The Plastic Bank นวัตกรรมใหม่ ของการใช้ Blockchain เปลี่ยนขวดพลาสติกที่เป็นขยะ ให้กลายเป็นเงินดิจิทัลสำหรับคนจน

  • 68
  •  
  •  
  •  
  •  

ใครๆก็อยากทำกุศล ไม่ทางใดทางหนึ่ง  แต่จะมีกี่องค์กรที่สามารถนำปัญหาเดิมๆของสังคมที่มีอยู่นาน  มาสร้างคุณค่าให้กับชุมชน สร้างความแตกต่าง และสามารถสัมฤทธิ์ผลอย่างสูงสุดให้กับสังคมได้นั้นคงมีไม่กี่ที่   และถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องดีที่ได้จากงาน IBM Think Asean ที่ Marketing Oops! ได้มีโอกาสรับเชิญไปร่วมงาน และได้รู้จักกับ The Plastic Bank องค์กรที่สามารถเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็นเงินดิจิทัล สร้างรายได้และความเป็นอยู่ใหม่ให้กับชุมชมอย่างแท้จริง  และที่สำคัญและคิดไม่ถึง คือ องค์กรแห่งนี้ ได้นำเทคโนโลยี Blockchain มาเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนจนได้อีกด้วย

The Plastic Bank  กำเนิดขึ้นที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนนาดา เมื่อปี 2013 โดย David Katz และ Shaun Frankson

plastic1

เป้าหมายของ The Plastic Bank คือ ต้องการลดจำนวนขยะพลาสติกในแม่น้ำและทะเล  ด้วยการรณรงค์ให้คนจนที่ไม่มีรายได้หรือรายได้น้อย  มาร่วมกันเก็บพลาสติกที่เป็นขยะ และทำเงินกับมันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำรงชีพ

เปลี่ยนวิสัยทัศน์ให้กลายเป็นเรื่องจริง กับการนำ Blockchain มาใช้กับชุมชน

เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเก็บขยะพลาสติก   The Plastic Bank เสนอราคาขยะพลาสติกมากกว่าตลาดทั่วไป  ที่กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายถึงการเก็บขวดพลาสติกไปขายเพียงอย่างเดียว  แต่ที่ล้ำและสุดยอด คือ ไอเดียของการพาร์เทอร์กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง IBM เพื่อนำเทคโนโลยี Blockchain มาเป็นส่วนสำคัญในการแปลงมูลค่าของพลาสติกให้กลายเป็นเงินดิจิทัลในรูปแบบ Token (เหรียญดิจิทัล)   ที่คนจนสามารถนำ Token หรือเงินดิจิทัลนี้ มาซื้ออาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ ซึ่งรวมถึง WiFi และค่าเล่าเรียน จากพันธมิตรท้องถิ่นของ The Plastic Bank   ที่มีอุดมการณ์สร้างคุณค่าให้กับสังคม และสามารถขายสินค้าและบริการในราคาไม่แพงสำหรับคนจน ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ    ส่วนขยะพลาสติกที่รวบรวมได้ทั้งหมด จะถูกส่งต่อไปยัง Social Plastic เพื่อที่จะนำพลาสติกไปขายต่อเพื่อให้เกิดการรีไซเคิล  ซึ่งองค์กรที่ต้องการพลาสติกรีไซเคิลสามารถติดต่อผ่านทางเว็บไซต์

ไอเดียเหล่านี้เกิดมาจากไหน

เดวิด คาทซ์ (David Katz) ผู้บริหารจากบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่ง เดินทางค้นหาแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ ระหว่างทาง ได้พบและเห็นขยะพลาสติดตามชายหาดที่มีมากมายเต็มไปหมด  จึงเกิดไอเดียอยากจะลดจำนวนขยะพลาสติกเหล่านี้ จึงชวนเพื่อน ชอน แฟรงค์สัน (Shaun Frankson) ที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาร่วมทำอะไรด้วยกันเพื่อแก้ปัญหานี้   เพราะเห็นว่าจำนวนขยะพลาสติกดูจะมีมากขึ้นทุกวัน และยังไม่มีใครแก้ปัญหานี้ได้

