‘6 ความท้าทาย’ ของธุรกิจ FMCG ในวันที่ผู้บริโภคไม่เหมือนเดิม

  • 541
  •  
  •  
  •  
  •  

ในโลกยุคปัจจุบันที่มีหลายปัจจัยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผู้บริโภค จนหลายธุรกิจถูกท้าทายแบบชนิดที่เรียกว่า แทบตั้งรับกันไม่ทันเลยทีเดียว หนึ่งในนั้น ก็คือ ธุรกิจ FMCG (Fast  Moving Consumer Goods)

ก่อนจะไปถึงความท้าทายที่ธุรกิจ FMCG ต้องเผชิญ และความท้าทายนั้นส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจ เรามาเริ่มต้นที่ภาพรวมของธุรกิจนี้ในไทยกันก่อนดีกว่า ซึ่งบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย รายงานว่า หลังจากติดลบมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2017 ในไตรมาส 4 ของปี 2018 ตลาด FMCG เริ่มมีการเติบโตทั้งในเชิงมูลค่าและวอลุ่ม โดยมูลค่าเติบโต 3.9 % และวอลุ่มเติบโต 3.6%

สำหรับปัจจัยที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการและแบรนด์ต้องรู้ มีด้วยกัน 6 ปัจจัย ประกอบด้วย

 

1. การขยายตัวของสังคมเมือง ปัจจุบันการขยายตัวของสังคมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ๆ และเมืองในที่นี้ ไม่ใช่หมายถึงแค่ในกรุงเทพฯ แต่รวมถึงหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ภูเก็ต ชลบุรี ฯลฯ  ซึ่งการขยายตัวของสังคมเมืองจะส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน อาทิ เมื่อเมืองขยายตัว คนมีรายได้มากขึ้น คนในเมืองเหล่านั้นก็จะรู้สึกว่า ตนเองสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตไปสู่สินค้าหมวดพรีเมียมกันมากขึ้น เป็นต้น

2. ขนาดของครอบครัวไทยเล็กลง  ในปี 1960 ครอบครัวไทยมีสมาชิกเฉลี่ยอยู่ที่ 6 คนต่อ ครอบครัว แต่ในปี 2018 ลดลงเหลือ 3 คนต่อครอบครัว แถมบางครอบครัว ก็ไม่มีลูกด้วย โจทย์ที่ต้องตีให้แตก คือ จะทำอย่างไรในการตอบสนองเทรนด์ที่เกิดขึ้น เช่น ผลิตสินค้าที่ขนาดเล็กลง ฯลฯ

นอกจากนี้การที่ขนาดครอบครัวเล็กลง ยังส่งผลให้การขยายตัวของคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสิ่งที่ตามมา ก็คือ การเติบโตอย่างรวดเร็วของร้านสะดวกซื้อ ซึ่งคาดว่า จะมีจำนวนแตะที่ 20,000 แห่งภายในปีนี้ ดังนั้น ธุรกิจ FMCG จำต้องนำเรื่องนี้มาพิจารณาในการวางกลยุทธ์ อาทิ จะต้องนำสินค้าไปวางจำหน่ายในช่องทางนี้มากขึ้นหรือไม่

3. การจราจรที่ติดขัด เรื่องนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดี คือ สร้างโอกาสและทำให้กับธุรกิจใหม่ ๆ อย่างเช่น ธุรกิจเดลิเวอรี่ ที่จะเห็นได้ว่า ในบ้านเรามีให้เลือกใช้หลากหลายแบรนด์ในหลากหลายบริการ เช่นเดียวกับบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่น เป็นต้น ส่วนข้อเสียก็คือ เสียเวลา , กระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและอาจมีผลต่อสุขภาพ  ฯลฯ ซึ่งสิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ ต้องพยายามตอบสนองความต้องการหรือแก้ Pain point ที่เกิดจากเรื่องนี้ให้กับผู้บริโภค เพราะนั่นหมายถึงโอกาสธุรกิจที่จะตามมาอย่างมหาศาล

4. การพัฒนาบทบาททางเพศ โดยทิศทางหนึ่งที่ชัดเจน ณ ขณะนี้ คือ โลกในปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทและรายได้มากขึ้นกว่าผู้ชาย นั่นหมายความว่า ลูกค้ากลุ่มนี้มีอำนาจการตัดสินใจซื้อและพลังของการจับจ่ายสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ในฐานะผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ ต้องกลับมาคิดว่า สามารถตอบสนองและเข้าถึงกลุ่มผู้หญิงได้ดีพอหรือยัง

 

5. ความต้องการของแต่ละเจนเนอเรชั่น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย เพราะอย่างที่เรารู้กันว่า ไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว โดยปัจจุบันไทยมีคนกลุ่มนี้ราว 30% จากจำนวนประชากรทั้งหมด และในอนาคตจะเพิ่มเป็น 40% ที่สำคัญผู้สูงวัยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก คือ เป็นคนที่มีเงินเก็บ ปลอดภาระ ทำให้เป็นอีกกลุ่มที่มีอำนาจการจับจ่ายสูง

6. การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เรื่องนี้ถือว่า มีอิมแพคอย่างมาก เพราะส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ชอบความสะดวก ต้องการรวดเร็ว ไม่ชอบรอ และสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ ก็คือ อีคอมเมิร์ซ

หากดูข้อมูลประเทศในเอเชียที่มียอดขายของ FMCG บนออนไลน์สูงสุด พบว่า อันดับ 1 ได้แก่ ‘เกาหลี’ ยอดขายอยู่ที่ 18%  , อันดับ 2 ‘จีน’ 16% , อันดับ 3 ‘ไต้หวัน’ 5.6% , อันดับ 4 ‘ญี่ปุ่น’ 5% , อันดับ 5 ‘สิงคโปร์’  3%

ส่วนไทยมียอดขายของ FMCG บนออนไลน์น้อยกว่า 1% แต่ถือว่ามีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นโจทย์ทางธุรกิจว่า เมื่อผู้บริโภคอยู่ที่ไหน เราจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ที่นั้นด้วย โดยไม่ได้หมายความว่า จะมีเวบไซต์เพื่อทำอีคอมเมิร์ซเพียงอย่างเดียว อาจหมายถึงการมี Call center , มีแอปในการให้บริการ , มีโซเชียลมีเดียไว้สื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคก็ได้

ส่วนคนไทยใช้จ่ายบนออนไลน์กับอะไรมากที่สุด ทางนีลเส็น ประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลว่า อันดับ 1 ได้แก่ อินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง , อันดับ 2 สินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า ฯลฯ , อันดับ 3 ร้านอาหารจานด่วน เช่น ไก่ทอด , พิซซ่า ฯลฯ อันดับ 4 สินค้าเพื่อสุขภาพ เช่น วิตามิน ฯลฯ และ อันดับ 5 ได้แก่ การท่องเที่ยว เช่น จองโรงแรม , จองสายการบิน เป็นต้น

ทั้งหมด เป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการและนักการตลาดของกลุ่ม FMCG ต้องรู้และจับตาสำหรับนำมาวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับเทรนด์ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้นนั่นเอง

 


  • 541
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE