10 มุมมอง และแนวคิด “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ต่อเศรษฐกิจ และพา “เครือสหพัฒน์” ฝ่าวิกฤต COVID-19

  • 3.2K
  •  
  •  
  •  
  •  

Perspective and Strategies SAHA GROUP

นับเป็นบุคคลหนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเหตุการณ์วิกฤตทั้งในระดับโลก และระดับประเทศมาแล้วมากมายนับครั้งไม่ถ้วน สำหรับ “คุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ที่เริ่มต้นมาช่วยธุรกิจของครอบครัวตั้งแต่อายุ 18 ปี ถึงวันนี้อายุ 83 ปีแล้ว แต่ยังคงทำงานทุกวัน ยิ่งในช่วงเวลานี้ที่ทั่วโลกเกิดสถานการณ์ “COVID-19” ไม่มีเศรษฐกิจประเทศไหน ธุรกิจใดที่ไม่ได้รับผลกระทบ

แม้แต่ “เครือสหพัฒน์” องค์กรไทยที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนานกว่า 77 ปี ในวันนี้ “คุณบุณยสิทธิ์” เปรยว่า ตั้งแต่เข้ามาบริหาร เจอวิกฤตนับไม่ถ้วน แต่เหตุการณ์ COVID-19 สร้างผลกระทบ สร้างความเสียหายในทุกภาคส่วน และทุกประเทศ สำหรับ “เครือสหพัฒน์” คาดการณ์ว่ารายได้โดยรวมปี 2563 จะลดลงกว่า 10% (จากปี 2562 รายได้ทั้งเครือกว่า 300,000 ล้านบาท) ในขณะที่กำไรลดลง 20%

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง แต่ในอีกมุมหนึ่ง “คุณบุณยสิทธิ์” มองว่าเป็นเรื่องของ “โอกาส” และ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

และนี่คือ 10 มุมมอง และแนวคิดของคุณบุณยสิทธิ์ ที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของสถานการณ์โลก และเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจาก COVID-19 และวิธีฝ่าวิกฤตของ “เครือสหพัฒน์”

Boonsithi Chokwatana_SAHA GROUP

 

1. COVID-19” สาหัสกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” – “ไทย” แก้วิกฤตแพร่ระบาดได้ดี ช่วยสร้างภาพลักษณ์ประเทศ ที่อาจผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน

หากเปรียบเทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ผลกระทบที่เกิดจาก COVID-19 มากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

เหตุผลคือ เมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง ส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ องค์กรธุรกิจต่างๆ ในขณะที่ภาคประชาชนทั่วไป ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ แต่สำหรับ COVID-19 ทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรธุรกิจ และประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมาก และเกิดขึ้นทุกประเทศ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากประเทศจีน ขยายมายังไทย และลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ถ้าภาครัฐควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไม่ดี จะยิ่งสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ

แต่ขณะนี้บางประเทศมีสัญญาณดีขึ้น เช่น จีน สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เช่นเดียวกับประเทศไทย อยู่ในทิศทางที่ดี

“ประเทศไทยแก้ปัญหาของ COVID-19 ได้ดี ทำให้ Image ของไทยดีขึ้น ดังนั้นถ้าคนไทยรวมมือกัน และสร้างประเทศได้ดีขึ้น เราจะสามารถเป็นศูนย์กลางของอาเซียน จากสมัยก่อนอยู่ที่สิงคโปร์”

 

2. วิกฤต ย่อมมาพร้อม “โอกาส” เมื่อทั่วโลกจะถูก “Set Zero

คุณบุณยสิทธิ์ บอกว่า ถึงแม้ COVID-19 จะสร้างความเสียหาย แต่มองในมุม “โอกาส” มากกว่า โอกาสที่ว่านี้คือ สถานการณ์ COVID-19 จะทำให้เศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลกเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า Set Zero