ไอเดียของการรับซื้อพลาสติกในราคาที่สูงกว่าตลาดจึงเกิดขึ้น    เดวิดเชื่อว่าถ้าให้ราคาที่ดีกว่า ยังไงคนก็ต้องนำพลาสติกมาขายแน่ๆ  และถ้าการนำพลาสติกมาแลกกับสินค้าได้ก็คงจะสามารถช่วยทำให้สังคมของคนจนดีขึ้น  เดวิดและชอนจึงเริ่มศึกษาเพิ่มเติมและพบว่า 80% ของขยะพลาสติกที่มานั้นจะมาจากคนจน รวมถึงมีหลายๆประเทศด้อยพัฒนาที่ยังขาดระบบการรีไซเคิลที่ดี  ทั้งสองคนจึงเริ่มต้นด้วยการสร้างระบบรีไซเคิลในชุมชนด้อยพัฒนา และรณรงค์ให้คนจนเก็บพลาสติกมาขายในราคาที่ดีกว่า และสร้างความภูมิใจให้กับคนจนว่าพลาสติกที่พวกเขาหามานั้น ได้ถูกนำไปรีไซเคิลอย่างไร และพวกเขามีส่วนช่วยลดขยะและโลกร้อนได้อย่างไร

theplasticbank-david2

มากไปกว่านั้น สิ่งที่เดวิดพบ คือ คนจนมักจะไม่มีบัญชีเงินฝาก และการมีเงินสดมากๆก็ยังถือเป็นความเสี่ยงที่จะถูกโจรกรรม ประกอบกับสิ่งหนึ่งคือ โทรศัพท์มือถือ และเทคโนโลยี จะสามารถช่วยในเรื่องของการชำระและซื้อสินค้าได้อย่างปลอดภัย  และในขั้นตอนนี้คงมีแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเท่านั้นที่จะช่วยได้  เดวิทจึงติดต่อบริษัทไอบีเอ็มมาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ เพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยี  และในที่สุด ไอบีเอ็ม ก็นำเทคโนโลยี Blockchain บน LinuxONE เข้ามาเป็นเทคโนโลยีหลักของการแลกเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นเงินดิจิทัล เพื่อให้คนจนสามารถใช้แลกซื้อสินค้าได้อย่างปลอดภัย เพราะการใช้เทคโนโลยี Blockchain นั้นมีความปลอดภัยสูง ซึ่งเดวิดให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สุด เพราะนั่นหมายถึงการแลกซื้อสินค้าทุกๆวันของคนจนที่นำพลาสติกมาแลกกับการดำรงชีพรายวัน

theplasticbank1

ใครที่อาจจะยังไม่เห็นภาพว่าเทคโนโลยี Blockchain ทำอะไรได้บ้าง จากเรื่องราวของ The Plasstic Bank คงพอให้คุณได้เห็นภาพกันบ้างแล้ว ว่าไม่เพียงกับอุตสาหกรรมการเงิน แต่องค์กรอย่าง The Plastic Bank ก็ยังมีความครีเอทีฟในการนำ Blockchain มาแก้ปัญหาให้กับคนจนได้อย่างลงตัว

ความสำเร็จของ The Plastic Bank ทำให้เดวิดถูกรับเชิญไปพูดตามเวทีดังๆหลายที่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟัง  ทั้งงาน TED รวมถึงการสัมภาษณ์ผ่านรายการต่างๆ และยังได้รับรางวัลต่างๆมากมาย

ขอขอบคุณไอบีเอ็ม ที่เปิดโอกาสให้ Marketing Oops! ได้ร่วมฟังประสบการณ์นี้

 

เขียนโดย ณธิดา รัฐธนาวุฒิ
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MarketingOops.com กับประสบการณ์การทำงานในแวดวง Digital มากกว่า 15 ปี ในธุรกิจคอนเทนท์ ธุรกิจออนไลน์ และการตลาดดิจิทัล

อ่านบทความ Exclusive Insider เพิ่มเติมได้ที่นี่

บทความนี้เผยแพร่บน Marketing Oops! เป็นที่แรก

Copyright© MarketingOops.com

 

 


  • 68
  •  
  •  
  •  
  •  
Tukko Nathida
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MarketingOops.com กับความตั้งใจในการนำเสนอเนื้อหาที่ทันเหตุการณ์ และเกิดประโยชน์ ให้สามารถนำเนื้อหาความรู้ และ Insight ไปต่อยอดกับอนาคตของธุรกิจ และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยี ครีเอทีฟ การตลาด โฆษณา และสตาร์ทอัพ