ความพึงพอใจผู้บริโภคดันมูลค่า ecommerce ไทย

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ผลสำรวจของระบบประเมินผลความพึงพอใจในการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยบริษัท เทรคอน (เว็บไซต์) จำกัด สำรวจจากผู้บริโภคประมาณ 2,000 คน พบว่ามีผู้บริโภคให้คะแนนความพึงพอใจในการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์จากร้านค้าที่เข้าร่วมสำรวจมากถึง 4.1 จาก 5 คะแนน หรือ 82% ถือว่าอยู่ในระดับสูงและยังพบว่าผู้บริโภคพอใจร้านค้าออนไลน์ประเภท อาหารและเครื่องดื่ม มากที่สุด รองลงมาเป็น ประเภทยานยนต์ และ ประเภทกีฬาและสันทนาการ ตามลำดับ ผลการสำรวจความพึงพอใจดังกล่าว สอดคล้องกับแนวโน้มการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์และมูลค่าการค้าออนไลน์ที่สูงขึ้น

จากผลสำรวจปี 2553 ของเนคเทคที่พบว่าจำนวนผู้บริโภคที่เคยซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึง 10% โดยการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ชที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ

รายงานถึงมูลค่าอีคอมเมิร์ชของไทย เพิ่มขึ้นจาก 427,460 ล้านบาท ในปี 2550 เป็น 527,538 ล้านบาท ในปี 2551 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 23 % เป็นที่คาดกันว่า มูลค่าการค้าออนไลน์ไทยในปี 2553 จะสูงถึง 600,000 ล้านบาท

ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้มูลค่าการค้าออนไลน์ของไทยให้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

นอกเหนือจากการสร้างความพึงพอใจและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ก็คือ การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ ASEAN Economic Community (AEC) ในปี 2558 การรวมตัวนี้มุ่งสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน โดยมีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีใน 5 สาขาได้แก่ 1) สินค้า 2) บริการ 3) การลงทุน 4) เงินทุน และ 5) แรงงานฝีมือ ปัจจุบันภาครัฐกำลังเร่งทำความเข้าใจให้ผู้ประกอบการไทยเตรียมพร้อมรับมือ

แน่นอนว่าอีคอมเมิร์ชไทยมีโอกาสในการขยายตลาดสู่ชาติต่างๆในอาเซียนมากขึ้น ประมาณว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีประชากรรวมกันมากกว่า 600 ล้านคน และมีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ราว 120 ล้านคน หรือ 20% ของประชากร ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่สำหรับอีคอมเมิร์ชไทยที่ต้องการรุกสู่ตลาดอาเซียน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังคู่แข่งที่จะรุกเข้าสู่ตลาดในไทยด้วย

แม้ว่ามูลค่าของอีคอมเมิร์ชจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ชไทยคือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตถึง 46.3%

ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ตลอดทุกปี การไม่ได้เห็นสินค้าจริงหรือการกลัวการถูกหลอกลวงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจด้วย

ประมาณว่ามีจำนวนเว็บไซต์ที่ทำอีคอมเมิร์ชของไทย มากกว่า 600,000 ราย ในจำนวนนี้มีประมาณ 8,700 รายหรือเพียงร้อยละ 1.45 ที่ได้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และมีเพียง 31 รายเท่านั้นที่ได้รับเครื่องหมาย trustmark หรือเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เท่ากับว่าผู้บริโภคเสี่ยงมหาศาลต่อการซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ที่ไม่ได้จดทะเบียน แสดงให้เห็นว่ากลไกของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายให้ร้านค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้นดูจะไม่เข้มแข็งพอ

ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นในการทำซื้อขายสินค้าออนไลน์ให้กับผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ซึ่งจะช่วยยกระดับความพึงพอใจในการเลือกซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ถือเป็นนโยบายและมาตรการที่สำคัญที่ภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชน โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องนำไปศึกษาหาทางแก้ไขและลงมือปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ให้ทันต่อการเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยในการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้

ขอขอบคุณข้อมลูจาก คุณพงษ์ชัย เพชรสังหาร, บริษัท เทรคอน (เว็บไซต์) จำกัด
info@treconwebsite.com


  •  
  •  
  •  
  •  
  •