จากในอดีตศูนย์กลางเศรษฐกิจใหญ่ของโลก อยู่ที่สหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้นำเศรษฐกิจโลก, ยุโรป ในฐานะผู้นำวัฒนธรรม และในเวลาต่อมา เศรษฐกิจโลกขยายมายัง “ภูมิภาคเอเชีย” ทำให้เกิดความได้เปรียบที่แตกต่างกัน

แต่หลังจาก COVID-19 จะเกิดการ Set Zero ใหม่ โดยทุกประเทศจะเหมือนกัน เท่ากัน

เช่น ถ้าพูดถึงอุตสาหกรรมการบินของโลก รายใหญ่ที่ครองตลาดคือ “ยุโรป” และ “สหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นต้นกำเนิดของสองผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกคือ Airbus ของยุโรป และ Boeing ของอเมริกา แต่ปรากฏว่า COVID-19 สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมการบินที่จะซบเซาไปอีกนานพอสมควร

เพราะฉะนั้นจะเกิดการ Set Zero ทางด้านเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศจะกลับมาเท่ากัน

“จะ Set Zero ทุกประเทศทั่วโลก เรามองว่าเป็นโอกาส อย่างเวลานี้หลายบริษัทถอนการลงทุนออกจากประเทศจีน เช่น อเมริกา จะถอนออกจากจีน จากสมัยก่อนใครๆ ก็เข้าไปลงทุนในจีนเยอะ ขณะเดียวกันทุกวันนี้จีนแข็งแกร่ง ไม่ค่อยสนใจการลงทุนของอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถรองรับการลงทุนจากต่างประเทศได้ ก็จะเป็นโอกาสของประเทศไทย

นอกจากนี้ศักยภาพของประเทศไทย ไม่แพ้ชาติอื่น โดยต้องดูว่าประเทศไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน หรือมีจุดแข็งในด้านไหน เช่น “อาหาร” เพราะถึงอย่างไรก็เป็นที่ต้องการของตลาด และผู้บริโภค จึงมองว่าภาคการส่งออก “กลุ่มสินค้าอาหาร” จะอยู่ในทิศทางที่ดี”

Boonsithi Chokwatana_SAHA GROUP

 

3. หาก “ค่าเงินบาท” อยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเร็ว และต่อไป “ทอง” จะมีค่ามากกว่าเงินดอลลาร์

คุณบุณยสิทธิ์ บอกว่าเศรษฐกิจไทย จะฟื้นตัวได้เร็ว หรือช้านั้น มีหลายตัวแปร หนึ่งในนั้นคือ “ค่าเงินบาท”

“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อยากให้แบงก์ชาติช่วยดูแลค่าเงินบาท อยากให้ไปถูกทิศถูกทางนิดหนึ่ง”

โดยนายใหญ่แห่งเครือสหพัฒน์มองว่า ถ้าค่าเงินบาทอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ประเทศไทยอาจะใช้เวลา 3 ปีในการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจ แต่ถ้าค่าเงินบาทอยู่ที่ 35 – 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 1 ปีเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว

นอกจากนี้ ต่อไป “ทองคำ” จะมีค่ามากกว่าเงินดอลลาร์

“สมัยก่อน เรานึกว่าเงินดอลลาร์คือ ดีที่สุด แต่หลังจาก COVID-19 ไม่ใช่เงินดอลลาร์แล้ว แต่คือ “ทอง” ดีที่สุด”

 

4. จับตาหลัง COVID-19 อาจเกิดตัวแปรด้านสงคราม Idea – IO ของมหาอำนาจโลก

คุณบุณยสิทธิ์ มองว่า หลัง COVID-19 อาจไม่ใช่ทุกอย่างจะเป็นแบบที่เราคาดคิด เนื่องจากมีตัวแปรเยอะ โดยส่วนตัวมีความกังวลด้านความขัดแย้งของมหาอำนาจของโลก จะรุนแรงขึ้น โดยอาจเกิด “สงครามไอเดีย” หรือ “สงครามความคิด” และ “สงคราม IO(Information Operation)

