“AI Restaurant Tech” New Normal ธุรกิจร้านอาหารในยุค “Contactless – Personalized Experience”

  • 1.2K
  •  
  •  
  •  
  •  

AI Restuarant Tech

ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนใหญ่จะไปอยู่ตรงที่ Delivery และ “ระบบหลังบ้าน” แต่เมื่อพูดถึงการไปใช้บริการที่ร้านอาหาร โดยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีเทคโนโลยีที่เน้นสร้าง “ประสบการณ์ลูกค้าได้แบบเฉพาะบุคคล” (Personalized Experience) โดยที่ลูกค้าเป็นผู้กำหนดการใช้บริการต่างๆ ภายในร้านอาหารด้วยตัวเอง และให้บริการในรูปแบบ “ลดการสัมผัส” (Contactless) ที่คาดการณ์ว่าจะเป็นทิศทางต่อไปของธุรกิจบริการต่างๆ เนื่องจากการเกิดขึ้นของวิกฤต COVID-19 ทำให้ผู้คนคำนึงถึงสุขภาพ และสุขอนามัยมากขึ้น

 

Pain Point ร้านอาหาร – ลูกค้าที่มาใช้บริการ

ที่ผ่านมา Customer Journey ของการไปใช้บริการร้านอาหาร เมื่อเข้ามาที่นั่งที่ร้านแล้ว จะมีพนักงานเอาเมนูอาหารมาให้ หรือถ้าเป็นร้านรูปแบบ Self-service เช่น Fast Food ลูกค้าต้องต่อคิวสั่งอาหาร หรือกดสั่งจากเครื่องอัตโนมัติ จากนั้นลูกค้าจะเลือกอาหาร ถ้าไม่ต้องการให้ใส่อะไร หรือต้องการเพิ่มอะไร ต้องแจ้งพนักงาน หรือแม้แต่โปรโมชั่นต้องถามรายละเอียดจากพนักงาน และเมื่อชำระค่าอาหาร ต้องเรียกพนักงาน หรือบางร้านอาหาร เดินไปชำระด้วยตัวเองที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์

จะเห็นได้ว่าในขั้นตอนเหล่านี้ ต้องใช้เวลา และการให้บริการอาจมีสะดุดบ้างจากสาเหตุต่างๆ เช่น พนักงานไม่เพียงพอต่อการให้บริการ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ลูกค้าเยอะ หรือพนักงานให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมนูอาหารไม่ครบ กลายเป็นลูกค้าได้รับประสบการณ์ไม่น่าประทับใจกลับไป หรือในสถานการณ์เศรษฐกิจผันผวน ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนพนักงาน

สิ่งเหล่านี้เป็น Pain Point ทั้งในฝั่งผู้ประกอบการร้านอาหาร และฝั่งลูกค้าที่มาใช้บริการ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับลูกค้า

ยิ่งการเกิดขึ้นของ COVID-19 ที่เวลานี้ผู้ประกอบการร้านอาหาร และเชนร้านอาหารต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดให้บริการ หลังจากปิดชั่วคราว จะพบว่าโจทย์ใหญ่คือ “ความปลอดภัยด้านความสะอาด และสุขอนามัย” ของทั้งพนักงาน และลูกค้า เช่น ลูกค้ากังวลว่าเมนูอาหาร จะสะอาดหรือไม่ หรือพนักงานเป็นกังวลกับการรับเงินสดจากลูกค้า

หนึ่งในทางแก้ Pain Pont ดังกล่าวแล้ว พร้อมๆ ไปกับการให้ร้านอาหาร สามารถนำเสนอ “Personalized Experience” โดยที่ลูกค้าเป็นบริหารจัดการตามความต้องการของตัวเขาเอง คือ การนำเทคโนโลยี “AI Restaurant” ซึ่งจะทำให้ร้านอาหาร หรือร้านเครื่องดื่มนั้นๆ ยกระดับเป็น “Smart Restaurant” ที่ผสานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการภายในร้าน 

coffee bar

 

ทำความรู้จัก “Easy Eat” สตาร์ทอัพ AI ที่ต้องการเปลี่ยนธุรกิจร้านอาหาร ให้กลายเป็น Tech Company

ในวงการ Tech Startup มี AI Startup น้องใหม่ของสิงคโปร์ Easy Eat ได้พัฒนาเทคโนโลยี AI สำหรับเป็นตัวช่วยให้กับธุรกิจร้านอาหาร โดยมีเป้าหมายต้องการธุรกิจร้านอาหาร ให้กลายเป็น Tech Company และทำให้การรับประทานอาหารภายในร้าน มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้บริการลูกค้ามากขึ้น

เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสทางการตลาด เพราะในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม นวัตกรรม และเทคโนโลยีมักกระจุกตัวอยู่กับ Delivery และซื้อกลับบ้าน ซึ่งยอดขายในส่วนนั้น คิดเป็น 20% ของมูลค่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกกว่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ยอดขายที่เกิดจากการให้บริการนั่งรับประทานอาหารในร้าน คาดการณ์ว่ามีมากถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่ม Millennials ชอบรับประทานอาหารนอกบ้าน และแสวงหาประสบการณ์ใหม่ โดยผลสำรวจในปี 2019 ชี้ว่า 54% ของผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ รับประทานอาหารนอกบ้านอย่างน้อย 3 ครั้งต่ออาทิตย์

อย่างไรก็ตามถึงแม้ในปี 2020 จะเกิดสถานการณ์ COVID-19 ที่กระทบกับวิถีชีวิตผู้คน และภาคธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่ม แต่ Mohd Wassem ผู้ร่วมก่อตั้ง Easy Eat ให้สัมภาษณ์กับ Tech in Asia ว่าในธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่มต่อไปจะเห็นบทบาทของ Technology-driven ที่จะเข้ามา disrupt ธุรกิจนี้มากขึ้น

การทำงานของ “Easy Eat” จะใช้เทคโนโลยี AI และ QR Code Solution ที่ตอบโจทย์การให้บริการของร้านอาหารตลอดทั้ง Customer Journey ที่อยู่ภายในร้าน ประกอบด้วยฟีเจอร์หลักๆ เช่น 

  • เมื่อลูกค้าเข้ามานั่งในร้าน ดูเมนูออนไลน์ผ่านมือถือของตัวเองได้เลย

  • ค้นหารายการอาหาร

  • มีคำอธิบายเมนูอาหารจานต่างๆ และคุณค่าทางโภชนาการ

  • สั่งอาหาร และติดตามรายการอาหารที่สั่งไปว่าอยู่ในขั้นตอนไหนแล้วได้แบบ Real-time

  • ตัวระบบเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ e-Payment Gateway ต่างๆ ทำให้เมื่อลูกค้ารับประทานเสร็จ สามารถชำระเงินออนไลน์ได้เอง

  • ระบบจะนำเสนอ Loyalty Program และส่วนลดให้กับลูกค้าได้แบบ Personalize

  • ลูกค้าสามารถบันทึกรายการอาหารที่รับประทาน

นอกจากนี้กำลังพัฒนาฟีเจอร์รายงานยอดขายรายวันของทางร้าน และรายงานเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหาร

Easy Eat มองว่าเทคโนโลยี AI ดังกล่าวจะช่วยให้ธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่ม ประหยัดเวลาการให้บริการ 25% และช่วยลดต้นทุนแรงงาน 15%

easy-eat
Photo Credit : Tech in Asia, Easy Eat

 

ตั้งเป้าขยายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – เตรียมเปิดตัวในไทย – เวียดนาม – อินโดนีเซีย – ฟิลิปปินส์

เมื่อไม่นานนี้ Easy Eat เพิ่งประกาศระดมทุนรอบ Pre-Series A โดยได้นักลงทุนจาก Vernalis Capital และนักลงทุนรายย่อย หรือ Angle Investor มาลงทุนในครั้งนี้

เงินทุนที่ได้จากการระดมทุน มีแผนนำมาใช้พัฒนาขีดความสามารถของเทคโนโลยี AI พร้อมทั้งสร้างพันธมิตร และตั้งเป้าจะเปิดตัวเทคโนโลยี AI Restaurant ในประเทศไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ภายในปีนี้ โดยเป้าหมายใหญ่ภายใน 2 – 3 ปีข้างหน้า ต้องการขยายธุรกิจให้ครอบคลุมตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

AI Restuarant concept

 

COVID-19 Effect! สร้าง New Normal ธุรกิจร้านอาหารให้บริการรูปแบบ Contactless Dining

Bala Chandra, หุ้นส่วนของ Vernalis Capital ที่ได้ลงทุนในรอบ Pre-Series A กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ตนเองสนใจ Easy Eat จึงตัดสินใจให้การสนับสนุนด้านเงินทุน เพราะเชื่อว่าต่อไปในอุตสาหกรรมธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่มระดับโลก จะยอมรับในการนำเทคโนโลยี AI Restaurant ไปใช้ให้บริการ

“ธุรกิจร้านอาหารต้องนำเสนอการให้บริการที่ลดการสัมผัส (Contactless) ตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การสั่งอาหาร การชำระเงิน ไปจนถึงบริการสั่งอาหาร”

Mohd Wassem หนึ่งในผู้ก่อตั้ง เห็นด้วยกับทิศทางของธุรกิจร้านอาหารนับจากนี้ จะต้องไปในแนวทาง Contactless เพราะจากเหตุการณ์วิกฤต COVID-19 ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งการไม่มี Data และการวิเคราะห์ความสามารถทางธุรกิจ

“ธุรกิจร้านอาหารที่ยังคงดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมที่เคยเป็นมา จะยากต่อการสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน”

Online and Mobile Payment

 

Source : Tech in Asia , e27 , angel.co


  • 1.2K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE