ไขข้อข้องใจ ทุกความสงสัย ในการควบรวมกิจการระหว่าง true-dtac

  • 106
  •  
  •  
  •  
  •  

จบไปป็นที่เรียบร้อยแล้วกับดีลยักษ์ใหญ่ระดับโลกกับ 2 ธุรกิจ Telco ทั้ง true และ dtac ซึ่งสร้างความฮือฮาไม่ใช่น้อย หลังมีการประกาศชื่อบริษัทใหม่โดยใช้ชื่อว่า “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” ก่อให้เกิดอาการ “เอ๊ะ!!!” ถึงขนาดที่บางรายลั่นว่า “ปิดตำนาน dtac” โดยชื่อบริษัทใหม่มีผลทันทีในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

และเป็นเรื่องปกติที่จะมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งวันนี้มีการตอบคำถามจาก 2 CEO ใหม่ทั้ง 2 ท่านอย่าง คุณมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ คุณชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร (DCEO) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ทำไมต้องเป็นชื่อ ทรู คอร์ปอเรชั่น ?

เป็นคำถามที่ทุกคนอยากรู้คำตอบ ซึ่งมีการตอบมาจากผู้บริหารว่า ต้องยอมรับว่าชื่อของ ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นภาพจำของผู้คนที่รู้จักในภาพลักษณ์ของบริษัทที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัย และภาพลักษณ์ดังกล่าวสามารถนำไปต่อยอดอย่างอื่นได้อีกมาก ซึ่งนอกจาก true จะมีบริการด้านสื่อสารแล้ว ยังมีการให้บริการในด้านอื่นๆ อย่าง Content ต่างๆ บน trueID, อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงบน trueOnline หรือ Data Center บน trueIDC

นอกจากสิ่งที่ผู้บริหารอธิบายมา ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา dtac เน้นไปที่เรื่องของการสื่อสารและบริการ รวมไปถึงการส่งเสริม Startup ขณะที่บริการด้านอื่นๆ ยังมีภาพลักษณ์ที่ไม่ชัดเจนหรือเทียบเท่ากับสิ่งที่ true มี ดังนั้นหากใช้ชื่อของ true โอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลในอนาคตจะมีมากกว่า และยังสามารถต่อยอดไปสู่การให้บริการในด้านอื่นๆ แก่ลูกค้าทั้งของ true และ dtac

 

dtac จะหายไปจากประเทศไทย ?

ในส่วนของความกังวลว่า dtac จะหายไปจากตลาดนั้น โดยเฉพาะการประกาศชื่อบริษัทใหม่ที่ใช้ในการควบรวมกิจการ ซึ่งมีการระบุว่า “dtac หมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล” ซึ่งในความเป็นจริง ตัว บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการในนาม dtac ต่างหากที่หมดสภาพ แต่ตัวแบรนด์ dtac ยังคงอยู่ในตลาดและยังคงให้บริการเป็นปกติ

เนื่องจากในการควบรวมครั้งนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีเงื่อนไขระบุว่า “แม้จะควบรวมกิจการแล้ว แต่ต้องยังคงการให้บริการของทั้ง 2 ค่ายต่อไปอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี” นั่นหมายความว่า ทั้ง dtac และ true ก็ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปโดยแยกออกจากกัน รูปแบบแพ็คเกจและราคาก็ยังคงแยกกันทำการตลาดต่อไป

นั่นหมายความว่า หากภายในช่วงระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้ไป dtac สามารถสร้างกำไรเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แบรนด์ dtac ก็อาจจะอยู่ให้บริการลูกค้าต่อไปเรื่อยๆ มากกว่า 3 ปี ซึ่งอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน และทาง dtac ยืนยันชัดเจนว่า ในช่วงระยะเวลา 3 ปีจากนี้ไปจะไม่มีการยุติการให้บริการลูกค้าจาก dtac

 

แพ็คเกจเดิมที่ใช้อยู่ของ dtac จะเปลี่ยนไป ?

แม้การควบรวมกิจการครั้งนี้จะแล้วเสร็จ แต่การดำเนินธุรกิจจะยังคงแยกกันอยู่ นั่นหมายความว่าลูกค้าที่เคยใช้ของ dtac ก็สามารถยังคงใช้แพ็คเกจเดิมต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่อาจจะมีการเพิ่มสิทธิพิเศษ (Add On) ในรูปแบบของโปรโมชั่น ซึ่งอาจจะมีบริการอื่นๆ ของ true เข้าไปร่วมด้วย เช่น trueID, trueOnline เป็นต้น และจะไม่มีการขายแพ็คเกจข้ามกันระหว่าง true และ dtac

ส่วนหนึ่งต้องเข้าใจรูปแบบการบริหารของบริษัทควบรวม ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมี 2 แบรนด์อยู่ในบริษัทเดียวกัน โดยรูปแบบการบริหารจะเหมือนกับการบริหารระหว่าง dtac และ Happy ซึ่งเป็น 2 แบรนด์ที่อยู่ในบริษัทเดียวกัน แต่การดำเนินธุรกิจแยกออกจากกัน มีคณะทำงานคนละชุด

 

ต้องหันมาใช้เครือข่ายของ true ?

