ใครเป็นใครใน 10 แบรนด์ “มิลเลนเนียลไทย” พูดถึงมากสุด พร้อมบทวิเคราะห์ทำไมถึงครองใจ?!

  • 492
  •  
  •  
  •  
  •  

2018-Millennial brand-cover

“YouGovBrandIndex” เผยผลการสำรวจวิจัย “2018 Millennial Word of Mouth Rankings” แบ่งเป็น 2 ผลสำรวจ คือ “แบรนด์ที่กลุ่มมิลเลนเนียลชาวไทย พูดถึงมากที่สุด” (Top Word of Mouth Rankings) และ “แบรนด์ที่กลุ่มมิลเลนเนียลชาวไทย พูดถึงเพิ่มขึ้น” (Top Word of Mouth Improvers) 

หลักเกณฑ์การวัด ได้คัดเลือก 450 แบรนด์ในรอบแรกที่ได้รับการกล่าวถึงในเชิงบวก (Word of Mouth : WOM) โดยได้จากการสอบถามความคิดเห็นกับผู้ตอบแบบสำรวจช่วงอายุ 18 – 34 ปี ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennial Generation) ด้วยการถามความคิดเห็นว่า

“คุณได้ยินเรื่องราวเชิงบวกเกี่ยวกับแบรนด์ใดบ้างในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะได้ยิน หรือรับรู้จากโฆษณา ข่าว หรือการบอกต่อแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ?”

แบรนด์ที่มีการรับรู้ต่ำกว่าเกณฑ์จะถูกคัดออก จากนั้นทำการสำรวจต่อไปด้วยคำถามที่ลงลึกถึงการรับรู้แบรนด์ผ่านการบอกต่อแบบปากต่อปาก…

“แบรนด์ใดที่ผู้ตอบแบบสำรวจ ได้พูดคุยกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว (ไม่ว่าเป็นการพูดคุยผ่านการสนทนาตรง ผ่านออนไลน์ หรือผ่านโซเซียลมีเดีย) ในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ?”

เมื่อได้ข้อมูลแล้ว นำไปสู่การวิเคราะห์ เพื่อจัดอันดับแบรนด์ที่ได้คะแนนการบอกต่อแบบปากต่อปากเชิงบวก (Word of Mouth) ซึ่งการสำรวจวิจัยครั้งนี้ ใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่าง 1 กันยายน 2559 – 31 สิงหาคม 2561

มาดูกันว่าผลการสำรวจครั้งนี้ แบรนด์ไหนติด 10 อันดับแบรนด์ที่มิลเลนเนียลไทยพูดถึง/บอกต่อมากที่สุด และ 10 อันดับแบรนด์ที่มิลเลนเนียลไทยพูดถึง/บอกต่อเพิ่มขึ้นมากที่สุด ประจำปี 2018

word of mouth

 

10 อันดับแบรนด์ที่มิลเลนเนียลไทยพูดถึงมากสุด “Facebook” โซเชียลมีเดียสุดฮิต – “AirAsia” สายการบินที่วัยรุ่นชอบ

 

อันดับ 1 “Facebook”

ด้วยคะแนน 84.4 เพราะถือเป็นแพลตฟอร์ม Social Network ใหญ่สุดในไทย ด้วยฐานผู้ใช้งานในไทยกว่า 52 ล้านราย และประเทศไทย ติดอันดับ 8 ของประเทศที่มีการใช้ Facebook มากที่สุดในโลก ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 ของเมืองที่มีการใช้ Facebook มากสุดในโลก !!

