เจาะ Insight ปัญหาปวดใจที่ ‘ร้านค้าออนไลน์’ ต้องเจอ พร้อมทางออกให้ธุรกิจเดินต่อได้

  • 808
  •  
  •  
  •  
  •  

แม้แนวโน้มของอีคอมเมิร์ซในบ้านเราจะมีการเติบโตต่อเนื่อง แต่ใช่ว่า เส้นทางของร้านค้าออนไลน์จะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ และประสบความสำเร็จได้ทุกราย เพราะยังคงต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่ชวนให้ปวดใจอยู่เสมอ

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้คาดการณ์มูลค่าของอี-คอมเมิร์ซในกลุ่มผู้ประกอบการ SME ไทย ว่า จะสูงถึง 680,000 ล้านบาทภายในปี 2562 หรือ คิดเป็นประมาณ 20% ของมูลค่าการค้าปลีกของไทย และปัจจุบันมี SME เป็นเจ้าของร้านค้าออนไลน์มากกว่า 200,000 ราย บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Lazada, Shopee และ JD Central และอีกกว่า 300,000 ราย ที่ค้าขายบนโซเชียลคอมเมิร์ซ ทั้ง Facebook , LINE และ Instagram

อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีการเติบโต แต่ SME ยังต้องพบกับปัญหาในตลาดนี้มากมาย โดยทาง ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี ได้มีการนำเสนอประเด็นนี้ ผ่านผลงานวิจัยในหัวข้อ “5 เรื่องจริงปวดใจของร้านค้าออนไลน์” พร้อมแนวทางแก้ไขปัญหา มีอะไรบ้าง เราไปติดตามกันได้เลย

1.ขายยังไงดี ของไม่มีจุดต่าง

ร้านค้าออนไลน์ถึง 60% พบว่า สินค้าของตนเองไม่มีความแตกต่างจากคู่แข่ง เนื่องจากซื้อสินค้าจากแหล่งเดียวกันถึง 44% และไม่สามารถสั่งผลิตสินค้าแยกได้ เนื่องจากไม่คุ้มค่าการผลิตถึง 16%

แนวทางการแก้ไขปัญหา หากสินค้าไม่มีความแตกต่าง ร้านค้าออนไลน์สามารถสร้างความแตกต่างได้ด้วยแนวทางดังนี้ 1.เน้นกลยุทธ์การตลาดสร้างความต่างให้กับสินค้า เช่น การปรับปรุงและออกแบบหีบห่อบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ให้สวยงามทันสมัย ใช้งานสะดวกมากขึ้น หรือมีบริการพิเศษ 2. เจาะตลาดกลุ่มใหม่ๆ ที่มีการแข่งขันน้อยกว่า 3. คิดสินค้าให้แตกต่าง และหา OEM มาช่วยผลิต โดยเริ่มจากการผลิตในปริมาณที่ไม่มากเกินไป ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์ให้กับตนเอง และช่วยให้ธุรกิจยั่งยืนได้ในระยะยาว

2.ยิงแอดแทบตาย… ยอดขายไม่ปัง!!!

ร้านค้าออนไลน์ถึง 23% มองว่า การโฆษณาทางออนไลน์ที่ลงทุนไปได้ผลไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เนื่องจากไม่ได้ยอดขายสินค้ากลับมา และไม่ได้สร้างการรับรู้ของร้านค้าให้มากขึ้น

แนวทางการแก้ไขปัญหา เริ่มแรกร้านค้าออนไลน์ควรวิเคราะห์และทำความรู้จักลูกค้าของตนเองให้รอบด้านก่อน เช่น เพศ อายุ อาชีพ สถานที่ รวมไปถึงความสนใจและรูปแบบการใช้ชีวิต (Lifestyle) ของลูกค้า และแบ่งเวลาในการเสริมสร้างความรู้ด้านการโฆษณา ด้วยการเข้าอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการเทคนิคการทำโฆษณาออนไลน์ ซึ่งการที่ผู้ประกอบการทราบถึงกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนนั้น จะทำให้การโฆษณามีประสิทธิภาพมากขึ้น และต้นทุนต่ำลง