ในส่วนของเครือข่ายการให้บริการจะยังคงแยกจากกันตามเงื่อนไขของ กสทช. ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานก็ยังคงแยกกันบริหารต่อไปเพื่อให้เกิดการพัฒนาเครือข่าย แต่สามารถใช้งานร่วมกันได้ในรูปแบบของ Sharing ช่วยเสริมประสิทธิภาพการใช้งานให้กับลูกค้า true และ dtac โดยสมาร์ทโฟนจะทำการตรวจสอบสัญญาณอัตโนมัติว่า ใครมีสัญญาณแรงกว่ากัน ณ พื้นที่นั้น ในช่วงเวลานั้น

โดยระบบจะทำการจับสัญญาณของเครือข่ายนั้นอัตโนมัติ เช่น หากไปพื้นที่นี้สัญญาณ true แรงกว่า dtac สมาร์ทโฟนก็จะทำการจับสัญญาณของ true เป็นหลักและจะขึ้นข้อความว่า true-dtac หรือหากไปพื้นที่อื่นที่มีสัญญาณของ dtac แรงกว่า true สมาร์ทโฟนจะทำการจับสัญญาณของ dtac เป็นหลักและจะขึ้นข้อความว่า dtac-true ทั้งนี้สมาร์ทโฟนจะต้องทำการเปิดระบบโรมมิ่งไว้ด้วย

 

ทรู คอร์ปอเรชั่นเป็นผู้นำตลาด ?

หากรวมผู้ใช้บริการของทั้ง true และ dtac จะพบว่า true มีผู้ใช้งาน 33.8 ล้านเลขหมาย และ dtac มีผู้ใช้งาน 21.2 ล้านเลขหมาย หลังควบรวมกิจการแล้วจะทำให้มีผู้ใช้งานรวมประมาณ 55 ล้านเลขหมาย ทั้งนี้การควบรวมกิจการยังส่งผลให้มูลค่าตลาดของทั้ง 2 บริษัท (Market Capitalization) จะอยู่ที่ประมาณ 2.94 แสนล้านบาท เมื่อโครงข่าย 5G ของทั้ง 2 บริษัทผสานกันจะทำให้โครงข่าย 5G ครอบคลุม 98% ของประชากรในปี 2569

นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น เล็งเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับ Startup ซึ่งจะมีการร่วมกับพันธมิตรระดมทุนจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7.3 พันล้านบาท ในการจัดตั้งกองทุน Venture Capital (VC) รวมทั้งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่สนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัลเพื่อวางรากฐานสำหรับผลักดันสู่อนาคตของ Startup ไทยให้ก้าวสู่การเป็น Unicorn

 

จะทำธุรกิจต่อไปอย่างไร ?

จากนี้จะมีการใช้ 7 กลยุทธ์หลัก ประกอบไปด้วย

1. ผู้นำด้านโครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างแท้จริง (Be the Undisputed Network and Digital Infrastructure Leader ) จะมีการผสานศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทใหม่ โดยมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมบริการดิจิทัลต่างๆ ทั้ง IoT, AI Analytic, Machine Learning, Cyber Security ช่วยสนับสนุน Digital Transformation

2. ส่งมอบคุณค่าและประสบการณ์ที่เหนือกว่า (Champion Growth Beyond the Core) โดยจะมุ่งพัฒนา Digital Solution พร้อมสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัล (Digital Inclusion ) สร้างประสบการณ์ใหม่ไร้รอยต่อ ตลอดจนร่วมสนับสนุนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้เร็วยิ่งขึ้น

3. สร้างมาตรฐานประสบการณ์ใหม่ (Set the Bar for Customer Experience in Thailand) เติมเต็มไลฟ์สไตล์ลูกค้าได้ตรงใจมากขึ้น สัมผัสสุดยอดประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ทำให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่น

4. เติมเต็มชีวิตอัจฉริยะทุกไลฟ์สไตล์ (Enhance Smart Life for Customers) – ส่งมอบประสบการณ์ชีวิตอัจฉริยะยกระดับวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ครอบคลุมคนไทยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ผ่านเครือข่ายสื่อสารดิจิทัลที่กว้างไกลและครอบคลุมยิ่งขึ้น

5. ยกระดับมาตรฐานลูกค้าองค์กร (Raise Standards for Enterprise Customers) เร่งเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคธุรกิจทั้งลูกค้า SME ธุรกิจองค์กรและภาคอุตสาหกรรม พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความต่างและเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ

6. สร้างองค์กรที่น่าทำงาน (Build the Best Place to Work) ขับเคลื่อนเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลก สนับสนุนกลุ่มคนหลากหลายควบคู่การสร้างคนให้มีจิตวิญญาณเป็นเจ้าของกิจการ ตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้มีความสามารถ (Talent) ทุกเจเนอเรชัน พร้อมกับมีสวัสดิการและสุขภาวะที่ดี (Well Being)

7. การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG Best in class: Sustainable organization to Create Long Term Value) เน้นนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั้งมิติด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล

ทั้งหมดนี้เป็นการตอบข้อสงสัยใหญ่ๆ ประเด็นสำคัญ แน่นอนว่ายังมีอีกหลายคำถามที่ต้องการคำตอบ ซึ่งผู้บริหารมองว่า อยากให้ลองให้โอกาส ทรู คอร์ปอเรชั่น ในการดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัทควบรวมใหม่ ซึ่งมีการยืนยันว่าจะมีการพัฒนาการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น และจะสามารถตอบปัญหาต่างๆ ได้ เช่น เรื่องของหนี้สิน พนักงานที่ควบรวม สถานที่ทำงาน (ที่ทุกวันนี้ยังแยกกันอยู่)

งานนี้ต้องบอกว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า…กาลเวลาพิสูจน์ true-dtac


  • 106
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา
CLOSE
CLOSE