เพราะฉะนั้นถึงแม้ปัจจุบันผู้บริโภคไทยกลุ่มมิลเลนเนียล ใช้ Social Network หลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Instagram, LINE ฯลฯ และในช่วง 2 – 3 ปีมานี้ กลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มหันไปใช้ Twitter และ Instagram มากขึ้น ทำให้สองแพลตฟอร์มนี้ มีฐานผู้ใช้งานเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โดยปัจจุบันยอดผู้ใช้ “Twitter” ในไทยอยู่ที่กว่า 12 ล้านราย ปัจจัยหลักที่ผลักดันการเติบโตคือ แฟนคลับ K-Pop ที่ไม่ได้จำกัดอายุ และกลุ่มวัยรุ่น ที่ยังคงมีบัญชี Facebook อยู่ แต่เทน้ำหนักการใช้ Social Media ไปยังแพลตฟอร์ม Twitter มากขึ้น ขณะที่ “Instagram” ในไทยมีฐานผู้ใช้งานกว่า 14 ล้านราย ปัจจัยสร้างการเติบโตส่วนหนึ่งมาจาก “Social Commerce” บน IG

แต่ด้วยความที่ “Facebook” เป็นแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ใหญ่สุดในไทย นี่จึงทำให้ activity ที่เกิดขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามข้อมูลข่าวสาร การตามเพจ ตาม Influencer การแสดงความคิดเห็น หรือแม้แต่การแชร์ต่อ จึงเกิดขึ้นบน Facebook มากสุดที่ยังคงทำให้ “กลุ่มมิลเลนเนียลชาวไทย” ยังคงใช้แพลตฟอร์มนี้มากสุด

Social Media_Facebook

 

อันดับ 2 “AirAsia”

Low Cost Airline รายใหญ่ทั้งในระดับอาเซียน และอันดับ 1 ในไทย โดยตลอดระยะเวลา 14 ปีเปิดให้บริการในไทย ขนส่งผู้โดยสารรวมแล้วกว่า 114 ล้านคน มีเครือข่ายเส้นทางบินครอบคลุมมากกว่า 56 ปลายทาง ใน 13 ประเทศของทวีปเอเชีย

ทั้งยังเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย จากซื้อตั๋วผ่านเอเยนต์ มาสู่การจองตั๋ว และเช็คอินผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันช่องทางการจำหน่ายตั๋วของ AirAsia ในไทย มากกว่า 55% มาจากช่องทางอินเทอร์เน็ต

ผนวกเข้ากับการทำโปรโมชั่นที่มีมาเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือ Signature Campaign เช่น โปร 0 บาท, ตั๋วราคาพิเศษ ทำต่อเนื่องจนอยู่ในการรับรู้ของผู้บริโภคไทยไปแล้ว และโหมหนักสื่อสารการตลาด กระจายทุกสื่อ ทั้งสื่อทีวี, สื่อกลางแจ้ง, สื่อสิ่งพิมพ์, สื่อวิทยุ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง และสื่อออนไลน์ เจาะตรงเข้าถึงผู้บริโภคยุคดิจิทัล ด้วยการครีเอท “คอนเทนต์” ดึงความสนใจคนบนโลกออนไลน์

AirAsia
AirAsia สายการบินแบบ Low Cost Airline ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของคนไทย (Photo Credit : Sergey Edentod / Shutterstock.com)

 

อันดับ 3 “7-Eleven”

เชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่สุดของเมืองไทย นับตั้งแต่เปิดสาขาแรกเมื่อปี 2531 ที่ซอยพัฒน์พงษ์ ถนนสีลม ถึงวันนี้มีสาขามากกว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ มีลูกค้าใช้บริการ 11.8 ล้านคนต่อวัน และตั้งเป้าขยายให้ได้ 13,000 สาขาภายในปี 2564 ครอบคลุมแทบจะทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยปัจจัยที่ทำให้ “7-Eleven” เป็นที่พูดถึงในกลุ่มมิลเลนเนียล มาจากหลายองค์ประกอบ ได้แก่

– “สินค้า-บริการ” สัดส่วนสินค้าที่จำหน่ายภายในร้าน แบ่งเป็น “อาหารและเครื่องดื่ม” 70% ครอบคลุมทั้งเครื่องดื่ม-อาหาร ทั้งมื้อหลัก-มื้อว่าง ขณะที่อีก 30% เป็น “กลุ่มสินค้าอุปโภค” (ไม่รวมบัตรโทรศัพท์) เช่น ของใช้ส่วนบุคคล ของใช้ในครัวเรือน และยังมี “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” รองรับการให้บริการครอบคลุมตั้งแต่รับชำระบิลต่างๆ (Bill Payment) ไปจนถึงเป็น “Banking Agent” ให้กับธนาคารพาณิชย์ที่จับมือเป็นพันธมิตร