3.สต็อกจ๋า ปัญหาใหญ่

89% ของร้านค้าออนไลน์ มีการขายสินค้าผ่านทางออฟไลน์ และทั้งหมดของกลุ่มนี้ ขายสินค้าออนไลน์มากกว่า 1 แพลตฟอร์ม โดย 37% มีปัญหาการบริหารสต็อก ทำให้สูญเสียโอกาสการขาย เสียพื้นที่โกดังเก็บของ เพิ่มต้นทุน และเงินทุนจม

แนวทางการแก้ไขปัญหา ร้านค้าออนไลน์ควรมีระบบที่จัดการที่ชัดเจน มีการอัพเดทตลอดเวลา และควรเก็บข้อมูลสต็อกไว้ในที่เดียว หรือใช้โปรแกรมหรือระบบอัตโนมัติที่ออกแบบมาเพื่อช่วยการบริหารสต็อก ก็จะสามารถบริหารจัดการสต็อกมากขึ้น

4.จะส่งของให้ลูกค้า ยังต้องลุ้น

ร้านค้าออนไลน์ถึง 84% เคยประสบปัญหาในการจัดส่งสินค้า อาทิ สินค้าเสียหาย ส่งสินค้าล่าช้า ส่งสินค้าผิดที่ ลูกค้าปฏิเสธการรับสินค้า หรือลูกค้าคืนสินค้าหลังจากได้รับสินค้าแล้ว ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่กระบวนการตรวจสอบข้อมูลก่อนการส่ง การเตรียมสินค้าเพื่อจัดส่ง ระหว่างการขนส่ง ไปจนถึงกระบวนการตรวจสอบ และรับสินค้า

แนวทางการแก้ไขปัญหา ร้านค้าออนไลน์สามารถลดความผิดพลาดที่จะเกิดขั้นในกระบวนการดังกล่าว ได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การทำระบบ การแปะรหัส ควรตรวจสอบสินค้าก่อนการส่ง และดูแลการบรรจุสินค้าอย่างแน่นหนาหรือเลือกใช้บริการ Pick & pack เพื่อลดขั้นตอนการทำงานบางส่วนออกไป เพื่อจะมีเวลาในการบริการลูกค้ามากขึ้น  ทั้งนี้ควรพิจารณาเลือกบริษัทขนส่งที่มีบริการดี น่าเชื่อถือ ก็จะช่วยลดปัญหาความไม่พึงพอใจของลูกค้าได้

5.จะร่วมเทศกาลเซลล์ทั้งที เงินน่ะมีไหม?

ร้านค้าออนไลน์ถึง 61% ต้องการเงินทุนที่เพียงพอในการเข้าร่วมเทศกาลเซลล์ครั้งใหญ่ที่ทางแพลตฟอร์มจัดขึ้น ซึ่งถือเป็น ‘ช่วงเวลาทองคำ’ ที่ร้านค้าออนไลน์จะสามารถเพิ่มยอดขายได้มากถึง 20-100 เท่า โดยร้านค้าออนไลน์ยอมแบกรับกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่ากำไรที่จะได้รับในช่วงนั้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงเทศกาลเซลล์ร้านค้าต้องทำราคาให้ต่ำเพื่อดึงดูดลูกค้า จึงดูเหมือนจะไม่คุ้มค่า

แนวทางแก้ไขปัญหา ร้านค้าออนไลน์ควรมีการวางแผนการเงินที่ดี และเตรียมเงินสำรองสำหรับร่วมเทศกาลเซลล์ครั้งสำคัญ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสทางธุรกิจ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาและอัตราดอกเบี้ยของเงินทุนสำรองนั้นๆ ด้วย

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว ทาง ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี ได้ร่วมกับ บริษัทวิจัยชั้นนำของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับ ทำการสำรวจทางออนไลน์กับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในไทยจำนวน 200 คน มีรายได้เฉลี่ย 10 – 100 ล้านบาทต่อปี คละประเภทอุตสาหกรรม ทั้งผู้ประกอบการที่มีหน้าร้าน และมีธุรกิจเฉพาะบนออนไลน์ ครอบคลุมทั้งธุรกิจ บนแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ และโซเชียลคอมเมิร์ซ

 


  • 808
  •  
  •  
  •  
  •