ประวัติ Canon จากห้องแลปเล็กๆในญี่ปุ่นสู่แบรนด์ระดับโลกที่ครองส่วนแบ่งตลาดกล้อง DSLR เกิน 50%

  • 228
  •  
  •  
  •  
  •  

เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่ Canon เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยและประสบความสำเร็จในการครองส่วนแบ่งตลาดล้อง DSLR (Digital Single-lens Reflex) เป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องกันยาวนานถึง 17 ปี โดยในปี 2023 ที่ผ่านมาครองส่วนแบ่งตลาดกล้อง DSLR ไว้ได้สูงถึง 51% ในขณะที่ในตลาดโลก Canon ครองส่วนแบ่งตลาดกล้องทั้ง DSLR และ Mirrorless เป็นอันดับ 1 ของโลก ต่อเนื่องมา 21 ปีแล้ว ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้นี้เป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมไปถึงการก้าวข้ามความท้าทายด้วยแผนธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องจนทำให้ Canon เป็นบริษัทระดับโลกอย่างทุกวันนี้

หัวร้อนกับกล้องยุโรปราคาแพงก็สร้างเองซะเลย

โกโระ โยชิดะ (Goro Yoshida) ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Canon ในช่วงวัย 20 กว่าๆทำงานเป็นช่างซ่อมกล้องวิดีโอและโปรเจ็กเตอร์ที่บริษัทแห่งหนึ่ง มีประสบการณ์ซื้ออะไหล่กล้องที่ประเทศจีนอยู่บ่อยๆ ด้วยความสงสัยว่าทำไมกล้องถ่ายรูปนำเข้าจากยุโรปอย่างแบรนด์ Leica ทำไมจึงมีราคาสูง ก็เลยได้ลองแกะแยกชิ้นส่วนกล้อง “Leica Model II” กล้องที่ในเวลานั้นมีราคาแพงกว่าเงินเดือนเด็กจบใหม่ในญี่ปุ่นถึง 6 เท่าตัว ก่อนจะพบว่าชิ้นส่วนภายในไม่ได้มีอะไรพิเศษ เป็นชิ้นส่วนที่ราคาไม่ได้แพงแต่กลับตั้งถูกตั้งราคาเอาไว้สูงเกินไป การค้นพบนี้ทำให้ โยชิดะ ถึงกับเคยเล่าเอาไว้ว่าเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกโมโหเลยทีเดียว จนเป็นที่มาของไอเดียที่จะสร้างกล้องที่ราคาเข้าถึงได้ขึ้นมาเอง

โกโระ โยชิดะ (Goro Yoshida) ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Canon

หลังจากนั้นโยชิดะ จึงตัดสินใจลงทุนร่วมกับ ซาบุโระ อุชิดะ (Saburo Uchida) ก่อตั้งห้องแลปเพื่อการพัฒนากล้องถ่ายรูปคุณภาพสูงที่มีชื่อว่า Precision Optical Instruments Laboratory ขึ้นในปี 1933 โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะพัฒนากล้องถ่ายรูปคุณภาพที่สามารถแข่งขันกับแบรนด์จากยุโรปอย่าง Leica แบรนด์จากเยอรมนีที่รองตลาดอยู่ในเวลานั้นให้ได้

กำเนิดกล้อง Kwanon ต้นตระกูลกล้อง Canon

Kwanon กล้องต้นแบบที่เป็นต้นกำเนิดกล้องฟิล์มอีกหลายรุ่นของ Canon ในเวลาต่อมา

หลังเปิด Precision Optical Instruments Laboratory ได้ 1 ปี กล้องรุ่นต้นแบบก็ถือกำเนิดขึ้นมาในที่สุดโดยใช้ชื่อว่า Kwanon ตามชื่อ คันนง โบซัตสึ (Kannon Bosatsu) ที่หมายถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือ พระโพธิสัตว์กวนอิม เทพเจ้าแห่งความเมตตาของชาวญี่ปุ่น เหตุผลเพราะคุณโยชิดะ เองก็เป็นพุทธศาสนิกชน และไม่ใช่แค่ตั้งชื่อกล้องเท่านั้นแต่ยังตั้งชื่อเลนส์เลนส์ด้วยว่า กัสสปะ (Kasyapa) ตาม พระมหากัสสปะ (Mahakasyapa) บิดาแห่งพระสงฆ์ในศาสนาพุทธด้วย ซึ่งชื่อของ Kwanon ก็นับได้ว่าเป็นต้นกำเนิดแบรนด์ Canon ในเวลาต่อมาด้วย

โลโก้ที่ถูกแกะสลักลงบนกล้อง Kwanon เป็นพระโพธิสัตว์กวนอิมปางพันกร

หลังผลิตกล้องต้นแบบ Kwanon ขึ้นมาได้ 2 ปี   บริษัทก็ผลิตกล้องฟิล์ม 35mm รุ่นแรกที่ออกขายในเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จในชื่อ Hansa Canon ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างประวัติศาสตร์บริษัทผู้ผลิตกล้องที่เติบโตมาจนถึงยุคปัจจุบัน ก่อนที่บริษัทจะเปลี่ยนชื่อเป็น Canon Camera Co อย่างเป็นทางการในปี 1947 นำไปสู่การสร้างชื่อในฐานะบริษัทระดับโลกหลังจากนั้น

Hansa Canon (Standard Model) กล้องที่ทำออกขายรุ่นแรกของ Canon

ขยายธุรกิจสู่อุปกรณ์สำนักงาน

Canon 130s เครื่องคิดเลขเครื่องแรกของ Canon / ภาพ www.vintage-calculators.nl

ในช่วงทศวรรษที่ 60 Canon ต้องสร้างความแข็งแกร่งให้บริษัทมากขึ้นด้วยการขยายระบบนิเวศทางธุรกิจไปผลิตสินค้าอื่นๆนอกจากกล้องถ่ายภาพเพิ่มเติม โดยในปี 1964 แคนนอนได้เริ่มบุกตลาดอุปกรณ์สำนักงานโดยได้เปิดตัวเครื่องคิดเลขอิเล็กทรอนิกส์แบบ 10 ปุ่มตัวแรกของโลกขึ้น ต่อมาในปี 1967 จึงได้ประกาศสโลแกนในการบริหารงานของบริษัทว่า “cameras in the right hand, business machines in the left” หรือ “กล้องถ่ายรูปในมือขวา อุปกรณ์สำนักงานในมือซ้าย” และในปี 1969 บริษัทแคนนอนได้เปลี่ยนชื่อจาก Canon Camera Co., Inc. เป็น Canon Inc. ก่อนจะพัฒนาเครื่องถ่ายเอกสารเครื่องแรกของประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ

ยุคแห่งการพัฒนากล้อง SLR (Single-lens reflex)

กลับมาที่ธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดของ Canon อย่างกล้องถ่ายภาพในช่วงทศวรรษที่ 50-60 Canon สร้างนวัตกรรมกล้อง SLR ที่เป็นหมุดหมายในธุรกิจของบริษัทได้หลายตัวเริ่มตั้งแต่ Canonflex ที่เป็นจุดเริ่มต้นของกล้องถ่ายภาพ SLR ที่เป็นที่นิยมในอนาคตเพราะความอเนกประสงค์สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ มีช่องมองภาพที่สะท้อนจากกระจกที่หมุนกลับรวดเร็วทำให้ช่างภาพสามารถมองภาพ จัดองค์ประกอบก่อนถ่ายได้ผ่านช่องมองภาพ

Canonflex / ภาพ https://global.canon/en/c-museum/index.html

อย่างไรก็ตามกล้องที่ได้รับความนิยมมากๆในหมู่ช่างถ่ายภาพสมัครเล่นและมืออาชีพก็คือ Canonet ที่พัฒนามาให้คุณภาพของภาพที่ได้มีระดับสูง โดยกล้องใช้งานได้ง่ายและมีราคาเข้าถึงได้และ Canonet มีบทความสำคัญในการวางตำแหน่งของ Canon ในอุตสาหกรรมกล้องและนำไปสู่การพัฒนาสวัตกรรมในตลาดกล้องของ Canon ได้ต่อไป

ยุคแห่งกล้อง Electronic

เมื่อโลกก้าวสู่ยุคของ Electronic กล้อง Canon ก็ก้าวไปด้วยเช่นกันพร้อมกับการเปิดตัวกล้อง Canon F-1 กล้องที่สร้างขึ้นเพื่อช่างภาพมืออาชีพ ที่มาพร้อมกับบอดี้ที่แข็งแกร่งทนทานมากกว่าเดิม มีเลนส์ให้เปลี่ยนได้หลายช่วงระยะสามารถติดตั้ง accessories ได้หลากหลาย

Canon F-1 / ภาพ https://global.canon/en/c-museum/product/film78.html

ตามมาด้วยกล้อง Canon AE-1 ในปี 1976 ที่ปฏิวัติวงการกล้องอีกครั้งโดย AE-1 เป็นกล้องตัวแรกที่มี CPU ติดตั้งอยู่ภายในช่วงให้วัดแสดงและปรับสปีดชัตเตอร์ได้โดยอัตโนมัติ เทคโนโลยีนี้ช่วยให้การถ่ายภาพเข้าถึงคนถ่ายภาพแบบมือสมัครเล่นได้มากขึ้น เพราะเทคโนโลยีช่วยให้ผู้ใช้งานไม่ต้องมีความรู้และทักษะการตั้งค่ากล้องแบบ Manual นวัตกรรมจาก AE-1 ทำให้ Canon สร้างชื่อในฐานะแบรนด์นักพัฒนาในอุตสาหกรรมกล้อง จากนั้นก็มีกล้องอีกหลายรุ่นที่ช่วยให้การถ่ายภาพง่ายขึ้นตามมาเช่น T series ที่ช่วยปรับทั้งรูรับแสง สปีดชัตเตอร์ รวมถึงเทคโนโลยีการ ออโต้โฟกัส ที่มาพร้อมกับกล้องรุ่น T80 ในช่วงทศวรรษที่ 80 ช่วยให้การถ่ายภาพให้คมชัดทำได้ง่ายขึ้นสำหรับคนทั่วไป และเป็นจุดเริ่มต้นของระบบออโต้โฟกัสในอีกหลายปีต่อมาด้วย

Canon EOS 650 / ภาพ https://global.canon/

ในปี 1987 Canon พัฒนากล่องฟิล์มรุ่นใหม่ที่เก่งยิ่งกว่าเดิมอย่าง EOS 650 ที่มีระบบอิเล็กทรอนิกที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ตั้งแต่เลนส์ที่มีระบบอิเล็กทรอนิกที่สื่อสารได้กับตัวกล้อง ช่วยให้ถ่ายภาพได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ควบคุมการวัดแสงและการตั้งค่าการถ่ายภาพอื่นๆได้มากยิ่งขึ้น และ EOS 650 ก็เป็นกล้องในไลน์ EOS ที่มีลูกหลานตามมาอีกหลายรุ่น และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันด้วย

จุดเริ่มต้นยุคแห่ง Digital Camera

Canon PowerShot 600 / ภาพ https://global.canon/

การถ่ายภาพดิจิทัลกลายเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่โลกได้รู้จักในช่วงทศวรรษที่ 90 จนถึงปี 2000 และ Canon ก็เข้าสู่โลกของการถ่ายภาพดิจิทัลในปี 1996 ด้วยกล้อง Canon PowerShot 600 กล้องดิจิทัลโมเดลแรกที่ขายให้ผู้บริโภค ให้ความสะดวกสบายในการถ่ายภาพโดยที่ยังคงคุณภาพของภาพเอาไว้ได้ ความสำเร็จของ Canon PowerShot หลายต่อหลายรุ่นเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้การถ่ายภาพดิจิทัลเข้าถึงคนในกระแสหลักและทำให้ Canon มีจุดยืนที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมนี้

หลังจากปี 2000 Canon ก็ก้าวเข้าสู่ยุคของ DSLR หรือ Digital SLR อย่างเต็มตัวด้วยการเปิดตัวกล้อง EOS D30 กล้อง DSLR ที่ดึงเอาเทคโนโลยีการถ่ายภาพระดับมืออาชีพของกล้อง SLR มาสู่โลกของดิจิทัล ทำให้ช่างภาพได้ภาพคุณภาพสูงจากเลนส์คุณภาพสูงหลากหลายระยะ นับว่า D30 เป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จของ Canon ในตลาดกล้อง DSLR ในเวลาต่อมาก็ว่าได้

Canon EOS 5D / ภาพ https://global.canon/

ในปี 2005 EOS 5D กลายเป็นกล้อง DSLR ที่เปลี่ยนโลกกล้องดิจิทัลแบบ Full-Frame หรือกล้องที่เซ็นเซอร์ขนาดใหญ่เท่ากับฟิล์ม 35mm ได้สำเร็จด้วยราคาที่เข้าถึงได้ พร้อมกับเซ็นเซอร์รับแสดงขนาดใหญ่ ถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ดีขึ้น ให้ Dynamic Range ความเปรียบต่างแสงได้ดีขึ้น เรียกว่า EOS 5D กลายเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของวงการกล้อง DSLR แบบ Full-Frame ได้เลย