– ความหลากหลายของ “Store Format” ครอบคลุมทั้งเมืองหลัก-หัวเมืองรองที่ลงลึกระดับอำเภอ และทําเลอื่นๆ ที่มีศักยภาพในรูปแบบการร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มธุรกิจ เช่น ตั้งในโรงพยาบาล สถานศึกษา ศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย สถานีให้บริการน้ำมัน

การจะเข้าไปในแต่ละโลเกชันที่มีความแตกต่างกันทั้งในเชิงกายภาพของพื้นที่ และในเชิงผู้บริโภคในพื้นที่ จำเป็นจะต้องพัฒนาหลาย Store Format ตั้งแต่ขนาดเล็กสุดอย่างคีออส, ขนาดอาคารพาณิชย์ 1 – 3 คูหา, รูปแบบอาคาร 2 ชั้น (Duplex) ไปจนถึงร้านขนาดใหญ่ (Stand Alone) มีพื้นที่จอดรถ เช่น ร้านสาขาโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และ ธาราพัทยา อยู่ที่พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี เพื่อสร้างให้เป็น Community สำหรับคนในพื้นที่ย่านนั้นๆ เพื่อยกระดับให้เป็นมากกว่าร้านสะดวกซื้อ และตอกย้ำการเป็น Market Leader ที่ต้องก้าวนำหน้าคู่แข่ง และภาพลักษณ์การเป็นแบรนด์ทันสมัย ที่ใช้นวัตกรรมรีเทลเข้ามาผสมผสานกับร้านค้าเชิงกายภาพ

– สื่อสารการตลาด ให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์มากขึ้น เพราะเป็นช่องทางที่สามารถบอกข้อมูลข่าวสารได้เร็ว และเจาะตรงถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายแต่ละเซ็กเมนต์ โดยมีทั้งออนไลน์ที่ทาง “7-Eleven” ทำขึ้นเอง และจากฝั่ง Online Influencer ทั้งหลาย เช่น เพจรีวิวต่างๆ ซึ่งกลุ่มหลังนี้ มีพลังในการบอกต่อได้เร็ว

7-ELEVEN
7-Eleven สาขาธาราพัทยา ที่เป็นมากกว่าร้านสะดวกซื้อ แต่คือ การสร้างให้เป็น Community ของชุมชน

 

อันดับ 4 “LAZADA”

แพลตฟอร์มสำหรับการช้อปปิ้ง และการขายสินค้าออนไลน์รายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ประเทศไทย และเวียดนาม โดยมี “Alibaba Group” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ปัจจุบันบนแพลตฟอร์ม LAZADA มีผู้ค้าออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศกว่า 155,000 คน และแบรนด์สินค้ากว่า 3,000 แบรนด์ รายการสินค้ามากกว่า 300 ล้านชิน นำเสนอให้บริการแก่ผู้บริโภคกว่า 560 ล้านคนทั่วทั้งภูมิภาค

 

อันดับ 5 “KFC”

เป็นทั้งเชนร้านอาหารบริการด่วนที่ขยายตัวเร็วที่สุด เสิร์ฟไก่ทอดกว่า 800,000 ชิ้นต่อวัน หรือ 292 ล้านชิ้นต่อปี และยังติด Top 10 แบรนด์ที่ถูกกล่าวถึงมากสุดในกลุ่มคนมิลเลนเนียลชาวไทย หลังจาก “ยัม เรสเทอรองตส์” เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นแฟรนไชส์ 100% โดยแฟรนไชส์ซีทำให้หน้าที่การขยายสาขา

ในไทย แฟรนไชส์ซีที่ขยายและบริหารสาขา KFC ทั่วไทย ประกอบด้วย 3 ราย คือ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) / เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ (RD) / คิวเอสอาร์ออฟเอเชีย (QSA) รวมแล้วปัจจุบันมีกว่า 700 สาขา ตั้งเป้าขยายเครือข่ายสาขาให้ได้ 1,000 แห่ง และเป็นร้านแบบไดรฟ์ทรูอย่างน้อย 100 แห่งในปี 2563

ในขณะที่บทบาทของ “ยัม เรสเทอรองตส์” ยังคงเป็นเจ้าของแบรนด์ KFC โดยทำหน้าที่ให้การสนับสนุนแฟรนไชส์ซี และบริหารแบรนด์ ด้วยการสร้างแบรนด์ และแคมเปญการตลาด สื่อสารผ่านทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม ด้วยโมเดลธุรกิจเช่นนี้ ทำให้ KFC ประเทศไทย เติบโตเป็นอันดับ 8 ของ KFC ทั่วโลก

KFC Brand
ยัม เรสเทอรองตส์ ได้เปลี่ยนธุรกิจ KFC เป็นแฟรนไชส์ 100% โดยในไทยให้แฟรนไชส์ซี 3 ราย คือ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป, เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์, คิวเอสอาร์ออฟเอเชีย (Photo Credit : natthi phaocharoen/ Shutterstock.com)

 

อันดับ 6 “Shopee”

อีกหนึ่ง Major Player ในตลาด E-Commerce และ M-Commerce ในประเทศไทย อยู่ในกลุ่ม Sea Limited หรือชื่อเดิมคือ Garena Interactive Holding Limited บริษัทเทคโนโลยี ทั้งด้านเกม – ช้อปปิ้งออนไลน์ – บริการการเงินดิจิทัล รายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในไทย “Shopee” มียอดดาวน์โหลดกว่า 17 ล้านครั้ง มีผู้ติดตามใน Social Media กว่า 8 ล้านคนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ขายบนแพลตฟอร์มกว่า 700,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นแบรนด์ดัง 600 แบรนด์

กลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้คนไทยรู้จัก และสั่งซื้อสินค้าจาก Shopee คือ “Localized Strategy” ปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และความต้องการของผู้บริโภคแต่ละประเทศที่เข้าไปลงทุน เช่น ในไทย พบว่าคนไทยชื่นชอบ Celebrity ที่เป็นนักแสดง – นักร้องคนดัง จึงได้นำมาเป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อ Short cut สร้างการรับรู้ได้เร็ว ไม่ว่าจะเป็น “ณเดชน์ – ญาญ่า” และล่าสุด ศิลปิน Girl Group ชื่อดังจากเกาหลี “Blackpink” ควบคู่การใช้สื่อที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นตลาดใหญ่ของอีคอมเมิร์ซในไทย ทั้งบิลบอร์ด สื่อรถไฟฟ้า และสื่อออนไลน์

Blackpink KPop
ศิลปินวงเกาหลีชื่อดัง Blackpink พรีเซนเตอร์ล่าสุดของช้อปปี้ (Photo Credit : YouTube Shopee Thailand)

 

อันดับ 7 “Mama”

แม้จะไม่ใช่ผู้เปิดตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย แต่ชื่อของ “มาม่า” (Mama) กลายเป็น Generic Name ที่คนไทยส่วนใหญ่เรียกแทนสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปแล้ว โดยมีสินค้าเรือธง คือ รสหมูสับ และ รสต้มยำ และมีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50% และอีกสองแบรนด์คือ ไวไว กับ ยำยำ

หัวใจความสำเร็จของ “มาม่า” ที่ทำให้ยังคงครองความเป็นอันดับหนึ่งของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยมาถึงวันนี้ แม้เวลานี้จะมีแบรนด์ใหม่นำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาเป็นทางเลือกมากมาย คือ มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ ทำให้ได้ Economy of scale ที่ทำให้ควบคุมราคาขายให้อยู่ในระดับที่ผู้บริโภคทุกคนสามารถซื้อได้ แม้ต้นทุนการผลิตจะขยับขึ้นอย่างไรก็ตาม และมีระบบจัดจำหน่ายแข็งแกร่ง ที่สามารถทะลุทะลวงเข้าถึงทุกช่องทางการขาย ตั้งแต่ร้านโชห่วยขนาดเล็ก ไปจนถึง Modern Trade ขนาดใหญ่

ขณะเดียวกันยังได้ออกสินค้าที่เป็นรสชาติใหม่ที่หมุนเวียนตลอดเวลา เพื่อสร้างความคึกคักให้กับแบรนด์ และตลาด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นการเติบโตเชิงปริมาณ (Volume Growth) มาตลอด ซึ่งทุกวันนี้อัตราการบริโภคค่อนข้างทรงตัว ประมาณ 45 ซองต่อคนต่อปี

เพราะฉะนั้นหนทางที่จะสร้างการเติบโตได้มากกว่านี้ คือ การเติบโตในเชิงมูลค่า (Value Growth) ด้วยการบุกตลาดบะหมี่ถ้วยมากขึ้น และใช้กลยุทธ์ Brand Extension โดยปั้น sub-brand ใหม่ เพื่อไปเจาะตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลุ่มพรีเมียม

เช่น การเปิดตัว “Mama Oriental Kitchen” ที่จับเอา consumer insight คนไทยนิยมรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี ตามซีรีย์เกาหลีที่มักจะปรากฏฉากการรับประทานรามยอง ทำให้คนไทยอยากลอง ซึ่งเวลานี้กลุ่ม “Mama Oriental Kitchen” กลายเป็น Rising Star ที่สร้างความสำเร็จบทใหม่ให้กับแบรนด์มาม่ายุคนี้

Mama brand
มาม่า แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอันดับ 1 ของไทย และเป็น Generic Name ของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย (Photo Credit : Nattaro Ohe/ Shutterstock.com)

 

อันดับ 8 “LINE”

เติบโตจากแอปพลิเคชันแชท จนทุกวันนี้กลายเป็นแอปฯ แชทอันดับ 1 ของไทย ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 42 – 43 ล้านราย นั่นทำให้ LINE สามารถสร้าง ecosystem ต่อยอดไปได้อีกมหาศาล ทั้งกลุ่มธุรกิจ “LINE Sticker” / ธุรกิจ “LINE TV” ที่ตั้งเป้าเป็นทีวีออนไลน์ของคนไทย

และ “LINE Man” แพลตฟอร์ม On Demand Service ครอบคลุมบริการสั่งอาหาร, บริการส่งพัสดุ, บริการส่งด่วนในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล 24 ชั่วโมง, บริการเรียกแท็กซี่ และบริการซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ รวมไปถึงการจับมือกับ Rabbit Group และ AIS เปิดกระเป๋าเงินดิจิทัล “Rabbit LINE Pay” ใช้ชำระค่ารถไฟฟ้าบีทีเอส ไปจนถึงชำระค่าสินค้า-บริการต่างๆ ที่เข้าร่วม

จะสังเกตได้ว่าบริการที่พัฒนาขึ้น ล้วนแล้วแต่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน เพราะต้องการผลักดันให้ “LINE” ไม่ได้เป็นเพียงแค่แอปฯ แชทของคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็น “แพลตฟอร์ม” ที่อยู่กับทุกไลฟ์สไตล์ของคนไทย

LINE MAN
LINE MAN ส่วนหนึ่งของ LINE ให้บริการแบบ On Demand

 

อันดับ 9 “Adidas” และ อันดับ 10 “Nike”

ผลิตภัณฑ์กีฬารายใหญ่ของโลก และในไทย ความน่าสนใจของทั้งสองแบรนด์มหาอำนาจแห่งโลกกีฬา คือ การนำความเป็นแฟชั่น มาผสมผสานเข้ากับผลิตภัณฑ์กีฬา เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตไปมากกว่าการเป็นผลิตภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เฉพาะเมื่อเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน

สอดรับกับเทรนด์แฟชั่นใหญ่ของโลกที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว และยังคงอยู่ถึงทุกวันนี้ คือ “Athleisure” (Athlete + Leisure) ทำให้ทุกวันนี้เราจะเห็นคนแต่งตัวท่อนบนใส่สูท แต่ส่วนรองเท้า กลับใส่สนีกเกอร์ แทนที่จะเป็นรองเท้าหนัง หรือชุดทำงานที่แฝงกับสปอร์ต

