเหมาะสมสำหรับตัวเขาเอง
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าในช่วงปีที่แล้ว ไปจนถึงปี 2020 และปีต่อๆ ไป เต็มไปด้วยคอร์สเรียนเฉพาะด้านมากมาย เช่น คอร์สเรียนด้านอสังหาริมทรัพย์, คอร์สด้านการเงิน, คอร์สเรียนดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง รวมไปถึงคอร์สเรียนด้านไลฟ์สไตล์ เช่น สอนวาดรูป, เรียนถ่ายภพา
การเติมความรู้ใหม่ จึงเป็นการเพิ่ม “คุณค่า” ให้กับตัวเอง และสามารถนำความรู้ใหม่นั้น ไปต่อยอดสร้างเงิน – สร้างอาชีพให้กับตัวเองในอนาคตได้อีกด้วย
- “Connection” ออกไปรู้จักคนใหม่ๆ ได้ความรู้ใหม่ – การแสดงตัวตนให้เป็นที่ยอมรับ
จาก “Knowledge” เชื่อมโยงมาสู่อีก Insights หนึ่งคือ “Connection” เพราะเมื่อออกไปหาความรู้ข้างนอกมากขึ้น ได้รู้จักคนใหม่ๆ มากขึ้น ก็จะทำให้ได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นตามมา และยิ่งสำหรับคนวัยเกษียณ และคนโสดที่รู้สึกเหงา การมีเพื่อนมากขึ้น ก็ทำให้เราสามารถแสดงตัวตนออกไป ให้คนอื่นยอมรับ ส่งผลให้รู้สึกว่าตัวเรามีคุณค่า มีคนที่มองเห็นว่าเราเป็นใคร – เราทำอะไร
- “New Experience” ออกไปท่องเที่ยว สร้างประสบการณ์ และแรงบันดาลใจใหม่
ผู้บริโภคยุคนี้ แสวงหา “ประสบการณ์ใหม่” ให้กับชีวิต และหนึ่งในวิธีการให้ได้มาซึ่งประสบการณ์ใหม่ คือ “ท่องเที่ยว” หรือออกไปใช้ชีวิตในที่ๆ ตัวเองไม่เคยไป หรือในที่ๆ ตัวเองเห็นมาจาก Social Media, ความรู้ และ Connection ต่างๆ
การออกไปเที่ยว เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเอง และทำให้คนเราสามารถแสดงตัวตนผ่าน Social Media อีกที และยิ่งแสดงความเป็นตัวเองจากการออกไปเปิดโลก หรือจากการไปท่องเที่ยว เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คนอื่นมองกลับมาที่คนๆ นั้น และรู้สึกว่าเขาเป็น Someone ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นต่อได้ ซึ่งการที่เป็น Inspiration ให้กับใครบางคน ก็เป็นความสุขของคนๆ นั้นเช่นกัน
- “Good Citizen” ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทั่วโลก
“ปัญหาสิ่งแวดล้อม” เป็นวาระสำคัญทั้งในระดับประเทศ และระดับโลกของเราทุกคน โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีมานี้ ขยายเป็นประเด็นในวงกว้าง
ปัจจัยที่ทำให้ทั่วโลกตื่นตัวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นผลมาจากอิทธิพลของอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และเกิดการแชร์ต่อ ผสมกับ Emotion หรือความรู้สึกร่วมของคนที่มีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
นี่จึงเป็น Inspiration ให้ผู้คน และองค์กรต่างๆ อยากเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการใช้ถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงผ้าแทน เพื่อเป็น “Good Citizen” ของสังคม
แบรนด์ จะชนะใจผู้บริโภคได้ ต้องเป็น “Part of Life” และ “โฟกัส” สิ่งที่ลงมือทำ
จากเทรนด์ Consumer Insights ดังกล่าว แล้วในมุมของแบรนด์ จะนำ 6 เทรนด์ข้างต้นนั้น มาประยุกต์ใช้กับแบรนด์ หรือกับองค์กร เพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไร ?
คุณณีว และ คุณแพน ได้อธิบายว่า นักการตลาดต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในชีวิตของผู้บริโภค หรือที่เรียกว่าต้องเป็น Part of Life ของผู้บริโภคให้ได้ เช่น เป็นแบรนด์ที่ซัพพอร์ตด้านความรู้, เป็นแบรนด์ที่ส่งเสริมให้มีสุขภาพดี หรือเป็นแบรนด์ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าช่วยให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น หรือเป็นแบรนด์ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถแสดงตัวตนได้
ขณะเดียวกันแบรนด์ต้องโฟกัสไปเลยว่า จะมุ่งเน้นด้านไหน เช่น เป็นแบรนด์ที่สนับสนุนด้านความรู้, เป็นแบรนด์ส่งเสริมสุขภาพดี ฯลฯ และลงมือทำในสิ่งนั้น เพื่อทำให้ผู้บริโภครับรู้ว่าแบรนด์ Stand for อะไร และอยู่เคียงข้างผู้บริโภคในฐานะอะไร
สามารถติดตามรับฟัง Marketing Oops! Podcast
ผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้ที่