Boonsithi Chokwatana_SAHA GROUP

 

5. ทำธุรกิจต้องรู้จักจังหวะไหน – สินค้าใดควร “Scale Down” และ “สร้างการเติบโต”

ถึงแม้รายได้ และผลกำไรของเครือสหพัฒน์ปีนี้จะลดลง ทว่า “คุณบุณยสิทธิ์” บอกว่าด้วยความที่ในเครือฯ ลงทุนหลายกลุ่มธุรกิจ จึงมีทั้งสินค้าที่ยังคงเติบโตดี และสินค้าที่การขายลดลง

อย่างกลุ่มธุรกิจที่ยังคงเติบโต เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ยิ่งในสถานการณ์ที่คนต้องอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้คนซื้อของในชีวิตประจำวันเข้าบ้านมากขึ้น ส่งผลให้การขายสินค้ากลุ่มนี้ดี

ขณะที่กลุ่มสินค้าแฟชั่น เครื่องแต่งกาย เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ผลจากการปิดห้างสรรพสินค้า – ศูนย์การค้า ทำให้ไม่สามารถขายสินค้าได้ ส่งผลต่อยอดขายตกลง

เพราะฉะนั้นแล้วต้องรู้ว่าช่วงไหน สินค้าใด ควรจะ Scale Down อย่างสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ต้อง Scale Down และสินค้าไหนต้องสร้างการเติบโต เช่น กลุ่มสินค้าอาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากสินค้าเหล่านี้ยังคงมี Demand

เวลานี้กลุ่มบริษัทที่ “เครือสหพัฒน์” โฟกัส และยังคงลงทุน ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น บริษัทไลอ้อน, ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์, สหพัฒนพิบูล

mama

 

6. ทำธุรกิจอย่าใช้เงินกู้ แต่ใช้เงินทุนตัวเอง และต้องมี “สายป่าน” ที่ดี

ตลอดระยะเวลากว่า 77 ปี “เครือสหพัฒน์” ผ่านวิกฤตมาแล้วมากมาย เช่นเมื่อครั้ง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เวลานั้นการบริหารของเครือสหพัฒน์ ส่วนใหญ่ใช้เงินกู้จากต่างประเทศ จนกระทั่งเกิดการลอยตัวค่าเงินบาท ได้กลายเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ให้กับทั้ง “คุณบุณยสิทธิ์” และบริษัทต่างๆ เครือ

ทั้งเครือสหพัฒน์ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 – 3 ปีในการฟื้นฟูธุรกิจกลับมา!

นับตั้งแต่นั้น “คุณบุณยสิทธิ์” ย้ำกับทุกบริษัทในเครือว่า ต่อไปนี้ บริษัทไหนอย่าใช้ความคิดนำเงินกู้มาค้าขาย ต้องพยายามสร้างด้วยตัวเอง ให้ใช้เงินทุนตัวเอง ทำทุกอย่างให้อยู่ในความสามารถของตัวเอง มีมาก ทำมาก มีน้อย ทำน้อย ซึ่งเราใช้นโยบายนี้มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นในสถานการณ์ COVID-19 ถึงจะได้รับผลกระทบ แต่ภาพรวมขององค์กรยังมีสภาพคล่อง และมีสายป่านธุรกิจที่ดี”

Essence

 

7. การทำธุรกิจ เหมือนกับการวิ่งมาราธอน ต้องอึด และพยุงไม่ให้ขาดทุนในภาวะวิกฤต

คุณบุณยสิทธิ์ เล่าว่า ที่ผ่านมาเครือสหพัฒน์ขึ้นๆ ลงๆ มาเยอะ จนชินแล้ว ยิ่งมาเจอ COVID-19 แทบไม่ต้องพูดถึงการเติบโตด้านผลประกอบการ และการลงทุน หากแต่อยู่ที่ว่าจะ “พยุงธุรกิจ” อย่างไรไม่ให้ “ขาดทุน”