ยุคแห่งกล้อง Mirrorless เทคโนโลยีใหม่ของการถ่ายภาพ

Canon ก้าวสู่ตลาดกล้อง Mirrorless หรือกล้องดิจิทัลไร้กระจกที่ทำให้บอดี้มีขนาดเล็กและเบาลง ในปี 2012 เปิดตัวด้วยซีรียส์ EOS M ที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบาเหมาะกับการพกพามากกว่าเมื่อเทียบกับกล้อง DSLR แต่คุณภาพของภาพนั้นไม่แตกต่างกัน EOS M ทำให้ Canon มีที่ยืนในตลาด Mirrorless ที่แข่งขันกันอย่างรุนแรงและได้รับความนยิมจากช่างภาพเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

Canon EOS M / https://global.canon/

ในปี 2018 Canon ก้าวต่อไปอีกครั้งด้วยการเปิดตัวกล้องในไลน์ EOS R กล้อง Mirrorless เซ็นเซอร์ Full-Frame ที่มีฟังก์ชั่นและสามารถถ่ายภาพได้คุณภาพเท่าๆกับ EOS DSLR แต่มีขนาดและน้ำหนักเบากว่า กล้อง EOS R ที่มาพร้อมกับเลนส์เมาส์ RF ได้รับเสียงชื่นชมเรื่องคุณภาพของภาพ ระบบออโต้โฟกัสที่ยอดเยี่ยม ฟีเจอร์ต่างๆที่ตอบโจทย์ช่างภาพ และเป็นการตอกย้ำการเป็นผู้นำในเทคโนโลยีกล้องของ Canon นับตั้งแต่นั้น ก่อนจะมี EOS R เปิดตัวออกมาจนถึงปัจจุบันและมีให้เหลือตามความต้องการหลากหลายรุ่นด้วยกันไม่ว่าจะเป็น EOS R8 หรือรุ่นเล็กอย่าง EOS R100 เป็นต้น

Canon EOS R / ภาพ https://global.canon/

Canon กับการก้าวข้ามหายนะทางธุรกิจด้วย Business Plan

ในช่วงทศวรรษที่ 70 แม้ธุรกิจของ Canon จะแข็งแกร่งมียอดขายเติบโตขึ้นถึง 44,800 ล้านเยน มีพนักงานจำนวนมากถึง 5,000 คน แต่ก็ต้องเจอกับวิกฤตเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปัญหาเรื่องค่าเงินและราคาน้ำมัน รวมไปถึงปัญหาชิ้นส่วนหน้าจอเครื่องคิดเลขที่ผิดพลาดจากการผลิต วิกฤตครั้งนั้นทำให้ Canon ผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เป็นบริษัทมหาชน

Canon แก้แกมด้วยการเปิดแผนธุรกิจที่เรียกว่า Premier Company Plan แผนในการ Transform บริษัทไปสู่การเป็น “บริษัทระดับโลกที่เป็นเลิศ” ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งบริษัทลูก พัฒนาระบบการพัฒนา การผลิตและการขายแบบแนวราบ รวมไปถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กร รวมความแข็งแกร่งของพนักงานไว้ด้วยกันสิ่งเหล่านี้ทำให้ชื่อเสียงและผลประกอบการณ์ของบริษัทฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เครื่องถ่ายเอกสารส่วนบุคคลที่มีหมึกแบบ all-in-one เลเซอร์ปรินเตอร์ และ Bubble Jet อิงก์เจ็ตปรินเตอร์ ซึ่งหลายๆอย่างก็ยังคงพัฒนามาจำหน่ายจนถึงปัจจุบัน

Canon เจอวิกฤตอีกครั้งในทศวรรษที่ 90 มีหนี้สินมูลค่ามหาศาลทำให้ Canon ต้องปรับปรุงการบริหารการเงินใหม่อีกครั้งและนำแผนธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า Excellent Global Corporation Plan มาปรับเปลี่ยนการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หันมาโฟกัสที่ยอดขายมาอยู่ที่ผลกำไร และแผนธุรกิจนี้เป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมและสร้างอัตลักษณ์ของ Canon มาเป็น Canon อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันทุกวันนี้

ทั้งหมดนี้เป็นเส้นทางธุรกิจสายกล้องถ่ายภาพที่เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจหลากหลายอุตสหากรรมของ Canon นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการถ่ายภาพแล้ว Canon ยังทำสินค้าในอุตสาหกรรมการพิมพ์ เครื่องสแกน  รวมถึงกล้องถ่ายวิดีโอโดยเฉพาะด้วย แต่ธุรกิจกล้องถ่ายภาพก็คือธุรกิจที่สร้างชื่อเสียงและสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทโดยเฉพาะตลาดในประเทศไทยอย่างที่เราเห็นมาจนถึงทุกวันนี้


  • 228
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE