กระแสรถพลังงานไฟฟ้า หรือ EV ไม่ได้เป็นเทรนด์เฉพาะฝั่งผู้บริโภคเท่านั้น แต่ในภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ ก็ตื่นตัวกับเทรนด์ดังกล่าวและมีหลายรายที่นำร่องไปแล้ว รวมถึง แกร็บ ประเทศไทย ที่ประกาศเป้าหมายจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับและผู้จัดส่งอาหารที่ใช้ EV ไม่ต่ำกว่า 10% ภายในปี 2569
เพื่อผลักดันเป้าหมายดังกล่าว แกร็บ ประเทศไทย จะต้องมีการหารือกับกลุ่มผู้ผลิต สถานีชาร์จ รวมถึงพันธมิตรภาคธนาคาร ไฟแนนซ์ เพื่อสนับสนุนการเงิน การปล่อยสินเชื่อ และสร้างการรับรู้และประโยชน์ในการใช้รถ EV เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานในกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับ ให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับภูมิภาค
โดย คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก รถ EV จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่และกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในวงกว้าง ในฐานะผู้ให้บริการแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง แกร็บ ประเทศไทย จึงตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม จึงริ่เริ่มโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และลดผลกระทบในเชิงสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการนำร่องส่งเสริมให้พาร์ทเนอร์ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในการให้บริการจัดส่งอาหาร และการเปิดตัวฟีเจอร์พิเศษที่ชวนให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมในการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนผ่านการบริจาคเงินเพื่อสมทบในการปลูกป่า เป็นต้น
พร้อมกับประกาศเป้าหมายระยะยาว 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2569 ในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับและผู้จัดส่งอาหารที่ใช้รถ EV ให้ได้ 10% ของจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับทั้งหมด เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนพลังงานสะอาด ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาค
ทั้งนี้ แกร็บ ประเทศไทย จะมุ่งดำเนิน 3 กิจกรรม ได้แก่
– ประสานความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสรรหารถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มีสเป็คตรงตามความต้องการของกลุ่มกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับและผู้จัดส่งอาหาร – พัสดุ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนหลายแสนคน รวมไปถึงการส่งเสริมการทดลองใช้งานและการทำการตลาดร่วมกัน นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ผู้ให้บริการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมและผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
– ผนึกพันธมิตรกับกลุ่มธนาคารหรือสถาบันทางการเงิน เพื่อนำเสนอแผนการจัดไฟแนนซ์ หรือบริการสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษและการชำระคืนแบบรายวัน เพื่อสร้างแรงจูงใจและลดภาระหนี้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ
– ให้ความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐเพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับและผู้จัดส่งอาหาร – พัสดุ โดยเฉพาะในเรื่องของประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเทรนด์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างการรับรู้และการยอมรับ ซึ่งจะส่งผลต่อการทดลองใช้และบอกต่อ