เทรนด์แฟชั่นดังกล่าวตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดีตรงที่ คนยุคดิจิทัลใช้ชีวิตแบบที่เรียกว่า “Fluid Lifestyle” คือ เคลื่อนไหวตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง ชอบความยืดหยุ่น ดังนั้นการแต่งตัวสไตล์ “Athleisure” ช่วยให้คล่องตัว ทะมัดทะแมง ประกอบกับเวลานี้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้เครื่องแต่งกายกีฬาเติบโต แน่นอนว่าแบรนด์ที่เป็น Top of mind brand ยังคงเป็น “Adidas” กับ “Nike”

2018-Millennial-1

 

“Xiaomi” คว้าอันดับ 1 มือถือ “มิลเลนเนียลไทย” พูดถึงเพิ่มขึ้น 

 

สำหรับผลสำรวจแบรนด์ที่มีการบอกต่อแบบปากต่อปากเพิ่มขึ้นในกลุ่มมิลเลนเนียลไทย พบว่า อันดับ 1 “Xiaomi” (เสียวหมี่) เป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนแบรนด์เดียวที่ได้รับการจัดอันดับจากผลสำรวจล่าสุดในครั้งนี้

เมื่อพูดถึงแบรนด์ “Xiaomi” ถือกำเนิดขึ้นในปี 2553 ปัจจุบันเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนอันดับที่ 4 ของโลก และได้สร้าง IoT แพลตฟอร์มสำหรับลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วย Smart Device มากกว่า 132 ล้านผลิตภัณฑ์ (ทั้งนี้ไม่รวมสมาร์ทโฟนและแล็ปท็อป) ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เสียวหมี่ วางจำหน่ายมากกว่า 80 ประเทศ และภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก และอยู่ในอันดับต้นในตลาดสำคัญต่างๆ

สำหรับการทำตลาดในไทย เข้ามาเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2560 อย่างไรก็ตามก่อนบุกตลาดไทยจริงจัง คนรุ่นใหม่ในไทยรู้จักชื่อนี้กัน เพราะมีกระแสการสั่งซื้อสมาร์ทโฟนสัญชาติจีนแบรนด์นี้จากต่างประเทศโดยตรง เนื่องจากมีกระแสพูดถึงกันบนออนไลน์เกี่ยวกับกิตติศัพท์ว่าเป็นสมาร์ทโฟน “Xiaomi” ถึงคุณสมบัติสเปคจัดเต็มเทียบเท่าแบรนด์สมาร์ทโฟนรุ่นพี่ระดับโลก ดีไซน์สวย แต่จำหน่ายในราคาถูกกว่ามาก ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่โดยพฤติกรรมเปิดรับ และกล้าทดลองแบรนด์ใหม่อยู่แล้ว จึงค้นหาข้อมูลจากรีวิวต่างๆ และลองสั่งซื้อสมาร์ทโฟนแบรนด์นี้มาใช้กัน

กระทั่งวันนี้ “Xiaomi” ทำตลาดในไทย 2 ปีแล้ว โดยแนะนำรุ่นใหม่ต่อเนื่อง ทำให้ชื่อของสมาร์ทโฟนแบรนด์นี้ เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น บวกกับการเปิด Mi Store ขายผ่านช้อปของโอปอเรเตอร์ และขายผ่านออนไลน์ ส่งผลให้ได้รับคะแนนจากกลุ่มมิลเลนเนียลชาวไทยที่มีการบอกต่อแบบปากต่อปากเพิ่มขึ้นมากที่สุดอันดับ 1 ที่วัดความแข็งแกร่งโดยรวมของแบรนด์ การรับรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับคุณภาพ คุณค่า ความประทับใจ ความพึงพอใจ ชื่อเสียง และความต้องการแนะนำแบรนด์ให้ผู้อื่นหรือไม่

Mi Store
Xiaomi แบรนด์สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ IoT ของจีน ปัจจุบันเป็นสมาร์ทโฟนอันดับ 4 ของโลก

2018-Millennial-2


  • 492
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