การทำธุรกิจเหมือนกับการแข่งวิ่งมาราธอน ถ้าสามารถอึด – อยู่ได้ และฝ่าวิกฤตนี้ผ่านไปได้ ธุรกิจนั้นถือว่าเก่งแล้ว

 

8. องค์กรใหญ่ ใช่ว่าจะอยู่รอด! หากแต่องค์กรที่อยู่รอด คือ องค์กรที่คล่องตัว – รวดเร็ว

สมัยก่อนใครๆ ต่างพยายามสร้างบริษัทให้ใหญ่เข้าไว้ แต่ต่อไปนี้การดำเนินธุรกิจ ไม่ใช่อยู่ที่ความใหญ่ของบริษัท แต่อยู่ที่การเป็นบริษัทที่มีขนาดเหมาะสม มีความคล่องตัว และรวดเร็ว เปรียบได้กับปลาเร็ว กินปลาช้า ไม่ใช่ปลาใหญ่ กินปลาเล็กอีกต่อไปแล้ว

Lacoste

 

9. พาเครือสหพัฒน์ “Go Digital” – ยกงาน “สหกรุ๊ปแฟร์” จัดรูปแบบออนไลน์

หนึ่งในยุทธศาสตร์ “เครือสหพัฒน์” คือ การทำ Digital Transformation ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ยังคงต้องทำต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล และในสถานการณ์ COVID-19 ทางเครือสหพัฒน์ ได้ตัดสินใจเลื่อนการจัดงานปีนี้ออกไป จากโดยปกติจะจัดช่วงกลางปีของทุกปี และในการจัดครั้งนี้ จะยกไปจัดในรูปแบบออนไลน์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหาวิธีการว่าจะทำในรูปแบบออนไลน์อย่างไรให้ยิ่งใหญ่เหมือนเช่นอีเว้นท์ และสามารถรองรับ Demand ของนักช้อป

อย่างไรก็ตาม การทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัล หัวใจสำคัญอยู่ที่ “คน” ในการที่องค์กรต้องฝึกอบรมให้บุคลากรมีความรู้ ความเข้าใจด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นความท้าทายที่ยากกว่าการลงทุน

Kirei

 

10. ไม่มีนโยบาย Layoff และทำธุรกิจด้วยแนวคิดไม่วิ่งเร็วกว่าคนอื่น – ไม่ช้ากว่าคนอื่น เพื่อธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน

เวลานี้ “เครือสหพัฒน์” ประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน เพื่อการตัดสินใจที่รวดเร็ว เนื่องจากในภาพรวมของวิกฤตครั้งนี้ยังมีความผันผวน ทำให้ตัวแปรต่างๆ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

อย่างไรก็ตามถึงแม้ COVID-19 จะทำให้รายได้ และกำไรของทั้งเครือสหพัฒน์ลดลง แต่ คุณบุณยสิทธิ์ บอกว่า ไม่มีนโยบาย Layoff คน เนื่องจากนโยบายของกลุ่มบริษัท คือ คนดี – สินค้าดี – สังคมดี ซึ่งการเลิกจ้างพนักงาน ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคม

“เครือสหพัฒน์ เราไม่ได้อยากเติบโตอย่างหวือหวา แต่อยากเห็นทุกคนอยู่ดี กินดี มีความสุข ซึ่งสมัยก่อนนายห้างเทียม ก็คิดแบบนี้ และในวันทำงานสุดท้ายของนายห้าง ก็ยังคิดแบบนี้ นี่ไม่ใช่วิธีคิดแบบ Conservative แต่เราพยายามไม่วิ่งเร็วกว่าคนอื่น แต่ก็ไม่ช้ากว่าคนอื่น เพื่อทำธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และมั่นคง”

Boonsithi Chokwatana_SAHA GROUP

Pao

 


  • 3.2K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE